ชะตากรรมทีวี-โครงข่ายดาวเทียม-เคเบิลท้องถิ่น หลังคำสั่ง มาตรา44
นับตั้งแต่ คสช. ประกาศใช้ ม. 44 สั่งการให้ กสทช. ให้เงินสนับสนุนกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล 26 ช่อง จำนวนประมาณ 2,500 ล้านบาท ในการเช่าดาวเทียมไทยคม เป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เผยแพร่ช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ตามกฎการให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป หรือ Must Carry แสดงให้เห็นว่า กฎ Must Carry จะยังคงถูกใช้บังคับต่อไปอีก อย่างน้อย 3 ปี แม้ว่า การติดตั้งระบบเสากระจายสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน จะสามารถติดตั้งและให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ 95% ตามเป้าหมายในเดือน มิ.ย. 2560 หรือไม่ก็ตาม
จุดเริ่มต้นของ Must Carry
ในอดีต เวลาที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกเพื่อมาเผยแพร่ในประเทศไทย ผู้ซื้อจะซื้อลิขสิทธิ์เฉพาะเผยแพร่ในประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่สามารถเผยแพร่รายการไปต่างประเทศได้ แต่การเผยแพร่ผ่านโครงข่ายจานดาวเทียม จะมีพื้นที่ครอบคลุมไปต่างประเทศด้วย ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว เวลาที่มีการถ่ายทอดสดกีฬาระดับโลก ผู้ซื้อลิขสิทธิ์จึงมีความจำเป็นต้องทำ 'จอดำ' ในช่วงเวลาที่มีการถ่ายทอดสด ทำให้ประชาชนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จะไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศได้ จะรับชมได้เฉพาะผู้ที่รับชมผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และโครงข่ายเคเบิลทีวีเท่านั้น
เดิม Must Carry มี 6 ช่อง
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว กสท. จึงออกประกาศเรื่องการกำหนดช่องรายการที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ Must Carry ที่ทุกโครงข่ายจะต้องนำไปเผยแพร่ทุกช่อง อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิด 'จอดำ' ไม่ได้ โดยกำหนดให้ 6 ช่อง คือ ช่อง 3,5,7, MCOT , Nbt และ ThaiPBS เป็นช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
ทีวิดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องคือจุดเริ่มต้น
แต่เมื่อกฎ Must Carry ถูกประกาศใช้แล้ว กสท. ก็หยิบเอากฎ Must Carry มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าคลื่นความถี่ที่จะเอามาประมูลช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินทางธุรกิจ 24 ช่อง โดยไปสัญญากับผู้เข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องว่า ปกติกลุ่มช่องดังกล่าวทั้ง 24 ช่อง เมื่อประมูลคลื่นไปได้แล้ว จะสามารถเผยแพร่ได้เฉพาะบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้น โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลยังไม่มีเลย ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะสามารถติดตั้งระบบเสากระจายสัญญาณได้ครบทั่วประเทศ นั้นหมายความว่า จำนวนผู้รับชมช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินจะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามเสากระจายสัญญาณที่เพิ่มขึ้น หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเช่นนั้น ราคาค่าประมูลคลื่นความถี่ช่องทีวีทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่อง จะได้ราคารวมกันไม่เกิน 15,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
กสท. ทำให้ Must Carry มี 36 ช่อง
กสท. จึงไปสัญญากับผู้เข้าร่วมประมูลว่า จะบังคับให้กลุ่มโครงข่ายที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหมายถึงโครงข่ายทีวีผ่านดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องนำช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ไปเผยแพร่ร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนในประเทศไทยทุกครัวเรือน สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึงในทันที ที่เปิดให้บริการ โดย กสท. จะอาศัยกฎ Must Carry เป็นตัวบังคับ โดยไปขยายความคำว่า โทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ตามกฎ Must Carry เดิมหมายถึง 6 ช่องเท่านั้น ให้ขยายความว่า ช่องรายการทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินทั้ง 36 ช่อง (ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง + ทีวีธุรกิจ 24 ช่อง) เป็นช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปที่ต้อง Must Carry ด้วย
