คอบช.เล็งยื่น สนช.ยุติแก้ กม.มาตรฐานสินค้าเกษตร-กม.อาหาร คุมนำเข้าส่งออกเบ็ดเสร็จ
คอบช. ด้านอาหารฯ ค้านร่าง กม. มาตรฐานสินค้าเกษตร - กม.อาหารฯ ฉบับกระทรวงเกษตรฯ ชี้ประชาพิจารณ์แก้ร่าง กม. เมื่อ เม.ย.เป็นเพียงพิธีกรรม หวั่นผ่านร่างกินรวบคุมอำนาจนำเข้า-ส่งออกอาหาร ทำลายระบบคุ้มครองผู้บริโภค เล็งทำหนังสือถึงปธ.สนช.ยกเลิกปรับปรุงเเก้ไข
วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวคัดค้านร่างกฎหมายเพื่อเเก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานสินค้าเกษตร เเละ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ของกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ซึ่งล่าสุดได้จัดเวทีรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) กล่าวไม่เห็นด้วยและขอให้หยุดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แม้กระทรวงเกษตรฯ จะอ้างว่าต้องการเครื่องมือในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางการค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับประเทศคู่ค้า แต่เมื่อผู้บริโภคจะต้องเสี่ยงกับการหลุดรอดของสินค้านำเข้าและสินค้าตีกลับที่ไม่ปลอดภัย ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นการผิดหลักการสากลและมนุษยธรรมรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเดิมการตรวจพิจารณาอาหารนำเข้าเป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนการดูแลสินค้าหรืออาหารส่งออกนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ก็ดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นสนับสนุนการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาจเป็นเหตุผลข้ออ้างที่มักถูกนำมาใช้ตลอดเวลาว่า หากกระทรวงเกษตรฯ มีอำนาจดูแลเฉพาะการส่งออก จะไม่มีอำนาจ ในการต่อรอง ในทางเศรษฐกิจอาจฟังดูแล้วดีมาก แต่สะท้อนว่า หน่วยราชการคำนึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งที่การตรวจสอบอาหารนำเข้าและอาหารส่งออกที่ถูกตีกลับควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดคำถามว่า นั่นเป็นการดูแลประชาชนจริงหรือไม่ หากเอาอำนาจการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปไว้ที่ ก.เกษตรฯ
"เหตุผลที่เราค้านและไม่ยอมรับการรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา เพราะทำเหมือนแค่พิธีกรรม เราค้านหลักการที่สนใจ แต่การค้า แต่ไม่ห่วงใยความปลอดภัยของผู้บริโภค ดูจากโมเดลความล้มเหลว จากกรณีโรควัวบ้า (Anthrax) ที่เคยระบาดในแถบประเทศยุโรปและลุกลามไปทั้งประเทศจนยากจะแก้ไข ก็เพราะกลไกการตรวจสอบอาหารที่ถูกนำไปผูกโยงกับผลประโยชน์การค้า ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน" อนุกรรมการฯ คอบช. กล่าว เเละว่า ลองสมมติดูว่าถ้าเกิดการลักไก่นำสินค้าส่งออกที่มีสารตกค้างปนเปื้อนแล้วถูกตีกลับมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศ หรือมีการเจรจาต่อรองผ่อนปรนมาตรฐานการนำเข้าสินค้าแล้วเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จะมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างไร
นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า แม้กระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจเรียกคืนสินค้า (Recall) แต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้อำนาจ อย.อยู่ดี และหากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนโยกย้ายภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน”
ด้าน นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า คอบช.ได้เคยขอข้อมูลและแนวทางการจัดการสินค้าส่งกลับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งกลับที่พบสิ่งไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ติดฉลากโภชนาการ มีสารตกค้างปนเปื้อน จะมีมาตรการในการดูแลและเฝ้าระวังสินค้าที่ถูกส่งกลับอย่างไร จะมีแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในการบริโภคสินค้าที่ถูกส่งกลับและนำมาจำหน่ายในประเทศอย่างไร แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลและคำชี้แจงจากกระทรวงเกษตรฯ แต่อย่างใด ทั้งที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการตีกลับสินค้าจากสหรัฐฯ ในเรื่องคุณภาพไม่ใช่แค่เรื่องติดฉลากผิด
“ทำไมกระทรวงเกษตรฯ จึงยังไม่เผยแพร่ผลการประเมินการทำงานหลังจากได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยหน่วยงานที่ควรต้องทำการประเมินควรเป็น อย. เพราะเป็นหน่วยงานที่ส่งมอบภารกิจดังกล่าว หลังจากการประเมินผลแล้วค่อยจัดทำประชาพิจารณ์กันใหม่ จะได้ทราบว่าเมื่อกระทรวงเกษตรฯ รับมอบภารกิจแล้ว ทำงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คอบช.ได้ทำหนังสือกระตุ้นให้ อย.ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย”
ขณะที่นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ เลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ กม.ทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เพราะเดิม อย. เคยดูแลการนำเข้า ถ้าสินค้ามีปัญหาก็ตีกลับเลย พอถ่ายโอนภารกิจมาให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแล จะมีปัญหาในเรื่องการติดตาม (Traceability) และ เรียกคืนสินค้า (Recall) ถ้าสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดหลุดรอดออกมา แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจที่จะเรียกสินค้ากลับ แต่กว่า อย. จะรู้เรื่อง กว่า อย. จะเตือนภัยประชาชน และกว่าสินค้าจะถูกดึงออกจากตลาดก็สายไปเสียแล้ว หากกระทรวงเกษตรฯ จะสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่ใส่ใจกลไกดูแลความปลอดภัยของประชาชน ก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าระบบการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถูกทำลายลงแล้ว”
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จะทำหนังสือเรียนไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ยกเลิกการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภค