เพื่อนบนโลกออนไลน์ : เพื่อนแท้หรือแค่คนรู้จัก ?
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันอยู่เสมอ
เฮเลน เคลเลอร์ นักเขียนชาวอเมริกัน เคยกล่าวถึงความเป็นเพื่อนไว้อย่างน่าฟังว่า “ เดินกับเพื่อนเพียงคนเดียวในความมืด ดีกว่าเดินอย่างโดดเดี่ยวในความสว่าง” (Walking with a friend in the dark is better than walking alone in the light) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นว่า เพื่อนนั้นมีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์นอกจาก พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตรในครอบครัวตัวเอง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2554 ได้ให้คำจำกัดความของ “เพื่อน” ว่า
“ผู้ชอบพอรักใคร่กัน ผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน เช่น เขามีเพื่อนมาก / ผู้ร่วมสถาบันหรือร่วมอาชีพ เป็นต้น เช่น เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนข้าราชการ เพื่อนกรรมกร / ผู้ร่วมธุระ เช่น อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน ไปเป็นเพื่อนกันหน่อย / ผู้อยู่ในสภาพเดียวกัน เช่น เพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลก” (คำนาม)
จากคำจำกัดความของ Cambridge Dictionary คำว่า “Friend” หมายถึง “a person who you know well and who you like a lot, but who is usually not a member of your family”(คำนาม) แปลความหมายได้ว่า “ บุคคลคนหนึ่งที่ท่านรู้จักเป็นอย่างดีและเป็นบุคคลที่ท่านชอบมาก แต่ปกติบุคคลนั้นจะไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวตัวเอง”
แต่เดิมนั้นความเป็นเพื่อนเกิดจากความสัมพันธ์แบบพบกันซึ่งหน้าและการใช้เครื่องมือหลายประเภทในการติดต่อสื่อสาร เมื่อมนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนขึ้นมาควบคู่กับโลกแห่งความจริง ความเป็นเพื่อนบนโลกเสมือนจึงเกิดขึ้นตามมา ทำให้คนหนึ่งคนสามารถเพิ่มเพื่อนได้ถึงหลักร้อยหรือหลักพันคนด้วยระยะเวลาอันไม่นานซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในโลกแห่งความจริง
จากข้อมูลของ PEW Research Center แห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ เมื่อเดือน สิงหาคม 2015 พบว่า วัยรุ่นชาวอเมริกันอายุ 13 -17 ปี มากกว่า 57 เปอร์เซ็นต์พบกับเพื่อนบนโลกออนไลน์ แยกเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนเพื่อนได้ดังนี้
๏ 6 เปอร์เซ็นต์มีเพื่อน 1 คน
๏ 22 เปอร์เซ็นต์มีเพื่อน 2 ถึง 5 คน
๏ 29 เปอร์เซ็นต์มีเพื่อนมากกว่า 5 คน
ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เคยพบเพื่อนออนไลน์แบบซึ่งหน้า อีก 77 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยพบเพื่อนออนไลน์และผู้ชายชอบพบเพื่อนออนไลน์มากกว่าผู้หญิง
๏ การสำรวจพบว่าผู้หญิง มีแนวโน้มที่จะ ยกเลิกการเป็นเพื่อนเลิก (Unfriend) เลิกติดตาม (Unfollow) และบล็อก (Block) เพื่อนออนไลน์มากกว่าผู้ชาย
๏ ผลสำรวจเรื่องการสื่อสารกับเพื่อนออนไลน์พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะใช้การส่งข้อความ(Texting) เพื่อการสนทนา ในขณะที่ผู้ชายสนทนากับเพื่อนโดยผ่าน วิดิโอ เกม มากกว่าผู้หญิง
๏ การสื่อสารด้วยโทรศัพท์ไม่ใช่ช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารในการเป็นเพื่อนช่วงแรกๆ แต่โทรศัพท์มักจะถูกใช้ติดต่อกับเพื่อนสนิทมากกว่า
๏ ประเภทของ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและวัยรุ่นอเมริกันนิยมใช้งานมากที่สุดได้แก่ Facebook (41 เปอร์เซ็นต์) Instagram (20เปอร์เซ็นต์) Snapchat (11 เปอร์เซ็นต์) Twitter (6 เปอร์เซ็นต์) Google+ (5 เปอร์เซ็นต์) Tumblr (3 เปอร์เซ็นต์ ) Vine (1 เปอร์เซ็นต์) และอื่นๆ (1 เปอร์เซ็นต์)
เมื่อถูกถามถึงประเด็นเรื่องความเป็นตัวตนที่แท้จริงและการแสดงความจริงจากเพื่อนบนโลกออนไลน์ ปรากฏว่าวัยรุ่น 77 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าเพื่อนบนโลกออนไลน์นั้นแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงและแสดงความจริงน้อยกว่าเพื่อนในโลกแห่งความจริง
สำหรับประเทศไทยนั้น จากข้อมูล รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก Gen Z (เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป) ในปี 2559 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า เด็ก Gen Z มีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 40.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิด เป็นการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 5.7 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 95.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการพูดคุย โดยมีการใช้ YouTube มากที่สุดถึงร้อยละ 98.6 Facebook ร้อยละ 93.8 Line ร้อยละ 91.4 Instagram ร้อยละ66.5 Twitter ร้อยละ 48.3 และ WhatApp ร้อยละ 13
จากรายงานฉบับนี้ยังไม่พบข้อมูลผลสำรวจเรื่อง การเชื่อมโยงความเป็นเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนไทย
ความเป็นเพื่อนของมนุษย์ได้รับความสนใจและมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการเป็นเพื่อนอยู่ตลอดมา ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์(Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยา (ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านสังคมและวิวัฒนาการด้านประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาความสามารถในการมีเพื่อนของมนุษย์หนึ่งคนเมื่อปี 1992 โดยศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความโตของสมองมนุษย์ ขนาดของกลุ่ม และช่วงเวลากิจกรรมสัมพันธ์กับบุคลอื่น
ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ พบว่าจำนวนเพื่อนของมนุษย์ที่จะคงความสัมพันธ์กันอยู่ได้นั้นมีจำกัดประมาณ 150 คนเท่านั้น จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ ตัวเลขของดันบาร์” (Dunbar’s number) ตัวเลขนี้สอดคล้องกับจำนวนเฉลี่ยของประชากรในชุมชนของประเทศอังกฤษในอดีต จำนวนกองทหารในกองทัพ ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขอยู่ประมาณ 150 คนตัวเลขนี้จึงกลายเป็นทฤษฎีของดันบาร์ที่สามารถใช้อ้างอิงอยู่เสมอเมื่ออ้างถึงจำนวนเพื่อนของมนุษย์
ดันบาร์ ยังพบว่า การสนทนาของคนกลุ่มต่างๆนั้นอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 3.8 คน ( ผู้พูด 1 คนและผู้ฟัง 2.8 คน ) หรือประมาณ 4 คน สอดคล้องกับการศึกษาตัวเลขของการจองภัตตาคารชื่อ Novark ใน เมือง บรูคลิน รัฐแมสซาชูเซตส์ จากการเก็บข้อมูลตัวเลขจากการจองภัตตาคารของลูกค้า 3,070 กลุ่ม เมื่อปี 1968 พบว่ากลุ่มลูกค้าที่จองภัตตาคารที่สูงที่สุดคือ 2 คนและ 4 คน โดยเฉลี่ยขนาดของงานเลี้ยงจะอยู่ที่ 3.8 คน ซึ่งเท่ากับตัวเลขของดันบาร์
เมื่อยุคของสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นโลกเสมือนที่สามารถทำให้ใครต่อใครกลายเป็นเพื่อนกันได้ ทำให้เกิดคำถามตลอดมาว่า “ตัวเลขของดันบาร์” ที่ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วบนสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงนั้นสามารถจะนำมาใช้ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ได้หรือไม่ เป็นความท้าทายที่ดันบาร์เองก็ต้องหาคำตอบเหมือนกัน
ในที่สุด เมื่อปี 2016 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของ ศาสตราจารย์ โรบิน ดันบาร์ ที่ได้ทำการศึกษาความเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ของ ผู้ใช้ Facebook อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี จำนวน 3,375 คน ในสหราชอาณาจักร โดยพบว่า บุคคลเหล่านี้มีเพื่อนโดยเฉลี่ยราว 150 คน เพื่อน 4.1 คน เป็นเพื่อนที่เชื่อถือได้และเพื่อนอีก 13.6 คน เป็นเพื่อนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจในภาวะวิกฤติทางอารมณ์ ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับทฤษฎีของดันบาร์ ที่ได้ศึกษาไว้ในสังคมของโลกแห่งความเป็นจริงก่อนหน้านี้
การศึกษายังพบว่าขนาดของวงกลมแห่งมิตรภาพ (Friendship circles) ระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริงไม่ได้มีความแตกต่างกัน ผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่มีขนาดของ เน็ตเวิร์คใหญ่ซึ่งมีเพื่อนจำนวนมากไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนเพื่อนสนิทที่เคยมีอยู่ แต่จะเพิ่มจำนวนคนรู้จัก (Acquaintances) เข้ามาในวงกลมแห่งมิตรภาพของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่ชอบที่จะมีเพื่อนบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ผู้ใหญ่ชอบที่จะมีเพื่อนในโลกแห่งความจริงมากกว่า
อย่างไรก็ตามการศึกษา “ตัวเลขของดันบาร์” บนโลกออนไลน์ด้วยตัวของ ศาสตราจารย์ ดันบาร์ เองนั้น สังคมอาจมีความเคลือบแคลงต่อความโน้มเอียงในการสนับสนุนทฤษฎีของตัวเองได้เหมือนกัน แต่ก็มีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่าดันบาร์ไม่ได้มีความโน้มเอียงเพื่อเข้าข้างทฤษฎีของตัวเองเพราะผู้ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาคือ European Research Council Advanced ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยสาธารณะย่อม ต้องมีกรรมการตรวจสอบและรับรองผล และรวมทั้งมีการยืนยันจากผู้วิจัยเองว่าไม่มีผลประโยชน์แทรกซ้อน (Competing of interest) ใดๆ และการสำรวจต่างๆก็จัดทำโดยหน่วยงานภายนอก
จากข้อมูลที่เผยแพร่ทางสื่อต่างๆพบว่า มีการศึกษาจำนวนมากที่สนับสนุนทฤษฎีของดันบาร์ เช่น
๏ ข้อมูลจากการศึกษาของ ดร. Will Reader นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Sheffield Hallam สหราชอาณาจักร พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ MySpace ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้เพิ่มเพื่อนสนิทได้และเชื่อว่าเพื่อนสนิทนั้นเกิดขึ้นจากการพบกันซึ่งหน้ามากกว่าการอยู่บนโลกออนไลน์ โดยพบว่าแม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะให้ผู้ใช้เพิ่มเพื่อนได้มากเท่าใดก็ตาม แต่เพื่อนสนิทบนโลกออนไลน์นั้นมีจำนวนเท่าๆกับเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง และคนทั่วไปมีเพื่อนสนิทราว 5 คนเท่านั้น
๏ ศาสตราจารย์ Stefan Thurner แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์เวียนนาได้ทดสอบหาความจริงเกี่ยวกับทฤษฎีของดันบาร์ โดยศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยเกมที่ชื่อว่า Pardus และพบว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในเกมซึ่งอยู่ในโลกเสมือนนั้นสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของมนุษย์ผู้นั้นในโลกแห่งความเป็นจริงและพบว่ากลุ่มความสัมพันธ์ของคนที่เล่นเกม Pardus นั้นมีตัวเลขอยู่ประมาณ 136 คน ซึ่งไม่ต่างจากตัวเลขของดันบาร์มากนัก
๏ ดร.Cameron Marlow ผู้ก่อตั้งและเป็น CTO บริษัท Health Coda ได้เคยศึกษาจำนวนเพื่อนของผู้ใช้ Facebook ขณะที่เขาทำงานอยู่ที่ Facebook เมื่อหลายปีก่อนพบว่าเพื่อนของผู้ใช้ Facebook โดยเฉลี่ยมีตัวเลขอยู่ราว 120 คน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของดันบาร์ไม่มาก
