ผลสำรวจพบ จนท.ควบคุมยาสูบเข้าใจกม.ใหม่46.9% เร่งพัฒนาก่อนบังคับใช้กลางปีนี้
ผลการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบของพนักงานเจ้าหน้าที่ พบ46.9% มีความรู้ด้านกฎหมายใหม่ นักวิชาการ แนะเร่งพัฒนาศักยภาพเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาก่อนบังคับใช้ในกลางปีนี้
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 นางสาวธิติมา พรสรายุทธ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กองแผนงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ปีพ.ศ. 2558 พบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ร้อยละ 52.2 ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายครบทุกขั้นตอน ร้อยละ 46.9 มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมยาสูบและบทบาทหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในระดับสูง และร้อยละ 42.5 มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบได้ในระดับปานกลาง ซึ่งปัจจัยความร่วมมือระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่กับเครือข่ายควบคุมยาสูบมีผลกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างมีนัยสำคัญ
นางสาวธิติมา กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวทำขึ้นเพื่อทราบถึงสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบและปัจจัยอะไรที่มีผลกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 147 คน คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมยาสูบ ในหน่วยงานระดับภูมิภาค ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย ในสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 รวมทั้งสิ้น 20 คน และหน่วยงานระดับจังหวัด ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายฯ ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 127 คน
ด้าน ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ซึ่งก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการพัฒนาสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายควบคุมยาสูบ โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในการนำความรู้สู่การปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่กับเครือข่ายควบคุมยาสูบอย่างเป็นรูปธรรมมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ให้มีการพัฒนาศักยภาพพนักงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง 2) จัดทำเอกสารสรุปข้อกฎหมายและบทลงโทษที่สะดวกในการพกพาขณะออกปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย 3) ทุกพื้นที่จัดตั้งทีมบังคับใช้กฎหมายที่มีองค์ประกอบของเครือข่ายควบคุมยาสูบทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมด้วย เช่น ตำรวจ สรรพสามิต เจ้าพนักงานปกครอง เป็นต้น และ 4) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ให้ความรู้ด้านข้อห้ามต่างๆและผลเสียของการละเมิดกฎหมายกับชุมชนเพื่อร่วมสร้างมาตรการชุมชนเฝ้าระวังไม่ให้มีการละเมิดกฎหมายอีกทางหนึ่ง