ดร.ปริญญา สะท้อนความป่วยไข้การเมืองไทย ไม่เเก้ระบบอำนาจบริหาร
ดร.ปริญญา สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย เหตุเพราะแก้ปัญหาผิดมาตลอด ไม่เคยจัดการระบบ ชี้การบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง ระบบตัวแทนจึงไม่ได้มาจาก ปชช.อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในช่วงหนึ่งว่า ประเทศไทยวันนี้ป่วยไม่ใช่เพราะร่างกายไม่ดี แต่เป็นเพราะระบบภายในตีกันเอง ฝ่ายเหลืองฝ่ายแดง สุดท้ายทหารก็คิดว่าไม่ได้เเล้วต้องยุติเลยมายึดอำนาจแล้วคิดว่าต้องผ่าตัด เราต้องใช้ยาแรงนั่น คือ มาตรา 44 แต่ถามว่าคนป่วยคนนี้จะอยู่ด้วย มาตรา 44 ตลอดไม่ได้ สิ่งที่เราต้องพูดถึง คือ คสช.ที่จะเลือก สมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.)ในช่วงเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่ง สว.จะมีอำนาจเลือกนายกฯ นั้น จะมีอยู่ในสภาต่อไป 5 ปี ถึงจะกลับสู่ปกติ ระยะเปลี่ยนผ่านยังไงก็ต้องเจอ ประเด็นคือว่า เราจะทำอย่างไร ไม่ใช่ประชาธิปไตยล้มเหลวอีก และนี่คือเรื่องของเราทุกคน
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาของคณะราษฎร และบทบาท อ.ปรีดีสั้นแค่ 15ปี แล้วเป็น15 ปีที่ไปเป็นสงครามโลกครั้งที่สองอีกนาน ซึ่งตอนนั้นภารกิจ อ.ปรีดีคือ เอกราชของชาติ อ.ปรีดีตั้งเสรีไทยขึ้นมาเพื่อปกป้องเอกราช ไม่ยอมเลือกข้างฮิตเลอร์ ดังนั้นช่วงเวลาหลังสงครามโลก เมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นฉบับที่ดีมากในตอนนั้นประเทศไทยเป็นสภาเดี่ยวไม่มี ส.ว. แต่จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คล้ายโมเดลของฝรั่งเศสที่ ส.ว.มาจากท้องถิ่นเป็นคนเลือก พูดง่ายๆ อ.ปรีดีใช้เรื่องนี้ส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง แต่เป็นเคราะห์ร้ายของประเทศไทยเมื่อเกิดเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่8 และอ.ปรีดีถูกใส่ร้าย ทหารก็ใช้อำนาจยึดมาใน 2490 สิ่งที่อ.ปรีดีตั้งใจจะทำจึงทำได้แค่นั้น
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่ออีกว่า กลไกที่ทำให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตกใต้อำนาจของพรรคการเมือง เริ่มต้นในปี 2517 แต่เดิมไม่เคยมีเรื่องพวกนี้เลย เพราะอาจารย์ปรีดี ทราบเป็นอย่างดีว่า เครื่องมือของรัฐบาลในการครอบงำผู้แทนปวงชนคือ มติพรรค เมื่อประโยชน์ของปวงชน สวนทางกับประโยชน์ของพรรค ยกตัวอย่าง ถ้ามีรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดที่เป็นรัฐบาล ตอบคำถามในเรื่องที่ถูกอภิปรายได้ไม่ดี ยังมีข้อสงสัย ท่านซึ่งเป็นตัวแทนปวงชน แม้ว่าจะสังกัดพรรครัฐบาล ก็ไม่ควรยกมือให้ผ่าน แต่บ้านเราไม่ใช่อย่างนั้น แปลว่า ประโยชน์ของปวงชนมาทีหลังประโยชน์ของพรรค เราทำเรื่องนี้เพื่อให้ เมื่อถึงเวลาประโยชน์ของปวงชน สวนทางกับประโยชน์ของพรรค ผู้แทนต้องยกมือให้กับปวงชนไม่ใช่พรรค แต่ประเทศไทยเป็นแบบนี้ เพราะเกิดจากสิ่งที่เราเริ่มต้นในปี 2517
