เต็มอิ่มกับ "ศราวุฒิ อารีย์" วิเคราะห์ไฟใต้ ก่อการร้าย และเล่ห์กลมหาอำนาจ
หากนับเนื่องจากเหตุการณ์จับกุม นายอาทริส ฮุสเซน หนุ่มใหญ่สัญชาติเลบานอน เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ที่พุ่งเป้าก่อวินาศกรรมในเมืองไทย ตามด้วยเหตุระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯในวันวาเลนไทน์ และการออกหมายจับผู้ต้องหาถือพาสปอร์ตอิหร่านอีกหลายรายแล้วล่ะก็...หลายเสียงสรุปแบบฟันธงว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในวังวน "ก่อการร้าย"
แต่หากลองหันไปฟังเสียงเล็กๆ จากนักวิชาการค่ายมุสลิมอย่าง ศราวุฒิ อารีย์ จะได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง...เป็นด้านที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ ทั้งประเด็นการก่อการร้ายที่พยายามทำให้เกี่ยวโยงกับ "อิสลาม" และเล่ห์เหลี่ยมของ "ชาติมหาอำนาจ" ที่มุ่งสร้างความชอบธรรมในการใช้ปฏิบัติการทางทหารจัดการกับประเทศในโลกมุสลิมซึ่งตนมองว่าเป็นภัยคุกคาม
ห้วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ชื่อของ ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง ด้วยมุมวิเคราะห์ที่สวนทางกับความเห็นกระแสหลักจากหน่วยงานด้านความมั่นคง
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" ได้มีโอกาสพูดคุยแบบยาวๆ กับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ในช่วงสายๆ วันหนึ่งท่ามกลางข่าวสาร "ก่อการร้าย" ที่กำลังเข้มข้นและร้อนระอุ บทสัมภาษณ์ของเขาเต็มไปด้วยสาระทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์โลกอาหรับ ขบวนการป้ายสีของชาติมหาอำนาจด้วยการโหมประโคมวาทกรรม "ก่อการร้าย" ที่โยงถึงความเป็น "อิสลาม" และการวิพากษ์ถึงบทบาทอันเอียงกะเท่เร่ของหน่วยงานความมั่นคงไทยที่ละเลยโลกมุสลิม แต่เลือกเดินเคียงคู่ไปกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราเองด้วย
ความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุมดังกล่าว ทำให้ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ตัดสินใจนำเสนอบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้แบบไม่ตัดทอน เพื่อให้ทุกท่านได้เต็มอิ่มกับทุกๆ ประเด็นจากมุมคิดของ ศราวุฒิ อารีย์
"เอ็มเคโอ" ที่แท้ลูกน้องอเมริกา!
เริ่มจากประเด็นที่พูดถึงกันมากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ กลุ่มผู้ต้องหาที่เกี่ยวพันกับเหตุระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯ อาจจะเป็นสมาชิกกลุ่ม "เอ็มเคโอ" หรือขบวนการประชาชนมูจาฮีดีน ซึ่งชาติตะวันตกหลายประเทศขึ้นบัญชีดำว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ศราวุฒิ อารีย์ อรรถาธิบายเอาไว้แบบนี้
"ประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางล้วนมีคู่ขัดแย้งของตน อิหร่านเองก็มี หลังปฏิวัติอิสลามในปี ค.ศ.1979 รัฐบาลอิสลามอิหร่านก็มีคู่ขัดแย้งกับหลายกลุ่มหลายฝ่าย เป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาล ขบวนการต่อต้านเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ กลุ่มหนึ่งชื่อว่า มูจาฮีดีน อี-คัลท์ ออแกนไนเซชัน หรือ เอ็มเคโอ แปลว่าขบวนการประชาชนมูจาฮีดีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1965 ในยุคพระเจ้าชาห์ของอิหร่าน เป้าหมายก็เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของกษัตริย์ชาห์ที่กลุ่มมูจาฮีดีนเห็นว่ามีการคอร์รัปชั่นและกดขี่ข่มเหงประชาชน
ลักษณะการเคลื่อนไหวของกลุ่มมูจาฮีดีนคือเน้นแนวทางปฏิวัติมากกว่าปฏิรูป เป็นอุดมการณ์ในทางโลก แนวสังคมนิยมมาร์กซิสม์ แม้ชื่อจะทำให้รู้สึกถึงภาพของศาสนา แต่อุดมการณ์จริงๆ เน้นมาร์กซิสม์ และใช้วิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาตั้งแต่ต้น จริงๆ แล้วกลุ่มเอ็มเคโอเป็นกลุ่มหนึ่งที่ร่วมขบวนกับหลากหลายกลุ่มในการปฏิวัติปี ค.ศ.1979 ด้วย แต่หลังจากการปฏิวัติอิหร่านแล้ว อุดมการณ์ของระบอบการเมืองใหม่ของอิหร่าน กับอุดมการณ์ของกลุ่มมูจาฮีดีนขัดแย้งกัน เพราะรัฐบาลอิหร่านใหม่เน้นการเป็นรัฐอิสลาม ถือเป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ทำให้กลุ่มขบวนการมูจาฮีดีนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลใหม่ของอิหร่านด้วย
