"ปาตานีคาเฟ่" ควานหาพลังของปัญญาชนปลายด้ามขวาน
สายๆ ของวันอาทิตย์สุดท้ายปลายเดือนมกราฯ พลพรรครักสันติภาพมาร่วมวง "ปาตานีคาเฟ่" ที่ร้านหนังสือ "บูคู" กลางเมืองปัตตานี ร้านหนังสือที่มีเจ้าของร้านใจดีเอื้อเฟื้อเก้าอี้และบรรยากาศให้เหล่านักคิดได้นั่งสนทนา วิพากษ์ และวิจารณ์ พร้อมบริการอย่างเป็นกันเอง
"ปาตานีคาเฟ่" เป็นวงสนทนาพูดคุยกันของ "ปาตานี ฟอรั่ม" องค์กรพัฒนาเอกชนน้องใหม่ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายทั้งคนมลายูและคนที่ไม่ใช่มลายูแต่เติบโตและอาศัยอยู่ในปัตตานี เพื่อให้มีพื้นที่ในการนำเสนอแง่คิด วิเคราะห์ และกิจกรรมเสวนากึ่งวิชาการที่มีเนื้อหาสาระและการถกเถียงซ่อนอยู่ในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวสูง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน เพื่อก้าวข้ามการตอบโต้กันไปมาในสถานการณ์ร้ายรายวัน
เป้าหมายสำคัญของ "ปาตานี ฟอรั่ม" ก็คือการโน้มน้าวให้สังคมไทยและรัฐไทยเลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแสวงหาหนทางยอมรับและอยู่ร่วมกับผู้ที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างจากคนส่วนมากของสังคมอย่างสันติสุข เช่น สังคมมลายูในภาคใต้ของไทย...
การพูดคุยกันเมื่อปลายเดือนมกราฯ ตั้งหลักกันที่หัวข้อ "ย่างที่ 9 ของไฟใต้ ก้าวที่เดินของปัญญาชน" โดยมี ดอน ปาทาน, เอกรินทร์ ต่วนศิริ และ ซอเร เด็ง ร่วมเปิดประเด็น
ดอน ปาทาน หนุ่มร่างใหญ่ผู้เชี่ยวชาญขบวนการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำในเขตพม่า จีน ไทย จนถึงภาคใต้ของไทย เขาเคยเป็น "คนข่าว" จากค่ายเนชั่น ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นสมาชิกดินแดนปลายด้ามขวานกับครอบครัวในปัตตานี เขาเริ่มต้นถึงทิศทางการก้าวเดินของปัญญาชน นิสิตนักศึกษาในดินแดนแห่งนี้ว่าจะสาวเท้าไปพร้อมกับพื้นที่อื่นหรือจะแยกออกมา
"ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พลังนักศึกษาหดหายไปมาก บรรยากาศและการต่อสู้ของนักศึกษาในอดีตเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย เรื่องเช่นนี้คนทำต้องมีใจและกายที่พร้อมจึงจะสำเร็จ" ดอน วิพากษ์พร้อมให้แง่คิด
ขณะที่ เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปาตานี ฟอรั่ม อดีตแกนนำนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของปัญญาชนมุสลิมในไทยที่เขาสนใจว่า มีการพูดถึงและเก็บเอกสารเกี่ยวกับการต่อสู้ของปัญญาชนมุสลิมในไทยน้อยมาก ปัญญาชนมุสลิมร่วมในขบวนการต่อสู้เช่นกันแต่มักไม่ได้รับการกล่าวถึง แทบไม่มีงานเขียนเกี่ยวกับบทบาทนักศึกษามุสลิมเลย
จากการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 จนถึงการก่อตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขึ้นมา มีการก่อตั้ง "กลุ่มสลาตัน" (มลายู) ที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในสมัยนั้นให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มบริการสาธารณะให้มากขึ้น ช่วงนั้นมุสลิมขออะไรก็ได้หมด จนมีการขอโควต้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจและที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ การรวมกลุ่มอาศัยบรรยากาศในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องเรื่องของตัวเอง ไม่มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูป ทำให้ถูกมองจากบางฝ่ายว่ามลายูสนใจแต่เรื่องของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่และส่อว่าจะดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อยาวนาน เอกรินทร์ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมากมายทำให้ต้องมาขบคิดกันอย่างละเอียดว่าสิ่งใดเหมาะสมกับพื้นที่นี้จริงๆ
