โชติช่วงชัชวาล EEC : ยุทธศาสตร์ 1.5 ล้านล้าน ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
กางเเผนยุทธศาสตร์ EEC 'ดร.คณิศ เเสงสุพรรณ' เลขาธิการ คกก.ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก วาดฝัน 3 จว. ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองอุตสาหกรรม ภายใต้หลักยั่งยืน ชูโมเดลยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง สนามบิน โครงข่ายถนน สู่ความโชติช่วงชัชวาล 'อีสเทิร์นซีบอร์ด' 4.0 ของโลกอนาคต
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สู่การแข่งขันระดับสากล
ปัจจุบันมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คนแรก
โครงการ EEC เป็นการพัฒนาประเทศไปสู่โลกอุตสาหกรรมนวัตกรรมความทันสมัยและความยั่งยืน เป็นหมุดหมายปลายทางของโลกอนาคตในยุค 4.0 เพื่อหวังให้เป็นฐานสะสมการลงทุนและฐานสะสมเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนไทย ที่อยากเห็นคนไทยทุกระดับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวมาแล้ว จนสำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่ง ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ผลักดันให้เกิดโครงการเหล่านี้ ยอมรับว่า หลายเรื่องยังทำไม่สำเร็จ
ระบบขนส่งทางราง (รถไฟ) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ปัจจุบันสามารถขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังได้เพียงร้อยละ 9 เท่านั้น จากเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 30 ขณะที่อีสเทิร์นซีบอร์ดไม่สามารถช่วยยกระดับการศึกษาในพื้นที่ ยังไม่นับรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ดูเหมือนไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุนมากนัก
นั่นจึงทำให้โครงการ EEC เพียงแค่เริ่มต้น กลับถูกหลายฝ่ายออกมาต่อต้าน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเลยขยันลงพื้นที่ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะภาคประชาชนและสื่อมวลชน ล่าสุด ดร.คณิศ เดินทางมายังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กางแผนยุทธศาสตร์ EEC ให้เข้าใจเป็นฉาก ๆ
5 ปีแรก ต้องการที่ดิน 5 หมื่นไร่
ดร.คณิศ ชวนคิดว่า อนาคตไทยไม่ขยับตัวให้ก้าวทันโลก ภายใต้เทคโนโลยีล้ำสมัย ไทยจะพัฒนายาก ฉะนั้นโครงการ EEC จึงมุ่งเน้นให้กับอุตสากหรรมใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลาย แต่โครงการเหล่านี้จะต้องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย จากการสร้างเงื่อนไขว่าจะช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าอย่างไร ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะได้มาจากงานวิจัย
ทางกายภาพนั้น แน่นอนว่า จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดเก่า เพราะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานอยู่พอสมควรแล้ว โดยประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ คล้ายกับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จำเป็นจริง ๆ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น เขตสนามบินอู่ตะเภา 6.5 พันไร่ พัฒนาเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ให้กลายเป็นเมืองแห่งการบินภาคตะวันออก หรือการประกาศบางพื้นที่ให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษนิคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
เลขาธิการ EEC บอกอีกว่า ที่ผ่านมา 30 ปี ในยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด ได้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว 1.18 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของพื้นที่ 3 จังหวัด ขณะที่โครงการ EEC ได้ประมาณความต้องการที่ดินในระยะ 5 ปีแรก ราว 5 หมื่นไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของพื้นที่ 3 จังหวัด
เเละยืนยันว่า พื้นที่ 5 หมื่นไร่ จะไม่เบียดบังพื้นที่ทำกินของประชาชนอย่างที่หลายคนกังวล เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของกลุ่มทุนที่รวมตัวกันไว้อยู่แล้ว
ดร.คณิศ เเสงสุพรรณ (ที่มาภาพ:RSU Wisdom TV)
ยกระดับ ‘อู่ตะเภา’ เทียบสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง
