ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการประจำการเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย
การจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย เป็นประเด็นสำคัญที่มีการโต้แย้งอย่างกว้างขวางทั้งในด้านการทหาร เทคโนโลยี และสื่อสังคม เกี่ยวกับความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการมีเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย นับตั้งแต่กองทัพเรือไทยเริ่มมีการพัฒนาให้ทันสมัย เพื่อต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม ไทยเป็นประเทศแรกๆของเอเชียที่นำเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ใน พ.ศ.2454 ไล่เลี่ยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความสนใจในเรือดำน้ำตั้งแต่ พ.ศ.2440 และมีเรือดำน้ำประจำการครั้งแรกใน พ.ศ.2448 ขณะที่ชาติอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าวประสบปัญหาถูกควบคุมจากชาติมหาอำนาจ และหลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงสร้างชาติใหม่ภายหลังการเป็นอิสระ ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ผลิตเรือดำน้ำและสร้างกองเรือดำน้ำที่เข้มแข็งทักเทียมชาติตะวันตก ในขณะที่ประเทศไทย มีเรือดำน้ำประจำการครั้งแรก ใน พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม ทั้งสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่สอง
ในปัจจุบัน เวลาผ่านไปนานกว่า 80 ปี คนไทยส่วนใหญ่จะลืมเลือนไปแล้วว่าเรือดำน้ำไทยในอดีต ได้สร้างวีรกรรมในการปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างไรบ้าง ปัจจุบัน กองทัพเรือประสบความสำเร็จขั้นต้นในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำอีกครั้ง บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการประจำการเรือดำน้ำ จากมุมมองประชาชน ถึงบทบาทสำคัญของเรือดำน้ำในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงของชาติทางทะเล และความมั่นคงของชาติโดยรวม
แม้ว่า โดยหลักการแล้วโครงการจัดหาอาวุธของกองทัพ เป็นงานทางด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักนิยมในการจัดกำลังรบ และการวางยุทธศาสตร์ของชาติเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับฉันทามติของคนหมู่มากในสังคม หรือประชานิยม เหมือนโครงการด้านการเมืองอื่นๆ และกองทัพเรือมีลักษณะพิเศษ คือ แม้พื้นที่ปฏิบัติการหลักจะอยู่ในทะเล ลำน้ำ และพื้นที่ชายฝั่ง แต่กำลังอาวุธจะต้องสามารถปกป้องการรุกรานดินแดนในอาณาเขต ทั้ง 3 มิติ คือ เหนือน้ำ ในน้ำ (ทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ) และบนบกซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากชายฝั่งทะเล เข้าไปในแผ่นดิน
แต่คนทั่วไปกลับเข้าใจผิดๆ ว่า กองทัพเรือมีเพียงเรือรบผิวน้ำก็เพียงพอต่อภารกิจทั้งหมดแล้ว โดยไม่มีความเข้าใจว่าเรือผิวน้ำไม่มีศักยภาพดีพอในการค้นหาและทำลายศตรูจากใต้น้ำ แต่เป็นหน้าที่หลักของยานใต้น้ำ เช่น เรือดำน้ำในการปฏิบัติภารกิจนี้ และเมื่อโครงการจัดหาเรือดำน้ำเผยแพร่สู่สาธารณชน ประสบความขัดแย้งทางด้านความคิดของคนหลายกลุ่มซึ่งความขัดแย้งนี้ แม้จะไม่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจอนุมัติโครงการของรัฐบาลใดๆ แต่อาจส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อการทำงานทางด้านความมั่นคงของกองทัพเรือ และความเชื่อมั่นในการทำงานของกำลังพลเรือดำน้ำ บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความคุ้มค่าในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย รวมไปถึงหลักฐานขัดแย้งในสังคมเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยที่ควรพิจารณา
ปัญหาในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการของกองทัพเรือไทย: การปฏิรูปประเทศของไทย เกิดขึ้นชัดเจนครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากการที่ไทยประสบภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคมอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ในทางการทหาร มีการปฏิรูปโครงสร้างและพัฒนากำลังรบของไทยตามแบบตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงราชนาวีไทยที่เริ่มมีการพัฒนาตามแบบตะวันตกอย่างชัดเจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มด้วย ใน พ.ศ. 2415 มีการปรับปรุงหน่วยทหารเป็น ระบบจตุสดมภ์ ซึ่งมี กรมอรสุมพล (ทหารเรือ) สังกัด และใน พ.ศ. 2430 เปลี่ยนเป็นกรมยุทธนาธิการ ประกอบด้วย กองทหารบก และกองทหารเรือ ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่ไทยต้องเผชิญการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มใน พ.ศ.2431 (ร.ศ.107) และ พ.ศ.2436 (กรณี ร.ศ.112) ซึ่งทำให้ไทยเสียดินแดนมากที่สุด โดยเฉพาะในฝั่งลาว และเมืองท่ายุทธศาสตร์สำคัญของฝั่งทะเลอ่าวไทย คือ จันทบุรี ถูกฝรั่งเศสยึดไว้นานถึง 10 ปี ทำให้ทรงเร่งปฏิรูปบ้านเมืองเพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ
แนวคิดในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย เกิดอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2453 ปีเดียวกับที่กรมทหารเรือ ได้เลื่อนฐานะเป็นกระทรวงการทหารเรือ จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนากองทัพเรือให้ทันสมัย (modernization) ทัดเทียมอารยประเทศ ในทางด้านการพัฒนากำลังรบทางเรือ ได้มีการบรรจุเรือดำน้ำไว้ด้วย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นการพัฒนากองทัพเรือตามแบบตะวันตก ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยและมองการณ์ไกล เนื่องจากในช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม โครงการจัดหาเรือดำน้ำ กลับพบข้อโต้แย้ง พลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช (2546: 128 - 133) ได้ให้ข้อมูลการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือต่อรัฐบาล ดังนี้
1. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อรัฐบาล จำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย
1.1 ใน วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2453 มีการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือไทยเป็นครั้งแรก โดยพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระยศในขณะนั้น) นายพลเรือตรีพระเจ้าน้องยาเธอ กมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (พระยศในขณะนั้น) และนายพลเรือตรีพระราชวังสัน ได้จัดทำโครงการจัดสรรกำลังทางเรือ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์พินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโครงการกำหนดให้มีเรือ ส. (หรือเรือดำน้ำ) จำนวน 6 ลำ และอธิบายความหมายว่า คือเรือดำน้ำที่ใช้ลอบทำลายเรือใหญ่ของข้าศึก โดยระบุว่า เป็นเรือที่เมืองไทยยังไม่เคยมี แต่ต่อไปจะต้องใช้ในการสงครามเป็นมั่นคง ซึ่งในเวลานั้น (พ.ศ.2453) กองทัพเรือชาติมหาอำนาจต่างๆเริ่มสร้างและประจำการเรือดำน้ำสมัยใหม่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีเรือดำน้ำเบนซิน – ไฟฟ้า และดีเซลไฟฟ้า ประจำการประมาณ 18 ลำ อังกฤษมีเรือดำน้ำเบนซิน – ไฟฟ้า และดีเซลไฟฟ้า ประจำการประมาณ 60 ลำ (ประกอบด้วยเรือดำน้ำ ชั้น A – Adder Class สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา เรือดำน้ำชั้น A, B, C Class ซึ่งต่อเองในประเทศ) ประเทศเยอรมัน แม้จะเริ่มต่อเรือดำน้ำในประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2446 โดยบริษัท Germania แต่เพื่อส่งออกให้กับประเทศรัสเซีย กองทัพเรือเยอรมันประจำการเรือดำน้ำลำแรก U-2 ในพ.ศ. 2451 ช้ากว่าอังกฤษและอเมริกาหลายปี ใน พ.ศ.2453 เยอรมันมีเรือดำน้ำประจำการ 14 ลำ โดย 11 ลำสร้างในปีนั้นเอง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มต้นผลิตเรือดำน้ำเพื่อใช้ทำสงคราม (Submarine Warfare) จำนวนมาก ในแถบเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ประจำการเรือดำน้ำสมัยใหม่ โดยใน พ.ศ.2453 ญี่ปุ่นมีเรือดำน้ำประจำการ 5 ลำ (ประกอบด้วย No.1 เรือดำน้ำลำแรกของประเทศ ชั้น A – Adder Class สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2448 เรือดำน้ำ Kaigun Class เรือดำน้ำชั้นแรกที่ญี่ปุ่นต่อเองในประเทศที่อู่ต่อเรือคาวาซากิ ตามแบบเรือดำน้ำ Holland Type ภายใต้การดูแลของบริษัท Electric Boat สหรัฐอเมริกา เจ้าของลิขสิทธิ์ และ เรือดำน้ำ No.8 – 9 ชั้น C Class จากประเทศอังกฤษ) (David Millier, 2004 และ Paul E. Fontenoy, 2007)
