กฎหมายควบคุมสื่อ: สิ่งชั่วร้ายที่ไม่จำเป็น
"...ยิ่งเอาคนที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องสื่อ (ฉาบฉวย?) แถมคุ้นเคยกับวัฒนธรรมสั่งซ้ายขวาหัน มานั่งหัวโต๊ะ อุปมาคนเป็นโรคเจ็บป่วยใกล้ตาย ไปเอาหมอทำคลอดมาผ่าตัด หรือ จะตัดชุดใหม่ แต่ดันไปให้ช่างซ่อมรองเท้ามาตัดเสื้อให้ (มีคุณค่าคนละแบบ) จึงดูผิดทิศผิดทาง ผิดฝาผิดตัว ผิดรูปผิดรอย ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมเข้าไปอีก.."
ปฏิรูปสื่อเป็นประเด็นที่พูดกันมานานและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อ สปท. สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการด้วย มีอำนาจออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุก ขณะที่องค์กรสื่อเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเปิดช่องทางให้รัฐยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นการออกใบอนุญาตถูกมองว่าเป็นการตีทะเบียนกดหัวสื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่ในขณะนี้
รู้สึกกระดากที่ต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพของตนเอง แต่เมื่อดูเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้และข้อมูลการชี้แจงของ สปท. เหมือนยังไม่ตกผลึก สะเปะสะปะ แม้กระทั่งนิยาม ‘สื่อ’ ไปกวาดต้อนเหมารวมเอาทั้งหมด แท้ที่จริงการทำหน้าที่ของสื่อบางประเภทเป็นกลไกเชิงตรวจสอบจากภาคประชาสังคมด้วยซ้ำ
เห็นว่า ถ้าโจทย์หรือปัญหาของสื่อ เกิดจากสื่อเทียม สื่อการเมือง ปลุกปั่นยุยงก่อให้เกิดความเกลียดชัดของคนในสังคมตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร แนวทางแก้ไขก็ต้องใช้มาตรการหนึ่ง ซึ่งรัฐมีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่แล้วในการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน
ถ้าปัญหาของสื่อ เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ (สื่อโซเซียล) หรือขยะโซเซียลบางชิ้นบางอัน แนวทางการแก้ไขปัญหาอาจเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐและหรือผู้ที่ได้รับกระทบก็มีกลไกเครื่องไม้เครื่องมือทางกฎหมายอยู่แล้วเช่นกัน
ถ้าปัญหาของสื่อเกิดจากสื่ออาชีพ แนวทางการแก้ไขอาจใช้อีกรูปแบบหนึ่ง
ผู้เขียนขอหยิบยกเฉพาะประเด็นหลังซึ่งดูเหมือนจะตกเป็นเป้าที่จะถูกเข้ามาจัดระเบียบเสียมากกว่า
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสื่อก็มีปัญหาในตัวเองจึงเปิดช่องให้อำนาจรัฐยื่นมือเข้ามาจัดการ
1.ถ้าโจทย์ของสื่อคือ ‘คุณภาพ’ ทำหน้าที่ไม่ดีพอ ถ้าคุณภาพเกิดจากตัวสื่อ (นักข่าว) ในส่วนนี้องค์กรต้นสังกัด และองค์กรวิชาชีพ เป็นผู้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา บางคนอาจโต้แย้งว่าที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพล้มเหลว ทำอะไรไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูเหตุของปัญหาว่าเกิดจากคนหรือองค์กร ในระยะหลังองค์กรวิชาชีพพยายามเข้าไปมีบทบาทในแก้ไขปัญหาพอสมควร ช่วยฝึกทักษะการนำเสนอข่าวในเชิงสืบสวน ยกระดับการทำงานให้สูงขึ้น ค่อยๆพัฒนาให้เกิดความเข็มแข็ง ซึ่งก็คงเหมือนกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเรา ไม่ให้เกิดรัฐประหารในวันข้างหน้า หรือการปราบคอร์รัปชั่นที่รัฐพยายามทำอยู่นั่นแหละ จะให้หมดในวันเดียวคงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องสื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สื่อเรียกรับผลประโยชน์ ยังคงมีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะกลไลการตรวจสอบจากภาคสังคมเข็มแข็งขึ้นโดยเฉพาะภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการกำกับการทำหน้าที่ของสื่อในส่วนนี้
2. ถ้าคุณภาพของสื่อเกิดจากความเป็นเจ้าของกลุ่มทุน (OWNERSHIP) ครอบงำการทำหน้าที่ของสื่อ (นักข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ คอลัมนิสต์) แนวทางการแก้ปัญหาก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง หากแนวทางของกลุ่มทุนขัดต่ออุดมการณ์ นักข่าวก็ไม่จำเป็นต้องก้มหัวสังกัดองค์กร ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐ (หมายรวมรัฐวิสาหกิจ) หรือเอกชน ต้องเลิกระบบอุปถัมภ์ทุ่มเม็ดเงินโฆษณาสนับสนุนอย่างไร้เหตุผล สุดท้ายสื่อกลุ่มทุนก็อยู่ไม่ได้ ต้องปรับตัวเองให้หันกลับทำหน้าที่อย่างมืออาชีพมากขึ้นก็ต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาสาเหตุหนึ่งที่สื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากระบบอุปถัมป์โดยรัฐหรืออำนาจรัฐเองนั่นแหละ
