ล้วงเหตุผล‘เลขาฯก.พ.’ไฉนไม่บรรจุพยาบาลเข้า ขรก. กระทบบำนาญ-ผลาญงบ ปท.?
“อยากจะบอกว่ามันก็เงินภาษีของประชาชนเหมือนกัน ถ้ามาจ่ายเป็นค่าบุคลากรสูงมากแบบนี้ รัฐบาลก็ไม่มีเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น สมมุติว่าเรานำเงินงบประมาณแผ่นดินปีละ 2 ล้านล้านบาท ตอนนี้ก็ประมาณครึ่งหนึ่งที่เป็นงบบุคลากร ที่จะต้องนำมาจ่ายเดือน เงินสวัสดิการ ของทางข้าราชการ”
ประเด็นการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นข้าราชการประจำกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา
ส่งผลให้เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ชวนกันแสดงพลังประกาศลาออกในวันที่ 30 ก.ย. นี้ สร้างแรงสะเทือนให้วงการสาธารณสุขของไทยทันที หากฝั่งรัฐบาล VS เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ต่างคนต่างไม่ยอมถอย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงต่อสายตรงคุยกับ “เมธินี เทพมณี” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการเปิดอนุมัติอัตราข้าราชการทั้งประเทศ เพื่อไขข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่สามารถอนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอได้
@สาเหตุที่ไม่อนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
ขณะนี้ดูตำแหน่งทางราชการแล้ว การขออนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขต้องหมุนตัวเลขกรอบอัตราอีกหน่อย โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่ามีตำแหน่งว่างอยู่ แต่ไม่ได้เป็นตำแหน่งพยาบาลเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะต้องหมุนกันทั้งแพทย์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เป็นต้น ตอนนี้เขากำลังจัดตัวเลขให้ลงตัว และทางก.พ.ก็พยายามเต็มที่ให้มันไปได้
“ตำแหน่งที่ขอเปิดใหม่เท่าที่คุยกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจจะเปิดเพิ่มให้ได้ 3,000 ตำแหน่ง แต่จะได้ครบ 3,000 คนหรือไม่ มันอาจจะไม่ใช่ อาจจะต้องแบ่งกัน ตำแหน่งมีอาจจะไม่ลงไปพยาบาลทั้งหมด ทางก.พ.จะเร่งคุยกันให้เร็วสุด ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะให้รายละเอียดอีกครั้ง”
โดยการดูแลพยาบาลวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ถือว่าดีมาก เขาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากลูกจ้างชั่วคราว ต่อด้วยพนักงานสาธารณสุข โดยเงินไม่เป็นปัญหาสำหรับกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องดูแลพยาบาล เพราะมีระบบดูแลพยาบาลดีมากอยู่แล้ว หากไม่เป็นข้าราชการก็จะอยู่ในระบบประกันสังคมเหมือนทั่วไป แต่ตัวเลขตอนนี้ 3,000 กว่าคนที่เขาขอ ก็น่าจะทำได้
@ปัญหาเริ่มต้นที่ทางก.พ.เห็นว่าไม่สามารถเปิดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มได้คืออะไร
ก.พ.ไม่ได้เพิ่มอัตราข้าราชการมาหลายปีแล้ว เหตุที่ไม่เพิ่มเพราะหน่วยงานของรัฐมีสวัสดิการดีมาก ข้าราชการถ้าไม่เสียชีวิตเราจะจ่าย 5-6 คนต่อหัวจนหลังเกษียณอายุราชการ เช่น เมื่อเจ็บป่วยก็ให้เบิกพ่อ-แม่-ภรรยา-บุตร ได้ สมัยก่อนระบบบำเหน็จ-บำนาญ เราคิดว่าข้าราชการจะเสียชีวิตกันเมื่ออายุ 60 กว่า แต่ขณะนี้คนไทยอายุเฉลี่ย 75 ปี ทำให้ระบบบำเหน็จ-บำนาญ แบกภาระงบประมาณต่อคนสูงมาก