นอกจากนี้ เรือดำน้ำเริ่มมีบทบาทในสงครามทางเรือต่างๆชัดเจน เช่น ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก กองทัพเรือรัสเซียส่งกลุ่มเรือดำน้ำร่วมรบในสงครามรัสเซีย – ญี่ปุ่น พ.ศ.2448 – 2449 ซึงสองลำในกลุ่ม คือ เรือดำน้ำ Som และ Shchuka ที่สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา และหลังจากการเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งแรกของประเทศไทย เพียง 4 ปี สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในภาคพื้นยุโรป เยอรมันซึ่งเป็นคู่สงครามของอังกฤษส่งเรือดำน้ำออกปฏิบัติการขัดขวางเส้นทางเดินเรือในบริเวณช่องแคบอังกฤษ และทำลายเรือโดยสารและเรือสินค้าของประเทศอังกฤษและพันธมิตรหลายลำ รวมถึงเรือโดยสารลูซิเทเนีย ใน พ.ศ. 2458 ส่งผลให้อเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คำทำนายที่เป็นจริงนี้ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
1.2 ใน พ.ศ. 2454 น.อ. J.Schneidler ที่ปรึกษาการทหารเรือ เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ ซึ่งรวมถึงเรือดำน้ำ และระบุว่า เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพฯ (เทียบจากกรณีฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาและยิงกระสุนใส่พระนคร ร.ศ.112) แต่มีปัญหาที่ผ่านสันดอนปากแม่น้ำลำบาก เห็นควรจัดหาประจำที่จันทบุรี จำนวน 8 ลำ (เมืองท่ายุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งฝรั่งเศสเคยยึดไว้)
1.3 ใน พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งดำรงพระอิศริยยศ นายเรือโทสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับกำลังเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ละเอียดสมบูรณ์มาก ประกอบด้วย
1. เรือดำน้ำ รวมขนาด คุณสมบัติของเรือดำน้ำที่เหมาะสมกับกองทัพเรือไทย
2. เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ
3. อู่เรือดำน้ำ
4. โรงงานซ่อมสร้างเรือดำน้ำ
และ 5.กำลังพลประจำเรือ เช่น การศึกษา การฝึก สวัสดิการ การปกครอง
ในส่วนของขนาดเรือดำน้ำ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการวิเคราะห์ขนาดเรือให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ทะเลของไทย โดยกำหนดจำนวนเรือดำน้ำประจำการ 9 ลำ แบ่งการจัดหาเรือดำน้ำออกเป็น 2 ตอน คือ
ตอนที่ 1: การจัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็ก ขนาดระวางขับน้ำ 190/230 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ อาวุธตอร์ปิโด 2 ท่อยิง (หัว/ท้ายเรือ) ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 จัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ป้องกันปากแม่น้ำสำคัญ 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง และเกาะสีชัง ตอนที่ 2 ขั้นที่ 2 จัดหาเรือดำน้ำเพิ่ม 2 ลำ ป้องกันอ่าวไทยตอนบนในแนวเกาะจวง เกาะสัตกูด สามร้อยยอด
ตอนที่ 2 : ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การจัดหาเรือดำน้ำขนาดเล็ก ขนาดระวางขับน้ำมากกว่าเดิม 3 ลำ ป้องกันอ่าวไทยตอนล่างถึงเกาะสมุย ขั้นที่ 2 จัดหาเรือดำน้ำขนาดกลาง ระวางขับน้ำ 800/1000 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ รัศมีทำการ 2,500 ไมล์ทะเล ซึ่งสามารถลาดตระเวนได้ถึงประเทศสิงคโปร์
แม้ว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฐานะทางการคลังของชาติไม่ดีนัก (พลเรือเอกศุภกร บูรณดิลก, 2554: 18) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่าคนไทยโดยทั่วไปยังมีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆของต่างประเทศน้อย นอกจากทรงตั้งดุสิตธานี เมืองจำลองรูปแบบประชาธิปไตยแล้ว ในส่วนของเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นอาวุธใหม่ในขณะนั้นและมีบทบาทอย่างมากในการรบทางเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทรงวางรากฐานการศึกษาเกี่ยวกับสงครามใต้น้ำให้กับกองทัพเรือ ซึ่งพลเรือเอกศุภกร บูรณดิลก (2554: 18) และอาจารย์วรชาติ มีชูบท ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (สัมภาษณ์, 9 มีนาคม 2559) ระบุว่าในครั้งแรกทรงมีพระราชดำริที่จะส่งทหารเรือไทยไปฝึกการปฏิบัติงานในเรือดำน้ำในราชนาวีเดนมาร์ค แต่ถูกปฏิเสธ จึงทรงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานรัฐบาลอังกฤษ (โดยทรงใช้ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับประเทศอังกฤษ) ส่งนายนาวาตรีหลวงหาญกลางสมุทร (ยศในขณะนั้น) ไปศึกษาเรื่องเรือดำน้ำ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นกำลังพลเรือดำน้ำคนแรกของประเทศไทย ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้มีส่วนในการช่วยบุกเบิกการก่อตั้งกองเรือดำน้ำของไทยได้สำเร็จ
นอกจากนี้ วรชาติ มีชูบท ระบุว่าทรงเผยแพร่ความรู้ทางด้านการเมืองและการทหารให้แก่ประชาชนทั่วไป ผ่านบทความต่างๆ โดยหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับทหารเรือมักใช้พระนามแฝงว่า “พันแหลม” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต และหนังสือพิมพ์ไท เรื่องเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ตีพิมพ์ในนิตยสารสมุทสาร รวมถึงทรงพระราชนิพนธ์บทละคร “ร.ต.ล. นนทรี” (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสมุทสาร) กล่าวถึงการปฏิบัติงานในเรือหลวงใต้น้ำนนทรี ซึ่งเป็นเรือสมมุติ นับได้ว่า“ร.ต.ล. นนทรี” เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในเรือดำน้ำแก่ประชาชนทั่วไป เล่มแรกๆในรูปแบบของบันเทิงคดี ตัวอย่างเช่น คำกล่าวของนายเรือเอกเดช วรนาวิน ผู้บังคับการเรือดำน้ำ เกี่ยวกับวิธีการหลบหนีออกจากเรือดำน้ำที่ประสบภัยพิบัติจมลงใต้น้ำ ในหน้าที่ 48 - 49ว่า “เมื่อไขน้ำเฃ้าถังอับเฉากับท้องเรือ เราได้อัดอากาศในเรือนี้เฃ้าได้เป็นสองเท่าตัว, คือเราได้แก้ไขให้พอสู้กับความบีบของน้ำฃ้างนอกได้ --- กล่าวโดยย่อ, การที่เราได้ทำเช่นนี้ เป็นผลให้เราสามารถเปิดฝาปล่องหอบังคับเรือได้. ข้อนี้เป็นสำคัญ, เพราะมีทางจะออกจากเรือนี้ได้ทางปล่องนั้น” และสะท้อนให้เห็นถึงความอดทนกล้าหาญเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักเรือดำน้ำไทย ดังเช่น คำกล่าวของผู้บังคับการเรือ ในหน้าที่ 46 ว่า “การที่จะร้องไห้ไม่เห็นเปนประโยชน์อะไร ! ต้องแสดงตัวเป็นลูกผู้ชาย, เปนคนไทย. เราเปนลูกหลานนักรบ จะกลัวตายมีอย่างหรือ?”
