สรุปบทเรียนคดีตายายเก็บเห็ด สื่อสร้างดราม่า ถึงระบบยุติธรรม "ต้นธาร"
คดีนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทยที่จะต้องปฏิรูปตำรวจรัฐบาลต้องลงมาสั่งการในเรื่องนี้โดยตรงเองไม่เช่นนั้นก็จะเกิดข้อครหาการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นบาดแผลของ “ระบบยุติธรรม” ของประเทศไทยไปอีกนานแสนนานจนยากที่จะรักษารอยร้าวแห่งความขัดแย้งที่เห็นขัดนั้น
สองตายายเก็บเห็ดในป่าสงวน ที่สื่อมวลชนเรียกคดีเก็บเห็ด เพราะตายายให้การว่า ไปเก็บเห็ดแต่ดันถูกตั้งข้อหารุกป่า 72 ไร่ แม้คดีจะถึงที่สุดแล้วด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 5 ปี
เมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ได้สะท้อนสามประเด็นใหญ่ที่ชวนไปขบคิดเป็นบทเรียนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยเฉพาะ "ต้นธาร" คือระบบการสอบสวนของตำรวจ ที่ทำให้ศาลต้องสั่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน
บทเรียนตายายเก็บเห็ด
บทเรียนคดีตายายเก็บเห็ด สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยว่า มีการเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐานเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบคดีตายายเก็บเห็ด คดีพนักงานพนักงานเก็บขยะ ขายซีดีเถื่อน ผู้ต้องหายากจนไม่มีเงินค่าปรับจึงถูกนำไปกักขังแทนค่าปรับวันละ 200 บาท กับคดีทายาทกระทิงแดงขับรถชนคนตายที่ล่าช้ามา 5 ปี คดีคนรวยๆ หรือผู้มีอำนาจมีการช่วยเหลือและเลือกปฏิบัติกันหรือไม่ เหตุใดการทำงานของพนักงานสอบสวนภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงล่าช้า ทำไมการทำงานของอัยการสูงสุดจึงผ่อนปรนการเลื่อนพบมากขนาดนี้ คนจนจึงติดคุกตลอด แต่คนรวยใครกันช่วยเหลือ ไม่เห็นจะติดคุกกันสักเท่าไหร่เลย นั่นเป็นคำถามของสังคมไทย
คดีคนจนๆ มักจะ “จับไว้ก่อน” เดี๋ยวพยานหลักฐานจะตามมา แต่คนรวยๆ มักจะรอพยานหลักฐานก่อน แล้วค่อยจับ ตำรวจไทยถูกกล่าวหาว่า จับผู้ต้องหานำไปสู่หลักฐาน ไม่ใช่จากหลักฐานนำไปสู่ผู้ต้องหาเหมือนในบรรทัดฐานสากล และบทเรียนคดีตายายก็อาจเหมือนคดีครูแพะ แม้คดีเป็นข้อยุติแล้วแต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ "ต้นธาร" คือ ตำรวจ ที่ทำให้ศาลต้องสั่งตามสำนวนที่ปรากฎ
คดีตายายเก็บเห็ด เกิดจากภายหลังนายอำเภอท้องที่ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกและตัดไม้กว่า 72 ไร่ ไม่พบตัวผู้กระทำผิดอยู่ แต่ไปพบรถจักรยานยนต์ของตายายที่จอดรถไว้ และให้การภายหลังว่า เข้าไปเก็บเห็ดและหาของ คดีนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานและเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ โดยนำรถจักรยานยนต์ที่พบคันนั้นมามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจท้องที่ สอบเลขทะเบียนและจับตัวสองตายายเจ้าของรถมาสอบสวน แจ้งข้อหาบุกรุกป่าและตัดไม้ 72 ไร่
หัวหน้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่งสำนวนให้อัยการ รับสารภาพในชั้นศาลโดยไม่ทราบเนื้อหาคำฟ้องโดยละเอียด ศาลจึงมีคำพิพากษา จำคุก 30 ปี แต่รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งนึง คงจำคุก 14 ปี 12 เดือน ซึ่งล่าสุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี
ข้อสงสัยของคดีนี้คือ ไม้ที่ถูกตัดโค่นกว่าพันท่อน จะเป็นฝีมือของสองตายายตามลำพังได้อย่างไร อาจจะเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่บันทึกการจับกุมแต่แรก และหากเกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นการ "ตัดตอน" คดี เพราะน่าเชื่อว่าจะต้องมีขบวนการที่ใหญ่กว่านั้น ร่วมกันตัดไม้ส่งขายให้นายทุน แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบผู้กระทำผิดที่แท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกตัดไม้ในป่าสงวนคดีนี้แต่อย่างใด รวมไปถึงการดำเนินคดีอื่นๆ ที่มีปัญหาการสอบสวนในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย
ประเด็นความเจาะใจสร้างดราม่าของสื่อ
ที่สื่อมวลชนเรียกคดีตายายเก็บเห็ด เพราะตายายให้การว่า ไปเก็บเห็ดและหาของป่า แต่ดันถูกตั้งข้อหารุกป่า 72 ไร่ในสำนวนคดี ซึ่งถือว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่สื่อมวลชนก็เรียกไปตามกระแสข่าวที่ปรากฎในสังคม ไม่มีคำเรียกตายตัว สื่อมีหน้าที่รายงานข่าวข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ ประชาชนผู้เสพข่าวก็เป็นผู้พิจารณาอย่างมีสติสัมปชัญญะต่อไป
ส่วนที่ถามว่าทำไมสื่อมวลชนเรียกตายายก็เหมือนกัน มันเป็นกระแสที่เรียกๆ กันแต่แรกอยู่แล้ว คดีนี้ตายายมีลูกมีหลาน มีคนเรียกตายาย สื่อมวลชนก็เรียกตายายตามเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องนำไปดร่ามาในสังคมที่มีปัญญาความรู้ เพราะไม่ใช่สาระของข้อเท็จจริงของเหตุการณ์
