แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจ
“การเจรจาซื้ออาวุธ จะเป็นความลับแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง ช่วงที่บริษัทติดต่อ เจรจา จากนั้นจะเปิดเผยให้ประชาชนทราบ 100% คำว่า ดุลยพินิจต้องออกจากสารบบ”
วันที่ 4 พ.ค.เวลา 13.00 น.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และเครือข่ายภาคประชาชน จัดการอภิปรายสาธารณะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า? ครั้งที่ 6 ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ โดยมีการอภิปราย การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นประเด็นต่างๆ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการคอรัปชั่นที่สังคมไทยยังมองเป็นเรื่องธรรมดา มุมมองนี้ต้องเปลี่ยนไป วันนี้องค์กรความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับไทยมีความโปร่งใสลดลง มีการจ่ายใต้โต๊ะอยู่ รัฐบาลนี้ก็มีตั้งแต่เรื่องไมโครโฟนฉาว อุทยานราชภักดิ์ โอนเงินราชการเข้าบัญชีตัวเอง ตั้งบริษัทในค่ายทหาร จนมาถึงเรือดำน้ำ ถามว่า สังคมคลางแคลงใจหรือไม่
นายพิชัย กล่าวถึงการคอรัปชั่นกับเสรีภาพของสื่อ ถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพสื่อลดลง คอร์รัปชั่นจะเพิ่มมากขึ้น ยิ่งภาวะปัจจุบันสภาฯ ไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ หากสื่อตรวจสอบไม่ได้ เราจะปล่อยประเทศเป็นแบบนี้หรือไม่
“นอกจากนี้ยังมีเรื่องคอรัปชั่นที่เห็นว่ารุนแรง คือการคอร์รัปชั่นสิทธิประชาชนในการเลือกผู้นำ และการคอร์รัปชั่นความเจริญของประเทศ ตั้งแต่มีรัฐประหารมาเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก เติบโตต่ำสุดในประเทศอาเซียน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการจ้างงาน คนมีรายได้น้อยเดือดร้อน” คณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าว และว่า นี่คือการคอร์รัปชั่นความเจริญของประเทศ ที่โอกาสของประเทศหายไปจากการเข้าลงทุนของต่างประเทศหายไปถึง 90%
สำหรับทางแก้ปัญหาการทุจริต นายพิชัย เสนอว่า 1.อยากเห็นใครที่มีรายได้ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ หรือตอบสังคมไม่ได้ ให้ถือว่า ทุจริต อย่างประเทศสิงคโปร์ 2.การยื่นแสดงภาษีตั้งแต่อายุ 20 ปี เชื่อว่าจะ เป็นระบบที่มาแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างแท้จริง หากยังไม่มีรายได้ไม่ต้องจ่ายภาษี 3.ทำให้ขนาดภาครัฐเล็กลง โดยให้งานรัฐบางอย่างที่ไม่จำเป็นโอนให้เอกชนทำ รวมถึงการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ผู้บริหารประเทศเพื่อไม่ให้ทุจริต
นโยบายไม่ดีก็เอื้อให้เกิดคอร์รัปชั่น
ด้านนายเกียรติ สิทธิอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คอรัปชั่นไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่การคอร์รัปชั่นนมีหลายมิติ ให้ผู้มีอำนาจเอาเปรียบประชาชน นั่งเฉยๆ ไม่ทำหน้าที่ ไม่ทำตามกฎหมาย อุปถัมภ์พรรคพวก ความยุติธรรมล่าช้า ทุกวินาทีที่ล่าช้าคนไม่ดีได้ประโยชน์ ก็เรียกว่า คอร์รัปชั่น
นายเกียรติ กล่าวอีกว่า วันนี้รามีรัฐบาลมาด้วยวิธีพิเศษ มีอำนาจพิเศษสามารถดำเนินหลายเรื่องได้เด็ดขาด ทำไม่ดีเป็นโทษมหันต์ โดยเฉพาะค่านิยมอุปถัมภ์จำเป็นที่รัฐบาลสามารถใช้อำนาจจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ให้เห็นเป็นรูปธรรม เชื่อจะเป็นมิติใหม่การสร้างค่านิยมให้กับสังคมไทย
“คอร์รัปชั่นมีหลายส่วน หากนโยบายไม่ดีก็เอื้อให้เกิดคอร์รัปชั่น บางครั้งนโยบายออกแบบมาให้คอร์รัปชั่นก็มี ที่เรียกกว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย บางส่วนเกี่ยวกับงบประมาณโดยตรง บางส่วนนอกงบประมาณ รวมถึงองค์กรการกำกับดูแล ถามว่า ใครตรวจสอบ มีข่าวใบอนุญาตที่ไม่จบแค่นั้น มีการขอโควต้าซื้อหุ้น ขอโควต้านั่งในบอร์ด นี่คือสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ”
อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงคอร์รัปชั่นในส่วนภาคเอกชน เราจะพบว่า เอกชนบางรายมีอำนาจทางการตลาดสูงมาก แม้จะมีความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าฯ ก็ตาม รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง เริ่มต้นโดยตำรวจทั้งหมด เรายังไม่เห็นจุดไหนมีการปฎิรูปอย่างจริงจัง นี่คือการคอร์รัปชั่นไม่ปฎิบัติหน้าที่ทั้งๆที่กฎหมายให้อำนาจรัฐ
นายเกียรติ กล่าวถึงบทบาทรัฐวิสาหกิจ อดีตตั้งขึ้นมาให้เพื่อทำสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้ วันนี้หลายเรื่องรัฐวิสาหกิจทำแข่งกับเอกชน ใช้ความเป็นรัฐวิสาหกิจเอาเปรียบเอกชน รัฐวิสาหกิจอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล มีกฎหมายชัดเจน คำถามง่ายๆ ปตท กฟผ. วันนี้เขาทำอยู่ตรงกับกฎหมายหรือไม่ หลายอย่างแปรสภาพจนไม่เหลือวัตถุประสงค์การตั้งรัฐวิสาหกิจ ถามว่า ทำไมวันนี้รัฐบาลนิ่งเฉย ทำธุรกิจแข่งกับธุรกิจค้าปลีก ตั้งโรงแรมก็ยังได้
นายเกียรติ กล่าวถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โตต่ำที่สุดในอาเซียน เฉลี่ย 2-3% แต่เรามีส่วนสูงสุดในทุกประเทศ คือ ส่วนต่างดอกเบี้ยกลับสูงที่สุดอยู่ที่ 7% ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก ตัวอย่างที่ยกขึ้นมานี้เพื่อให้เห็นผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะทุกวินาทีส่วนต่างดอกเบี้ยยังเป็นเช่นนี้ ประชาชนที่ซื้อบ้าน รถยนต์ เอสเอ็มอี โดนไปเต็มๆ
“ทำไมประเทศไทยต้องอยู่สถานะเช่นนี้ โครงสร้างแบบนี้สถาบันการเงินได้ประโยชน์เต็มๆ กลุ่มเดียว เรามีวิธีแก้หลายวิธี แต่ไม่ใช่ให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเช่นนี้”
คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า แม้แต่ราคาน้ำมัน วันนี้แพงกว่าที่่ควรจะเป็น ปัญหาอยู่ตรงไหน ทั้งค่าการกลั่น ค่าการตลาด เราไม่เคยมีคำตอบ ใครได้ส่วนต่างไม่พึงจะได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นต้นทางทุนของทุกคน ทั้งภาคขนส่ง การใช้ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า แม้แต่ราคาแก๊ส นี่คือต้นทางของทุกเรื่อง พอเรามีต้นทุนสูง สินค้าอุปโภคบริโภคก็สูงตาม ฉะนั้น จะโปร่งใสต้องยอมรับความจริงก่อน
กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ เราสนุ๊กตัวเอง
นายเกียรติ ยังแสดงความเป็นห่วงโครงการประชารัฐ ซึ่งเป้าหมายดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิต ห่วงกลุ่มทุนเข้าไปมีส่วนร่วมโครงการประชารัฐ ถามว่า เรามีมาตรการอะไรไม่ให้กลุ่มทุนไม่เอาเปรียบ หรือใช้อำนาจตลาดเหนือกว่า
กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า หลายประเทศคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว แต่ของเรา ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน อีกทั้งเมื่อเรามีปัญหาโทษประหารชีวิต การส่งข้อมูลหลายประเทศไม่ให้ เราสนุ๊กตัวเอง ฉะนั้น วิธีที่ง่ายที่สุด รัฐบาลต้องเรียกประธานบริหารบริษัทโรส-รอยซ์มาพบ ไม่ต้องรอช่องทางความร่วมมือทางอาญา เรียกมาพบ แล้วพูดกับเขาตรงๆ ง่ายๆ "คุณไม่เปิดเผยเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องทำธุรกิจกับไทยอีกต่อไป เรามีสิทธิทำอย่างนั้นได้ ผมเชื่อว่าเขาร่วมมือ"
สุดท้ายปัญหาคอร์รัปชั่น นายเกียรติ เห็นว่า ส่วนใหญ่มาจากการจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายหลายฉบับที่สนช.ทำอยู่ 3 ฉบับที่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นวันนี้ยังไม่สมบูรณ์ การอุทธรณ์ก็ยังไม่ชัด แถมมีข้อยกเว้นเยอะมาก แม้แต่สถาบันการศึกษาในกำกับดูแลขอรัฐ การจัดซื้อจัดจ้างกลับยกเว้น ซึ่งยกเว้นไม่ได้ ไม่ควร หรือแม้แต่ให้ อำนาจวินิจฉัยอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเดียว ดังนั้นพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ จึงต้องทบทวน เพื่อให้การปราบคอร์รัปชั่นได้ในชาตินี้
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวแสดงว่าเป็นห่วงการแก้ไขพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ ผ่านสนช. เพื่อป้องกันการผูกขาด ห่วงเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่เสนอไว้ 7 คน จับตาอย่าให้กระพริบ ซึ่งต้องได้คนที่เป็นกลางและมีศักยภาพทำงาน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสอย่าง 17 ปีที่ผ่านมา