อิหร่านหลังปฏิวัติอิสลามปกครองโดย อายะตุลเลาะห์ โคมัยนี เขาเรียกกลุ่มเอ็มเคโอว่าเป็นมูนาฟิก หรือพวกกลับกลอก กาเฟร์ หรือพวกที่ไม่ใช่มุสลิม แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบแนวคิดของกลุ่มนี้เอามากๆ
เมื่อกลุ่มมูจาฮีดีนถูกโจมตีและถูกปราบปรามโดยรัฐบาล ทำให้สมาชิกต้องลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอิหร่าน มีการโจมตีเป้าหมายตอบโต้กันระหว่างรัฐบาลกับเอ็มเคโอบ่อยครั้งมากระหว่างปี ค.ศ.1981-1985 กระทั่งปี 1986 เอ็มเคโอถูกปราบปรามอย่างหนัก จนต้องย้ายฐานปฏิบัติการจากเตหะรานไปยังฝรั่งเศส
สิ่งที่ตามมาก็คือ ในช่วงสงคราม 8 ปีระหว่างอิรักกับอิหร่าน ค.ศ.1980-1988 กลุ่มนี้ได้เข้าไปเคลื่อนไหวในอิรักเพื่อต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน โดยในช่วงสงคราม กลุ่มมูจาฮีดีนไปผูกมิตรกับ ซัดดัม ฮุสเซน (ผู้นำอิรัก) ซึ่งซัดดัมเองก็สนับสนุนกลุ่มมูจาฮีดีนเพื่อต่อสู้กับอายะตุลเลาะห์ โคมัยนี เป้าหมายของมูจาฮีดีนคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในอิหร่าน
กลุ่มนี้ใช้ปฏิบัติการโจมตีอิหร่าน แม้ตนเองจะเป็นคนสัญชาติอิหร่าน ทำให้รัฐบาลและประชาชนอิหร่านไม่พอใจและแค้นกลุ่มนี้มาก ทั้งๆ ที่เดิมสมัยที่ตั้งกลุ่มและต่อสู้กับระบอบการปกครองของกษัตริย์ชาห์ ก็มีประชาชนสนับสนุนกลุ่มมูจาฮีดีนมากพอสมควร แต่พอไปจับมือกับ ซัดดัม ฮุสเซน ที่คนอิหร่านมองว่าทำร้ายคนอิหร่าน จึงทำให้เสียความนิยมจากคนอิหร่านไป
เหตุการณ์พลิกผันไปมา หลังสงครามอิรัก-อิหร่านเสร็จสิ้น กลุ่มมูจาฮีดีนมีฐานอยู่ในอิรัก กระทั่งเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1991 สหรัฐอเมริกาเข้าไปทำสงครามในคูเวต หลังจากอิรักบุกคูเวต อเมริกาจึงเข้าไปปลดปล่อย และจัดตั้งกรีนโซนในอิรัก ช่วงนั้นก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มมูจาฮีดีนเพื่อต่อต้านรัฐบาลอิหร่านอยู่บ่อยๆ
จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.2003 สหรัฐใช้กำลังทหารโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน เมื่อสหรัฐเข้าไป ก็สามารถจับกุมกลุ่มติดอาวุธได้จำนวน 6-7 พันคน กลุ่มมูจาฮีดีนถูกแบล็กลิสต์อยู่ในหลายประเทศในยุโรปว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะเมื่อสหรัฐจับขบวนการเอ็มเคโอได้ กลับไม่ทำอะไรกับกลุ่มเอ็มเคโอเลย เข้าใจว่าสหรัฐคงมีข้อตกลงลับอะไรกันบางอย่างกับเอ็มเคโอ เพราะแม้ในสายตาของสหรัฐกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่กลับไม่ดำเนินการอะไร ซ้ำยังปล่อยให้เคลื่อนไหวต่อไป
สิ่งสำคัญก็คือ ปรากฏว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ข้อมูลเชิงลับในเรื่องโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจากกลุ่มเอ็มเคโอ แล้วนำมาเล่นงานอิหร่าน สะท้อนว่ากลุ่มมูจาฮีดีนกับสหรัฐมีความร่วมมือกัน"
กลเกมมหาอำนาจ
ศราวุฒิ อธิบายต่อถึงจุดเปลี่ยนของกลุ่มเอ็มเคโอว่า "ช่วงที่อิรักมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคมุสลิมสายชีอะห์ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน รัฐบาลใหม่ของอิรักก็บอกให้กลุ่มเอ็มเคโอถอนฐานที่มั่นออกไปจากอิรัก ให้กลับไปอิหร่านหรือประเทศที่สาม ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ขบวนการเอ็มเคโอต้องเคลื่อนไหวภายนอกประเทศ ทำให้ขบวนการถูกกดดันอย่างมาก บางส่วนกลับไปที่อิหร่าน และใช้ปฏิบัติการลับในลักษณะโจมตีนักการทูตและบุคคลสำคัญของอิหร่านหลายครั้ง โดยมีข้อมูลหลักฐานยืนยันชัดเจน
มาถึงเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ สิ่งที่อิหร่านพยายามบอกเราก็คือ กลุ่มผู้ต้องหาบางคนที่ถูกจับกุมเป็นสมาชิกของกลุ่มมูจาฮีดีนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ฉะนั้นเมื่อเกิดระเบิดในประเทศไทย และคนที่ถูกจับได้เป็นสมาชิกมูจาฮีดีน ก็แสดงว่าได้รับสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล
ข้อมูลจากทางอิหร่านระบุว่า คนที่ขาขาดเป็นหนึ่งในสมาชิกมูจาฮีดีน ทำให้เรื่องซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้เราสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนอิหร่านจากกลุ่มไหนก็ตามเข้ามาเพื่อสังหารนักการทูตของอิสราเอล ถ้าสมมติว่าเรื่องที่อิหร่านพูดเป็นความจริง ก็หมายถึงว่าขณะนี้บ้านเรากำลังถูกใช้เป็นฐานในการสร้างเรื่องเพื่อโยนบาปทั้งหมดไปให้อิหร่าน
ถ้าถามความเห็นผม ผมคิดว่าเป็นไปได้มาก เพราะกลุ่มเอ็มเคโอไม่ได้เน้นหนักเรื่องหลักการศาสนา แต่เป็นกลุ่มอุดมการณ์ทางโลก เน้นสังคมนิยม พฤติกรรมของสมาชิกเกือบทั้งหมดไปนั่งดื่มเหล้ากอดสาวในบาร์ที่พัทยา"
มีคำถามว่าเหตุใดปฏิกิริยาของอิหร่านจึงค่อนข้างล่าช้ากว่าจะชี้ว่าผู้ที่ปฏิบัติการเป็นกลุ่มเอ็มเคโอ ทำให้ข้อมูลจากทางฝ่ายอิสราเอลและสหรัฐมีน้ำหนักกว่า ประเด็นนี้ ศราวุฒิ อธิบายเอาไว้อย่างละเอียด
"ผมคิดว่าเขายังไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับไม่ได้รับเอกสารหลักฐานที่เป็นรายละเอียดของบุคคลที่เราจับกุมตัวได้ ในช่วงต้นเลย วันศุกร์ที่แล้ว (17 ก.พ.) ทางการอิหร่านเขาได้แค่หน้าพาสปอร์ตถ่ายเอกสารเท่านั้นเอง ทำให้ตรวจสอบไมได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ไม่รู้ว่าเดินทางเข้ามาเมื่อไหร่ ออกไปเมื่อไหร่ แต่เมื่อได้รายชื่อ เข้าใจว่าเขาเอาไปตรวจสอบ ล่าสุดออกมาเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วเป็นสมาชิกมูจาฮีดีน
เรื่องนี้ชัดเจนว่าทางการอิหร่านไม่ได้รับความร่วมมือตั้งแต่ต้นจากทางการไทย ในการพยายามสืบหาว่าคนเหล่านี้คือใคร บ้านเรามัวแต่ไปให้ความสนใจกับความปลอดภัยของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งให้ความร่วมมือกับทางด้านนี้ อิสราเอลก็พยายามให้ข้อมูลกับตำรวจ สอบถามความคืบหน้าตลอด โดยที่เราละเลยประเทศอิหร่าน ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องให้ความสำคัญกับอิหร่านเป็นประเทศแรกในการขอความร่วมมือ เพราะคนที่เราจับได้ถือพาสปอร์ตอิหร่าน
การให้น้ำหนักของหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาลไทย เท่าที่ฟังจากหน่วยข่าวกรองไทย ตั้งแต่กรณีของนายอาทริส ฮุสเซน (สัญชาติเลบานอน จับกุมเมื่อ 12 ม.ค.2555) เราค่อนข้างให้ความเชื่อมั่นและให้น้ำหนักกับข้อมูลข่าวสารของอิสราเอลมาก เพราะเราทำงานร่วมกับหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลและฝึกร่วมทางทหารมายาวนานมากกว่า 30 ปี ส่วนเรากับสหรัฐไม่ต้องพูดถึง ประเทศไทยของเราค่อนข้างมีความโน้มเอียงไปทางประเทศที่เป็นชาติตะวันตกหรืออิสราเอลมากกว่า แต่เราละเลยที่จะมีความร่วมมือด้านการข่าวกับกลุ่มประเทศโลกมุสลิม ซึ่งหากเราร่วมมือก็จะเป็นข้อมูลที่สร้างความสมดุล เป็นข้อมูลที่อาจจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลของอิสราเอลกับสหรัฐได้ด้วย
อย่างกรณีนี้เห็นชัดเจนว่าเราให้ความร่วมมือกับอิสราเอลและสหรัฐ เพราะเราคิดว่าเขาเป็นเป้าหมายที่จะถูกโจมตี แต่เราไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางอิหร่านเลย ทั้งๆ ที่คนที่ถูกจับถือพาสปอร์ตอิหร่าน
กลุ่มประเทศที่เราจะต้องให้ความสนใจและสร้างความร่วมมือด้วยคือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม และมีความเป็นกลางพอสมควรในประเด็นปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายสากล"
โยงก่อการร้ายกับอิสลาม
มีคำถามอีกว่า กรณีการขอตัวผู้ต้องหาถือพาสปอร์ตอิหร่านซึ่งถูกทางการมาเลเซียจับกุมตัวได้ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทย จะมีโอกาสเป็นจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ ศราวุฒิ ให้คำตอบอย่างน่าสนใจ และเชื่อมโยงถึงกระบวนการป้ายสีก่อการร้ายกับความเป็นอิสลาม
"ผมคิดว่าขึ้นกับทางการมาเลย์เวลาเขาสืบสวนว่าจะได้ข้อมูลไปในทิศทางไหนถ้าเป็นข้อมูลว่าคนที่จับได้มีส่วนในการก่อการในบ้านเราจริงๆ อันนั้นก็มีสิทธิส่งตัวให้ แต่ถ้าหากเขาสืบเรียบร้อยแล้วปรากฏว่าเรืองทั้งหมดมันเป็นการจัดฉาก หรือ agenda setting เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดวางไว้ให้เกิดกระแสการก่อการร้ายก็ดี หรือเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลฝ่ายหนึ่งกับอิหร่านฝ่ายหนึ่งก็ดี ถ้าเป็นประเด็นการเมืองอย่างนี้ แล้วคนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อะไรเลย คิดว่าทางการมาเลย์คงไม่ส่งมา
