ทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำกับจีน ตาม รธน. ใช้บังคับมิได้ตกเป็นโมฆะ
ผลของการที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณออกมาชี้แจง ในวันที่ 1 พ.ค. ดังนี้
".... สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นั้น สำนักงบประมาณได้ดำเนินการรวบรวมรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม.ตามนัย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แล้ว ซึ่ง ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 อนุมัติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยรายการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งรวมถึงรายการดังกล่าวข้างต้นแล้ว และให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะต้องนำเสนอ ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป"
รายการดังกล่าวคือการอนุมัติให้กองทัพเรือเจ้าของงบประมาณก่อหนี้ทำสัญญาข้ามปีงบประมาณในวงเงินมหาศาลในรายการซื้อเรือดำน้ำกับประเทศจีนตามมาตรา 23 วรรคสามตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 พร้อมทั้งยังมีเงิน “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ที่ตั้งเผื่อไว้ในกรณีงบประมาณผูกพันหลายๆปีไม่พอจ่าย สัญญานี้จึงมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง และได้เร่งรีบทำสัญญาไปแล้วในวันศุกร์ที่ 5 พ.ค.2560 ที่กรุงปักกิ่ง ทั้งที่กำหนดไว้ว่าจะทำสัญญากันในวันที่ 7 พ.ค. นี้
ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกฉบับบัญญัติหลักการสำคัญนี้ไว้เหมือนกันทุกฉบับว่า สัญญาระหว่างประเทศที่ทำกับนานาประเทศที่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนไปทำสัญญา ดังเช่นมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (ฉบับปัจจุบัน) ที่บัญญัติไว้มีความใหม่เฉพาะในลักษณะสัญญา ดังนี้
"....หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ....ได้แก่หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี ในการซื้อเรือดำน้ำในกรณีนี้ประเทศจีนไม่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าตามกฎหมายศุลกากร...."
และยังมีข้อความใหม่ที่มาตรานี้เพิ่มขึ้นมา คือ “หนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในกรณีนี้คือการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณหลายๆปี พร้อมทั้งมีเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด ตามมาตรา 23 วรรคสามของกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 จึงเป็นหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายวิธีการบัญญัติไว้ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนทำสัญญาตามมาตรา 178
เมื่อกรณีนี้เป็นการฝ่าฝืนไปทำสัญญากับประเทศจีนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภาคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคสองที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มเติมคำว่า “การกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้” หรือตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เป็นผลให้กองทัพเรือไม่อาจจะการจ่ายเงินงบประมาณที่เป็นเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ในการซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในกรณีนี้ได้