ครบชุด! หนังสือ คตง.Vs สตง.-วุฒิสภา ปมสรรหาบอร์ดตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่ ก่อนเลื่อนไม่มีกำหนด
"..กรรมการตรวจเงินแผ่นดินบางท่านเห็นว่า การที่ประชุมหัวคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ลงวันที่ 5 เม.ย.2560 ข้อ 8 ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดนี้ สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีกวาระหนึ่ง การเปิดการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว ก่อนวันที่คตง.ชุดนี้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง (25 ก.ย.2560) อาจเป็นกรรมการมาเพื่อสมัครรับการสรรหา อันจะเป็นผลให้การทำงานของ คตง.ชุดนี้ต้องหยุดลง เพราะมีจำนวนไม่ถึง5 คน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตรวจเงินแผ่นดินโดยรวม .."
จากกรณีเกิดปัญหาความขัดแย้งในขั้นตอนการดำเนินงานสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ภายหลังจากที่ เลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำหนังสือแจ้งถึง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ( คตง.) ชุดปัจจุบัน ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจำนวน 5 ราย จากเดิม 7 ราย ได้แก่ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ นางอุไร ร่มโพธิหยก นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์ ซึ่งจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 25 ก.ย.2560 นี้ เพื่อขอให้พิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหนังสือจากสำนักงานวุฒิสภาฯ ซึ่งมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ครั้งแรก ในวันที่ 11 พ.ค.2560 นี้
ภายหลังจากที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ลงนามในหนังสือ ที่ ตผ 0005/1740 ลงวันที่ 24 เม.ย.2560 ถึงเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้มีการสรรหาคตง.ใหม่ แทนคตง.ชุดเก่าทั้งชุด
อย่างไรก็ตาม คตง. ชุดปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งได้รับเรื่องจากผู้ว่าฯ สตง. และบรรจุเข้าวาระการประชุมคตง. เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ขณะที่คณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีกำหนดการเริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 11 พ.ค.2560 นี้ ระยะเวลากระชันชิดเกินไป คตง.4 ราย (ยกเว้นนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ) จึงลงนามในหนังสือแจ้งตอบกลับไปถึงเลขาธิการวุฒิสภา ว่า ไม่สามารถจัดหาคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ และที่สำคัญ คตง. ชุดปัจจุบัน ที่ยังไม่หมดวาระการทำงาน พร้อมระบุว่า หากเรื่องนี้มีปัญหาเกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติ ขอให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงในสตง. ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า การทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภา เกี่ยวกับการสรรหาคตง. ดังกล่าว สตง.ไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการ แต่เป็นเพราะทางวุฒิสภา ประสานมาให้สตง.เร่งรัดดำเนินการในเรื่องนี้ ตามขั้นตอนในคำสั่งหัวหน้า คสช.
(อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯ สตง.งัดข้อ คตง.เร่ง สนช.สรรหาใหม่ ล้างบางยกชุด-เจอสวนขัด กม.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2560 คตง.จำนวน 4 ราย ประกอบไปด้วย นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ นางอุไร ร่มโพธิหยก นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์ กรรมการคตง. ได้ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อแสดงจุดยื่นเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ได้รับแจ้งหนังสือจากเลขาวุฒิสภา ให้พิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน ซึ่งมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ครั้งแรก ในวันที่ 11 พ.ค.2560 นี้
โดยมีสาระสำคัญว่า ประธานคตง.ได้รับเรื่องนี้ จากผู้ว่าฯ สตง. ในช่วงวันที่ 2 และ 4 พ.ค.2560 และได้บรรจุเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในวันที่ 4 พ.ค.2560 โดยที่ประชุมเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ลงวันที่ 5 เม.ย.2560 กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา คตง. จึงสมควรที่จะมีหนังสือถึงประธานคตง.โดยตรง
ส่วนการส่งรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คตง.เกรงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา และอาจขัดต่อข้อกำหนดในคำสั่งดังกล่าว
นอกจากนี้ คตง.ชุดปัจจุบัน ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่อาจมีการคัดเลือกหรือสรรหาได้ และหากจะนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับแล้วก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะยังไม่พ้นตำแหน่งตามวาระ นอกจากนี้ ขณะนี้ ยังไม่มีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จึงไม่อาจคัดเลือกหรือสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
คตง.ทั้ง 4 ราย ยังระบุด้วยว่า การที่เลขาธิการวุฒิสภา และ สตง. ได้ดำเนินการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นการกระทำโดยที่ยังไม่เกิดหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและคำสั่งคสช. ที่23 /2560 ลงวันที่ 5 เม.ย.2560 เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สตง. จึงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ส.2560 มาตรา 210
คตง. ยังระบุด้วยว่า อนึ่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินบางท่านเห็นว่า การที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ลงวันที่ 5 เม.ย.2560 ข้อ 8 กำหนดให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดนี้ สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีกวาระหนึ่ง การเปิดการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว ก่อนวันที่คตง.ชุดนี้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง (25 ก.ย.2560) อาจเป็นการบังคับให้กรรมการบางรายต้องลาออกเพื่อสมัครรับการสรรหา อันจะเป็นผลให้การทำงานของ คตง.ชุดนี้ต้องหยุดลง เพราะมีจำนวนไม่ถึง5 คน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตรวจเงินแผ่นดินโดยรวม (ดูรายละเอียดในหนังสือประกอบ)
@ หนังสือแสดงความเห็นของ สตง.
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นและจุดยื่นของ คตง. 4 ราย และหนังสือสตง. ที่ส่งถึงเลขาวุฒิสภาเป็นทางการ
ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดได้มีเลื่อนการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 11 พฤษภาคม ออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาบางรายติดภารกิจ และองค์กรอิสระก็ยังเสนอชื่อมาไม่ครบทุกองค์กร