สตง.บี้กทม.หาผู้ชดใช้ค่าสินไหมแทน ‘อภิรักษ์-พุทธิพงษ์’ 12ล.คดีจ้างบ. ติดป้ายพีอาร์
สตง.ไล่บี้กทม. หาตัวจนท.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีไม่สอบสวน ‘อภิรักษ์-พุทธิพงษ์’ คดีจ้างเอกชนติดป้ายพีอาร์ -ปล่อยขาดอายุความ ทำรัฐเสียหาย 12 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริงหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน จากกรณีการไม่สอบสวน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ภายหลัง กทม.แพ้คดี ที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องเรื่องการไม่จ่ายค่าจ้างติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครง “การกรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ในช่วงปี 2549 -2551 รวมค่าเสียหายกว่า 12 ล้านบาท
สตง.ระบุว่า ผลจากการที่ข้อเท็จจริงในคดีที่บริษัทเอกชน ยื่นเรื่องฟ้องกทม.ต่อศาลแพ่ง กรณีไม่จ่ายเงินค่าจ้างติดตั้ง ป้ายประชาสัมพันธ์โครง “การกรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาถึงที่สุด รับฟังได้ว่านายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นผู้มอบหมายให้บริษัทเอกชนจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ก่อนมีการดำเนินการจัดจ้าง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการจัดจ้างของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะไม่มีหลักฐานของทางราชการที่นำมาใช้ประกอบการเบิกจ่าย ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้กับบริษัทเอกชนได้ จนเป็นเหตุให้บริษัทฟ้องกทม. ต่อศาลแพ่งให้ชำระหนี้
โดยศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ กทม.ชำระหนี้ให้บริษัทเอกชน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,554,694.02 บาท อันเป็นการบริหารข้าราชการกรุงเทพมหานครตามอำนาจหน้าที่โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่กทม. ทำให้ต้องชำระค่าใช้จ่ายอื่น นอกจากนี้ตามมูลสัญญาจ้างทำของ ได้แก่ ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 817,270.01 บาท ดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระจำนวน 1,275,076.85 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม จำนวน 210,520 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,302,866.86 บาท ทำให้กทม.ได้ความเสียหาย ซึ่งกทม.มีสิทธิ์เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ที่ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จัดพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ. ศ. 2538
ทั้งนี้ เมื่อศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ว่านายอภิรักษ์โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นผู้มอบหมายให้บริษัทเอกชน เป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ก่อนมีการดำเนินการจัดจ้างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ. ศ. 2538 จึงถือว่ากทม. รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะถึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ซึ่งภายหลังทราบผลคำพิพากษาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเห็นว่ากรณีที่กทม.ต้องชำระหนี้ให้แก่บริษัทเอกชน ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ 422/ 2551 คดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 ไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา มีส่วนเกี่ยวข้องและได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบเพื่อจะปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุ พ. ศ. 2538 ตามลำดับขั้นตอนในส่วนที่แต่ละคนมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจึงไม่มีเหตุที่จะต้องรับผิดชอบทางละเมิดต่อกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษามาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ. ศ. 2539
แต่กทม.กลับไม่ดำเนินการสอบสวน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองผู้ว่าราชการ ว่า จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวหรือไม่ จนทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นอันขาดอายุความ จึงขอให้ กทม. พิจารณาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้ต้องรับผิดชอบสำหรับค่าสินไหมทดแทนอนาถเรียกร้องได้จากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด