ศุภชัย เสนอโมเดลแก้ปัญหาทะเลไทย SE จับมือประมงพื้นบ้าน ตรวจเข้มทำประมงผิดกม.
"ศุภชัย เจียรวนนท์" ยันทางรอดสังคมไทยต้องเร่งพัฒนาผู้นำให้ตระหนักรู้ มีมุมมองของความยั่งยืน ยันเอกชนในอดีตมองมิติเดียว แข่งขัน อยู่รอด เป็นผู้ชนะ วันนี้มองข้ามอุตสาหกรรม คิดถึงชุมชน ประเทศ และระดับโลก ด้านปรีดา เตียสุวรรณ แนะธุรกิจเพื่อสังคม เอกชนต้องจับมือภาคประชาสังคม ไม่ใช่ทำเดี่ยวๆ เชื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิสัมมาชีพ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact network Thailand : GCNT ) ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมจัดสัมมนา “Social Enterprise ( SE ) ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 15 มหาวิทยาลัยรังสิต โดยนายเอกชาติ สมพงษ์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปิดงาน
นายปรีดา เตียสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้าจิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน้าที่ของนักธุรกิจทางเศรษฐศาสตร์ชัดเจนคือการหากำไร เอาทรัพยากรต่างๆในโลกมาใช้ จึงมีอำนาจระดับที่เหนือกว่าสังคม วันนี้มุมองนี้เปลี่ยน นักธุรกิจจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย ขณะที่สหประชาชาติก็ได้พูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ (The Division for Sustainable Development (DSD)) เชิญชวนภาคธุรกิจและภาคสังคมทำอะไรกับโลกใบนี้ เช่น ช่วยเรื่องความยากจน ทำให้เกิดความอยู่ดีกินดี เป็นต้น
นายปรีดา กล่าวว่า กิจกรรรมหนึ่งที่ธุรกิจควรทำคือ Social Enterprise ธุรกิจไหนที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น SE จะเป็นเครื่องมือสำคัญพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษยชน และแก้ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำได้ โดยร่วมมือกับภาคประชาสังคมได้ ไม่ทำแบบเดี่ยวๆ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานเครือข่าย Global Compact Network Thailand (GCNT ) กล่าวถึง Social Enterprise เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกสร้างขึ้นมา หรือยังเป็นปัญหาอยู่ หรือการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ไม่กระจายตัว เหล่านี้เป็นปัญหา เป็นความท้ายทายที่มองเห็น ซึ่งปกติเวลาเราพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะคิดถึงภาครัฐ แต่ระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ ยูเอ็นให้ความสำคัญภาคเอกชนและภาคสังคมมาร่วมกันขับเคลื่อนปัญหาของประเทศและระดับโลก ฉะนั้นการปรับตัวของภาครัฐจึงสำคัญมาก เนื่องจากโลกไม่เคยอยู่นิ่ง หากภาครัฐปรับตัวได้ช้าจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ได้
นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา Social Enterprise จึงแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยุคเศรษฐกิจ 4.0 มีการเชื่อมโยงข้อมูล เทคโนโลยี 5 องค์กรใหญ่สุดในโลกมีอายุไม่เกิน 30 ปี เกิดขึ้นแค่ 1 เจนเนอเรชั่น เช่น แอปเปิ้ล กูเกิ้ล ไมโครซอฟ อเมซอน และเฟชบุค ซึ่งไม่ใช่บริษัทน้ำมัน หรือบริษัทการเงินอีกต่อไปแล้ว เรากำลังอยู่ในยุค Knowledge is power คนเข้าถึงองค์ความรู้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ แข่งขันใหม่ได้ สร้างใหม่ได้
