เรือดำน้ำจีนวุ่น ครม.ผูกพันงบส่อขัดกฎหมาย!
- "ทั้งหมด 36,000 ล้านบาท ในจำนวน 3 ลำ ส่วนรายละเอียดจะแบ่งจ่ายอย่างไร สื่อไม่จำเป็นต้องรู้ เอาเป็นว่าใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี เป็นการทยอยจ่าย"
นี่คือคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้สัมภาษณ์สื่อแบบยาวๆ หลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับการ "อนุมัติเงียบ" ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ซึ่งกำลังมีเสียงท้วงติงตามมา
เพราะการไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยอ้างสถานะ "เอกสารลับ" ทำให้เกิดความสับสน และไม่แน่ชัดว่าความจริงคืออะไรกันแน่
เนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 ตามที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายกับสื่อ คือการผูกพันงบประมาณข้ามปีเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก วงเงิน 13,500 ล้านบาทเท่านั้น
แล้วงบประมาณรวม 36,000 ล้านบาท จัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ ผูกพันงบประมาณข้ามปี 11 ปีที่ พล.อ.ประวิตร พูด ตกลงผ่านครม.หรือยัง เพราะถ้าผ่าน เหตุใดอีกช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร กลับบอกว่า ซื้อลำแรกก่อน ส่วนลำที่ 2 และ 3 ขึ้นอยู่กับรัฐบาลในอนาคต หากไม่อนุมัติให้จัดซื้อต่อ กองทัพเรือก็จะนำงบประมาณไปทำอย่างอื่น...นี่คือข้อสงสัยประการแรก
ส่วนประเด็นท้วงติงที่สืบเนื่องจากข้อสงสัยว่าผูกพันงบประมาณข้ามปีเท่าไรกันแน่ มีความเห็นจาก ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง ระบุ ว่า มติครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 ที่เห็นชอบผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ไม่ว่าจะลำแรก หรือทั้ง 3 ลำก็ตาม น่าจะขัดหรื่อแย้งกับมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ที่เขียนเอาไว้แบบนี้
"เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่ายซึ่งจะต้องก่อหนี้ผูกพันและวงเงินที่คาดว่าจะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไป พร้อมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"
อาจารย์ปรีชา บอกว่า หลักเกณฑ์ในการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี กฎหมายกำหนดให้มีเงื่อนเวลาจำกัด คือต้องก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วันหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ กรณีงบปี 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.59 ครม.ก็ต้องอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 1 ต.ค.59
ฉะนั้นการที่ ครม.มาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีในโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในวันที่ 18 เม.ย. จึงทำไม่ได้แล้ว เพราะล่วงเลยระยะเวลา 60 วัน มติ ครม.นี้จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หรือตกเป็นโมฆะ
สำหรับสาเหตุที่กฎหมายวิธีการงบประมาณต้องวางหลักการเอาไว้แบบนี้ ก็เพราะการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ มีโครงการของทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งจะเขียนไว้ในเอกสารงบประมาณว่าเป็นงบผูกพันข้ามปีตามมาตรา 23 (พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ) จึงมีรายการที่ต้องอนุมัติจำนวนมาก จำเป็นต้องรีบทำตั้งแต่ต้น คือหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน เมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว หัวหน้าส่วนราชการก็จะไปดำเนินการก่อหนี้ผูกพันต่อไป กรณีของเรือดำน้ำ ผู้บัญชาการทหารเรือก็จะต้องไปทำสัญญาก่อหนี้ผูกพัน
"งบผูกพันข้ามปี จะต้องตั้งวงเงินรองรับไว้เป็นปีๆ จึงต้องเร่งทำ และแต่ละปีจะมีวงเงินกำกับไว้ทั้งหมด สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เอกสารงบประมาณระบุชัดว่าจะผูกพันงบประมาณข้ามปี 6 ปีงบประมาณ คือผูกพันถึงปี 2566 ฉะนั้นจึงไม่ตรงกับที่ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ว่าจะผูกพันถึง 11 ปีงบประมาณ" อาจารย์ปรีชา ระบุ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 เห็นชอบให้ผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำแรก 13,500 ล้านบาท โดยเป็นการผูกพันงบประมาณข้ามปี รวม 6 ปีงบประมาณ (2561-2566)
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นเอกสารราชการ ที่ระบุถึง "โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ" ในส่วนของกองทัพเรือ พบว่า โครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 6 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 16,709,600,000 บาท
ปี 2560 ตั้งงบประมาณ 1,341,920,000 บาท
ปี 2561 ผูกพันงบประมาณ 2,443,840,000 บาท
ปี 2562 ผูกพันงบประมาณ 4,798,840,000 บาท
ปี 2563-2566 ผูกพันงบประมาณ 8,125,000,000 บาท
พิจารณาจากตัวเลขในเอกสารงบประมาณแล้ว ความน่าจะเป็นของการผูกพันงบประมาณข้ามปีในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน คือก่อหนี้ผูกพันซื้อเรือลำแรกก่อนเท่านั้น แต่การผูกพันงบประมาณข้ามปีโดยมติ ครม. ก็ยังขัดต่อกฎหมายวิธีการงบประมาณ เพราะล่วงเลยเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด
งานนี้มติครม.อาจถึงขั้นเป็นโมฆะ!