ผอ.เนคเทค เปิดข้อมูล SafeMate พบภาคเหนือขับเร็วสุด 198 กม./ชม.ทั้งที่สภาพถนนไม่เอื้อ
เปิดข้อมูล SafeMate พบภาคเหนือขับขี่เร็วสุด 198 กิโลเมตร/ชม. ขณะที่กรุงเทพความเร็วอยู่ที่ 145.5 กิโลเมตร/ชม. ทั้งยังพบเหตุเสี่ยงอุบัติเหตุจากการเปลี่ยนเลนกะทันหันมากถึง 2,925 ครั้งด้านผอ.เนคเทคชี้ข้อมูลชุดนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเหตุใดพื้นที่นั้นถึงมีความเสี่ยงช่วยเสริมมาตรการนโยบายในอนาคตได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้เปิดเผยข้อมูลเส้นทางการเดินทางจากผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น SafeMate ในช่วงระหว่างวันที่ 3-23 เมษายน 2560 พบว่า รถยนต์ส่วนตัวและรถแท็กซี่มีสัดส่วนของการขับขี่ในระดับ F (แย่) ในระดับสูงมากคิดเป็น 72.03% และ 74.74% (ตามลำดับ) ขณะที่ รถเมล์/รถทัวร์มีสัดส่วนการขับขี่ในระดับ A มากที่สุดคิดเป็น 52.78% ของผู้ใช้งานที่เดินทาง
ขณะที่ข้อมูลการขับขี่ พบว่า ภาคเหนือสูงสุดเป็นเส้นทางที่มีการขับขี่เร็วที่สุดในประเทศโดยมีความเร็วอยู่ที่ 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ความเร็วเฉลี่ยทั้งภาคอยู่ที่ 61.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สูงที่สุดของความเร็วทุกภาค
ส่วนการขับขี่ในกรุงเทพมหานคร มีความเร็วเฉลี่ยต่ำสุด โดยอัตราความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 145.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 35.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพจราจรที่หนาแน่นกว่าภาคอื่นๆ
นอกจากนี้ข้อมูลจากผู้ใช้งาน Safe Mate กับจำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขับขี่ที่เกิดอันตราย ช่วงวันที่ 11-18 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุการณ์ขับขี่ที่เสี่ยงอันตรายหลายประเภท
- เหตุการณ์ที่เกิดมากที่สุดคือการเปลี่ยนเลนกะทันหันทั้งหมด 2,925 ครั้ง
- การที่มีการเปลี่ยนเลนกะทันหันทั้งซ้ายและขวาน่าจะเกิดขึ้นจากการแซงแบบรวดเร็วซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติในการขับขี่บนถนนในประเทศไทย
- ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์อันตรายพบว่า ส่วนใหญ่จะเกิดช่วงกลางวัน (11.00-15.00)
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้มา พบว่า วิธีการขับขี่ของคนไทยมีความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุมากโดยเฉพาะรถยนต์ เราจะเห็นว่า ข้อมูลความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 198 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เราก็จะเห็นว่าสภาพถนนตรงนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการขับรถที่เร็วขึ้น หากดูในประเทศญี่ปุ่นจะไม่ค่อบพบประเด็นนี้ เพราะญี่ปุ่นทางโค้งจำนวนมากเลยไม่ค่อยมีเรื่องของการขับเร็วเกิน
“ผมคิดว่าข้อมูลที่ได้มาเราก็จะสามารถวิเคราะห์ และช่วยเรื่องการนโยบาย การออกแบบถนน เพื่อลดความเร็วของการขับไปได้ในตัว”
ดร.ศรัณย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเก็บข้อมูลเราไม่จำเป็นต้องเน้นช่วงเทศกาลก็ได้ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน เพียงแต่ว่าเราเอาช่วงเทศกาล มาเป็นจุดไฮไลท์ ฉะนั้นข้อมูลที่เราได้มา ที่รณรงค์การใช้อย่างแอปพลิเคชั่น SafeMate เราไม่ได้จับผิด แต่เป็นที่เวลาเดินทางสามารถที่จะติดตามได้ว่า การเดินทางเป็นอย่างไร และนำมาวิเคราะห์การขับขี่ได้ด้วย โดยข้อมูลที่ได้มาต้องเอามาปรับกับอีกหลายมิติ เช่น สภาพถนนขณะนั้น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ตรงนี้เราจะมาวิเคราะห์ได้ว่า นโยบาย การจัดการกฎหมายจะเอื้อให้ช่วยลดอุบัติเหตุได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิจัยเนคเทค-สวทช.ใช้แอปฯ เก็บพฤติกรรมขับขี่ พบแท็กซี่เกิดอันตราย-อุบัติเหตุมากสุด