แนะ 'กทม.' หลังล้มประมูล 'บีอาร์ที'
"ผมได้เปรียบเทียบราคารถบีอาร์ทีกับรถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก. กำลังจัดซื้อและเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ รถทั้งสองประเภทนี้มีสเปกใกล้เคียงกันมาก ในขณะที่รถเมล์เอ็นจีวีมีราคากลางเท่ากับ 3.55 ล้านบาทต่อคัน รถบีอาร์ทีควรมีราคากลางในปี พ.ศ.2553 อยู่ที่ 4.15 ล้านบาทต่อคัน กรณีกทม.ต้องผ่อนชำระเป็นเวลา 7 ปี หากคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี จะทำให้ราคารถรวมดอกเบี้ยเป็น 6.18 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กทม.ซื้อถึง 2.34 ล้านบาทต่อคัน (8.52-6.18)"
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์บทความในเฟชบุคส่วนตัว (https://www.facebook.com/Dr.Samart/) หลังจากเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ได้โพสต์บทความเรื่อง "จับตาประมูลบีอาร์ที" ซึ่งมีใจความโดยสรุปได้ว่า "ผมเห็นด้วยที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตัดสินใจให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือบีอาร์ที) ต่อไป โดยมอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ซึ่งเป็นบริษัทของกทม.เป็นผู้จัดหาผู้เดินรถ เคทีได้เปิดประมูลให้บริษัทที่สนใจจะเป็นผู้เดินรถเข้าแข่งขัน ซึ่งผมเห็นด้วยแต่ได้ท้วงติงว่าข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือทีโออาร์) ที่เคทีเขียนขึ้นมานั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากเคทีได้ระบุไว้ในทีโออาร์ ข้อ 9.6 ว่า “ผู้รับสิทธิจะต้องจัดให้มีรถโดยสารอย่างน้อย 25 คัน” โดยรถโดยสารจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนบีอาร์ทีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสผู้เดินรถบีอาร์ทีในปัจจุบันที่มีรถบีอาร์ทีจำนวน 25 คัน อยู่ในมือพร้อมแล้ว ส่วนบริษัทอื่นอีก 3 บริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลไม่มีรถบีอาร์ทีอยู่ในมือเลย ด้วยเหตุนี้ การเขียนทีโออาร์เช่นนี้จะทำให้กทม. และเคทีถูกกล่าวหาได้ว่าล็อกสเปกให้บีทีเอส"
จะเป็นเพราะบทความดังกล่าว หรือไม่ ไม่ทราบ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับข้อมูลมาว่า เคทีได้ตัดสินใจยกเลิกการประมูลแล้ว โดยเคทีได้มีหนังสือลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เรื่อง ขอยกเลิกการยื่นข้อเสนอรับสิทธิเป็นผู้เดินรถ โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ถึงทุกบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลความว่า "เนื่องจากบริษัท (เคที) มีเหตุต้องแก้ไขข้อกำหนดให้สิทธิเดินรถ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นบริษัทจึงขอยกเลิกการยื่นข้อเสนอรับสิทธิเป็นผู้เดินรถในวันดังกล่าว (12 พฤษภาคม 2560) ทั้งนี้ หากบริษัทได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะมีหนังสือเชิญให้ท่านยื่นข้อเสนอใหม่ต่อไป”
"ผมคาดว่าคงเป็นเพราะการสั่งการจากท่านผู้ว่าฯ กทม. (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) จึงทำให้เคทียกเลิกการประมูล และเคทีจะปรับแก้ทีโออาร์ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป ทั้งนี้ เพื่อทำให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสาร และจะลดภาระการขาดทุนของกทม."
ดร.สามารถ กล่าวชื่นชมผู้ว่าฯ กทม.ในการตัดสินใจครั้งนี้ และขอถือโอกาสนี้เสนอให้ท่านพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้บีทีเอสคืนกรรมสิทธิ์รถบีอาร์ทีทั้งหมดให้กทม. เพราะกทม.เป็นผู้ซื้อรถบีอาร์ทีในปี พ.ศ.2553 โดยใช้เงินของกทม. ดังนั้น กทม.จะต้องเป็นเจ้าของรถบีอาร์ที ไม่ใช่บีทีเอสดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กล่าวคือ กทม.ได้ผ่อนชำระค่ารถบีอาร์ทีจำนวน 25 คัน เป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นเงิน 213,053,076 บาท หรือคิดเป็นคันละประมาณ 8.52 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก
"ผมได้เปรียบเทียบราคารถบีอาร์ทีกับรถเมล์เอ็นจีวีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำลังจัดซื้อและเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ รถทั้งสองประเภทนี้มีสเปกใกล้เคียงกันมาก ในขณะที่รถเมล์เอ็นจีวีมีราคากลางเท่ากับ 3.55 ล้านบาทต่อคัน รถบีอาร์ทีควรมีราคากลางในปี พ.ศ.2553 อยู่ที่ 4.15 ล้านบาทต่อคัน กรณีกทม.ต้องผ่อนชำระเป็นเวลา 7 ปี หากคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี จะทำให้ราคารถรวมดอกเบี้ยเป็น 6.18 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กทม.ซื้อถึง 2.34 ล้านบาทต่อคัน (8.52-6.18)"
น่าเจ็บใจหรือไม่ ซื้อแพงแล้วแต่กลับไม่ได้เป็นเจ้าของรถอีก
2. เมื่อกทม.ได้เป็นเจ้าของรถบีอาร์ทีทั้งหมดแล้ว กทม.สามารถให้ผู้ได้รับสิทธิเดินรถเช่ารถไปใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องระบุไว้ในทีโออาร์ข้อ 9.6 ว่า “ผู้รับสิทธิจะต้องจัดให้มีรถโดยสารอย่างน้อย 25 คัน” ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย
"ผมมั่นใจว่าการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่เกินความสามารถของท่านผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะทำให้ช่วยลดภาระการขาดทุนของกทม.ได้ และที่สำคัญ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีเหมาะสมกับค่าโดยสาร"
ญาติวีรชนพฤษภา'35 เปิดปฎิทินปราบโกง ห่วงรบ.บริหารประเทศแบบ ลับ ลวง พราง