สำรวจตลาด-พิสูจน์ราคาเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน!
โครงการจัดซื้อและติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต. ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่า 1 พันล้านบาท ติดตั้งไปแล้วกว่า 1 หมื่นจุดทั่วทุกพื้นที่ แต่มีเสียงร้องเรียนว่าชำรุดเป็นจำนวนมาก ทั้งไฟดับสนิท และติดๆ ดับๆ แม้ผู้บริหาร ศอ.บต.ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่ามีเสาไฟที่ชำรุดเสียหายเพียง 4% แต่ก็ถือว่าสวนทางกับข้อมูลจากชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นที่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับมา
นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ ทำให้ "ทีมข่าวฯ" ลงพื้นที่สำรวจตลาดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แหล่งใหญ่กลางกรุงเทพฯ เพื่อพิสูจน์ทั้งคุณภาพและราคาของอุปกรณ์ประหยัดพลังงานชนิดนี้
จุดที่ "ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ คือ ตลาดบ้านหม้อ ย่านวังบูรพาภิรมย์ แหล่งรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์โคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ รวมถึงราคาที่ต้องจ่ายในการติดตั้งแต่ละครั้ง
วิทยา ผลภิญโญ เจ้าของร้าน SWITCHING NEW ผู้ประกอบการจำหน่ายอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ บอกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย หลอดไฟแอลอีดี แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์ควบคุมพลังงาน ก้อนแบตเตอรี่ และเสาไฟฟ้า
วิธีการทำงานของชุดโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ คือแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนสุด จะทำหน้าที่รับพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนจะส่งผ่านไปที่ตัวควบคุมพลังงาน ซึ่งจะควบคุมแรงดันระหว่างแผงมายังแบตเตอรี่ และยังทำหน้าที่จัดการไม่ให้กระแสพลังงานย้อนกลับไปที่แผง บางรุ่นสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดการใช้งานได้ด้วย เมื่อพลังงานผ่านจากตัวควบคุมแล้ว ก็จะไปบรรจุไว้ที่ก้อนแบตเตอรี่ และจ่ายพลังงานไปยังหลอดไฟ ทำให้ไฟติดและมีแสงสว่าง
ราคาของอุปกรณ์และการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ขึ้นอยู่คุณภาพของอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงาน, กำลังวัตต์ในการเก็บพลังงาน และจำนวนชั่วโมงใช้งานที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น หากเป็นอุปกรณ์จากประเทศจีน สนนราคาไม่เกิน 8,000 บาทต่อต้น ราคานี้หมายถึงอุปกรณ์ครบชุด ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ตัวควบคุมพลังงาน แบตเตอรี่ หลอดไฟ และเสาไฟ แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่มาจากโรงงานในแถบยุโรป ราคาจะสูงกว่า แต่ก็ไม่เกินต้นละ 20,000-30,000 บาท
ส่วนค่าติดตั้ง หากเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ตารางเมตรละ 2,000 บาท แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็จะมีค่าเสี่ยงภัยและค่าเดินทางประมาณ 3,500 บาท
สำหรับคุณภาพการใช้งานของอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ผู้ประกอบการรายนี้บอกว่า ถ้าเป็นสินค้าจากโรงงานในประเทศแถบยุโรป ถือว่าคุณภาพดีกว่า แต่หากเป็นโรงงานในเอเชีย คุณภาพของอุปกรณ์ก็จะลดลง
"หากจัดเกรดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ตามคุณภาพ ผมคิดว่าถ้าเป็นอุปกรณ์จากประเทศเยอรมนี และแถบยุโรป จะเป็นเกรดเอ รองลงมาคืออุปกรณ์ที่มาจากแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนอุปกรณ์จากประเทศจีน ถือว่าคุณภาพจะเป็นรองลงมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุปกรณ์ไม่ดี" เจ้าของร้าน SWITCHING NEW ระบุ
อนึ่ง ในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาใช้ได้รับความนิยมมากขึ้น ตามนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาล อย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนกว่า 14,000 ต้น ใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท เฉลี่ยราคาต้นละ 63,000 บาท รวมค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง
ส่วนในปีงบประมาณ 2560 ยังคงมีโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์อย่างต่อเนื่อง นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า ราคาล่าสุดทั้งอุปกรณ์และค่าติดตั้่งอยู่ที่ราวๆ 50,000 กว่าบาท โดยเป็นอุปกรณ์นำเข้าจากยุโรป ที่ผ่านมาองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดซื้อเอง ต้นละเป็นแสนบาท แต่ปัจจุบัน ศอ.บต.มาทำโครงการ ได้ต่อรองราคาจนเหลือเพียง 50,000 กว่าบาทเท่านั้น
---------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงส่วนประกอบของเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ (ขอบคุณกราฟฟิกจากรายการล่าความจริง สถานีโทรทัศน์ NOW26)
2 วิทยา ผลภิญโญ เจ้าของร้าน SWITCHING NEW
3-4 ภาพเปรียบเทียบอุปกรณ์ที่ติดตั้งจริงที่ชายแดนใต้ กับอุปกรณ์ที่วางขายในร้าน
ขอบคุณ : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
อ่านประกอบ :
เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!