เส้นทางมึนงงของงบซื้อเรือดำน้ำ
ประเด็นการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก งบประมาณ 13,500 ล้านบาทยังไม่จบ
หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" ได้เปิดข้อสังเกตของ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเงินการคลัง ที่ว่ามติ ครม.เมื่อ 18 เม.ย.60 ซึ่งอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีสำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีน เป็นมติที่เกิดขึ้นหลังพ้นเวลา 60 วันที่ ครม.ต้องอนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จึงอาจขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 นั้น
ทันทีที่มีข่าวออกไป นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ออกมาชี้แจง สรุปว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 สำนักงบประมาณได้ดำเนินการรวบรวมรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม.ตามนัย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 แล้ว ซึ่ง ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 โดยเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งรวมถึงรายการจัดซื้อเรือดำน้ำด้วย และให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องต้องนำเสนอ ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป
ดังนั้น มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 ที่รับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และการดำเนินการตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 รวมทั้งอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการดังกล่าวเกิน 5 ปี และอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว
ล่าสุด "ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามไปยัง อาจารย์ปรีชา เกี่ยวกับคำชี้แจงของสำนักงบประมาณ ได้รับคำตอบว่าถือเป็นคำชี้แจงที่ฟังขึ้น แม้จะทะแม่งๆ ไปบ้าง เพราะ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลก็ยืนยันเองจากการให้สัมภาษณ์ว่า ครม.ได้อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ "รับทราบ"
นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติหลัง ครม.อนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันแล้ว (ตามที่สำนักงบประมาณอ้างว่า ครม.มีมติเมื่อ 25 ต.ค.59) ยังมีระเบียบที่ออกตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ชื่อว่า "ระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549" กำหนดไว้ในข้อ 4 ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจดำเนินการต่อ ซึ่งมีอยู่ 2 ข้อ แต่ไม่มีเงื่อนไขให้นำกลับเข้าขอความเห็นชอบจาก ครม.ซ้ำอีกรอบ
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าโครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำจากจีน ไม่เคยมีการเสนอเข้า ครม.มาก่อน มีเพียงมติ ครม.เมื่อ 18 ก.พ.58 รับทราบรายงานผลการเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีกลาโหมจีน ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอ ซึ่งมีตอนหนึ่งระบุถึงกรณีที่จีนได้เสนอความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น S-26T ให้กับกองทัพเรือ แต่มติครม.นี้ก็ไม่ใช่การอนุมัติหรือเห็นชอบให้จัดซื้อเรือดำน้ำ
น่าแปลกหรือไม่ที่กองทัพเรือตั้งงบประมาณรายจ่ายในโครงการจัดหาเรือดำน้ำ งวดแรก 700 ล้านบาท ในงบปี 60 โดยที่ยังไม่มีการเสนอ ครม.ให้อนุมัติจัดซื้อ พร้อมกันนั้นก็ยังเสนอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีอีก 6 ปีงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณอ้างว่า ครม.เห็นชอบเมื่อ 25 ต.ค.59
แต่จากนั้น 18 เม.ย.60 ครม.เพิ่งรับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และการดำเนินการตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 (น่าจะเป็นรายงานที่คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือ กจด. ของกองทัพเรือ เสนอกระทรวงกลาโหมก่อนหน้านี้) ซึ่งหมายถึงการเห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำจากจีน ตามที่เสนอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีเอาไว้
แปลง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านว่า กองทัพเรือตั้งงบไว้ล่วงหน้า ก่อนสรุปว่าจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนอย่างนั้นหรือ?
ถ้าไม่ใช่แบบนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำถูกเสนอเข้า ครม.ไปแล้วตอนไหนก็ไม่รู้ แต่เป็น "เอกสารมุมแดง" ลับสุดยอด ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้ ตามแบบที่ พล.อ.ประวิตร ว่าเอาไว้
คำถามที่หลายคนอยากรู้มากกว่านั้นก็คือ การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่บอกว่าผ่าน ครม.แล้วนั้น ผูกพันแค่ 6 ปีสำหรับเรือดำน้ำลำแรก หรือว่าอนุมัติก่อหนี้ 11 ปีสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ ตามที่ พล.อ.ประวิตร เคยให้สัมภาษณ์ เพราะประเด็นนี้ก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกัน
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ประเด็นทางยุทธการที่ต้องปิดเป็นความลับตามที่กองทัพเรือและรัฐบาลทหารกล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะย้ำว่าเป็นงบของกองทัพเรือ ไม่ใช่งบที่มีไว้สำหรับดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่โดยหลักการแล้วไม่ว่าจะเป็นงบของหน่วยงานไหน หน่วยทหารหรือไม่ใช่หน่วยทหาร ก็ล้วนมาจากภาษีของประชาชนอยู่ดี
ฉะนั้นประชาชนในฐานะเจ้าของเงิน และเจ้าของประเทศ...จำเป็นต้องรู้!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเรือดำน้ำจีน ชั้นหยวน รุ่น S-26T จากสถานีโทรทัศน์ NOW26