ปรับมุมมองนิยาม'แรงงาน'ใหม่ เพื่อการต่อรองกับรัฐมากขึ้น
"การเปลี่ยนจากคำว่า 'แรงงาน' มาเป็น คนทำงานซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ในแง่การเคลื่อนไหวทางสังคมว่าเราต้องสร้างพลังให้กับกลุ่มคนที่โดนกดขี่ด้วยการนิยามเขาใหม่"
ทุกปี เมื่อถึงช่วงวันแรงงาน เรามักได้ยินข่าวคราวต่างๆ จากภาคส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงาน ขอขึ้นค่าแรง
แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ จากการได้พูดคุยกับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นคือ เรามองแรงงานอย่างไร นิยามของแรงงานของเราคืออะไร
ศ.ดร.อรรถจักร์ อธิบายว่า เดิมทีเราใช้คำว่าแรงงานในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ เปลี่ยนคำว่า "กรรมกร" ที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่มีนัยต่ำกว่า มาสู่การใช้คำว่า "ผู้ใช้แรงงาน" ในช่วงนี้เองมีการเปลี่ยนแปลงบางประการในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราพบว่า มีผู้อยู่ในระบบการผลิตที่ไม่เป็นทางการ หรือ Informal Sector อยู่ประมาณ 60% ของกำลังแรงงานของประเทศ คนที่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการนี้ เขามีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากผู้ขายแรงงาน แบบเดิมพอประมาณ
ลักษณะของความแตกต่างในด้านหนึ่งที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ ยกตัวอย่างมาคือ พวกเขาเหล่านี้เริ่มสามารถที่จะสะสมทุนในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น สะสมทุนทางสังคม คือ การสร้างเครือข่ายแบบใหม่ เช่น เครือข่ายผู้ค้าขายในตลาดนัด เป็นต้น
“ดังนั้นถ้าหากเรานึกถึงการเปลี่ยนทุน ที่จากเดิมมีแค่แรงงานตอนนี้ทุนก็ของเขาเริ่มมีทุนทางสังคม วัฒนธรรม แต่แน่นอนพวกเขาเหล่านี้ยังคงถูกขูดรีดอยู่ในระบบเศรษฐกิจทั้งหลาย”
คิดว่า เราคงต้องหาทางที่นิยามให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น และการเรียกร้องให้ลองทบทวนประเด็นนี้ก็เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมไทย สามารถที่จะเรียกร้องต่อรองกับรัฐ หรือต่อรองกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้มากขึ้น
การนิยามหรือการเปลี่ยนนิยามจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเฉยๆแต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้สามารถใช้เพื่อการต่อรองกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงสวัสดิการของรัฐที่สมควรจะได้รับด้วย
หาบเร่แผงลอยเอกลักษณ์ของสังคม
กรณีอย่างการห้ามผู้ค้าหาบเร่ แผงลอยที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ มองว่า คือกระบวนการที่ไม่เข้าใจสาระสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยเลย การค้าขายเหล่านี้เติบโตมาราว 50 ปีเมื่อก่อนการกินข้าวนอกบ้านไม่มี แต่เมื่อเริ่มมีแรงงานเหล่านี้ขึ้นมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสังคม สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก
"การประกาศห้าม แล้วเขี่ยคนเหล่านี้ออกไป คือความ บ่องตื้นของผู้มีอำนาจ ที่ไม่เข้าใจหัวใจของเรื่องนี้"
ถ้าหากเรานิยามใหม่ สำหรับกลุ่มแรงงานภาคไม่เป็นทางการ ศ.ดร.อรรถจักร์ บอกว่า เราต้องทำให้เขารู้สึกมีความหมายของระบบเศรษฐกิจ มีความหมายที่สำคัญของการสร้างเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ
“ผมคิดว่าเขาจะไม่ยอมให้ถูกเขี่ยออกจากถนนง่ายๆ มิหนำซ้ำ ยังต้องเรียกร้องพื้นที่รองรับให้คนเหล่านี้ เพราะเราทำรายได้กลับเข้าสังคม พวกเขาไม่ได้ขายแรงงาน แต่ขายทักษะความสามารถในการปรุงอาหารให้อร่อย และอนาคตหากเราสามารถทำได้ เราก็จะค่อยๆ เกลี่ยให้คนเหล่านี้มาอยู่ในระบบได้มากขึ้น”
แรงงานที่อยู่ในระบบล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาแรงงานภาคไม่เป็นทางการเหล่านี้ ศ.ดร.อรรถจักร์ ชี้ว่า หากเราดูรอบนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง พี่น้องที่ขายแรงงานโดยตรง ล้วนเเล้วแต่ต้องพึ่งแรงงานจากภาคไม่เป็นทางการทั้งสิ้น เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 แล้วจะไปกินอาหารที่แพง เขาต้องพึ่งส่วนนี้ และอย่าลืมว่าคนเหล่านี้คือพวกที่หล่อเลี้ยงภาคเป็นทางการ
“เพียงแต่ว่าหากเราสามารถต่อรองให้เขาเป็นแรงงานที่หล่อเลี้ยงประเทศ ผมเชื่อว่ารัฐจะได้เห็นอะไรมากขึ้น ไม่ใช่คิดง่ายว่าอยากทำถนนให้สะอาดเฉยๆ”
การเปลี่ยนจากคำว่า "แรงงาน" มาเป็นคำว่า "คนทำงาน" ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ศ.ดร.อรรถจักร์ กลับชวนวิเคราะห์ในแง่การเคลื่อนไหวทางสังคมว่า เราต้องสร้างพลังให้กับกลุ่มคนที่โดนกดขี่ ด้วยการนิยามเขาใหม่ ไม่งั้น เราจะเคลื่อนไปอย่างลำบากมาก อย่าลืมว่าพวกเขาคือ 60% ของแรงงานในประเทศนี้