โครงการ EEC กำหนดเป้าหมายระยะสั้น 1 ปี คณะกรรมการฯ รับปากกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเร่งรัดให้สำเร็จ โดยเฉพาะ โครงสร้างพื้นฐาน ดร.คณิศ ระบุว่า ต้องอนุมัติและหาผู้ลงทุนโครงการหลักให้ได้ สิ่งสำคัญตอนนี้ จะต้องพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติ ที่มีศักยภาพทัดเทียมกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง และเชื่อมรถไฟความเร็วสูงกับสนามบินทั้ง 3 แห่ง ภายในเวลา 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ต้องสร้างระบบรางคู่รถไฟเชื่อมต่อไปยังท่าเรือนานาชาติ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ เพื่อสร้างการขนถ่ายสินค้าให้ได้ร้อยละ 30 ให้ภาคเอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพราะการขนถ่ายสินค้าทางระบบรางถูกกว่าถนน 3 เท่า ส่วนมอเตอร์เวย์ พัฒนาเสร็จแล้ว
ส่วนเป้าหมายระยะปานกลาง 5 ปี จะเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ การพัฒนาสนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ โครงข่ายถนน ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับเอกชน เริ่มทำแล้ว และจะต้องมีการจ้างงานใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง จากโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายใช้เทคโนโลยีใหม่ เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท
10 ปี คนไทยต้องมีรายได้สูง จาก EEC
นอกจากนี้จะดึงเอสเอ็มอีไปอยู่บนอีคอมเมิร์ซทั้งหมด และให้เกิดการสร้างธุรกิจบริการจำนวนมาก คือ หากมี 1 อุตสาหกรรม ต้องเกิดอย่างน้อย 2 ธุรกิจบริการตามมา และมีธุรกิจเกษตร อาหาร พร้อมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว จากเดิม 20 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด วงเงิน 4 แสนล้านบาท
“ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกินความสามารถที่รองรับได้ 18 ล้านคน/ปี ฉะนั้นหากไม่รีบพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการ EEC จะเดินต่อยากขึ้น” เลขาธิการ EEC กล่าว
อีกทั้ง ประชาชนต้องมีวิถีชีวิตเดิมที่ดีขึ้น และต้องพัฒนาเมืองใหม่ให้ทันสมัย โดยชูโมเดลฉะเชิงเทรา พัทยา 2 ระยอง ให้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ภายใต้ผังเมืองที่ดี เพราะไม่อยากเห็นการพัฒนาเมืองเหมือนกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่ขาดการดูแลเอาใจใส่
ดร.คณิศ กล่าวถึงเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ว่า สุดท้ายแล้ว คนไทยทุกระดับต้องมีรายได้สูงขึ้น มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการคิดเป็น และใช้เทคโนโลยีเป็นในการหารายได้
10 อุตสาหกรรม EEC พัฒนาดีขึ้น
สำหรับความก้าวหน้าของโครงการ EEC นั้น พบว่า 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เทคโนโลยีเกษตร อาหารแห่งอนาคต หุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติ ธุรกิจการบินและอากาศยาน ไบโออีโคโนมี และปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมดิคัลฮับ ดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น
มีการออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุน คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุน, พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งผ่านความเห็นของ ครม. แล้ว แต่มีข้อปรับปรุงบางประการ จึงอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เลขาธิการ EEC ยังกล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC แล้ว ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยครม.อนุมัติอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมีและปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมยานยนต์ และหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซึ่งอุตสาหกรรมหลังคาดว่าจะอนุมัติในเดือนพฤษภาคม 2560
“อยากเห็นบริษัทใหญ่ของไทยและต่างประเทศจับมือกันลงทุน เช่น การบินไทยกับแอร์บัสทำบันทึกข้อตกลงการซ่อมเครื่องบิน หรือโตโยต้าขยายไฮบริดและรถไฟฟ้า เป็นต้น” นายคณิศ กล่าว
โครงการ EEC ภายใต้งบการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะ 5 ปีแรก กำลังจะพลิกโฉมให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก กลายเป็นแลนด์มาร์ค ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ เฟส 2 ที่จะสานต่อสิ่งที่ทำไม่ได้เมื่อ 30 ปีก่อน ให้ประสบความสำเร็จ กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของภูมิภาคที่โชติช่วงชัชวาลอีกครั้งภายใต้หลักความยั่งยืน .
อ่านประกอบ:ก.อุตฯ เตรียมตั้ง คกก.เฉพาะกิจ EEC ศึกษาความเป็นไปได้ ถมทะเล-เวนคืนที่ดิน
เลขาธิการ EEC เร่งกรมชลฯ วางแผนจัดการน้ำ-ยันช่วงขยายตัว 5 ปีแรก ไม่กระทบ
ฟังมุมมอง ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ให้ต่างชาติ “เช่ายาว 99 ปี” ขณะคนในชาติไม่มีที่ดินทำกิน