11,639 หมื่นล.!เปิดตัวเลขภาษีพรีอุส ศาลนัดชี้สถานะคดีโตโยต้าฟ้องกรมศุลฯ 19 มิ.ย.นี้
เปิดตัวเลขภาษีคดีรถพรีอุส เป็นทางการครั้งแรก 11,639 หมื่นล. เผยยอดยังไม่ร่วมเงินเพิ่มตามกม. หลังศาลนัดชี้สถานะคดีโตโยต้ายื่นฟ้องกรมศุลฯ 19 มิ.ย. นี้ พร้อมกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ยาวตลอดช่วงเดือนส.ค.2560 -สตง.ส่งเจ้าหน้าที่ตามเกาะติดผลใกล้ชิด
ปัญหาข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่น พรีอุส (Prius) วงเงินนับหมื่นล้านบาท ระหว่างกรมศุลกากร กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กำลังถูกจับตามอง เมื่อล่าสุดศาลภาษีอากรกลาง ได้กำหนดวันนัดชี้สถานคดีนี้ ในวันที่ 19 มิ.ย.2560 พร้อมกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ และจำเลย ตลอดเดือนส.ค.2560 นี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลภาษีอากรกลาง ได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 19 มิ.ย.2560 นี้ และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 2,3,9,10 และ 15-17 ส.ค.2560 รวมระยะเวลา 7 วัน และกำหนดวันสืบพยานจำเลย ในวันที่ 22-25-29-31 ส.ค. 2560 รวมระยะเวลา 7 วันเช่นกัน
ทั้งนี้ การฟ้องร้องคดีความดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากภายหลังที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ยกคำร้องอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หลังถูกสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ออกแบบแจ้งประเมินภาษี จำนวน 244 ฉบับ รวมวงเงินทั้งสิ้น 11,639,786,094.84 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) แต่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไม่เห็นด้วยและยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา
สำหรับวงเงินภาษี 11,639,786,094.84 บาท แยกเป็น อากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาท
โดยก่อนหน้านี้ สำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ตรวจสอบพบว่า บริษัทโตโยต้าฯ ใช้สิทธิการสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดไม่ถูกต้อง เนื่องจากสินค้าที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KHOCK DOWN) และมีปริมาณสอดคล้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วสามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่ารหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลูกบาศก์เซนติเมตร ของรถยนต์ โตโยต้า รุ่น Prius จึงเห็นควรให้สินค้าตามใบขนสินค้าทั้ง 244 ฉบับ จัดเข้าประเภทพิกัด 8703.23.51 อัตราอากร 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 2(ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่เข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดเก็บภาษีอากรที่ขาดไป เป็นจำนวนเงิน 11,639,786,094.84 บาท
ขณะที่ฝ่ายบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ออกข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้มาตลอด โดยยืนยันว่า
1. บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนในขณะนำเข้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ
2. สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจดูเอกสารและมีความเห็นว่า บริษัทฯ ชำระอากรไว้ไม่ครบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและรายละเอียดต่าง ๆ ให้กรมศุลกากรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2556
3. ในกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดียนั้นเป็นกรณีที่บริษัทฯได้นำเข้าชิ้นส่วนชุดส่งกำลัง (Transmission) รถเพื่อการพาณิชย์ โดยตรงจากประเทศอินเดียและได้เสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงฯ แต่ปัญหาเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ในข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ เป็นปกติ แต่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ ได้ จึงให้บริษัทฯ ชำระภาษีและค่าปรับเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2555 กรมศุลกากร ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับความตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศอื่นๆ อาทิ ความตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระยะเวลากว่า 51 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส (Transparency) ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้ารวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกด้วยดีตลอดมา
ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า เกี่ยวกับคดีนี้ สตง. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าติดตามการพิจารณาคดีนี้แล้วอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผลการพิจารณาของศาลไปประกอบการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรต่อไป