ส่วนบทละคร มหาตมะ นั้นมีเนื้อหากระตุ้นในชาวไทยเกิดความรักชาติและเห็นในความสำคัญของการมีเรือรบเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ กล่าวถึงนายสน ซึ่งมีทรัพย์สินมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือรบประจำการในราชนาวีไทย โดยเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวสิ้นเปลืองไร้ประโยชน์ และเขียนบทความต่อต้านการเรี่ยไรเงินเพื่อจัดซื้อเรือรบของทางการ โดยใช้นามแฝงว่า “ทุ่นดำ” ต่อมานายสนได้พบกับมหาตมะ บุคคลลึกลับที่ไม่มีใครเห็นตัวนอกจากนายสน นำเขาไปสู่ความฝันประหลาด กองกำลังต่างชาติบุกเข้ามาในประเทศได้ ทำให้นายสนต้องสูญเสียอิสรภาพ เสียที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมด แม้แต่ชีวิตเกือบจะรักษาไว้ไม่ได้ ทำให้เขากลับใจ และตระหนักถึงความสำคัญของกองทัพเรือ ที่จะต้องมีเรือรบที่ทันสมัยเพื่อป้องกันอธิปไตยของชาติ
ภาพประกอบ 1: หนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 บทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล. “นนทรี” และมหาตมะ
2. รัชสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2469 นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ จัดทำบันทึกการจัดกองทัพเรือสยาม (หรือโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ) ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยเสนอการแบ่งกำลังทางเรือออกเป็น 2 กอง คือ กองเรือรักษาฝั่ง และกองเรือรุกรบ ซึ่งประกอบด้วยเรือดำน้ำขนาดเล็ก ระวางขับน้ำประมาณ 300 – 400 ตัน จำนวน 4 ลำ
3. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2477 กองทัพเรือประสบความสำเร็จในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการ โดยสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 กำหนดความต้องการเรือดำน้ำประจำการ 6 ลำ ราคาลำละ 2.3 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี มีการจัดการประกวดราคาใน พ.ศ.2478 บริษัทต่างชาติเสนอราคารวม 6 ประเทศ โดยบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่นให้ราคาต่ำสุดจึงได้สิทธิในการต่อเรือดำน้ำให้กับราชนาวีไทย คุณลักษณะของเรือดำน้ำที่กำหนดไว้ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ระวางขับน้ำ 370/430 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ อาวุธประจำเรือประกอบด้วยปืนใหญ่ดาดฟ้าเรือ ขนาด 76/25 ม.ม. 1 กระบอก และท่อยิงตอร์ปิโดหัวเรือ ขนาด 4.5 ซม. 4 ท่อยิง รวมจำนวนเรือดำน้ำ 4 ลำ ราคาลำละ 820,000 บาท ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทย ใน พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานชื่อเรือว่า มัจฉาณุ (ลำที่สอง) วิรุณ สินสมุทร และพลายชุมพล ปลดระวางประจำการ พ.ศ.2494
ภาพประกอบ 2: เรือดำน้ำสินสมุทร จอดในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายภาพโดยอาจารย์ภิญโญ วัฒนายากร ขณะศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
4. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ กบฏแมนฮัตตัน พ.ศ.2494 ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อกองทัพเรือไทย มีการลดขนาดโครงสร้างของกองทัพ และลดกำลังอาวุธ เช่น เครื่องบินรบถูกโอนให้กับกองทัพอากาศ Global Security (2015) ระบุกองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อรัฐบาล ประมาณ 8 ครั้ง ประกอบด้วย การเสนอโครงการใน พ.ศ.2502 พ.ศ.2539 พ.ศ.2541 พ.ศ. 2543 พ.ศ.2546 พ.ศ. 2553 พ.ศ.2555 และในปัจจุบัน พ.ศ.2558 อย่างไรก็ตาม โครงการจัดหาเรือดำน้ำที่มีการเสนอออกสู่สาธารณชน มีดังนี้
4.1 ใน พ.ศ.2492 ขณะเรือดำน้ำ 4 ลำ มีอายุใช้งาน 11 ปี กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มเติม 8 ลำ เพื่อทดแทนเรือดำน้ำที่เริ่มชำรุด ระยะเวลาโครงการ 5 ปี แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ
4.2 ใน พ.ศ. 2539 กองทัพเรือไทยได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า ชั้นก็อตแลนด์ จากสวีเดน ประจำการ แต่โครงการถูกตรวจสอบจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อ จนต้องระงับโครงการ
4.3 ใน พ.ศ. 2553 กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A ของเยอรมัน อายุใช้งาน 30 ปี จำนวน 6 ลำ (ปฏิบัติงานจริงได้ 4 ลำ ใช้เป็นอะไหสำรอง 2 ลำ) พร้อมจัดตั้งกองเรือดำน้ำ เพื่อรองรับโครงการ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ
4.4 ใน พ.ศ. 2555 กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้ จัดส่งกำลังพลไปศึกษาด้านเรือดำน้ำ ณ ต่างประเทศ เพื่อเตรียมองค์ความรู้ในการจัดหาเรือดำน้ำ รวมถึงการจัดตั้งกองบัญชาการกองเรือดำน้ำและมีพิธีเปิดอาคาร ในเดือนกรกฎาคม 2555 แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ให้ชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
4.5 ใน พ.ศ. 2558 กระทรวงกลาโหมเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ เป็นเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลา 9 ปี จาก พ.ศ.2558 – 2566 และมี มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ให้ยกเลิกมติ ครม. การชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 และอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพเรือในการศึกษาความเป็นได้และเสนอขออนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง
ความล่าช้าในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการของกองทัพเรือไทยในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมา ก่อน พ.ศ.2559 Global Security (2015) วิเคราะห์สภาพการณ์จากมุมมองของต่างประเทศว่า เป็นเพราะรัฐบาลไทยในอดีต มีความเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะมีเรือดำน้ำ สังเกตจากการที่กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อโครงการเรือดำน้ำถูกนำเสนอในรัฐบาลพลเรือน มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเมือง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางด้านคะแนนนิยมมวลชน ส่งผลให้สื่อมวลชนเข้ามามีอิทธิพลนำเสนอหรือเผยแพร่ความแนวคิดเกี่ยวกับเรือดำน้ำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความสับสนต่อสาธารณะชน ในขณะที่เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำของหลายชาติถูกบันทึกไว้ในหนังสือและตำราเรียนให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่น การทำสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดของเยอรมัน (unrestricted submarine warfare) ต่ออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นสาเหตุหลักให้ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมัน หลังจากวางตัวเป็นกลางในสงครามมานานถึงสามปี (Glenn W. Moon & John H. MacGowan, 1957: 571 - 572) เยาวชนไทยได้เรียนรู้เรื่องราวของเรือดำน้ำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในอดีตหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ การรุกรานเรือดำน้ำต่างชาติในน่านน้ำไทยจมเรือสินค้าและเรือโดยสารส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ หรือวีรกรรมที่น่าภาคภูมิใจของนักเรือดำน้ำไทยในการปกป้องอธิปไตยของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
การให้ความรู้ต่อสังคมและประชาชนถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของเรือดำน้ำรวมไปถึงหน้าที่ของเรือดำน้ำที่มีต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหน้าที่หลักของกองทัพเรือและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม
ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย
ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย ตลอดจนการเลือกสรรเรือดำน้ำที่เหมาะสม เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด 80 ปีที่เรือดำน้ำ 4 ลำแรกของไทยปลดประจำการไป ความขัดแย้งในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย สามารถสรุปได้ 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ปัญหาเรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติงานในอ่าวไทยได้
เป็นประเด็นที่ถูกนำมาอ้างถึงบ่อยครั้ง ซึ่งจะพบข้อความแพร่หลายในสื่อต่างๆว่า อ่าวไทยน้ำตื้น เรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติการได้ และความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยเพียง 15 เมตร ขัดแย้งกับข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี (2550) ที่ระบุว่า อ่าวไทยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีความลึกเฉลี่ย 44 เมตร ซึ่งความลึกของน้ำในระดับนี้ เรือดำน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถปฏิบัติการได้ดี ส่วนที่ลึกที่สุดของอ่าวไทย (ก้นกระทะ) ซึ่งมีความลึก 86 เมตร ก็อยู่ในน่านน้ำไทย เนื้อที่เขตเศรษฐกิจของไทยในอ่าวไทยมีประมาณสองแสนตารางกิโลเมตร ซึ่งเสี่ยงต่อภัยคุกคามของสงครามใต้น้ำ หากกองทัพเรือคงมีเพียงเรือผิวน้ำและเครื่องบิน เนื่องจากการตรวจจับเรือดำน้ำจากยานเหนือน้ำและผิวน้ำยังมีขีดจำกัด แม้ยานเหล่านี้ใช้อุปกรณ์ตรวจจับใต้น้ำ เช่น โซโนบุย โซนาร์ลากท้าย แต่หากเรือดำน้ำกบดานอยู่ในระดับชั้นความลึกที่ห่างจากเรือผิวน้ำมาก มีอุณหภูมิของน้ำต่างกัน สัญญาณโซนาร์จะสะท้อนกลับ การตรวจจับเรือดำน้ำที่ดีที่สุด โดยเฉพาะแบบ Passive คือการใช้เรือดำน้ำตรวจจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน (สัมภาษณ์, 9 ธันวาคม 2558) ระบุว่าในการใช้เครื่องบินตรวจจับเรือดำน้ำ ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเนื่องจากเหตุผลเช่น ระยะทางการบินกับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง การระบุพิกัดจุดที่พบเรือดำน้ำ กระบวนการและขั้นตอนในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น เช่น กองทัพอากาศ เป็นต้น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาปฏิบัติการรบเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2485 – พ.ศ.2488 ประกอบด้วยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษ แบบ S ระวางขับน้ำ 830/930 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ และแบบ T ระวางขับน้ำ 1,300/1,575 ตัน เหนือ/ใต้ น้ำ และเรือดำน้ำอเมริการชั้น Balao (Fleet Type Submarine) ระวางขับน้ำ 1,526 ตันเหนือน้ำ การรบของเรือดำน้ำเหล่านี้ในช่วงแรกเป็นการวางทุ่นระเบิด ตามโดยการยิงโจมตีเรือผิวน้ำของไทยและญี่ปุ่นอย่างหนักในช่วงท้ายสงคราม (ประพัฒน์ จันทวิรัช, พลเรือเอก, 2546: 19 – 25)
ปฏิบัติการของเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรในอ่าวไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบด้วย
1. การวางทุ่นระเบิด สงครามเรือดำน้ำ (Submarine Warfare) ในน่านน้ำไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2485 เรือดำน้ำ USS Thresher (SS-200 ระวางขับน้ำ 1,475 ตัน) กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา วางทุนระเบิด MK.12 จำนวน 32 ลูก ที่บริเวณเกาะล้าน พัทยา อ่าวไทยตอนบน ซึ่งจุดลึกที่สุดของทะเลบริเวณดังกล่าวอยู่ที่บริเวณด้านตะวันตกของเกาะล้าน ความลึกประมาณ 50 เมตร (กรมทรัพยากรธรณี, 2550: 17) นับเป็นสนามทุ่นระเบิดจากเรือดำน้ำสนามแรกของมหาสงครามเอเชียบูรพา จากนั้นมีการวางทุ่นระเบิดเพิ่ม 2 จุด คือ ระหว่างเกาะริ้นและเกาะล้าน และหน้าอ่าวสัตหีบ กองทัพเรือไทยได้ดำเนินการต่อต้านสงครามทุ่นระเบิดโดยจัดส่งเรือหลวงจวง และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เข้าเก็บ – ทำลายทุ่นระเบิด (ประพัฒน์ จันทวิรัช, พลเรือเอก, 2546: 20 – 24, 133) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความลึกของอ่าวไทย 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลาง ระวางขับน้ำประมาณ 1,000 – 1,500 ตัน สามารถลักลอบเข้ามาได้ ทำให้หลังจากนั้นมีเรือดำน้ำเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยอย่างต่อเนื่องทั้งการวางทุ่นระเบิดและโจมเรือผิวน้ำ รวมมากกว่า 50 ครั้ง
2. การโจมตีเรือสินค้าและเรือลำเลียงชายฝั่ง เกิดขึ้นตลอด พ.ศ.2488 มีเรือผิวน้ำของไทยและญี่ปุ่นถูกจมประมาณ 50 ลำ พื้นที่ปฏิบัติงานของเรือดำน้ำอังกฤษและญี่ปุ่น กระจายไปทั่วอ่าวไทย ในเส้นทางเดินเรือสำคัญ เช่น ใกล้บางสะพานใหญ่ – บางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่าวสวี เกาะไข่ และปากน้ำจังหวัดชุมพร อ่าวระยอง เกาะจวง เกาะทะลุ บางเบิด รวมไปถึงอำเภอตากใบและอำเภอปานาเระ จังหวัดนราธิวาส
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำมีการพัฒนาทั้งในด้านอาวุธและระบบขับเคลื่อนเรือ มีการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และแม้ว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จะแพร่เสียงออกมามากกว่าเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า ในช่วงสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม ทั้งฝ่ายโซเวียตรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ปฏิบัติการในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ประเทศไทย โดยยากต่อการตรวจจับ Richard A. Mobley และ Edward J. Marolda (2015: 69, 80) ระบุถึงปฏิบัติการของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามอย่างน้อยสองลำ เช่น เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์โจมตี USS Sculpin (SSN-590) ขนาดระวางขับน้ำ 2,830 ตันเหนือน้ำ / 3,500 ตันใต้น้ำ ออกปฏิบัติการในเดือนเมษายน พ.ศ.2515 ติดตามเรือประมงลากอวนต้องสงสัย ในทะเลจีนใต้ จากเวียดนามทางตอนเหนือ ไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง คาบสมุทรมลายู และอ่าวไทย
ภาพประกอบ 3: เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์โจมตี USS Sculpin (SSN-590) เข้ามาปฏิบัติการลับ ในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงอ่าวไทย ในสงครามเวียดนาม พ.ศ.2515 ที่มา: Richard A. Mobley และ Edward J. Marolda, 2015: 69
หรือเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขนส่งสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Transport Submarine) USS Grayback (LPSS-574) ขนาดระวางขับน้ำ 1,740 ตันเหนือน้ำ / 2,768 ตันใต้น้ำ หนึ่งในเรือจำนวนหลายลำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่ลำเลียงหน่วยซีลและนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม
ภาพประกอบ 4 : เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขนส่งสะเทินน้ำสะเทินบก USS Grayback (LPSS-574) ทำหน้าที่ขนส่งสายลับ หน่วยซีลและนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ในสงครามเวียดนาม ที่มา: Richard A. Mobley และ Edward J. Marolda, 2015: 80
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรธรณี (2550) ยังระบุว่า ท้องทะเลส่วนที่ลึก 15 เมตรของอ่าวไทย ส่วนมากอยู่ในระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 – 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกของน้ำที่อาจมองเห็นได้ด้วยตา แต่เป็นระยะความลึกซึ่งเรือดำน้ำจิ๋ว (Midget Submarine) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดระวางขับน้ำเพียง 100 – 200 ตัน ออกแบบสำหรับการโจมตีเขตเศรษฐกิจชายฝั่ง หรือลาดตะเวนสอดแนม รวมไปถึงส่งสายลับขึ้นบก โดยมีการอ้างว่าก่อนการยกพลขึ้นบกประเทศไทย ญี่ปุ่นได้ส่งสายลับขึ้นบกชายฝั่งอ่าวไทยตอนใต้ เพื่อสำรวจสภาพชายหาด แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน
กรณีตัวอย่างปฏิบัติการของเรือดำน้ำจิ๋วในเขตน้ำตื้น เช่น การโจมตีอ่าวซิดนีย์ของเรือดำน้ำจิ๋วของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 ลำ ชั้น Ko-Hyoteki ขนาดระวางขับน้ำ 46/47 ตัน ใต้น้ำ/เหนือน้ำ กำลังพลประจำเรือ 2 นาย ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 450 ม.ม. 2 ท่อยิง ได้ลอบเข้ามาในอ่าวซิดนีย์ ในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน พ.ศ.2485 หนึ่งในนั้นสามารถผ่านตาข่ายดักเรือดำน้ำ ยิงโจมตีเรือกลไฟจม 1 ลำส่งผลให้ลูกเรือเสียชีวิตหลายนาย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 ญี่ปุ่นนำเรือดำน้ำขนาดใหญ่ 5 ลำเข้ามาในทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวซิดนีย์ ห่างฝั่ง 56 กิโลเมตร และส่งขึ้นเครื่องบินลาดตระเวนสำรวจ ซึ่ง Australian Online Coastal Information ระบุว่าอ่าวซิดนีย์มีความลึกเฉลี่ย 20 – 30 เมตร ซึ่งตื้นกว่าอ่าวไทย จุดที่ลึกที่สุดมีลักษณะเป็นหลุมกลางทะเลลึก 45 เมตร ชายฝั่งบางจุดอาจมีน้ำตื้นเพียง 1 – 3 เมตร
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้คัดค้านการจัดหาเรือดำน้ำ ไม่เคยยกกรณีความไม่เหมาะสมในการจัดหาเรือดำน้ำปฏิบัติในทะเลอันดามันมาประกอบด้วย เนื่องจากทราบกันดีว่าทะเลอันดามันมีความลึกมากกว่าอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศซึ่งมีเรือดำน้ำประจำการ เหตุผลในการจัดซื้ออาวุธจะพิจารณาจากยุทธศาสตร์และความมั่นคงของชาติเป็นหลัก มีเพียงประเทศไทย ที่ถูกนำประเด็นเรื่องความลึกของทะเลอ่าวไทย มาคัดค้านอย่างหนัก ทำให้เกิดเป็นกระแสความเชื่อในสังคมว่าเรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2556) กล่าวว่าทะเลอันดามันมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร จุดที่ลึกที่สุด คือ แอ่งอันดามัน มีความลึกประมาณ 3,000 เมตร ส่วนที่มีความลึกของน้ำน้อย เป็นบริเวณไหล่ทวีป ในส่วนชายฝั่งทะเล จังหวัดกระบี่ ตรัง ภูเก็ตด้านตะวันออก และพังงาด้านใต้ ความลึกของน้ำประมาณ 300 เมตร ซึ่งพลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช (2546: 7 – 13) ระบุว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรได้ลอบเข้ามาปฏิบัติการขัดขวางการเดินเรือของไทยและญี่ปุ่นในทะเลอันดามัน ตั้งแต่ พ.ศ.2485 – 2488 โดยเป็นเรือดำน้ำของประเทศอังกฤษ แบบ S ระวางขับน้ำ 830/930 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ และแบบ T ระวางขับน้ำ 1,300/1,575 ตัน เหนือ/ใต้ น้ำ ปฏิบัติการของเรือดำน้ำเหล่านี้ มีด้วยกัน 3 ด้านหลักๆ คือ
1. การโจมตีเรือสินค้าและเรือลำเลียงชายฝั่ง เกิดขึ้นใน พ.ศ.2486 ต่อเนื่อง พ.ศ.2488 เรือผิวน้ำของไทยและญี่ปุ่น ถูกเรือดำน้ำจม ประมาณ 38 ลำ และใช้ตอร์ปิโดมนุษย์ซึ่งเดินทางมากับเรือดำน้ำลอบวางทุ่นระเบิด จมเรือ 2 ลำ รวมเรือที่จมประมาณ 40 ลำ จุดที่เรือดำน้ำปฏิบัติการโจมตีเรือเป้า กระจายอยู่ทั่วทะเล อันดามัน ทั้งเขตน้ำลึก และน้ำตื้นบริเวณไหล่ทวีป เช่น ในอ่าวภูเก็ต อ่าวกระบี่ นอกชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ใกล้หมู่เกาะพีพี เกาะกระดาน เกาะเสม็ด เกาะตะลิบง เป็นต้น
2. การวางทุ่นระเบิด พบสนามทุ่นระเบิด 5 แห่ง ประกอบด้วย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกาวี ทางทิศตะวันตกของเกาะตะรุเตา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะตะรุเตา ใกล้เกาะลันตาใหญ่ และทางทิศตะวันออกของกระโจมไฟ จังหวัดสตูล
3. การหน่วยลาดตระเวน – สายลับขึ้นบกเพื่อสำรวจสภาพชายหาด หรือปฏิบัติการลับต่อต้านญี่ปุ่น ว่าพบเรือดำน้ำอังกฤษมักลอบส่งหน่วยลาดตระเวนขึ้นบกของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งสุดท้ายคือสำรวจหาดภูเก็ต ในปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2588 จำนวน 2 ครั้ง
จากสถิติข้างต้น สะท้อนให้เห็นได้ว่าแม้เรือดำน้ำในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจะใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซล – ไฟฟ้า ซึ่งต้องลอยเรือขึ้นเหนือน้ำเพื่อชาร์ตแบตตารี่ แต่การตรวจจับและล่าทำลายเรือดำน้ำที่เข้ามาคุกคามน่านน้ำไทยเป็นไปได้ยาก ในปัจจุบัน เรือดำน้ำดีเซลได้พัฒนาระบบขับเคลื่อนเป็น Snort System และ AIP ทำให้สามารถปฏิบัติงานใต้น้ำได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ การแพร่แพร่เสียงใต้น้ำลดลง การพรางตัวใต้น้ำมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แม้ระบบโซน่าร์ตรวจจับเรือดำน้ำ และอาวุธปราบเรือดำน้ำ จะถูกพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น แต่การตรวจจับเรือดำน้ำสมัยใหม่จะยากกว่าในอดีต และสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ (Anti submarine Warfare) จะไม่ประสบความสำเร็จ หากประเทศไทยไม่มียานที่สามารถปฏิบัติการค้นหา – ล่าทำลายใต้น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีศึกษา 4 เรื่อง ที่ผู้เขียนขอนำกล่าวไว้เพิ่มเติม เพื่อประกอบข้อสังเกต เกี่ยวกับความลึกของทะเลกับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ คือ 1. ช่องแคบมะละกา 2. ช่องแคบซุนดา และช่องแคบลอมบ็อก และ 3.กรณีเรือดำน้ำประเทศเวียดนาม
และ 4. กรณีความลึกของทะเลบอลติค (Baltic Sea) และอ่าวฟินแลนด์ (Gulf of Finland) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของประเทศในยุโรปเหนือและรัสเซีย
ช่องแคบมะละกา ซุนดา และลอมบ็อก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย และมีเส้นทางเดินเรือสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้แก่ มาเลเซีย และสิงคโปร์ และไทย (ติดพื้นที่ทางเหนือของช่องแคบมะละกา) เส้นทางเดินเรือทั้ง 3 เส้นทาง ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเทศเจ้าของน่านน้ำ อาจกล่าวได้ว่าช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก นักวิชาการทางด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่าผลประโยชน์จากการเดินเรือในช่องแคบดังกล่าว ทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาศักยภาพเรือดำน้ำของ 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
1. กรณีศึกษา ช่องแคบมะละกา: ช่องแคบนี้ตั้งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และแหลมมลายู ประเทศมาเลเซีย ทางเหนือติดน่านน้ำประเทศไทย มีระยะทางประมาณ 500 ไมล์ ส่วนที่กว้างที่สุด 126 ไมล์ ส่วนแคบที่สุด 8.4 ไมล์ ความลึกของทะเลสูงสุด 26 – 30 เมตร บางช่วงตื้นกว่ากว่า 23 เมตร
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พื้นที่นี้อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ทำให้สัมพันธมิตรส่งเรือผิวน้ำ อากาศยาน และเรือดำน้ำลาดตระเวน โจมตีเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในนั้นคือ เรือดำน้ำ HMS Statesman แห่งราชนาวีอังกฤษ ที่ออกปฏิบัติการในบริเวณช่องแคบมะละกา ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 – 2488 จมเรือผิวน้ำของญี่ปุ่นและท้องถิ่น จำนวน 50 ลำ ซึ่งมีทั้งเรือบรรทุกน้ำมัน เรือใบ เรือขนส่งกำลังทางทหาร
2. กรณีศึกษาช่องแคบซุนดาและช่องแคบลอมบ็อก: ช่องแคบซุนดาอยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย มีระดับความลึกของน้ำไม่สม่ำเสมอ และมีสันดอนหลายแห่ง ทำให้น้ำไหลเชี่ยว ทำให้ยากต่อการเดินเรือ โดยปลายสุดของช่องแคบทางด้านตะวันตก มีความกว้างและน้ำลึกมาก จากนั้นความกว้างลดลงจนถึงปลายสุดของช่องแคบ ซึ่งน้ำลึกเพียง 20 เมตร