“ถ้าใครบอกรัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นประชาธิปไตยที่สุด คนที่พูดเช่นนั้น ไม่เคยเปิดอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเลย เป็นเพียงความเชื่อ เพราะนึกเอาเองว่าหลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้วทุกอย่างจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่จริง” รองอธิการบดี มธ. กล่าวและว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นที่อภิปรายคัดค้าน คือ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อภิปรายว่า ถ้าบังคับ สส.ให้ตกในอำนาจพรรคการเมืองเมื่อไหร่ ต่อไปประชาธิปไตยของไทยจะถูกผูดขาดโดยทุนและพรรคการเมือง และประเทศจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ดังนั้น เราต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเสรี และประชาชนคิดเองว่าอยากเลือก ส.ส. แบบไหน เหมือนผู้ว่ากรุงเทพฯ ใครก็สมัครได้ ไม่ต้องสังกัดพรรค ประชาชนคิดเองได้
“ประเทศไทยมีสามระบบอยู่ในประเทศเดียวกัน (1) ถ้าสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง (2)ถ้าสมัคร ส.ว. ห้ามสังกัดพรรคการเมือง (3)ท้องถิ่น สังกัดก็ได้ไม่สังกัดก็ได้ ตกลงเราจะเอาอย่างไร กับพรรคการเมือง เพราะสากลใช้คือแบบที่สาม ประชาชนคิดเองได้”
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการบังคับสังกัดพรรคไม่ได้แก้ปัญหาการซื้อคน แต่กลับทำให้เกิดปัญหาใหม่ ที่ตัวแทนปวงชนไม่ใช่ของปวงชนแต่คือของพรรค และครอบงำประเทศ นี่คือเรื่องที่เราต้องแก้ แต่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ก็ไม่ได้แก้เรื่องนี้ เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา เกิดจากการยึดอำนาจ ของจอมพลถนอม กิติขจร คือการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2511 ที่ร่างมาสิบปี จอมพลถนอมเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งเคยชินกับการบริหารบ้านเมืองโดยใช้มาตรา 17 ซึ่งก็คือ มาตรา 44 ในปัจจุบัน เคยชินกับการมี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่ตัวเองควบคุมได้ มาเจอกับสภาที่ ส.ส.มาจากปวงชน มีอำนาจต่อรอง ทักท้วงเรื่องงบประมาณ ที่ไม่เห็นด้วย จอมพลถนอมจึงทนไม่ไหว เพราะอยู่กับเผด็จการและ มาตรา 17 มาตลอด ก็เลยรัฐประหารเสียเลย ส่วน 14 ตุลา ก็ออกมาเรียกร้องในรัฐธรรมนูญที่ จอมพลถนอมฉีกทิ้งไป
พอมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ตั้งโจทย์ผิด ที่จอมพลถนอมล้มเหลวเพราะปวงชนมีเสรีภาพมากไป ดังนั้นวิธีแก้ตอนนั้นคือตัดเสรีภาพทิ้งไป จับให้อยู่ในพรรคการเมืองให้หมด ต่อไปก็แค่ต่อรองกับหัวหน้าพรรคอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราไปแก้ปัญหาผิดมาโดยตลอด
“อ.ปรีดีตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา เพราะมองว่าสังคมต้องมีเรื่องประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมด้วย นั่นคือ เราแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันก็ต้องเคารพกัน คนเราแม้ว่าไม่เท่ากัน แต่เสมอภาคกัน มีรวยมีจน แต่เสมอภาคในการกำหนดอนาคตของประเทศ หนึ่งคนหนึ่งเสียง และควรจะให้เสมอกันมาขึ้น จากความเสมอภาคทางการเมืองก็มาสู่การเสมอภาคทางเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว.