ร้องผู้ตรวจฯปม ก.อบต.เลิกบรรจุ พนง. ตำบล 8 อบต.ในแม่ฮ่องสอน-ยันไร้โกง
กลุ่มข้าราชการตบเท้าร้องขอความเป็นธรรมปม ก.อบต.กลาง มีมติเลิกการสอบบรรจุ พนง.ส่วนตำบล 8 อบต. จ.แม่ฮ่องสอน อ้างเหตุผล การสอบดำเนินการผิดหลักเกณฑ์ ถามกลับผ่านมา 2 ปีแล้ว ทำไมถึงรื้อเรื่อง ยันไร้การทุจริต ทำเดือดร้อนมาก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) มีมติยกเลิกบัญชีการสอบแข่งขันพนักงานส่วนตำบลในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 8 แห่ง ได้แก่ อบต.หมอจำแป่ อบต.แม่คะตวน อบต.แม่กิ๊ อบต.ห้วยโป่ง อบต.อูคอ อบต.บ้านกาศ อบต.แม่โถ อบต.แม่ลาน้อย โดยอ้างว่า ขั้นตอนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ และการคัดเลือกข้อสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำให้ผู้ขึ้นบัญชีรับรองไว้ได้รับความเดือดร้อน โดยมีนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง
ตัวแทนกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดย ก.อบต.กลาง (สังกัดกรมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย) มีมติให้ยกเลิกผลการสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล และการรับรองบัญชีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติที่สอบไปฝ่ายวิชาการ ใน อบต. 8 แห่ง โดยอ้างเหตุผลว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ และการคัดเลือกข้อสอบ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบนั้น ดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน ที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบคนชุดเดียวกัน และการออกข้อสอบแค่ 100 ข้อ ทั้งที่ตามระเบียบต้องออกข้อสอบ 500 ข้อ ส่งผลให้ข้าราชการที่สอบบรรจุได้ กำลังจะถูกปลดออกจากราชการ และข้าราชการที่สอบขอรับรองบัญชีจากฝ่ายปฏิบัติไปฝ่ายวิชาการต้องกลับสู่ตำแหน่งเดิม ทั้งที่การสอบดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ค. 2558 หรือราว 2 ปีมาแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งรื้อเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง หากการจัดสอบดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์จริง ทำไมถึงไม่ยกเลิกตั้งแต่ตอนนั้น
ตัวแทนฯ กล่าวอีกว่า จากมติของ ก.อบต.กลาง ดังกล่าว ส่งผลให้ข้าราชการที่สอบบรรจุใหม่ และข้าราชการที่สอบขอรับรองบัญชีได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างน้อย 151 คน และเชื่อว่ายังมีกลุ่มข้าราชการที่อาจได้รับผลกระทบอีกจำนวนหลายพันคน และเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการรื้อเรื่องที่เกินกว่า 90 วัน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ตัวแทนฯ กล่าวด้วยว่า การจัดสอบดังกล่าว ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ ก.อบต.กลาง เคยให้การรับรองแล้วตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ช่วงต้นปี 2560 มีการร้องเรียนเพื่อให้รื้อเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดย ก.อบต.แม่ฮ่องสอน ได้หารือไปยัง ก.อบต.กลาง ว่า การดำเนินการเป็นอย่างไร กระทั่งช่วงเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ก.อบต.กลาง จึงมีมติว่า การจัดสอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน ขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งเรื่องกลับมายัง ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ อบต. ทั้ง 8 แห่ง หากนายก อบต. ได้รับทราบเรื่องแล้ว จะต้องปฏิบัติตามมติของ ก.อบต.กลาง คือ ดำเนินการปลดข้าราชการออก ส่วนข้าราชการขอสอบรับรองบัญชีจะต้องกลับไปปฏิบัติตามตำแหน่งเดิม ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อข้าราชการเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลการสอบที่ผ่านมา ไม่พบการทุจริต หรือความไม่ชอบมาพากลแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการทำข้อสอบนั้น ยอมรับว่า ทำไปจำนวน 100 ข้อตามข้อสอบที่ออกตอนนั้น ซึ่งทำถูกต้องทุกอย่าง