“น้อง ๆ พยาบาลก็พูดว่าการที่เขาได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต แม้เงินเดือนจะน้อยถ้าเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เขามุ่งมั่นทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่อยากจะบอกว่ามันก็เงินภาษีของประชาชนเหมือนกัน ถ้ามาจ่ายเป็นค่าบุคลากรสูงมากแบบนี้ รัฐบาลก็ไม่มีเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น สมมุติว่าเรานำเงินงบประมาณแผ่นดินปีละ 2 ล้านล้านบาท ตอนนี้ก็ประมาณครึ่งหนึ่งที่เป็นงบบุคลากร ที่จะต้องนำมาจ่ายเดือน เงินสวัสดิการ ของทางข้าราชการ”
@รัฐบาลจึงต้องพยายามลดเงินส่วนนี้ โดยเฉพาะเงินสวัสดิการ
ใช่ ในหลักเกณฑ์นี้เราก็ต้องพยายามลด โดยทุกส่วนราชการได้รับนโยบายจากรัฐบาลไปแล้ว ว่าต้องพยายามไม่บรรจุข้าราชการเพิ่ม แล้วให้ข้าราชการ 1 คน ทำงานมากกว่าเดิม อันนี้พูดไปก็จะร้อนแรงอีก แต่เอกชนเขาทำกันมานานแล้วใช่ไหม เช่น 1 คน ทำหลายหน้าที่ แล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องใช้กำลังคนเยอะ เราจึงต้องคิดว่าควรยืนอยู่ในความพอดี
@แสดงว่าปัญหาของการไม่บรรจุเป็นข้าราชการคือเรื่องบำเหน็จ-บำนาญเพียงอย่างเดียว
เท่าที่ดิฉันมองก็น่าจะใช่ เพราะระบบบำเหน็จ-บำนาญ เป็นแรงจูงใจที่ดีในการเป็นข้าราชการเหมือนพวกพี่ ซึ่งคำนวณแล้วก็จะได้ 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนงวดสุดท้าย
@หากไม่รับข้าราชการเพิ่มกระทรวงอื่นจะมีปัญหาตามมาหรือไม่
กระทรวงอื่นไม่มีหรอก ช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้แต่ละกระทรวงทราบดีว่าจะต้องเอาตำแหน่งงานที่จำเป็นไว้ แล้วหาคนเก่งๆมาทำ และพัฒนาคนที่อยู่ในระบบให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่งานชิ้นหนึ่งทำกัน 3 คน เราก็ไม่อยากเห็นข้าราชการทำอย่างนั้น เราอยากเห็นข้าราชการทำงานเต็มที่คุ้มค่าเงินเดือนที่เราจ่าย ไม่ใช่ทำงานไปวันต่อวันหรือทำงานรูทีน (Routine) และในอนาคตงานรูทีนข้าราชการต้องไม่ทำแล้ว ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นผู้กำกับดูแลให้เอกชนเขาเข้มแข็ง
“แต่ส่วนตัวเห็นว่าบางงานก็อาจจะจำเป็นอยู่ เช่น งานของพยาบาล ก็ต้องแยกออกมา เพราะงานบางอย่างไม่ได้ทำเพื่อกำไรหรือหวังว่าจะรวย งานอะไรที่ไม่ได้หวังรวยราชการต้องทำเอง อะไรที่เอกชนเขาทำดีกว่าราชการ เราก็ไม่ควรไปทำเลย ฉันเป็นคนประชาสัมพันธ์ให้คนเก่งมารับราชการ เพราะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ ไม่คิดจะรับราชการเลย คนที่จะมองยุทธศาสตร์ประเทศ มองว่าประเทศจะเคลื่อนไปทิศทางไหน คนที่เก่งงานวิจัย เป็นต้น คนแบบนี้แทบที่จะไม่คิดรับราชการ”
ทางราชการก็พยายามลดค่าใช่จ่ายกันอย่างมาก เช่น ไม่มีนโยบายให้รับคนขับรถมานานแล้ว เราจ้างไม่ไหว จึงต้องจ้างเหมาพร้อมเช่ารถแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงพนักงานบันทึกข้อมูลก็ไม่ได้จ้างแล้ว เพราะทุกคนต้องบันทึกข้อมูลเองหมด ไม่มีเสมียนพิมพ์แล้ว งานมันเป็นยุคสมัย หลายตำแหน่งที่เลิกจ้างไปแล้ว เพราะวิธีการทำงานเปลี่ยนไป
ทั้งหมดคือเหตุผล-ความจำเป็น ในมุมมองของ “เลขาธิการก.พ.” ที่ไม่สามารถอนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้
อาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ “ข้าราชการ” ต้องย้อนมองการทำงานของตัวเอง ?
อ่านประกอบ :