ประเด็นการถ่วงดุลเป็นเรื่องใหญ่มาก เรากำลังถูกฉกฉวยจากการปลุกกระแสเรื่องการก่อการร้าย อันจะนำมาสู่การที่ประเทศมหาอำนาจ รวมถึงประเทศที่พยายามปลุกกระแสก่อการร้ายเพื่อทำให้เชื่อมโยงกับความเป็นอิสลาม ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเทศของเรา
ผมอยากย้ำว่าประเด็นที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นภายนอก แต่มาใช้พื้นที่บ้านเราเป็นเวทีในการต่อสู้กัน แต่ความขัดแย้งนั้น ถูกนำประเด็นเรื่องการก่อการร้ายเข้ามาเชื่อมโยงด้วย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา คนที่ปลุกกระแสเรื่องการก่อการร้ายสากลก็คือสหรัฐอเมริกากับอิสราเอล อิหร่านไม่ได้อะไรเลยกับการปลุกกระแสครั้งนี้ โดยเฉพาะในบ้านเรา
การที่เราพบสติ๊กเกอร์ที่เขียนว่า SEJEAL ผมเห็นแล้วพอมองออกว่าคนที่ติดสติ๊กเกอร์ตั้งใจเอาประเด็นความขัดแย้งรุนแรงในบ้านเราไปเชื่อมโยงกับเรื่องก่อการร้ายที่โยงกับความเป็นอิสลามอีกชั้นหนึ่ง เพราะคำๆ นี้ออกเสียงว่า 'ซิจจิล' หรือ 'ซิจญิล' หมายถึงหินไฟที่พระเจ้าส่งมาเพื่อปราบพวกกองทัพอธรรมในยุคก่อนท่านศาสดามุฮัมหมัดจะเกิด เวลาเราเอาคำๆ นี้มาเป็นประเด็น ทำให้เชื่อมโยงได้ง่ายกับการก่อการร้ายและอิสลาม
ที่สำคัญตอนหลังอิหร่านนำคำนี้มาเป็นชื่อของขีปนาวุธพิสัยกลางของอิหร่านด้วย ถ้าอิหร่านปฏิบัติการเรื่องนี้จริงๆ คงไม่ใช้รหัสที่เชื่อมโยงไปถึงตัวเขาได้ง่ายๆ มันเป็น agenda setting มีคนต้องการปลุกกระแสเรื่องนี้แน่นอน เพราะทำให้เกิดความชอบธรรมสำหรับชาติมหาอำนาจหรืออิสราเอลในการเข้าไปโจมตีใช้กำลังกับอิหร่าน ซึ่งมีข่าวอยู่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาว่ามีโอกาสที่อิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการทางทหารบอมบ์โรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน และสหรัฐก็คิดเหมือนกัน"
ความชอบธรรมก่อนลั่นกลองรบ
ศราวุฒิ วิเคราะห์ต่อว่า "เรื่องการใช้กำลังทหารยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะสหรัฐติดหล่มอิรักกับอัฟกานิสถานมานาน เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี การทำสงครามใช้งบประมาณเยอะ ประกอบกับอิหร่านไม่ใช่กระจอกงอกง่อย มีพันธมิตรอยู่ในภูมิภาค ทั้งซีเรีย อิรัก และฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน หากอิสราเอลใช้ปฏิบิติการโจมตี เรื่องก็จะลุกลามบานปลาย มันมีข้อจำกัดอยู่
แต่สิ่งที่สหรัฐกับอิสราเอลต้องการจริงๆ คือความชอบธรรมจากประชาคมโลก ถ้าสมมติจะโจมตีอิหร่านจริงๆ ความชอบธรรมต้องมีก่อน เหมือนกับที่สหรัฐเคยอ้างก่อนจะเข้าสู่สงครามอิรักว่า อิรักมีอาวุธทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง หรือตอนเข้าไปในอัฟกานิสถานก็บอกว่าตอลิบันเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพโลก กดขี่ข่มเหงผู้หญิง พอเข้าไปก็ได้รับความชอบธรรมจากประชาคมโลก และประชาคมโลกกว่าครึ่งก็ให้ความร่วมมือ
สหรัฐกับอิสราเอลไม่ได้ต้องการพันธมิตรในการเข้าไปสู้รบกับประเทศใดก็ตาม เพราะศักยภาพทางการทหารของทั้งสองประเทศมีสูงมาก เพียงแต่ต้องการความชอบธรรม ถ้าสมมติจะโจมตี เขาต้องการความชอบธรรมจากประชาคมโลก
ฉะนั้นเวลาเกิดปรากฏการณ์ในไทย จอร์เจีย หรืออินเดีย (เกิดเหตุลอบสังหารนักการทูตอิสราเอลก่อนที่จะเกิดระเบิดในกรุงเทพฯ 1 วัน) คนบ้านเราหรือคนต่างประเทศที่อ่านข่าวก็จะคิดว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ใช้วิธีก่อการร้ายในต่างประเทศ ทำลายผลประโยชน์ของชาติต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ถ้ามองในแง่หนึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณ เป็นการลั่นกลองของการทำสงครามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
มองในมุมอิหร่าน นับตั้งแต่ปฏิวัติปี ค.ศ.1979 สิ่งสำคัญของอิหร่านคือความอยู่รอด เพราะอิหร่านเจอพายุหนักมาก หลังปฏิวัติใหม่ๆ ก็เกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน ไม่ได้พัฒนาประเทศเลย อยู่ในภาวะสงครามตลอด ไหนจะความขัดแย้งกับโลกอาหรับ กลุ่มประเทศอาหรับต่างๆ ไหนจะความกดดันจากสหรัฐ ฉะนั้นยุทธศาสตร์สำคัญของอิหร่านคือความอยู่รอด ต้องไม่พยายามเผชิญหน้ากับประเทศที่มีศักยภาพ ทางการทหารสูงๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล
สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา จอร์เจีย และอินเดีย ถ้าสมมติว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอิหร่าน นั่นหมายความว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นคนยั่วยุให้สหรัฐกับอิสราเอลเข้าไปโจมตี ประเทศตัวเอง เป็นไปได้หรือไม่ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย อิหร่านจะทำไปทำไม เนื่องจากนโยบายที่ผ่านมาของตัวเองคือไม่พยายามเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐอยู่แล้ว
นอกจากนั้น ทั้งไทยและอินเดียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับอิหร่าน เท่าที่สังเกต อินเดียกับอิหร่านมีความสัมพันธ์กันยาวนาน กรณีที่เกิดการทำลายมัสยิดบาบรีในอินเดีย โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) พยายามกดดันอินเดียโดยใช้วิธีการต่างๆ แต่อิหร่านเงียบ ไม่พูดอะไรเลย และยังมีการทำการค้าการขายกับอินเดียมาตลอด อินเดียเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของอิหร่านในการนำเข้าน้ำมัน มีความคิดที่จะสร้างโครงการวางท่อก๊าซจากอิหร่านมาอินเดีย แต่ยังติดที่ปากีสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับอินเดียจะทำให้อิหร่านส่งมือระเบิดเพื่อทำลายผลประโยชน์ในอินเดียอย่างนั้นหรือ
ในสภาวะที่อิหร่านกำลังต้องการพันธมิตรอย่างมากในสถานการ์ที่ถูกบีบคั้นใน ระดับโลกขนาดนี้ ประเทศไทยก็เช่นกัน อิหร่านพยายามจะบอกว่าเขามีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน 400 ปี มีการค้าขายกันมาตลอด ตระกูลผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายตระกูลก็มีเชื้อสายเปอร์เซีย แล้วอิหร่านจะมาปฏิบัติการลักษณะที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ไทย-อิหร่านอย่างนั้นหรือ มันเป็นไปได้ยาก
ที่ผ่านมามีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านก็จริง แต่เรามักเห็นการปฏิบัติการลับของอิสราเอลเท่านั้นที่โจมตีอิหร่าน เช่น การสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่าน การลอบสังหารผู้นำของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ และการลอบสังหารผู้นำของกลุ่มฮามาส พวกเหล่านี้ต่างหากเป็นฝ่ายที่ต้องระมัดระวังตัว แต่เหตุการณ์บ้านเราไปในอีกแง่มุมหนึ่ง กลายเป็นว่านักการทูตอิสราเอลหวาดกลัวที่จะตกเป็นเป้าโจมตีจากอิหร่าน ก็น่าแปลกใจ"
ปลุกก่อการร้ายสะเทือนไฟใต้
มีคำถามว่า ถ้าไทยถ่วงดุลไม่ดีในเหตุการณ์นี้ จะกระทบกับปัญหาชายแดนใต้หรือไม่ เพราะเกี่ยวโยงกับโอไอซีด้วย ศราวุฒิ ตอบว่า สะเทือนแน่นอน
"ขณะนี้มีการปลุกกระแสเรื่องการก่อการร้ายโดยใช้สติ๊กเกอร์อะไรต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงประเด็นก่อการร้ายสากล เวลามันเชื่อมโยงกันลักษณะอย่างนี้ เป็นการง่ายที่จะใช้ประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาภาคใต้ เพราะพอมันเกิดกระแสว่ามีกลุ่มขบวนการก่อการร้ายสากลเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย ก็จะต้องมีการตั้งข้อสงสัยจากหน่วยข่าวของเรา จากตำรวจของเรา จากทหารของเราว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวของก่อการร้ายสากลแล้ว จะเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวในภาคใต้หรือเปล่า ผมคิดว่ามันต้องมีการตั้งข้อสงสัยอยู่แล้ว เพราะบ้านเรามีความอ่อนไหวในเรื่องนี้มาก
ถ้าสมมติเราเห็นร่องรอยอะไรบางอย่างที่มันผิดปกติ ซึ่งบางทีเราอาจจะเป็นฝ่ายที่เข้าใจผิดก็ได้ เราก็จะเชื่อมโยงเข้ากันทันที ในลักษณะที่ว่าขบวนการนี้เป็นกลุ่มมุสลิมสายชีอะห์ใช่มั้ย ชีอะห์ภาคใต้ก็มี ที่ยะลาก็เยอะนะ พวกนี้ก็จะถูกตรวจสอบทั้งหมด
เวลาที่เราพยายามเชื่อมโยงแบบนี้ มันนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานหรือการแก้ปัญหาภาคใต้ของเรา เพราะจริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มันไม่ได้เชื่อมโยงกับประเด็นก่อการร้ายสากลเลย มันเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มันส่งผลมาทำให้เราเป็นพื้นที่หนึ่งในการต่อสู้กัน แต่เมื่อกระแสการก่อการร้ายถูกปลุกเรียบร้อยแล้ว มันง่ายต่อการเชื่อมโยงเข้าไปสู่ปัญหาภาคใต้ แล้วจะนำไปสู่วิธีการปฏิบัติของเรา วิธีคิดของเราต่อปัญหาภาคใต้ วิธีการแก้ปัญหาของเรามันจะเป็นไปในอีกด้านหนึ่งเลย