ช่องแคบลอมบ็อก เป็นช่องแคบเชื่อมต่อระหว่างเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย และมหาสมุทรอินเดีย มีระยะทางสั้นที่สุดแต่น้ำลึกที่สุดในทั้ง 3 เส้นทางเดินเรือ โดยความยาวตลอดเส้นทาง 60 กิโลเมตร ส่วนปลายช่องแคบทางด้านใต้ กว้าง 20 กิโลเมตร ส่วนที่ลึกสุด 250 เมตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรออกล่า – ทำลายเรือผิวน้ำของญี่ปุ่นและเรือพื้นเมือง ช่องแคบซุนดาและช่องแคบลอมบ็อก เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของเรือดำน้ำญี่ปุ่น Carl Boyd & Akihiko Yoshida (1995: 74) ระบุว่า ในช่วง พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นส่งเรือดำน้ำ Type A (KO) และ Type B จำนวนหลายลำออกลาดตระเวนในบริเวณช่องแคบซุนดาและช่องแคบลอมบ็อก เช่น เรือดำน้ำ I-54 ลาดตระเวนทางตอนใต้ของช่องแคบซุนดา ใกล้ชวาตะวันตก ในขณะที่เรือดำน้ำ I-55 ลาดตระเวนทางเหนือของช่องแคบซุนดา สร้างผลงานจมเรือสินค้าหลายลำ โดยเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ระวางขับน้ำ 2,174 / 3,747 ตัน เหนือ/ใต้น้ำ
ภาพประกอบ 5: เรือดำน้ำ I-55 ของราชนาวีญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาปฏิบัติการจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตร ใกล้ช่องแคบซุนดา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
3. ประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตทางทะเลอยู่ในทะเลจีนใต้ และอ่าวตังเกี๋ย ปัจจุบันมีเรือดำน้ำชั้นกิโล รุ่น Kilo 636MV Project จากประเทศรัสเซีย ประจำการ จำนวน 4 ลำ และกำลังจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 2 ลำ ซึ่ง Carlyle A. Thayer (2012) จาก US Naval Institute ระบุว่าเรือดำน้ำรุ่นนี้มีขนาดเรือยาว 73.8 เมตร กว้าง 9.9 เมตร ระวางขับน้ำเหนือ 2,350 ตัน ซึ่งสูงกว่าเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาโจมตีเรือในอ่าวไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเกือบเท่าตัว ระยะทางลาดตระเวนไกล 700 กิโลเมตร ในขณะที่อ่าวตังเกี๋ย มีความลึกเฉลี่ยน้อยกว่า 60 เมตร ซึ่งเป็นความลึกเฉลี่ยใกล้เคียงกับอ่าวไทย (50 เมตร)
ปัจจุบันฐานทัพเรือดำน้ำ (submarine base) และอู่ต่อเรือดำน้ำของเวียดนามอยู่ที่เมืองดานัง เวียดนามกำลังพัฒนาผลิตเรือดำน้ำเองในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากประเทศรัสเซียและญี่ปุ่น จุดประสงค์ในการมีเรือดำน้ำประจำการของประเทศเวียดนาม เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และจากกรณีพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่ง Goldstein (2015) วิเคราะห์ว่าการเพิ่มจำนวนเรือดำน้ำของเวียดนาม จะทำให้เกิดการคานดุลอำนาจระหว่าง จีน – ประเทศมหาอำนาจ และเวียดนามในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
4. กรณีความลึกของทะเลบอลติค (Baltic Sea) และอ่าวฟินแลนด์ (Gulf of Finland)
4.1 ทะเลบอลติค ชาติที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลบอลติค มีเช่น สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย ความลึกของน้ำ เฉลี่ย 55 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทย 44 เมตร ในขณะที่ความลึกสูงสุด 459 เมตร มากกว่าความลึกสูงสุดของอ่าวไทย ซึ่งลึก 86 เมตร ประมาณ 5 เท่า รัสเซียมีเรือดำน้ำประจำการจำนวนมากในกองเรือบอลติค รวมถึงอู่ต่อเรือดำน้ำ ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือดำน้ำรุ่นแรกๆของรัสเซียที่ปฏิบัติการในทะเลบอลติค ตั้งแต่ พ.ศ.2447 ถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่น เรือดำน้ำดอลฟิน เป็นเรือดำน้ำเบนซิน หรือดีเซล – ไฟฟ้า ขนาดเล็ก ระวางขับน้ำประมาณ 100 – 300 ตัน ใกล้เคียงกับขนาดของเรือดำน้ำสี่ ลำไทยในอดีต และ Hvalen เรือดำน้ำสมัยใหม่ลำแรกของประเทศสวีเดน พ.ศ.2451 ซึ่งสั่งซื้อจากประเทศอิตาลีและมีขนาดระวางขับน้ำ 185 ตัน เหนือน้ำ / 280 ตัน ใต้น้ำ (David Millier, 2004 & Paul E. Fontenoy, 2007)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำของรัสเซียที่ประจำการในกองเรือบอลติค ส่วนใหญ่เป็นเรือดำน้ำขนาดกลาง ชั้น S ระวางขับน้ำประมาณพันกว่าตัน และเรือดำน้ำลาดตระเวนชายฝั่งขนาดเล็ก ชั้น M ระวางขับน้ำประมาณ 300 ตัน ในช่วงสงครามเย็น พ.ศ.2518 เคยเกิดเหตุการณ์เรือดำน้ำ U-137 ชั้น Whiskey Class ขนาดระวางขับน้ำพันตัน ของรัสเซีย ปฏิบัติการในทะเลบอลติค และเกยตื้นที่ชายฝั่งประเทศสวีเดน ห่างจากใกล้ฐานทัพเรือ Karlkrona ของสวีเดนเพียง 10 กิโลเมตร จนได้รับสมญานามว่า “วิสกี้ ออนเดอะร็อค” ปัจจุบันเรือดำน้ำที่ประจำการในกองเรือบอลติค ประกอบด้วย ชั้น Lada Class ขนาดระวางขับน้ำประมาณสองพันกว่าตันและเรือดำน้ำชั้น Kilo Class ขนาดระวางขับน้ำประมาณ 2,500 – 3,000 ตัน
4.2 อ่าวฟินแลนด์ ตั้งอยู่ระหว่างประเทศฟินแลนด์และรัสเซีย อยู่ทางตะวันออกของทะเลบอลติค ความลึกเฉลี่ยของอ่าว 38 เมตร ตื้นกว่าอ่าวไทยประมาณ 10 เมตร ความลึกสูงสุด 115 เมตร มากกว่าอ่าวไทยประมาณสามสิบเมตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อ่าวฟินแลนด์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งในแถบบอลติค เนื่องจากเยอรมันนีและฟินแลนด์เป็นพันธมิตรกันทำสงครามต่อต้านรัสเซีย และสร้างทุ่นระเบิดหลายแห่งในบริเวณนี้ (Arvo L. Vercamer, 2015) กองเรือบอลติคได้ส่งเรือดำน้ำหลายลำปฏิบัติการในอ่าวฟินแลนด์เพื่อต่อต้านเยอรมันนีและฟินแลนด์ และขัดขวางการขนส่งกำลังทหารของเยอรมมันนีไปยังเมืองท่าสำคัญของฟินแลนด์ เช่น Hanko ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดกลางชั้น Shchuka Class ขนาดระวางขับน้ำประมาณ 500 – 700 ตัน เช่น SHCH-324 ซึ่งเคยมีประสบการณ์ดำในอ่าวนี้ที่ความลึกเพียง 20 เมตร ขณะที่ทะเลเป็นน้ำแข็งมาแล้ว (Great Patriotic Submarine Warfare, 2013) SHCH-311 หรือ SHCH-406
ภาพประกอบ 6: เรือดำน้ำ SHCH-324 ของรัสเซีย ลอยลำใกล้ชายฝั่งทะเลบอลติค เมือง Tallinn ประเทศแอสโทเนีย เรือลำนี้เคยปฏิบัติการในอ่าวฟินแลนด์ช่วงฤดูหนาว ใต้ทะเลน้ำแข็งที่ความลึกเพียง 20 เมตร
ภาพประกอบ 7: เรือดำน้ำกลุ่มแรกของประเทศฟินแลนด์ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง – ฟินแลนด์ มีเรือดำน้ำประจำการช้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เรือดำน้ำชั้น Vetehinen Class ขนาดระวางขับน้ำ 493 ตันเหนือน้ำ / 716 ตันใต้น้ำ ผลิตจากเยอรมัน ประจำการในกองทัพเรือฟินแลนด์ ใน พ.ศ.2473 ในขณะที่สวีเดนเป็นประเทศแรกที่ประจำการเรือดำน้ำ ใน พ.ศ.2452 เป็นเรือดีเซล – ไฟฟ้าขนาดเล็ก ชื่อ Hvalen ขนาดระวางขับน้ำ 185 ตันเหนือน้ำ / 280 ตันใต้น้ำ ซึ่งผลิตโดยบริษัท Fiat อิตาลี ตามด้วยประเทศนอร์เวย์ ในปีเดียวกัน ประจำการเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า ชื่อ Dykkeren ขนาดระวางขับน้ำ 207 ตันเหนือน้ำ / 235 ตันใต้น้ำ ผลิตจากเยอรมัน จากนั้นในปีถัดมา ประเทศเดนมาร์ก ประจำการเรือดำน้ำสมัยใหม่ลำแรกของประเทศที่ผลิตโดย บริษัท Fiat อิตาลี ชื่อ Dykkeren ขนาดระวางขับน้ำ 105 ตันเหนือน้ำ / 130 ตันใต้น้ำ เรือดำน้ำของกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวียในอดีตส่วนใหญ่มีขนาดระวางขับน้ำประมาณห้าร้อยถึงพันตัน (Paul E. Fontenoy, 2007: 90, 118, 119, 194)
จึงจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดสถานการณ์รบจริง ความลึกของท้องทะเล ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติงานของเรือดำน้ำ เพราะในการวางแผนการรบจะมีการศึกษาลักษณะน่านน้ำ ความลึก หรืออุปสรรคล่วงหน้า เพราะเรือดำน้ำมีหลายขนาด และทุกขนาดสามารถติดตั้งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง เรือดำน้ำสามารถซ่อนเร้นเข้าไปปฏิบัติการในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ยากต่อการป้องกัน เช่น เส้นทางเดินเรือสินค้า โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเขตน้ำตื้นมาก สำหรับพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง สามารถใช้เรือดำน้ำขนาดที่เหมาะสมกว่า เช่น เรือดำน้ำขนาดเล็ก หรือจิ๋ว ในการปฏิบัติการ หรือในกรณีประเทศเวียดนาม ซึ่งมีชายฝั่งติดทะเล 2 ด้าน เช่นเดียวกับไทย แห่งหนึ่งขนาดความลึกใกล้เคียงอ่าวไทย คือ อ่าวตังเกี๋ย และอีกแห่งหนึ่งความลึกของน้ำทะเลมากกว่า คือ ทะเลจีนใต้ แต่สามารถใช้เรือดำน้ำขนาดกลางปฏิบัติการได้