"สิ่งสำคัญคือการบริหารความรู้สึกต่อกัน อย่าด่วนตัดสินคนอื่น ต้องให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ มากที่สุด ไม่ใช้สภาวะทางอารมณ์ในการเคลื่อนไหว ลดความเร่าร้อนในจิตใจ และเคลื่อนไหวไปอย่างมีคุณภาพโดยอาศัยการขับเคลื่อนของทุกคนทุกภาคส่วน" เป็นทัศนะของเอกรินทร์
ด้าน ซอเร เด็ง อดีตนักศึกษาและนักกิจกรรมจากรั้วศรีตรัง (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ.) บอกว่า อยากให้นักศึกษารู้จักคุณค่าของตนเอง การเคลื่อนไหวและร่วมกิจกรรมขณะกำลังศึกษาอยู่เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้เพราะเป็นทุกคนมีสติปัญญา
"การเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมตอนกำลังเรียนอยู่จะไม่ถูกฝ่ายไหนทำอะไร อย่าคิดว่าจบไปแล้วจึงจะมาทำกิจกรรม เพราะจะมีเรื่องเงิน เรื่องงาน และเรื่องอื่นเข้ามา ทำให้ทำได้ไม่เต็มที่ ปัญญาชนต้องเชื่อมกับการศึกษาและศาสนาให้มากขึ้น ประโยชน์ที่ได้จากการทำกิจกรรมมีมากมายที่หาไม่ได้ในห้องเรียน จิตสำนึกจึงต้องสร้างกันตั้งแต่เด็กให้มองเห็นทุกอย่างรอบตัวเป็นเรื่องที่น่าสนใจใคร่รู้ นำมาขบคิด ไม่ใช่ทำกันตามกระแสของสังคม สิ่งสำคัญคือจิตใจที่เปิดกว้างอย่างไม่มีอคติ จะส่งผลให้การทำงานทุกอย่างเดินไปได้ด้วยดี" ซอเร กล่าวโดยอิงประสบการณ์ตรงของตน
ส่วน ทวีศักดิ์ ปิ นักศึกษาปีสุดท้ายจาก ม.อ.ปัตตานี กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมีมาก หากแต่ด้อยประสิทธิภาพ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่บังคับด้วยชั่วโมงกิจกรรม
"ทุกวันนี้ ม.อ.ปัตตานีมีกิจกรรมเยอะมาก แต่ผลที่ได้รับกลับมามีน้อย เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจหรือตั้งใจเข้าร่วมอย่างจริงจัง เพียงแต่ไปนั่งฟังหรือนั่งให้ครบตามที่ชั่วโมงกิจกรรมบังคับ เพราะต้องเข้าร่วมกิจกรรมตามกฎของมหาวิทยาลัย ใครไม่เข้าก็ไม่ผ่าน อาจดีสำหรับเด็กเรียน แต่ไม่ดีสำหรับคนที่อยากทำกิจกรรมจริงๆ บางกิจกรรมอาจเห็นว่ามีคนเยอะ แต่จริงๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลยก็ได้"
"นอกจากนั้นการทำกิจกรรมระหว่างนักศึกษาด้วยกันยิ่งมีน้อยและมีปัญหาด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นเพื่อนคนละศาสนากัน หรือแม้แต่มุสลิมด้วยกันเองก็ยังมีปัญหา อย่างเพื่อนมุสลิมที่มาจากภาคใต้ตอนบนจะคิดกันคนละอย่างกับเพื่อนมุสลิมจากชายแดนใต้ พูดกันคนละภาษา หลายประเด็นจึงยังไม่สามารถร่วมมือกันได้ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างนักศึกษาใต้ตอนบนเคลื่อนไหวเรื่องโรงไฟฟ้า เมื่อชวนนักศึกษามุสลิมที่นี่ไปร่วมก็มักไม่ได้รับความร่วมมือเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน อยากให้นักศึกษาที่นี่ติดตามข่าวสารและสื่อสารกับสังคมภายในและนอกมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ เมื่อจบออกไปจะได้ปรับตัวและปรับความคิดได้ทันโลก" ทวีศักดิ์ บอก
วงเสวนา "ปาตานีคาเฟ่" จบลงอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไรนัก ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ว่าจะปีไหน ก้าวย่างที่เท่าไหร่ พลังนักศึกษาปัญญาชนยังคงเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ หากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใส่ใจผู้คนและปัญหารอบกาย รวมทั้งขยับตัวตนให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก
เพราะพลังอันบริสุทธิ์ของปัญญาชนและนักศึกษาโอบอุ้มโลกใบนี้ให้น่าอยู่เสมอ...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ติดตามเว็บไซต์ปาตานีฟอรั่มของพวกเขาได้ที่ www.pataniforum.com
บรรยายภาพ :
1 (จากซ้ายไปขวา) เอกรินทร์ ดอน และซอเร
2 บรรยากาศสบายๆ ของวงเสวนา