ยึดตำแหน่งช่องที่ 1-36 ในทุกโครงข่าย
เมื่อใช้ กฎ Must Carry จึงได้ 36 ช่องมาเผยแพร่บนโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวี (จะเอาไปจัดอยู่ในตำแหน่งช่องใดก็ได้) แต่เพื่อเพิ่มมูลค่าช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องเข้าไปอีก กสท. จึงออกกฎการจัดเรียงตำแหน่งช่องรายการในทุกโครงข่ายเพิ่มเติมว่า ทุกโครงข่าย จะต้องจัดเรียงตำแหน่งช่องรายการในกลุ่มโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ Must Carry ให้อยู่ในหมวดที่ 1 (กสท. บังคับเอาตำแหน่งช่องรายการของ โครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่น ไปขายต่อให้ช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ) ส่งผลให้ โครงสร้างการจัดเรียงตำแหน่งช่องรายการที่เดิมประชาชนที่รับชมช่องรายการผ่านดาวเทียม หรือ เคเบิลท้องถิ่น ที่เคยคุ้นชินว่า ช่อง 3 อยู่ตำแหน่งเลข 3 ช่อง 7 อยู่ตำแหน่งเลข 7 จะถูกเปลี่ยนตำแหน่งไปตามการจัดตำแหน่งช่องรายการของโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ใน 36 ช่องแรก โดยช่องทีวีสาธารณะถูกจัดอยู่ในตำแหน่งที่ 1-12 ช่องทีวีทางธุรกิจถูกจัดอยู่ในตำแหน่ง 13-36 ตามที่ทุกท่านได้รับชมอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนช่องรายการอื่นๆให้แต่ละโครงข่ายไปเริ่มให้บริการที่ตำแหน่ง 37 เป็นต้นไป
ฝันของคนรวย ที่อยากรวยมากๆ
เมื่อกฎทุกอย่างออกมาครบ กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่อง จึงมั่นใจว่า จะสามารถเผยแพร่ช่องรายการได้ในทุกโครงข่าย ในตำแหน่งช่องเดียวกันทั่วประเทศ เงินค่าโฆษณาในระบบโทรทัศน์จำนวน 60,000 ล้านบาท/ปี จะสามารถเอามาแบ่งกันได้ช่องละ 2,500 ล้านบาท/ปี/ช่อง ได้ใบอนุญาตมา 15 ปี แต่ละช่องจะได้เงิน 37,500 ล้านบาท (2,500 คูณ 15 ปี) ทั้งอุตสาหกรรมจะได้เงิน 900,000 ล้านบาท (37,500 คูณ 24 ช่อง) นี่ยังไม่นับการเพิ่มขึ้นของงบโฆษณาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกหลายเท่า ดังนั้น ทุกคนที่ประมูลช่องรายการทีวีดิจิทัลทางธุรกิจได้ จะต้อง รวย...รวย...รวย... อย่างแน่นอน ดังนั้นทุกคนจึงแย่งกันเสนอราคาประมูลช่อง จากราคาตั้งต้น 15,000 ล้านบาท กลายเป็น 50,000 ล้านบาท วันที่ปิดการประมูล จึงมีความสุขทั้งคนที่จัดประมูล และคนที่ประมูลช่องรายการได้
กฎ Must Carry ควรสิ้นสุด เดือน มิถุนายน 2560
เดิมทีเดียว กลุ่มโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี ก็คาดว่า กสท. จะปล้นเอาตำแหน่งช่อง 13-36 ไปขายเพียง 3 ปี เพราะเมื่อเสากระจายสัญญาณของ โครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินสามารถติดตั้งได้ครบ 95% ในเดือนมิถุนายน 2560 กสท. ก็น่าจะยกเลิกกฎ Must Carry เพื่อคืนตำแหน่งช่อง และคืนความเป็นอิสระในการจัดผังช่องรายการ ตามระบบการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ที่ผู้รับบริการ จะรับบริการตามที่ผู้ให้บริการกำหนด
คสช. ใช้ ม. 44 ขยายออกไปอีก 3 ปี
แต่เมื่อ กลุ่มทีวิดิจิทัลทางธุรกิจ สามารถใช้กำลังภายในไปขอให้ คสช. ออก ม. 44 เพื่อสั่งให้ กสทช. ช่วยจ่ายเงินค่า Must Carry ผ่านดาวเทียมให้เป็นเวลา 3 ปี ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กฎ Must Carry จะคงอยู่ค่อไปอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย โดยไม่สนใจว่า เสากระจายสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน จะติดตั้งครบ 95% หรือไม่ก็ตาม
ทีวีดิจิตอล 24 ช่องเกิดมาเพื่อ "ฆ่า" ดาวเทียมกับเคเบิลท้องถิ่น
เมื่อทุกอย่างออกมาชัดเจนเช่นนี้ กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่น จะทำอย่างไร เพราะตลอดเวลา 3 ปีที่กฎ Must Carry ออกมาใช้ ช่องรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ต้องปิดตัวเองไปแล้วประมาณ 100 ช่อง โครงข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หมดทางหากิน เปลี่ยนไปขายกล้องวงจรปิด ขายแอร์ ส่วนผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ก็ปิดกิจการกันไปกว่า 100 ราย และกำลังจะปิดตามกันไปอีกหลายราย
"กรรม" ติดจรวด
ครั้งแรกก็คิดว่า กสท. ช่วยกลุ่มทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่อง ให้มาช่วยกันทำลายกลุ่มช่องรายการผ่านดาวเทียม กลุ่มโครงขายดาวเทียม และกลุ่มโครงข่ายเคเบิลทีวี เพื่อให้เหลือเฉพาะ กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน และ โครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ บุญ และ กรรม ในศาสนาพุทธของเรา น่าจะมีจริงๆ เพราะ กรรมติดจรวด สามารถเห็นผลได้ใน 3-5 ปี ไม่ต้องรอให้ครบ 15 ปี เพราะผู้ที่ร่วมกันคิดการ ก่อกรรม ทำร้ายผู้อื่น สุดท้าย ก็ต้องตายตกตามกันไป เสียทั้งชื่อเสียง เสียทั้งทรัพย์สินที่บรรพบุรุษได้สร้างมาชั่วชีวิต หมดสิ้นภายใน 3 ปีเท่านั้น
'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน'
นับจากนี้ไป กลุ่มดาวเทียม และ กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น คงไม่ต้องไปหวังพึ่ง หรือ ขอความช่วยเหลือจากผู้ใด เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใคร จริงใจกับ กลุ่มช่องดาวเทียม กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม และ กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น ถึงวันนี้คงต้องหันมาใช้สุภาษิตที่ว่า 'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน' เพื่อนๆที่ตายไปแล้ว เราก็ต้องช่วยกันอุทิศส่วนกุศลไปให้ เพราะเพื่อนๆเหล่านั้น เขาทำบุญมาน้อย จึงไม่สามารถทนพิษบาดแผล จากการทำร้ายของผู้ไม่หวังดีได้
จากนี้ไป ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กลุ่มช่องรายการผ่านดาวเทียม กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม และ กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น จะหันหน้ามาจับมือกัน กอดคอกัน ตีฝ่าวงล้อมออกไปด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1 กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม
ปัจจุบัน ดำเนินการโดยกลุ่มโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี หรือ CABSAT โดยมีคุณมานพ โตการค้า เป็นผู้นำ กลุ่มนี้มี ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายดาวเทียมรายใหญ่ทุกรายเป็นสมาชิก มีทรัพยากรที่สำคัญคือ
1)ช่องรายการที่ให้บริการ
กลุ่มโครงข่ายดาวเทียม ควรมาทำช่อง Must Carry ร่วมกันตั้งแต่ช่องที่ 37 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นช่องรายการใด ไม่ว่าจะเป็นช่องรายการของใคร ที่ให้บริการในรูปแบบหารายได้จากการโฆษณา แบบ Free To Air มีการขึ้นทะเบียนช่องกับ กสทช. และให้บริการผ่านดาวเทียมไทยคม โครงข่ายดาวเทียมทุกโครงข่าย จะต้องนำช่องรายการนั้นๆไปเผยแพร่ให้ครบทุกช่อง
2)ตำแหน่งช่องรายการ
ในแต่ละโครงข่ายในวันนี้ ทุกโครงข่ายได้เสียตำแหน่งช่อง 1-36 ให้กับทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ไปแล้ว แต่ก็ยังมีตำแหน่งช่อง 37 เป็นต้นไป ที่จะสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ ทุกวันนี้ ตำแหน่งช่องที่ 37 เป็นต้นไปยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะแต่ละโครงข่ายไม่สามารถจัดเรียงตำแหน่งช่องรายการให้ตรงกันในทุกโครงข่ายได้ ทำให้ช่องรายการที่นำมาเผยแพร่ ไม่สามารถสื่อสารกับผู้รับชมได้เป็นตำแหน่งช่องเดียวกันทั่วประเทศ และ ช่องรายการใดต้องการจะเผยแพร่ในโครงข่ายดาวเทียม จะต้องไปเจรจากับแต่ละโครงข่าย ซึ่งมีความยุ่งยาก และ สื่อสารกับผู้รับชมได้ลำบาก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมาร่วมตกลงกันให้ได้ว่า ตั้งแต่ตำแหน่งช่องที่ 37 เป็นต้นไป ช่องรายการที่มาเผยแพร่บนโครงข่ายดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายของผู้ประกอบกิจการรายใด จะได้ตำแน่งช่องเดียวกันทั่วประเทศ
2 กลุ่มช่องดาวเทียม
ปัจจุบันดำเนินการโดยสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) หรือ STAT ที่มี ดร. นิพนธ์ นาคสมภพ เป็นผู้นำ ปัญหาของกลุ่มช่องดาวเทียมคือ
1)การโฆษณาสินค้าในรายการ
มักจะมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง กสท. เพ่งเล็งที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ กลุ่มนี้ใครที่จะผลิตช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการผ่านดาวเทียมไทยคม จะต้องเป็นสมาชิกกับสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้น ผู้ให้บริการโครงข่ายที่เป็นสมาชิก CABSAT จึงจะนำช่องรายการนั้นไปเผยแพร่บนโครงข่ายของตนเอง โดยสมาคมฯ จะทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพช่องรายการ และ การโฆษณาในรายการ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ที่สมาคมฯ ได้ตกลงกับ กสท. ช่องใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ จะไม่ถูกนำไปเผยแพร่บนโครงข่ายดาวเทียม
2)การหารายได้จากการโฆษณา
เพื่อให้สามารถหารายได้ค่าโฆษณาจาก Agency ได้ จึงต้องเพิ่มจำนวนฐานสมาชิกผู้รับชมผ่านช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมให้ได้ สมาคมฯ จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกับ Agency เพื่อของบค่าโฆษณามาลงในช่องดาวเทียมให้ได้ โดยสินค้าใดที่ได้มา จะได้ลงโฆษณาในช่องดาวเทียมที่เป็นสมาชิกของสมาคม 'ทุกช่อง' โดยแต่ละช่องสมาคมฯ จะทำหน้าที่จัดสรรรายได้ให้กับทุกช่องด้วยความเป็นธรรม ส่วนโฆษณาใดที่ไม่ผ่าน Agency แต่ละช่องสามารถไปหาโฆษณาเองได้
3 กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น
ปัจจุบันดำเนินการโดยสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย หรือ TCTA โดยมีคุณวิริยา ธรรมเรืองทอง เป็นผู้นำ ปัญหาที่เกดขึ้นในเวลานี้คือ
1)การให้บริการในระบบ Analog
ในปัจจุบัน ระบบ Analog ไม่สามารถแข่งขันได้ จะต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital และต้องใช้ระบบ Digital DVB-T เพื่อประหยัดงบประมาณในเรื่องกล่องรับสัญญาณ เพราะ กสทช. แจกกล่อง DVB-T2 ให้กับประชาชนอยู่แล้ว
2)ระบบห้องส่งสัญญาณ Digital
จะต้องมีการแบ่งปันสัญญาณระบบ Digital ระหว่างผู้ประกอบกิจการรายใหญ่กับผู้ให้บริการรายเล็กอย่างเป็นธรรม โดยแต่ละพื้นที่ควรจะมีการรวมตัวกันเป็น กลุ่มผู้ให้บริการในแต่ละภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการ
3)รวมผู้ประกอบกิจการ
ในแต่ละพื้นที่ ควรมีผู้ให้บริการเพียง รายเดียว เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และลดค่าใช้จ่ายในการพาดสายเคเบิลบนเสาไฟฟ้า
4)การซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการ
ควรมีการรวมตัวกันซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการที่มีคุณภาพ และเป็นรายการที่ถูกกฎหมาย ไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ช่องรายการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อยกระดับการให้บริการเคเบิลท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
5)การให้บริการ Internet
ควรมีการสนับสนุนให้มีการรวมตัวกัน พัฒนาการให้บริการ Internet กับสมาชิกผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวี โดยถูกต้องตามกฎหมาย และ ในราคาที่สามารถแข่งขันได้
6)การจัดเรียงช่องรายการ
ในตำแหน่งช่องรายการที่ 37 เป็นต้นไป ควรจัดตำแหน่งช่องรายการให้ตรงกันทั่วประเทศ และบางช่องที่นำช่องทีวีผ่านดาวเทียมมาเผยแพร่ ก็ควรจัดตำแหน่งช่องให้ตรงกับ ช่องทีวีผ่านดาวเทียม
7)การขายโฆษณา
ควรผลิตช่องข่าวท้องถิ่น ที่เป็นช่องข่าวท้องถิ่นกลาง หรือ Thailand Cable Broadcasting (TCB Channel) ที่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกรายจะต้องนำไปเผยแพร่ ในตำแหน่งช่องที่ 37 เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารของกลุ่มเคเบิลท้องถิ่นสู่ภายนอก และเพื่อหารายได้จากการโฆษณา รวมทั้งอาจไปจับมือกับกลุ่ม CABSAT ในการเผยแพร่ผ่านดาวเทียมในโครงข่ายของ CABSAT ได้อีกด้วย
สิ่งที่ได้นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนที่จะทำให้ ผู้ประกอบกิจการ โครงข่ายดาวเทียม ช่องรายการผ่านดาวเทียม และ เคเบิลท้องถิ่น ต้องกลับมาดูตนเอง มาช่วยเหลือกันเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือ ที่เรียกว่า 'ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน' เมื่อช่วยเหลือตนเอง และพวกเดียวกันได้แล้ว จึงไปจับมือกับกลุ่มอื่น จากนั้นจึงรวมกันไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบโทรทัศน์จาก http://www.acnews.net/