สถิติผู้สูงอายุโดดเดี่ยวพุ่ง กรมอนามัยสร้างตำบลต้นแบบดูแลคนชรา
กรมอนามัยชี้ คนแก่อยู่ตามลำพังแนวโน้มพุ่ง เตรียมรับมือ 14 ปีข้างหน้ากว่า 14 ล้านคน จับมือเครือข่ายคลอดหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ สานตำบลต้นแบบดูแลสุขภาพผู้สูงวัย
เร็วๆนี้ นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าจากปัญหาการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุไทยอย่างรวดเร็วจาก 7 ล้านคน เป็น 14.5 ล้านคน ในปี 2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นการก้าวสู่ภาวะประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าในระยะเวลาอันสั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 7.7 ในปี 2550
จากการสำรวจ พบว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังจะมีความรู้สึกเหงาร้อยละ 51.2 ไม่มีคนดูแลเมื่อเวลาเจ็บป่วยร้อยละ 27.5 ต้องการคนดูแลเป็นบางเวลาร้อยละ 52.2 และต้องการคนดูแลตลอดเวลาร้อยละ 10.2 ส่วนด้านสุขภาพพบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 60–69 ปีร้อยละ 69.3 เป็นโรคเรื้อรัง และจะพบโรคเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 90 ปีพบร้อยละ 83.3 ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุดคือความดันโลหิตสูงร้อยละ 31.7 โรคเบาหวานร้อยละ 13.3 โรคหัวใจร้อยละ 7 อัมพาต/อัมพฤกษ์ร้อยละ 2.5 โรคหลอดเลือดในสมองตีบร้อยละ 1.6 และโรคมะเร็งร้อยละ 0.5 ตามลำดับ
ดังนั้นกรมอนามัยจึงได้ดำเนินโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวตั้งแต่ปี 2551 ในการสร้างตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในภูมิภาคต่างๆ โดยปัจจุบันมีตำบลต้นแบบ 81 แห่ง และในปี 2555 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน พัฒนา 3 หลักสูตรการฝึกอบรมดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตร 420 ชั่วโมง หลักสูตร 70 ชั่วโมง และหลักสูตรอบรมเตรียมความพร้อมแก่ อสม. เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุที่ประสบภัยพิบัติ .
ที่มาภาพ : http://atcloud.com/stories/102035