หมอแมกไซไซป้อง สปสช.- นักวิจัยชี้รีแบรนด์เก็บ 30บ.ผลักภาระคนจน
เผยผลวิจัยไม่ควรรีแบรนด์เก็บ 30 บาท เพราะเงินน้อยแก้ปัญหาสภาพคล่อง รพ.ไม่ได้ แต่ซ้ำเติมคนจนจริงไม่มีจ่าย ด้าน “นพ.เทอดชัย ชีวเกต” หมอแมกไซไซประกาศตัวช่วยปกป้องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
วันที่ 22 ก.พ.55 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดการแถลงข่าว “ทำไมจึงไม่ควรเก็บ 30 บาท” โดย ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่าจากการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุนขาดสภาพคล่อง
ภญ.อุษาวดี กล่าวอีกว่า สาเหตุหลักที่โรงพยาบาล(รพ.)ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 30-40 % ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งเป็นค่าตอบแทนในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง ซ้ำเติมคนจน และไม่ได้แก้ปัญหาค่าตอบแทนหรือ รพ.ขาดทุน เพราะคิดเป็นเงินราวแค่ 1,900 ล้านบาท ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2550 พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มคนจนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 79 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสดอยู่ที่ 76 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนกลุ่มมีฐานะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 880 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสด 511 บาทต่อคนต่อเดือน
ด้าน น.ส.กชนุช แสงแถลง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าล่าสุดมูลนิธิผู้บริโภคและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพของ กทม.ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในสิทธิบัตรทองถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ระหว่างวันที่ 10-15 ก.พ.55 กระจายตามโซนต่างๆ แบ่งเป็น 48 เขตของ กทม. 589 คน อายุระหว่าง 1-90 ปี พบว่ามีรายได้เฉลี่ย 210 บาทต่อวัน โดยร้อยละ 40.4 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นค้าขาย ทำสวน โดย พบว่าร้อยละ 91.3 เป็นผู้ป่วยนอก ร้อยละ 55 เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังไปรับการรักษาต่อเนื่อง และร้อยละ 49.2 ไปรับบริการที่ รพ.ขนาดใหญ่ สะท้อนถึงอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษา
นอกจากนี้ในการไปรับบริการนั้นพบว่าร้อยละ 47 เดินทางด้วยแท็กซี่ เพราะอาการรุนแรงไม่สามารถเดินทางด้วยรถประจำทางได้ ขณะที่ร้อยละ 38 ต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป และร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาทั้งวัน สูญเสียรายได้ โดยการไปรับบริการแต่ละครั้งเฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ก็ทำให้สูญเสียรายได้ เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป
น.ส.กชนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังสอบถามถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรับบริการต่อครั้ง พบว่าค่าเดินทาง หากเป็นผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 113 บาท ผู้ป่วยใน 157 บาท ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 59 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 101 บาท ค่าขาดรายได้ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 181 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 461 บาท และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการร่วมจ่ายพบว่าร้อยละ 61.5 ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย มีเพียงร้อยละ 24.1 เห็นด้วยเพราะเชื่อว่า รพ.จะบริการดีขึ้น ดังนั้นควรยกเลิกนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เพราะจะเป็นการซ้ำเติมคนจนมากขึ้น
ด้าน รศ.นพ.เทอดชัย ชีวเกต หมอรางวัลแมกไซไซและเลขาธิการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีหนังสือถึงผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แสดงความชื่นชมหนึ่งทศวรรษของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ว่าเป็นความสำเร็จในการต่อสู้ที่จะให้ได้มาซึ่งสิทธิ ความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนที่ยากจนด้อยโอกาส และตนขอช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ ศ.พญ.ภัทรพร อิศรางกูล ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย มีหนังสือลงวันที่ 20 กพ. 55 ให้กำลังใจการทำงานของ สปสช. ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยและประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งได้ดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมทั่วถึง ไม่เป็นภาระกับรัฐบาล
แหล่งข่าวเปิดเผยว่าได้มีการเคลื่อนไหวของนักวิชาการอาวุโสในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งผู้ใหญ่ในสังคมหลายท่านที่แสดงความเป็นห่วงในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องกันมาตั้งแต่นายวิทยา บูรณศิริ มารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กพ.นี้ที่จังหวัดอุดร เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสานตอนบน นำโดย นายสุภร สุภสร และนายฐิติ วุทฒิโกวิทย์ ได้ออกแถลงการณ์ปกป้องระบบ สปสช. และประกาศพร้อมเดินทางไปทำเนียบพบนายกรัฐมนตรีร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาตามภูมิภาคต่างๆ .