สำนักนายกฯสั่งคุมเข้มนำ'รถส่วนกลาง' ใช้'ประจำตำแหน่ง'หลัง ป.ป.ช.จี้ฟันวินัยร้ายแรง
//ลังมีผู้ร้อง ป.ป.ช.ชการารเป็นปโดยเคร่งครัดต่อไปสำนักนายกฯ ขอความร่วมมือส่วนราชการกำกับดูแล-ควบคุม-ตรวจสอบการใช้ ‘รถส่วนกลาง’ หลัง ‘ป.ป.ช.’ รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน ขรก. บางหน่วยงานนำไปใช้เสมือนเป็น ‘รถประจำตำแหน่ง’ อีกทั้ง เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุชัดให้ถือว่า ผิดวินัยร้ายแรง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อสังเกตการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง หลังได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนว่า ข้าราชการบางหน่วยงาน ซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งที่ราชการจัดรถประจำตำแหน่งให้ ได้นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นจำนวนมาก และเห็นควรให้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบว่า ข้าราชการผู้ใดที่มิได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่งจะนำรถส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่งมิได้ ข้าราชการผู้ใดกระทำการดังกล่าวให้ถือว่า มีความผิดวินัยร้ายแรงด้วย จึงขอแจ้งมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถส่วนกลาง ถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการรถราชการพิจารณาแล้ว ดังนั้น สำนักนายกฯ จึงขอความร่วมมือให้ส่วนราชการต่าง ๆ กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบการใช้รถส่วนกลางที่อยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้การใช้รถส่วนกลางของส่วนราชการเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบฯ โดยให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
1.กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบการใช้รถส่วนกลางที่อยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบ ให้นำไปใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วยรวมของส่วนราชการ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการเจ้าของรถนั้นกำหนดขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้มีข้าราชการในสังกัดที่มิได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่งนำรถส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง
2.ตรวจสอบใบอนุญาตขอใช้รถส่วนกลางตามแบบ 3 ท้ายระเบียบฯ โดยเปรียบเทียบกับหลักฐานการใช้รถส่วนกลางตามแบบ 4 ท้ายระเบียบฯ ว่าพนักงานขับรถได้ลงรายการตามความเป็นจริงหรือไม่ และถูกต้องตรงตามหลักฐานการเบิกจ่ายค่าเชื้อเพลิงของรถส่วนกลางหรือไม่ เพื่อเป็นหลักฐานการนำรถส่วนกลางไปใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของราชการ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการเจ้าของรถกำหนดขึน
3.ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่า มีข้าราชการรายใดที่มิได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่ง นำรถส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง ให้หัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการรายนั้น และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
4.ในการขออนุญาตนำรถส่วนกลางไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราวอันเนื่องมาจากส่วนราชการไม่มีสถานที่เก็บรักษาให้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษารถส่วนกลางจัดทำรายงานการขออนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดของสถานที่ที่จะนำไปเก็บรักษา ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีความปลอดภัยเพียงพอ เสนอประกอบการพิจารณาของผู้อำนาจอนุญาตด้วยทุกครั้ง และเมื่อได้รับอนุญาตดังกล่าวแล้ว ให้ส่วนราชการรายงานผู้รักษาการตามระเบียบฯ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทราบด้วยตามนัยระเบียบฯ ข้อ 16 ทวิ
5.กรณีที่รถส่วนกลางคันใด ได้รับอนุมัติยกเว้นการมีตราเครื่องหมายและอักษรชื่อแสดงสังกัดของส่วนราชการไว้ที่ด้านนอกรถ หรือได้รับอนุญาตให้นำไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากส่วนราชการไม่มีที่เก็บรักษาปลอดภัยเพียงพอ ส่วนราชการต่าง ๆ สมควรพิจารณาทบทวนเหตุผลและความจำเป็นของการอนุมัติหรืออนุญาตดังกล่าวในช่วงเวลาอันเหมาะสมอยู่เสมอ เช่น อย่างน้อยปีละครั้ง ภายในวันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี เพื่อป้องกันมิให้มีการนำรถส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของรถส่วนกลางอันเป็นเท็จอีกทางหนึ่ง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้คณะกรรมการรถราชการเพื่อทราบด้วย
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “รถประจำตำแหน่ง” หมายความว่า รถยนต์ที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ และข้อ 6 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้ข้าราชการที่ทางราชการจัดรถประจำตำแหน่งให้ ได้แก่ ข้าราชการซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นตำแหน่งบังคับบัญชาตั้งแต่ระดับ ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าส่วนราชการขึ้นไป ฯลฯ
และข้อ 4 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “รถส่วนกลาง” หมายความว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จัดไว้และใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของส่วนราชการ และข้อ 13 วรรคสอง กำหนดให้ใช้รถส่วนกลางเพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของราชการ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการเจ้าของรถนั้นกำหนดขึ้น ซึ่งในหลักการของระเบียบฯ ได้จำแนกประเภทรถราชการออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รถประจำตำแหน่ง รถส่วนกลาง ฯลฯ รวมทั้งได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้รถราชการ และการเบิกจ่ายค่าเชื้อเพลิงของรถแต่ละประเภทไว้ เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ในบังคับระเบียบฯ ถือปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามประเภทและวัตถุประสงค์ของการใช้รถราชการ