ดร. Cameron Marlow พบว่าจำนวนเพื่อนที่มีการติดต่อกันบ่อยๆนั้น มีจำนวนน้อยและค่อนข้างคงที่ โดยเฉลี่ยผู้ชายที่มีเพื่อนราว 120 คนจะมีการตอบต่อสิ่งที่เพื่อนโพสบน Facebook เช่น การคอมเม้นต์ต่างๆ เพียง 7 คน เท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงมีการตอบการโพสของเพื่อนราว 10 คน
กรณีที่ผู้ใช้ Facebook ที่มีเพื่อน 500 คน พบว่าจำนวนการตอบสนองต่อการโพสของเพื่อนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากนัก โดยผู้ชายมีการคอมเม้นต์การโพส ของเพื่อนเพียง 17 คน ขณะที่ผู้หญิงมีตัวเลขอยู่ที่ 26 คน
นอกจากโรบิน ดันบาร์แล้วยังมีผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องของขนาดโครงข่ายทางสังคม (Social network) แต่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีของดันบาร์ เช่น นักมานุษยวิทยาชื่อ Russel Bernard และนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Peter Killworth ได้ทำการศึกษาขนาดของโครงข่ายทางสังคมที่ใช้วิธีที่ต่างออกไปจากดันบาร์โดยพบว่าขนาดของโครงข่ายทางสังคมของมนุษย์นั้นมีตัวเลขเท่ากับ 291 ซึ่งมากกว่าตัวเลขของดันบาร์เกือบเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่เคยเผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Statistical Association ที่อ้างถึงตัวเลขของขนาดโครงข่ายทางสังคมมากถึง 611 คน ซึ่งมากกว่าตัวเลขของดันบาร์ราวสี่เท่า
แม้ว่าการศึกษาเรื่องขนาดของโครงข่ายทางสังคมโดยศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ จะมีผลการศึกษาอื่นๆที่ไม่สอดคล้องกับตัวเลขของดันบาร์ก็ตาม แต่ตัวเลขของดันบาร์ยังคงความ ศักดิ์สิทธิ์และถูกนำไปใช้อ้างอิงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการศึกษาครั้งล่าสุดของดันบาร์ที่ถูกเผยแพร่เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นข้อมูลยืนยันได้ถึงความน่าเชื่อถือทฤษฎีของดันบาร์เกี่ยวกับขนาดของโครงข่ายทางสังคมทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์
หากจำนวนเพื่อนของมนุษย์ขึ้นอยู่กับขนาดความโตของสมองตามการศึกษาของดันบาร์ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีเพื่อนมากมายนับพันนับหมื่นคนตามที่เราเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Line Instagram ฯลฯ เพราะหากเรามีเพื่อนได้จำนวนมากเท่านั้นจริง ขนาดนั้นสมองเราคงต้องใหญ่โตจนประมาณการไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าเราคงไม่ได้เป็นมนุษย์ปกติอย่างที่เห็นกันอยู่เช่นทุกวันนี้
ดังนั้นการเพิ่มเพื่อนจำนวนหลายร้อยหรือหลายพันคนบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จึงไม่ได้มีความหมายใดๆต่อความเป็นเพื่อนเลย แต่มีการเพิ่มเพื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การขายสินค้าหรือบริการ การเรียกร้องความสนใจ ฯลฯ รวมไปถึงการเพิ่มเพื่อนเพื่อการหลวกลวงบนสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากเทคโนโลยีที่ทำให้เรามีรายชื่อคนรู้จักมากขึ้นเท่านั้นเอง
แม้ว่าคำว่า “ เพื่อน” ที่แท้จริงนั้นจะมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวน แต่การหาเพื่อนบนสื่อสังคมออนไลน์ที่มนุษย์พยายามแสวงหากันอยู่นั้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือในโลกเสมือนก็ตาม
ตราบใดที่ยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมาหักล้างตัวเลข จำนวนเพื่อน 150 คนของ ดันบาร์ได้ จำนวนเพื่อนหลายร้อยหลายพันคนบนโลกออนไลน์จึงเป็นได้แค่คนรู้จักผิวเผิน เป็นจำนวนเพื่อนเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นจากอัลกอริทึม ซึ่งเพื่อนเหล่านี้แม้จะมีตัวตน แต่จะไม่มีวันกลายเป็นเพื่อนจริงตามคำจำกัดความของคำว่า “ เพื่อน “ ได้เลย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Friendscircle.co.uk