"ยุค 4.0 เราพูดถึงความยั่งยืนด้วย หากกลับมาดูในประเทศไทย เราพูดถึงโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระจายความเจริญ สร้างความเจริญ สร้างอุตสาหกรรม 4.0 เราต้องไป แต่เราลืมไปว่า ประชากรไทย 1 ใน 3 อยู่ภาคเกษตร คนจนส่วนใหญ่อยู่ภาค 3 จังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ ที่มาของความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทางการเมือง และนำมาซึ่งนโยบายประชานิยม" ประธานเครือข่าย GCNT กล่าว และว่า มีโมเดลของยุโรป ที่ทำสหกรณ์ ทำให้ภาคเกษตรกรของยุโรปปรับตัวสู่ยุคเกษตรอุตสาหกรรม สร้างนวัตกรรมมากมายจากสินค้าเกษตร ขณะที่สหรัฐฯ มีเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กรณีของบ้านเรายังเป็นคำถามสหกรณ์จะปรับตัวทันหรือไม่ การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรใหญ่ขึ้น และตอบโจทย์ทางการตลาด ลดความเสี่ยงของเกษตรกร 10-15 ไร่ เจอความเสี่ยงภัยต่างๆ ไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีการบริหารจัดการ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ถูก เกษตรกรเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไร เราจึงต้องมาพูดถึงนิยาม Social Enterprise สำหรับชุมชนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในประเทศไทย
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า องค์กรขนาดใหญ่ เช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานกว่า 3 แสนคนระดับต้นๆ ของโลก ทุกวันนี้เวลาตื่นเช้ามาจึงต้องคิดว่า เราจะแข่งขัน อยู่รอด ปรับตัว และก้าวสู่ยุคทำค้นคว้าวิจัยระดับโลกได้อย่างไร เราแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติทั้งนั้น
“ ผมยอมรับว่า เอกชนในอดีตมองมิติเดียวของอุตสาหกรรม ทำอย่างไรแข่งขันอยู่รอดเป็นผู้ชนะในที่สุด มิติให้มองข้ามอุตสาหกรรม มองถึงชุมชน ประเทศ และระดับโลก มิติที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ผมคิดว่า จำเป็นต้องพัฒนาผู้นำให้ตระหนักรู้ ไม่ว่าธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก มีมุมมองของความยั่งยืน นี่จึงจะเป็นทางรอดสังคมไทย”
ประธานเครือข่าย GCNT กล่าวตอนท้ายถึงการทำประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (Overfishing) ด้วยว่า ทะเลไทยน่านน้ำมีเท่านี้ แต่จำนวนเรือมี 3-4 เท่า ทะเบียนใบเดียวมีเรือ 4 ลำ จนกระทั่งมีเรื่องแรงงานทาส ต่อมาภาครัฐแม้จะบังคับให้มีการติดตั้งระบบติดตามเรือที่ประมง (Vessel Monitoring System:VMS) แต่ IUU ก็ยังไม่ให้ผ่าน เพราะเราขาดการติดตามตรวจสอบ ถามว่า ใครหรือธุรกิจไหนจะกล้าตั้ง Social Enterprise มาแก้ปัญหาเรื่องนี้ แล้วเราจะสร้างโมเดลของรายได้ได้อย่างไรบ้าง ทางหนึ่งอาจให้เป็นหน้าที่ของประมงพื้นบ้านก็เป็นได้ หรืออาจต้องมีองค์กรขึ้นมาตรวจสอบทำงานนี้โดยเฉพาะ
|
ขณะที่นายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ( กป.พอช.) กล่าวว่า เรามีโลกใบนี้ใบเดียว ใบกลมๆ ที่เรานั่งอยู่มีใบเดียว หากทิศทางการพัฒนาประเทศยังเป็นแบบนี้ เราต้องหาโลกอย่างน้อย 5 ใบถึงจะพอ และถ้าเรายังปล่อยให้ทิศทางการพัฒนาประเทศยังเป็นแบบนี้ ไม่พอ ทรัพยากรบนโลกไม่มีทางพอ ฉะนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือความพยายามตั้ง Global Compact ขึ้นมา พบว่า เกินครึ่งเป็นบริษัทที่ทะเลาะกับองค์กรพัฒนาเอกชน แม้พยายามแก้ปัญหา แต่พอลงไปดูเนื้อในรายละเอียด ความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำก็เกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านี้
"วันนี้เราต้องมาถกกันว่า การดำเนินธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล คุณต้องฟังกลุ่มคนอื่นนอกจากผู้ถือหุ้นด้วย"
นายบรรจง กล่าวถึงการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่วันนี้ทะเลไทย ยังมีเรือปั่นไฟเป็นพันๆ ลำ ซึ่งเราต้องอยู่กับความเป็นจริง "ผมไปดูตัวเลขพอ CPF ประกาศหยุดเลิกใช้ปลาป่นทำอาหารสัตว์ (by catch) ปี 2557 ทำไมตัวเลขส่งออกปลาป่นยังเท่าเดิม ทะเลไทยยังถูกทำลายเหมือนเดิม โจทย์คือภาคธุรกิจที่ออกมาจะรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ต้องกดดันรัฐบาลด้วย"