สื่อมีเสรีภาพที่จะเสนอข่าว แต่จรรยาบรรณก็คือต้องนำเสนอข่าวโดยมีข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน แล้วประชาชนก็พิจารณาตามข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างมีเหตุผล จะมีความเห็นที่หลากหลายออกไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อหรือ Propaganda
ความล้มเหลวของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ข้อเรียกร้องของทางเครือข่าย
คดีทายาทกระทิงแดงขับรถชนคนตายเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ผู้ก่อเหตุถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ แจ้งความใน 3 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย ข้อหาที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี ข้อหาที่ 2 ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน ซึ่งมีอายุความ 5 ปี และข้อหาที่ 3 ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ข้อหาที่ 3 มีอายุความเพียงปีเดียว ซึ่งหมดอายุความไปแล้ว ขณะที่ข้อหาที่ 2 จะหมดอายุความในปีนี้ แค่ข้อหาที่ 3 ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หมดอายุความก็สามารถนำมาหักล้างข้อหาที่ 1 ได้แล้ว เพราะไม่ได้ขับรถเร็ว จึงไม่ได้ขับรถโดยประมาท หากข้อหาที่ 2 หมดอายุความอีก คดีนี้อาจจะ “หลุด”
สิทธิขอเลื่อนพบอัยการถึง 6 ครั้งนี้ ไม่มีแน่นอนถ้าเกิดคดีขึ้นกับคนยากจน แม้แต่การเลื่อนนัดในชั้นพนักงานสอบสวนที่ผ่านมาอีก 4 ปี ก็คงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ขณะที่คดีคนจนอย่างครูจอมทรัพย์ จับติดคุกในเวลาไม่กี่เดือน แม้พยานหลักฐานจะไม่ชัดเจน การสอบสวนไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็พาเข้าคุกได้ง่ายดาย จนถูกข้อครหาว่า จับ “แพะ” แทนที่จะจับผู้กระทำผิดจริงๆ
ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยก็คือ การให้อำนาจสืบสวนและสอบสวนไว้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่แยกออกจากกัน เพราะแท้จริงกระบวนการยุติธรรมประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการและศาล การไม่แยกอำนาจสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้คดีที่คนรวย ผู้มีอำนาจ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเองเกี่ยวข้อง
ในทางพฤตินัยแล้วผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อำนาจสั่งการให้ทำการสอบสวนโดยมิชอบก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกลั่นแกล้ง แจ้งข้อหา หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเป็นสำนวนไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดเสนออัยการเพื่อสั่งงดสอบสวน หรือแม้กระทั่งบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยผู้กระทำผิดทางอาญาให้สั่งไม่ฟ้องก็ได้
เพราะปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรผูกขาดการสอบสวนทั้งหมด แต่เต็มไปด้วยสายบังคับบัญชาและชั้นยศเช่นเดียวกับกองทัพ แล้วพนักงานสอบสวนจะมีอิสระในการทำงานตามกฎหมายได้อย่างไร หากต้องรอผู้บังคับบัญชาให้ไฟเขียว-ไฟแดงอยู่ ขณะที่ทั่วโลกเขาถือว่า งานตำรวจเป็นงานพลเรือน เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องมีชั้นยศเหมือนกับกองทัพ และจำเป็นต้องแยกอำนาจการสืบสวน-สอบสวนออกจากกัน เพื่อป้องกันการช่วยเหลือทางคดีและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมให้ถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ตำรวจไทย ต้องแยกอำนาจ “สืบสวน” และ “สอบสวน” ออกจากกัน
คดีนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่จะต้องปฏิรูปตำรวจ รัฐบาลต้องลงมาสั่งการในเรื่องนี้โดยตรงเอง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดข้อครหาการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นบาดแผลของ “ระบบยุติธรรม” ของประเทศไทยไปอีกนานแสนนานจนยากที่จะรักษารอยร้าวแห่งความขัดแย้งที่เห็นขัดนั้น
ข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ในกรณีนี้คือ จะต้องปฏิรูประบบงานสอบสวนโดยด่วน โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้
1. กำหนดให้มีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพและเสียงในห้องสอบสวน และการสอบปากคำบุคคลต้องกระทำในห้องนี้เท่านั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด
2. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่มีโทษจำคุกเกิน 10 ปี หรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี
3. จัดตั้ง "สำนักงานสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ" เป็นหน่วยงานอิสระ หรืออาจอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยโอนงานและหน่วยสอบสวนคดีอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอยู่ในสังกัด สร้างหลักประกันความยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นให้กับประชาชน