อย่างเช่นถ้าสมมติว่าเราคิดว่าขบวนการเคลื่อนไหวในภาคใต้เชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล ผมคิดว่าหน่วยข่าวกรองของบ้านเราจะต้องไปขอข้อมูลจากอิสราเอล วิธีการปฏิบัติของอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์ทำอย่างไร เราก็จะก๊อปปี้อิสราเอล ทั้งวิธีคิด วิธีการปฏิบัติ วิธีการแก้ปัญหามาใช้กับมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหา
เท่าที่ผ่านมาผมพยายามสังเกต อย่างเหตุการณ์กรือเซะก็ดี เหตุการณ์ตากใบก็ดี วิธีการปฏิบัติของเราเหมือนกับว่าประชาชนคนมลายูไม่ใช่ประชาชนของเรา การใช้ปฏิบัติการทางทหารถล่มมัสยิดกรือเซะ คล้ายๆ กับสิ่งที่อิสราเอลใช้ปฏิบัติการโจมตีฝ่ายปาเลสไตน์ในที่ต่างๆ เช่น ฉนวนกาซ่า หรือในเวสต์แบงก์ มีหลายๆ อย่างที่อาจจะเชื่อมโยงกันได้ และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับความรู้สึกของคนในภาคใต้มากที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับข้อมูล รับข่าว และมีความร่วมมือกับอิสราเอล"
เมื่อถามเจาะไปถึงบทบาทของอิหร่านในเวทีโอไอซี ดร.ศราวุฒิ บอกว่า มีบทบาทสูงมาก ในฐานะประเทศผู้นำสายชีอะห์
"อิหร่านเป็นชาติหนึ่งที่เป็น Leading Country ของโลกมุสลิมซึ่งเราต้องยอมรับ โลกมุสลิมมีพื้นที่หลักอยู่ในตะวันออกกลาง ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางสำหรับโลกมุสลิมสุหนี่ Leading Country คือซาอุดิอาระเบีย แต่ว่าสำหรับมุสลิมชีอะห์ Leading Country ก็คืออิหร่าน โลกมุสลิมจะแบ่งเป็น 2 สายใหญ่ๆ คือซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ฉะนั้นอิหร่านจึงมีบทบาทสำคัญในโอไอซี
เราจะเห็นว่าอิหร่านเป็นชาติหนึ่งที่พยายามใช้เวทีโอไอซีนิยามเรื่องการก่อการร้ายให้ชัดเจน และพยายามผลักดันวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องการก่อการร้ายในสายตาของโลกมุสลิมผ่านโอไอซี นอกจากนั้นอิหร่านยังเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกเป็นลำดับ 3 และมีก๊าซสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อิหร่านมีความพร้อมทางด้านประชากร เขามีประชากรจำนวนมาก ไม่เหมือนกับประเทศอื่นในอ่าวเปอร์เซียที่ประชากรน้อย แรงงานจากต่างประเทศเยอะกว่าประชากรของตัวเองเสียอีก แต่ว่าประชากรของอิหร่านมีมากพอๆ กับบ้านเรา อิหร่านจึงมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน
ในด้านของการพัฒนาการศึกษา อิหร่านก็ไปได้ไกล ผมเคยไปมา 2 ครั้งก็เห็นว่าอิหร่านสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาระบบการศึกษาของเขาได้ดี"
ถามอีกว่า เมื่อซาอุฯเป็นประเทศผู้นำสายสุหนี่ ไทยก็มีปัญหาเรื่องเพชร เรื่องอุ้มหาย พอหันมาทางด้านอิหร่านก็มามีปัญหาอีก จะยุ่งหรือไม่ ประเด็น ศราวุฒิ ตอบสวนทันทีว่ายุ่งแน่ๆ
"นั่นน่ะสิ...ยุ่ง ประเด็นนี้สำคัญเลย แล้วมันจะคล้ายๆ กันตรงที่ว่าเราไม่เข้าใจปัญหา อย่างเช่นกรณีของซาอุฯ ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างเรากับซาอุฯจึงขาดสะบั้น นั่นเป็นเพราะความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจเรา
กรณีของซาอุฯ มีการประท้วงของมุสลิมชีอะห์ในซาอุฯ แล้วปรากฏว่าตำรวจทหารซาอุฯก็ใช้กำลังปราบปราม ทำให้คนตายไป 400 กว่าคน พอเรื่องเกิดขึ้น ทำให้ฝ่ายชีอะห์ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะเป็นประชากรของซาอุฯนั่นแหละ ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อตอบโต้แก้แค้นเหตุการณ์อันนั้น แล้วก็ไปสังหารนักการทูตซาอุฯในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย แต่เราเองไปเข้าใจผิดว่าคนที่ตายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องแรงงานกับนักการทูตของซาอุฯหลายๆ คน ปรากฏว่าตำรวจเราก็ไปจับคนซาอุฯ ไปอุ้มมาเพื่อเค้นข้อมูล แต่ไปๆ มาๆ ก็คืออุ้มฆ่า ซาอุฯติดใจประเด็นนี้มาตลอดว่าตกลงพวกที่ถูกทางการไทยอุ้มฆ่าตายไปหรือยัง ถ้าตายไปแล้วมีหลักฐานอะไร อย่างไร แล้วทำไมเราถึงฆ่าเขา บางคนเป็นถึงญาติสนิทของราชวงศ์ซาอุฯ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซาอุฯ เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ตรงที่ว่า มันเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นข้างนอก แล้วมันส่งผลมาถึงประเทศไทย แต่ทางฝ่ายไทย ทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหา จึงนำไปสู่การปฏิบัติการที่ผิดพลาด แล้วทำให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย
