จัดซื้อ 'ตู้ประชารัฐฯ' 148 แห่ง ททท.วิธีพิเศษ 122 ล.- ผู้ว่าฯยันไม่มีทุจริต
ร้องโครงการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ขายสินค้าโอท็อป 148 แห่ง ททท. กว่า 122.7 ล. ใช้วิธีพิเศษ ส่อราคาสูงกว่าท้องตลาด บางแห่งไม่เคยเปิดขาย 'ยุทธศักดิ์ สุภสร' ผู้ว่าการฯ เผย สตง.เข้าสอบ-ชี้แจงแล้ว-ไม่มีประเด็นติดใจ ระบุดำเนินการถูกต้อง ทำตามมติ ครม.ให้เร่งเบิกจ่าย ยันไม่ยอมให้้มีการทุจริตเกิดขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ’ ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จำนวน 148 ตู้ทั่วประเทศ วงเงินจัดซื้อ 122 ล้านบาท โดยการท่องเที่ยวฯ ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า ปกติตามท้องตลาด ตู้ดังกล่าวขนาด 4x4 เมตรมีราคาประมาณ 200,000 บาทต่อ 1 ตู้ แต่ราคาตู้ที่ ททท. ซื้อผ่านวิธีพิเศษนี้ เมื่อคำนวณแล้วมีราคาอยู่ที่ตู้ละประมาณ 800,000 บาท ซึ่งมีราคาสูง อีกทั้ง สถานที่ตั้งบางแห่งไม่เหมาะสม ยังไม่เคยเปิดขายสินค้าโอท็อปแม้แต่ครั้งเดียว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการฯ ททท. ชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้นว่า กรณีดังกล่าวทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบเเล้ว และ ททท.ได้ชี้แจงแล้ว พร้อมเอสารหลักฐานตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.2559 และ สตง.ไม่มีประเด็นติดใจ ยืนยันว่าดำเนินโครงการดังกล่าวตามกระบวนการถูกต้อง และทำตามระเบียบข้อบังคับครบถ้วน ส่วนกรณีการประกวดราคาโดยใช้วิธีพิเศษ นั้น ผู้ว่าการฯ ททท. เปิดเผยว่า ครม.มีมติให้ใช้วิธีพิเศษตั้งแต่อนุมัติโครงการฯ เพราะเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และระบุให้เบิกจ่ายงบฯ ให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค. 2558 ทำให้มีระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่เดือน อีกทั้ง การประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้เวลา ยืนยันว่าเป็นการเบิกจ่ายตามมติ ครม.
"คือที่ต้องใช้วิธีพิเศษ ต้องเรียนอย่างนี้ก่อน งบฯ นี้ ครม. ให้ใช้วิธีพิเศษตั้งแต่อนุมัติมาเลย เพราะว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เร่งดำเนินการ ให้เร่งเบิกจ่าย ดังนั้น เราก็ดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เพราะว่าถ้าเราไปประกวดราคาโดยอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เวลา ก็จะเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามมติ ครม. นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงใช้วิธีพิเศษ เพราะเขาบังคับให้เบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2558 ซึ่งมติ ครม. ตอนนั้นมีมาเมื่อเดือน ก.ย. ทำให้มีระยะเวลาเวลาดำเนินการไม่กี่เดือน" นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีการจัดซื้อตู้ดังกล่าวในราคากว่า 8 แสนบาท ชี้แจงว่า คณะกรรมการราคากลางได้คำนวณดูราคาจากวัสดุก่อสร้างจากหลาย ๆ ที่ และนำมาคำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด โดยสืบราคาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัด นำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งนี้ ราคาที่ตอนแรกของบประมาณไป 9 แสนกว่าบาท แต่เวลากำหนดราคากลางจริงอยู่ที่ 8 แสนกว่าบาท เพราะฉะนั้นจึงมองว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่า และประหยัดงบประมาณกว่า ต่ำกว่าราคาที่ของบฯ ไปตอนแรก
โดย ผู้ว่าฯ ททท. ยังยืนยันด้วยว่า "การทุจริตเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว"
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 ฝ่ายบริหารทั่วไป กองบริหารจัดซื้อจัดจ้าง ททท. ได้ทำบันทึกข้อความ เรื่อง รายงานขอจ้างดำเนินการโครงการพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่น โดยวิธีพิเศษ จำนวน 5 ภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคเหนือ วงเงินงบประมาณ 28,073,738.56 บาท 2.ภาคกลาง วงเงินงบประมาณ 29,725,134.95 บาท 3.ภาคตะวันออก วงเงินงบประมาณ 11,843,130.50 บาท 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) วงเงินงบประมาณ 30,550,833.14 บาท และ 5.ภาคใต้ วงเงินงบประมาณ 22,540,323.73 บาท ถึงผู้ว่าการฯ ททท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่ง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการฯ ททท. ได้ลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอ โดยขอให้ดำเนินการตามระเบียบฯ และข้อบังคับ ททท. ต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ เมื่อนำวงเงินงบประมาณทั้ง 5 ภูมิภาคมาคำนวณพบว่ามีวงเงินรวมทั้งสิ้น 122,733,160.88 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบสองล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหกสิบบาทแปดสิบแปดสตางค์) เฉลี่ยราคาตู้ละประมาณ 829,278 บาท
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน มี.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมเปิดร้านประชารัฐสุขใจ Shop ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. จังหวัดละ 2 แห่ง รวม 148 แห่งทั่วประเทศ ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป และให้บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยคัดเลือกและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ก่อนนำขึ้นชั้นวางจำหน่ายทุกร้านค้า ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาท ระยะ 3 ปี (2559-2561) เพื่อผลักดันโครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน หรือร้านประชารัฐสุขใจ เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ผู้ผลิตสินค้าโอท็อปและวิสาหกิจชุมชน
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ,กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEBank) หรือ ธพว.
ภาพประกอบจาก : http://www.innnews.co.th/images/news/2016/6/686131-01.jpg