นายปรีดา กล่าวถึงการที่รัฐวิสาหกิจ อย่างปตท.ลงมาแข่งขันกับเอกชน มีโอกาสมากที่จะทำร้ายเอกชน ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนตัวเล็กตัวน้อยได้เกิด ยิ่งขยายกิจการ ขยายสาขามาก ยิ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างมาก โอกาเสี่ยงเกิดการคอร์รัปชั่นก็มากตาม การตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาแล้ว รัฐปล่อยให้มาแข่งขันกับเอกชน ประชาชนโดยตรง จึงไม่สัมฤทธิ์ผลใดๆ ทั้งสิ้น
“การที่รัฐวิสาหกิจแปรรูปแบบสะเทินน้ำสะเทินบกแบบนี้ทำให้เกิดภาวะการบริหารแบบลูกอีแอบ เป็นรัฐวิสาหกิจก็ได้ เป็นภาคเอกชนก็ได้ จึงทำให้คนทำกิจการเดียวกันเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมา ซึ่งรัฐไม่พึงกระทำ”
ปมเชฟรอน ไม่ควรหยุดที่กรมศุลกากร
สุดท้ายนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงปมบริษัทเชฟรอนหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมันนั้น กระบวนการยุติธรรมและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรแจ้งไปที่สหรัฐฯ และไม่ควรหยุดที่กรมศุลกากร เพราะเป็นคดีอาญา แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบ และเมื่อความผิดสำเร็จแล้ว การไปประมูลอีกน่าจะลำบาก
นายกษิต กล่าวถึงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องเปิดเผย 100% โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างกลาโหม เพราะประเทศที่ขายของให้กับเรา ขั้นตอนมากมายจบที่รัฐสภา ต่อให้เราปิดตรงนี้ อย่างไรก็เปิดมาตั้งแต่ต้นทาง เราปิดหูปิดตาประชาชนไม่ได้ มีประเทศเดียว คือ จีน เพราะเป็นคอมมิวนิวส์ ฉะนั้น จึงต้องถามรัฐบาลจีนมีความปรารถนาดีกับประชาชนชาวไทยทุกวันหรือเปล่า ถึงได้มีกรณีของเรือดำน้ำ
“การเจรจาซื้ออาวุธ จะเป็นความลับแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง ช่วงที่บริษัทติดต่อ เจรจา จากนั้นจะเปิดเผยให้ประชาชนทราบ 100% คำว่า ดุลยพินิจต้องออกจากสารบบ”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการตั้งรางวัลนำจับทั่วโลถือเป็นการคอร์รัปชั่น แต่ของกรมศุลากร ของ ป.ป.ส. ยังมีอยู่ แม้แต่เบี้ยประชุม นั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆที่กินเงินเดือน เขาก็ถือเป็นคอร์รัปชั่น เช่นกัน
“อะไรที่แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ผมคิดว่า มี 500 ชีวิตที่ปกป้องการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ คืออธิบดี ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน กองทุนต่างๆ ที่ใช้งบรัฐบาล หาก 500 ชีวิต ซื่อสัตย์สุจริต โดยให้สำนักงานก.พ.ดูแลเรื่องจริยธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาจรรโลงข้าราชการผู้มีอำนาจเซ็น ประพฤติในสิ่งที่ดี”
ช่วงท้าย นายกษิต เสนอการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องห้ามมิให้รัฐมนตรีใดๆ ทั้งสิ้นเข้ามาเซ็นชื่ออนุมัติ หรือรู้เห็นการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะสหภาพยุโรปไม่ยอมให้รัฐมนตรีเข้ามารับรู้ โดยจะมีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ทำเช่นนี้ได้ทุกอย่างเชื่อว่า ประเทศไทยโปร่งใส อีกทั้งประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา
“โครงการต่างๆในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะทำอะไร ทำโครงการใดๆ เขาจะบอกให้ประชาชนทราบอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ผมจะยกกรณีที่ดิน 6.5 พันไร่รอบๆ สนามบินอู่ตะเภา ด้วยมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ประชาชนในชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ต้องเข้ามาส่วนร่วม ทำประชามติ ยิ่งเมื่อมีการสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นมากระทบต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ถามว่า จะหาความสมดุลกับภาคเกษตร การท่องเที่ยวอนุรักษ์นิยมหรือไม่ ยิ่งมีการใช้งบประมาณของประเทศยิ่งต้องเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติด้วย”