ครั้งนี้มันเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่เรากำลังสับสนว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายสากลที่เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย แล้วใครคือผู้ก่อการร้าย ถ้าเราเชื่อสหรัฐอเมริกา เชื่ออิสราเอล เราก็จะบอกว่าอิหร่านนั่นแหละคือผู้ก่อการร้าย คือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด นั่นก็หมายถึงว่าเรากำลังตีตัวออกห่างจากอิหร่าน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับอิหร่านอีกชาติหนึ่ง แล้วจะนำไปประเด็นเรื่องการก่อการร้ายไปเชื่อมโยงกับภาคใต้บ้านเรา ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหายากขึ้นไปอีก ตอนนี้ก็ยากอยู่แล้ว ก็จะยิ่งลำบากขึ้น
วิธีการแก้ไขปัญหา เราต้องแยกประเด็นการก่อการร้ายออกไปจากกระแสการรับรู้ของคนไทย และเน้นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะตำรวจมีส่วนสำคัญมากที่จะเป็นฝ่ายยุติปัญหาหรือขยายปัญหา คือถ้าสมมติว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ในลักษณะที่พยายามเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องการก่อการร้ายแล้วไปจับกุมบุคคลต่างๆ มากมาย อันจะทำให้ตำรวจได้รับผลงาน ผมคิดว่าอันนี้เข้าทางของฝ่ายมหาอำนาจที่จะขยายผลประเด็นเรื่องการก่อการร้ายมาสู่ประเทศไทย แต่ถ้าสมมติว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจำกัดขอบเขตของประเด็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี แล้วตัดสินให้มันจบลงตรงนั้น ผมคิดว่าปัญหาก็จะคลี่คลายไปเอง"
ดับไฟใต้ต้องให้ "โอกาส"
คำถามทิ้งท้ายก็คือ ปัญหาภาคใต้ผ่านมา 8 ปีแล้ว รัฐบาลยังใช้ปฏิบัติการทางทหารอยู่ คิดว่าควรจะมีจุดเปลี่ยนหรือยัง เช่น การกระจายอำนาจ หรือปกครองพิเศษ จากที่เคยได้ศึกษาปรากฏการณ์ในหลายๆ ประเทศมา ประเด็นนี้ ศราวุฒิ ให้น้ำหนักไปที่การพัฒนา และการสร้างโอกาสให้กับผู้คน
"ส่วนหนึ่งของปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นจากนโยบายที่แข็งกร้าวของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา และความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อคนมลายูมุสลิมทำให้ปัญหาภาคใต้ขยายออกไปโดยหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรต่างๆ ขึ้นมา ผมกำลังคิดว่าน่าจะเป็นการตอบโต้ล้างแค้นกัน เมื่อเกิดการยิง 4 ศพ (ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555) ปรากฏว่าหลังจากนั้นก็มีหลายๆ เหตุการณ์เกิดในลักษณะตอบโต้ แก้แค้นกันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ประการแรก ปฏิบัติการอันใดก็ตามทางการทหารที่เกิดขึ้นในภาคใต้ จะต้องไม่นำไปสู่ความสูญเสียของประชาชนชาวมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบริสุทธิ์ ตรงนี้สำคัญมาก
ประการที่ 2 การคำนึงถึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน แน่นอนว่ามีหลักสิทธิมนุษยชนสากลอยู่ แต่ในโลกอิสลามก็มีหลักสิทธิมนุษยชนอีกชุดหนึ่งที่เราควรพิจารณา เพราะพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เขามีหลักสิทธิมนุษยชนของเขาอีกชุดหนึ่ง อาจจะไม่ต่างจากหลักสากลมากนัก แต่ก็มีข้อปลีกย่อยที่ผมคิดว่าเราควรศึกษา
เช่น การใช้สุนัขเข้าไปตรวจค้นบ้าน ทำให้เป็นเงื่อนไข หรืออย่างทหารอเมริกันที่เข้าไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน สิ่งที่เขาทำคือใช้รองเท้าบูทเหยียบหน้าอก เหยียบหัว หรือเผาคัมภีร์อัลกุรอาน ไปเข้าบ้านโดยที่ผู้หญิงของครอบครัวนั้นอยู่ในบ้านเป็นการส่วนตัว อย่างนี้ในทางอิสลามถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทหารจะเข้าไปในบ้านที่มีผู้หญิงอยู่ มีภรรยาของเขาอยู่ มีลูกสาวของเขาอยู่ไม่ได้ อันนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ หรือการเข้าไปปฏิบัติการทางทหารในมัสยิดต้องมีวิธีการ