3.ในข้อเท็จจริงการทำหน้าที่ของสื่อถูกควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดทางแพ่ง อื่นๆ ในกรณีที่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะจะถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม (ความพร้อมรับผิด) โดยมีจริยธรรมซึ่งเป็นหลักใหญ่กำกับอีกทอด (บางกรณีสื่อเองก็ถูกคุกคามโดยกฎหมาย-ฟ้องปิดปาก)
4.การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่ใช่เครื่องการันตีความมีคุณภาพหรือทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง กล้าเปิดโปงความฉ้อฉลของหน่วยงานรัฐและหรือผู้มีอำนาจรัฐ แต่ทว่าจะทำให้สื่อในประเทศนี้กลายเป็นสื่อของรัฐโดยปริยาย (มีคนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการ) จะเกิดความกริ่งเกรงใจ การทำหน้าที่โดยอิสระเพื่อประโยชน์สาธารณะจะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าแทบไม่เคยเห็นสื่อที่อยู่ในโอวาทของรัฐ (ภายใต้กำกับของรัฐ) กล้าเปิดโปงความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจระดับสูงอย่างตรงไปตรงมา เมื่อสื่อทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเต็มที่ไม่ได้ สังคมก็อ่อนแอ ประเทศก็ไม่พัฒนา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ไร้ความหมาย ไม่ต่างจากกระดาษชำระ
หากยึดหลักของการทำหน้าที่อย่างอิสระ (หลักสากล) การออกใบอนุญาต นอกจากไม่ตอบโจทย์ จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่ายุคไดโนเสาร์เป็นตราติดตัวชั่วลูกชั่วหลาน
ในบางประเทศ เช่น สหรัฐ ไม่มีสื่อของรัฐ ไม่มีทีวี วิทยุ ของรัฐบาล มี VOA แต่ก็ออกอากาศในประเทศไม่ได้ หนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นกว่าพันหัว ไม่รวมสื่อออนไลน์ สภาคองเกรสไม่เคยผ่านกฎหมายใดมาควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพ พลเมืองทุกคนเป็นสื่อได้หมด ไม่มีใบอนุญาต แต่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายและจริยธรรม
เห็นว่าการจะปฎิรูปสื่อ ต้องกำหนดประเด็นปัญหา นิยามให้ชัด ต้องแสวงหาความแนวทางความร่วมมือ ความเข้าใจร่วมกันระหว่างสื่อ รัฐ ประชาชน (องค์กรทางสังคม) ประการสำคัญสื่อต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแก้ไขกันเอง ไม่ใช่รัฐยื่นจมูกเข้ามาบงการ หรือเป็นเพียงแค่หน่วยงานสนับสนุน
ในทางกลับกันรัฐสามารถสนับสนุนสื่อให้ทำงานอย่างมีคุณภาพมากขึ้นได้ด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น เปิดเผยข้อมูลการดำเนินนโยบาย และการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาธารณะ ซึ่งบางเรื่องรัฐยังปกปิดข้อมูลด้วยซ้ำ ไม่ข่มขู่คุกคาม กลไกการตรวจสอบควบคุมสื่อที่ดีที่สุดคือกลไกทางสังคม
ยิ่งเอาคนที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องสื่อ (ฉาบฉวย?) แถมคุ้นเคยกับวัฒนธรรมสั่งซ้ายขวาหัน มานั่งหัวโต๊ะ อุปมาคนเป็นโรคเจ็บป่วยใกล้ตาย ไปเอาหมอทำคลอดมาผ่าตัด หรือ จะตัดชุดใหม่ แต่ดันไปให้ช่างซ่อมรองเท้ามาตัดเสื้อให้ (มีคุณค่าคนละแบบ) จึงดูผิดทิศผิดทาง ผิดฝาผิดตัว ผิดรูปผิดรอย ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมเข้าไปอีก
ฉะนั้นกรอบคิดเรื่องปฏิรูปสื่อโดยการออกกฎหมายควบคุมมี‘คนของรัฐ’เข้ามาเป็นกรรมการภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่น่าจะตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพสื่อ จะนำมาซึ่งปัญหา มิหนำซ้ำยังชี้ให้เห็นว่ารัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ
เราอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ในสายตาของผู้มีอำนาจรัฐ (นักการเมือง) สื่อถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นปีศาจ แต่เป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น” เพราะสื่อทำหน้าที่เปิดโปงผู้มีอำนาจรัฐที่ชั่วร้าย
การออกกฎหมายควบคุมสื่อคือ การกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่ไม่จำเป็น ใช่ไหมครับ?