ปตท.สผ.แถลงโต้รบ.อินโดฯ เหตุน้ำมันรั่วไหลไม่ส่งผลกระทบระบบนิเวศ
ปตท.สผ.ยันเหตุน้ำมันรั่วในทะเลติมอร์ไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศ ย้ำที่ผ่านมาให้ความร่วมมือต่อทางการอินโดฯอย่างดี ด้านรบ.อินโดฯยื่นฟ้องปตท.สผ. 2 พันล้านดอลลาร์จากเหตุดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศรวม กว่า 2 พันเฮกเตอร์
สืบเนื่องจากกรณีที่มีรายงานว่า ทางการอินโดนีเซียยื่นฟ้อง บริษัทปตท.สผ. จำกัด(มหาชน) จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2552 นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2560 ทางปตท.สผ. ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง ระบุว่า บริษัทยังไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทราบรายละเอียดของการยื่นฟ้องครั้งนี้ นับจากที่เกิดเหตุการณ์มอนทาราจนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซียมาโดยตลอด และพร้อมให้ความร่วมมือต่อไป โดยจะพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับผิดชอบตามข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ที่ผ่านมา PTTEP Australasia หรือ PTTEP AA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งมอนทารา ยังไม่เคยได้รับพยานหลักฐานที่ชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียที่แสดงให้เห็นได้ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์มอนทาราในประเทศอินโดนีเซียแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งควบคุมโดยหน่วยงานรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย ยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณที่ติดกับน่านน้ำอินโดนีเซีย (http://www.au.pttep.com/sustainable-development/environmental-monitoring/)
ทั้งนี้ ในรายงานของ เอบีซี นิวส์ ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียออกแถลงว่าได้มีการยื่นฟ้องบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่มีการรั่วไหลของน้ำมันบริเวณแท่นขุดเจาะในออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ทางใต้ของทะเลติมอร์ โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อแปดปีที่เเล้ว
ด้านนาย Arif Havas Oegroseno รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความร่วมมือทางทะเลของอินโดนีเซีย เผยว่าศาลกลางประจำกรุงจาร์การ์ตาได้รับคดีความดังกล่าวแล้วเมื่อวันพุธที่ 3 พ.ค. 2560 โดยยื่นฟ้องต่อ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด(มหาชน) และ บริษัทลูก PTTEP Australasia ซึ่งเข้ามาสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในออสเตรเลีย ที่เกิดการรั่วไหลน้ำมันกว่า 400 บาร์เรลต่อวันจาก แหล่งขุด มอนทรารา โดยกระแสน้ำได้พัดเข้ายังทะเลติมอร์ ซึ่งเป็นชายฝั่งทางใต้ของอินโดนีเซียและติมอร์ตะวันออก
นาย Oegroseno กล่าวว่า ความพยายามทั้งหมดนี้ก็เพื่อความเป็นธรรม โดยมีการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ ปตท.สผ. โดยแบ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายค่าฟื้นฟูธรรมชาติที่ 1,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ อีก 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับงานเก็บกู้ทั้งหมด โดยระบุว่าซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศชายฝั่ง ป่าชายเลนมากถึง 1,200 เฮกเตอร์ หญ้าทะเลอีกกว่า 1,400 เฮกเตอร์รวมไปถึงแนวปะการังอีก 700 เฮกเตอร์
ขณะที่รายงานจากทางออสเตรเลียเมื่อปี 2011 ระบุว่า บริษัท ปตท.สผ. มีความหละหลวมในการดูเเลความปลอดภัย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ มอนทารา อันเกิดมาจากแผ่นคอนกรีตที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันพังลง เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้
ในรายงานของเอบีซี ระบุด้วยว่า กรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียที่เกิดจากบริษัทต่างชาติ