โอไอซีคำนึงถึงประเด็นปัญหาภาคใต้ในแง่มุมสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไม่ต้องการให้ปัญหาภาคใต้ขยายไปสู่เวทีสากล ก็ต้องระมัดระวังเรื่องสิทธิมนุษยชน
โดยธรรมชาติของปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่ปัญหาทางศาสนา เวลามันเป็นปัญหาการเมืองการปกครอง วิธีการแก้ปัญหาก็ต้องเน้นในทางการเมือง โดยพยายามมอบอำนาจการตัดสินใจอะไรต่างๆ ให้กับคนมลายูมุสลิมมากหน่อย เพราะว่าความจริงแล้วประชาชนคนมลายูส่วนใหญ่ไม่ต้องการแยกดินแดนหรือเรียกร้องเอกราช แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเกียรติยศศักดิ์ศรี ต้องการการมีผู้นำของเขาเองที่มีอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ ต้องการเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าใจปัญหาของเขาจริงๆ ต้องการการศึกษาที่เป็นแบบบูรณาการ คือมีทั้งศาสนาและสามัญ เพราะเขาไม่สามารถละทิ้งศาสนาได้
แต่ก่อนคนภาคใต้จะต่อต้านระบบการศึกษาของไทยมาก เพราะเขาเชื่อว่าเป็นการศึกษาอันทำให้วัฒนธรรมของเขาถูกทำลาย และทำให้บุตรหลานของเขาเป็นคนนอกศาสนาไป แต่ปัจจุบันแนวคิดอย่างนั้นหายไปแล้ว เพียงแต่ว่าเขาต้องการระบบการศึกษาที่ทำให้ลูกของเขาหลานของเขามีความรู้ทั้งสองด้าน คือทางด้านสายสามัญและศาสนา"
มีคำถามแถมท้ายเรื่องประชาคมอาเซียน ซึ่งเด็กๆ เยาวชนในพื้นที่สนใจมาก อยากรู้เรื่องอนาคต อยากรู้แนวทางการพัฒนาตนเอง แสดงว่าเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้มุ่งเรื่องความรุนแรงหรือแบ่งแยกดินแดน ประเด็นนี้ ศราวุฒิ เห็นด้วยเต็มร้อย
"ใช่ๆ ขณะนี้เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ถามว่าคนมลายูภาคใต้ต้องการอะไร ในโลกปัจจุบันเขาเห็นโอกาสมากมาย เขาต้องการโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายรัฐบาลไม่สามารถให้เขาได้
ระยะหลังเราเห็นคนภาคใต้จำนวนมากไปศึกษาที่มาเลเซีย พอจบที่มาเลเซียเขาก็หาลู่ทางไปที่อื่น ไม่กลับมาประเทศไทย หลายคนไปเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยมาเลเซีย นั่นหมายถึงว่าพื้นที่ภาคใต้ของเราไม่ได้ให้โอกาสในการเติบโตด้านหน้าที่การงานแก่เขาเลย ผมคิดว่าขณะนี้คนมุสลิมกำลังเปลี่ยนไป แต่ก่อนคนมุสลิมส่งลูกหลานไปเรียนตะวันออกแกลาง ไปเรียนศาสนา พอจบมาก็เป็นโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม แต่ปัจจุบันส่งลูกไปมาเลย์มากกว่าตะวันออกกลาง เพราะมาเลย์มีการศึกษาสมัยใหม่ในกรอบศาสนา จบมาก็มีงานทำ
ฉะนั้นทางแก้ปัญหาคือรัฐจะต้องมอบโอกาสให้กับเขา โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาที่บูรณาการทั้งศาสนาและสายสามัญ รัฐต้องให้โอกาสเพื่อสร้างความไว้วางใจ เน้นพัฒนาสังคม ความเป็นอยู่ สุขภาวะ การมีประชาคมอาเซียนจะทำให้ประชาคมมลายูเป็นคนกลุ่มใหญ่มาก และทำให้มุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลู่ทางทางการศึกษาและประกอบอาชีพกว้างมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจนั้น ผมคิดว่าประเทศไทยเรามีอยู่แล้ว แต่เป็นการกระจายแบบตัวอักษร เวลานำไปปฏิบัติจริงอาจจะไม่กระจายเท่าที่ควร วิธีการคือทำอย่างไรให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจ การกระจายอำนาจของเราดีอยู่แล้ว แต่ต้องปฏิบัติใช้ได้จริง ต้องให้เขาตัดสินใจได้เอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นด้วยกัน รวมทั้งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องลดการนำประเด็นการเมืองไปสร้างความขัดแย้งให้กับคนในสังคม
ผมคิดว่าแนวคิดในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษถือว่าน่าสนใจ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้มีวิธีคิดไม่เหมือนทั่วไป เพราะเขาต้องการความเป็นฮาลาล ซึ่งในการดำเนินธุรกิจแล้วถือว่าเป็นจุดแข็ง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนใต้ไปสู่โลกมุสลิมในอาเซียนทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ในเอเชียกลางคือปากีสถาน และตะวันออกกลาง คือกลุ่มประเทศอาหรับได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์ http://www.siamintelligence.com/lessons-from-egypt/