ดีเอสไอลุยต่อ “คดีโกงกู้ยืมศึกษา” – เผยกระบวนการทุจริตของมหา’ลัย
“ธาริต” เผยกรณีโกงเงิน กยศ.-กรอ. แม้จ่ายคืนก็ยังผิดอาญา ดีเอสไอแฉกระบวนการทุจริตของมหา’ลัย ชี้มีสถานศึกษาร่วมโครงการฯ 873 แห่ง รายชื่อ นศ.กู้กว่า 3 แสนราย ยอดเงินกว่า 3 หมื่นล้าน
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการเสนอกรณีทุจริตกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ใน อนาคต(กรอ.)และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจำนวน 32 แห่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) พิจารณารับเป็นคดีพิเศษในวันที่ 29 ก.พ.ว่า แม้จะมีการจ่ายเงินที่ค้างชำระคืนก็ถือเป็นเรื่องคดีแพ่ง แต่คดีอาญายังต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ถือว่า กรอ.คือผู้เสียหายโดยตรงและต้องเดินหน้าการดำเนินคดีต่อไป
แหล่งข่าวจากดีเอสไอเปิดเผยว่า จากการสอบปากคำนักศึกษาผู้ร้องและพยานที่เคยศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่ จ.ศรีษะเกษ และ อุบลราชธานี 47 ราย พบว่าช่วงปี 2549 มีอาจารย์ตระเวนแนะนำการศึกษาและชักชวนให้ประชาชนทั่วไปสมัครเข้าเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ร้องและพยานมีความสนใจจึงสมัครเรียนต่อ และเดินทางไปมหาวิทยาลัยเพื่อกรอกคำร้องขอกู้ยืมเงินจาก กรอ. แต่หลังจากนั้นไม่เคยเดินทางไปเรียนและติดต่อกับมหาวิทยาลัยอีกเลย อีกทั้งยังไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมและไม่เคยได้รับเงินจากกองทุน
อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2550 -2553 กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาทำหนังสือขอให้ตรวจสอบว่าพยานแต่ละรายเป็นหนี้ กรอ.ตามที่แจ้งหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้แจ้งกลับไปที่ กรอ.และให้แจ้งไปยังสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพยานส่วนใหญ่ก็ทำหนังสือแจ้งกลับไปทั้งสองแห่งว่าไม่เป็นความจริง
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ช่วงปี 2554 ธนาคารกรุงไทยได้มีหนังสือทวงถามให้พยานชำระหนี้เงินกู้คืนให้แก่กับ กรอ. 80,450-120,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,721,340 บาท แต่พยานส่วนใหญ่ได้ทำหนังสือทักท้วงความไม่ถูกต้องและปฏิเสธการชำระหนี้ ทั้งนี้ผู้ร้องยังให้การว่าเมื่อเกิดการทวงถามจากกองทุนกู้ยืมเงิน
ผู้ร้องทั้ง 4 คน ได้สอบถามไปยังรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษของมหาวิทยาลัย ทราบว่ามหาวิทยาลัยนำรายชื่อของผู้ร้องทั้ง 4 รายไปกู้ยืมเงิน กรอ. ซึ่งผู้ร้องได้ขอให้มหาวิทยาลัยแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้จ่ายเงินสดให้กับผู้ร้องจำนวนหนึ่งเพื่อนำจ่ายคืนกองทุน ส่วนที่เหลือผู้ร้องจะต้องรับผิดชอบ และต้องยินยอมลงลายมือชื่อในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินจากกองทุนให้แก่ให้ทางมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ในปี 2549 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับ กรอ.เริ่มต้นกว่า 4,800 ล้านบาท มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 903 แห่ง โดยสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัตินักศึกษาที่ประสงค์จะขอรับทุน และจะต้องมีการจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน จากนั้นจะมีการรวบรวมรายชื่อนักศึกษาที่ขอรับทุนพร้อมทำบันทึกยืนยันจำนวนเงินค่าเล่าเรียนส่งไปยัง กรอ. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีของสถานศึกษา ต่อมาในปี 2550 รัฐบาลมีมติให้งดการกู้ยืมเงินแบบ กรอ.สำหรับผู้กู้รายใหม่ แต่ผู้กู้รายเดิมให้ยืมได้เฉพาะค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตร
อย่างไรก็ตามปี 2551 รัฐบาลได้อนุมัติให้เดินหน้าโครงการต่อ จากรายงานข้อมูลผลการดำเนินงาน กรอ.ประจำปี 2550 พบว่ามีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 352 แห่ง จัดส่งสัญญา 88,036 ราย 2,750 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 873 แห่ง มี นศ.ขอกู้ยืมเงิน 315,000 ราย .