2. ความคุ้มค่าในการประจำการเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย
ความคุ้มค่า (value) หมายถึง ผลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการหนึ่ง (เช่น ผลทางด้านสังคม หรือเศรษฐกิจ) โดยโครงการนั้นมีความคุ้มค่าเมื่อผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ มีมูลค่าสูงกว่าต้นทุนทรัพยากรที่ลงทุนไปในโครงการนั้น ในการจัดทำโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง การประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญ ความคุ้มค่าของโครงการประเมินได้จากผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าต้นทุนทรัพยากรที่ลงทุนไปอย่างจำกัด และเกิดผลกระทบทางด้านลบน้อยที่สุด (ณดา จันทร์สม, 2559 และ บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ, 2557) ซึ่งการประเมินความคุ้มค่ามีหลายแบบตามลักษณะของโครงการ เช่น ความคุ้มค่าทางการเงิน (financial value) วัดผลตอบแทนในลักษณะของตัวเงินที่ได้รับ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (economic value) ซึ่งใช้ประเมินโครงการของภาครัฐ โดยเปรียบเทียบจากต้นทุนหรือทรัพยากรที่สังคมใช้ในการจัดทำโครงการ และผลประโยชน์สังคมที่รับได้จากโครงการนั้นในระยะยาว เช่น ความผาสุกของคนในชาติ การดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี มีอธิปไตยของตนเอง ไม่ใช่ตัวเงิน
ต่างจากภาคเอกชนที่มักประเมินความคุ้มค่าทางการเงิน โดยวัดจากผลกำไรเป็นตัวเงินหรือมูลค่าวัตถุที่ได้รับ โครงการจัดหาเรือดำน้ำเป็นโครงการของภาครัฐ ที่มุ่งให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวมในระยะยาว เช่น ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของชาติ การดำรงชีวิตได้โดยปรกติสุขปราศจากภัยคุกคาม ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินที่ชัดเจนได้เหมือนโครงการของภาคเอกชนอื่นๆได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่รับได้ชัดเจน มี 2 ด้าน คือ ผลประโยชน์ในทางด้านสังคม (ความมั่นคงของชาติ) และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
ต้นทุน (ราคาของเรือดำน้ำ) : นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ราคาของเรือดำน้ำถูกนำมาเป็นข้อโต้แย้งว่าสูงกว่าเรือผิวน้ำทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเรือดำน้ำประเภทที่กองทัพเรือไทยต้องการจัดซื้อ คือ เรือดำน้ำโจมตี ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ไม่ได้มีราคาสูงมากที่สุด มีเรือรบอีกหลายประเภทที่ราคาแพงกว่าเรือดำน้ำ ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับราคาของเรือรบประเภทต่างๆ มีดังนี้ (ค่าเงิน คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2559 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ต่อ 35,796,597.97 บาท)
1. เรือบรรทุกเครื่องบินมีราคาแพงที่สุด โดยราคาเฉลี่ยต่อลำประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณหนึ่งแสนเจ็ดพันล้านบาท โดยเรือบรรทุกเครื่องบินที่แพงที่สุด เช่น Gerald R. Ford Class ของสหรัฐอเมริกา ราคา 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสี่แสนแปดหมื่นล้านบาทต่อลำ เรือบรรทุกเครื่องบินที่มีราคาถูกสุด คือ Seoul Class ของเกาหลีใต้ ราคา 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเจ็ดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ถึงห้าเท่า
2. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 2 คือ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธ หรือขีปนาวุธข้ามทวีป (SSBN) ราคาเฉลี่ยต่อลำ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเจ็ดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยล้านบาท เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธข้ามทวีปที่แพงที่สุด คือ Triomphant Class ประเทศฝรั่งเศส ราคา 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ หนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านบาท ในขณะที่เรือดำน้ำ SSBN ชั้นที่มีราคาต่ำที่สุด คือ Type 043 ‘Q’ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสองหมื่นเจ็ดพันล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า เกือบเท่าตัว
3. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 3 คือ เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ (SSN) มีราคาเกาะกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อลำ หรือประมาณ ห้าหมื่นเจ็ดพันล้านบาท โดยเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ที่แพงสุด คือ Virginia Class ของสหรัฐอเมริกา มีราคา 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเก้าหมื่นหกพันล้านบาท ในขณะที่เรือชั้นที่มีราคาต่ำสุด คือ Type 093 Shang Class ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสี่หมื่นสามพันล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ถึงสามเท่า
4. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 4 คือ เรือพิฆาต (destroyer) ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,000 – 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ สามหมื่นหกพันล้านบาท – ห้าหมื่นสี่พันล้านบาท ต่อลำ อย่างไรก็ตามเรือพิฆาตของญี่ปุ่นและจีนมีราคาประมาณ 600 – 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ สองหมื่นหนึ่งพันล้านบาท - สองหมื่นเก้าพันล้านบาท ต่อลำ เรือพิฆาตที่มีราคาถูกที่สุด คือ Type 052B Luyang I Class ของสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และ Rajput Class ของประเทศอินเดีย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ หนี่งหมื่นแปดพันล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ประมาณสามพันหกร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตามเรือพิฆาตที่แพงที่สุดในโลก คือ Zumwalf Class ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาสูงถึง 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท เป็นราคาที่ก้าวกระโดดเทียบเท่ากลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบิน เนื่องจากเป็นเรือพิฆาตล่องหน (stealth destroyer) ซึ่งใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทำให้ยากต่อการตรวจจับ
5. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 5 คือ เรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า (SSK - ประเภทที่กองทัพเรือไทยต้องการจัดซื้อมาประจำการ) ราคาเฉลี่ยต่อลำอยู่ที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท โดยเรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ที่แพงที่สุด คือ Scorpène S-BR Class ของของประเทศฝรั่งเศสและบราซิล และ Type 216 Class ของประเทศเยอรมันนี มีราคาประมาณ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสามหมื่นสี่ร้อยล้านบาทต่อลำ (แต่ก็ยังเป็นราคาที่ถูกกว่าเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ (SSN) ชั้นที่ถูกที่สุดประมาณหนึ่งหมื่นสามพันห้าร้อยล้านบาท) และเรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้าที่มีราคาถูกสุด คือ Type 039G Song Class ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท ตามด้วย Gotland Class ของประเทศสวีเดน มีราคา 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท
6. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 6 คือ เรือฟริเกต มีราคาเฉลี่ยต่อลำประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยล้านบาท (เป็นราคาที่แพงกว่า เรือดำน้ำ Type 039G Song Class และ Gotland Class ของสวีเดน เพียงประมาณหนึ่งพันแปดร้อยล้านบาท – สองพันสามร้อยล้านบาท) เรือฟริเกตในกลุ่มที่มีราคาแพง คือ Alvand Class ของราชนาวีอังกฤษ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณห้าหมื่นสี่พันล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเทียบเท่าเรือพิฆาต และแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า เกือบ 4 เท่า ส่วนเรือฟริเกตที่มีราคาถูกที่สุด คือ Type 053H1 Jianghu-II ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเจ็ดพันเก้าร้อยล้านบาท
7. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 7 คือ เรือคอร์เวต (Corvette) ราคาเฉลี่ยประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเจ็ดพันหกร้อยล้านบาท โดยเรือคอร์เวตที่แพงที่สุด คือ SGPV Class ของประเทศฝรั่งเศส และ Abhay Class ของประเทศอินเดีย มีราคา 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ หนึ่งหมื่นแปดพันล้านบาท (ซึ่งแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ประมาณสามพันหกร้อยล้านบาท) เรือคอร์เวตที่มีราคาถูกสุด คือ Kamorta Class ของประเทศอินเดีย 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสองพันล้านบาท
8. เรือรบที่มีราคาแพงอันดับที่ 8 คือ เรือลาดตระเวนไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel - OPV) มีราคาเฉลี่ย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสามพันหกร้อยล้านบาท ต่อลำ เรือลาดตระเวนไกลฝั่งที่แพงที่สุดก้าวกระโดดจากกลุ่ม คือ Harry DeWolf Class ของประเทศแคนาดา มีราคา 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสามหมื่นหกพันล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาเฉลี่ยของเรือดำน้ำโจมตี ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้าสองเท่าครึ่ง ส่วนเรือลาดตระเวนไกลฝั่งที่มีราคาถูกที่สุด คือ Bad Bramstedt Class ของประเทศเยอรมันนี 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเก้าร้อยล้านบาทต่อลำ
9. เรือรบที่มีราคาแพงเป็นอันดับที่ 9 คือ เรือดำน้ำจิ๋ว ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า (Midget Submarine) ราคาเฉลี่ย 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณหนึ่งพันแปดร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นราคาถูกกว่าเรือลาดตระเวนไกลฝั่ง 2 เท่า ถูกว่าเรือคอร์เวต 4 เท่า ถูกกว่าเรือฟริเกต 6 เท่า และถูกกว่าเรือดำน้ำโจมตี ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า 8 เท่า เรือชนิดนี้มีบทบาทในสงครามทางเรืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากติดตั้งอาวุธตอร์ปิโดที่ทำลายเรือรบขนาดใหญ่ได้ เช่น ในสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นใช้เรือดำน้ำจิ๋วโจมตีชายฝั่งอ่าวซิดนีย์ ในศตวรรษที่ 20 เกาหลีเหนือใช้เรือดำน้ำจิ๋วลาดตระเวนสอดแนมชายฝั่งเกาหลีใต้ โดยเรือดำน้ำจิ๋วที่แพงสุด คือ SMX-26 Class ประเทศฝรั่งเศส และ SSM Indian SDV ประเทศอินเดีย มีราคาเทียบเท่าราคาเฉลี่ยของเรือลาดตระเวนไกลฝั่ง คือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณห้าพันสี่ร้อยล้านบาท เรือดำน้ำจิ๋ว ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ที่มีราคาถูกที่สุด คือ เรือดำน้ำ Ghadir Class SSM ของประเทศอิหร่าน และ Cosmos Class SSM ของประเทศปากีสถาน ราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณเก้าร้อยล้านบาท ซึ่งราคาของเรือฟริเกต 1 ลำ สามารถซื้อเรือดำน้ำจิ๋วชั้นนี้ได้ 12 ลำ ราคาของเรือคอร์เวต 1 ลำ สามารถซื้อเรือชั้นนี้ได้ 8 ลำ และราคาของเรือลาดตระเวนไกลฝั่ง 1 ลำ สามารถซื้อเรือชั้นนี้ได้ 4 ลำ
10. เรือลาดตระเวนใกล้ฝั่ง (Patrol Vessel) มีราคาเฉลี่ย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณสามร้อยหกสิบล้านบาท นับเป็นเรือรบประเภทที่มีราคาถูกที่สุดในของทุกประเภทที่ผู้เขียนรวบรวมมานำเสนอ (ไม่นับรวมเรือรบประเภท เรือสะเทินน้ำสะเทินบก เรือยกพล – ระบายพล เรือทำลายทุ่นระเบิด และเรือช่วยรบ) เรือลาด -ตระเวนใกล้ฝั่งที่แพงสุด คือ เรือป้องกันชายฝั่ง ชั้น Kingston Class มีราคาใกล้เคียงกับเรือดำน้ำจิ๋ว คือ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ สองพันล้านบาท ต่อลำ ในขณะที่เรือลาดตระเวนใกล้ฝั่งที่มีราคาถูกที่สุด คือ เรือปืน ชั้น Ashville Class ของประเทศสหรัฐอเมริกา ห้าแสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ สิบแปดล้านบาท (Military Equipment, 2016 Naval Technology, 2016 & New Wars, 2016)
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าเรือดำน้ำโจมตี ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเรือรบประเภทที่มีราคาแพง แต่เป็นราคาระดับปานกลาง นอกจากนี้เรือรบประเภทที่มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่าเรือดำน้ำโจมตี หลายชั้นมีราคาสูงกว่าเรือดำน้ำชนิดนี้ ในขณะที่เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายด้านที่เรือรบผิวน้ำไม่สามารถทำได้ ซึ่งพลเรือเอกสุริยะ พรสุริยะ (สัมภาษณ์, 20 ธันวาคม 2559) ตั้งข้อสังเกตว่าราคาของเรือดำน้ำที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากระบบอาวุธด้วย และเนื่องจากเรือดำน้ำมีหลายประเภท การจัดหารเรือดำน้ำ ประเภทของเรือดำน้ำที่นำมาประจำการ (เช่นเป็นเรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ หรือดีเซล – ไฟฟ้า) ขึ้นอยู่กับความต้องการทางยุทธศาสตร์และยุทธการ และขีดความสามารถทางด้านงบประมาณของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ และเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีข้อด้อย คือ แพร่เสียงออกมามากกว่า และมีราคาแพงกว่า แต่สามารถดำใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานาน ความเร็วเรือสูงกว่าเรือดำน้ำพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า และสามารถใช้อาวุธทางยุทธศาสตร์ เช่น ขีปนาวุธข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile - ICBM) ได้ (ขีดความสามารถนี้ทำให้นักการทหารในปัจจุบันวิเคราะห์ว่า ส่งผลให้เรือดำน้ำ SSBN ขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญเทียบเท่าหรือเหนือกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด (bomber) ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (Stephen Woolford & Carl Warner, 2016: 121)) ในขณะที่เรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า มีข้อด้อยที่ขนาดเล็กกว่า ทำให้การใช้อาวุธจำกัดกว่า (แม้จะมีบางประเทศในปัจจุบัน เช่นเกาหลีเหนือ พยายามพัฒนาเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า ติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีป) และระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการสั้นกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แต่มีความเงียบสูง ตรวจจับได้ยากกว่า และราคาถูกกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มาก
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการประจำการเรือดำน้ำของกองทัพเรือ นอกจากราคาของเรือดำน้ำแล้ว ในเริ่มต้น มีค่าใช้จ่ายอื่นด้วย เช่น การสร้างอู่เรือดำน้ำโดยเฉพาะ เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ และการเตรียมการด้านกำลังพล ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการมานานประมาณ 65 ปี นับตั้งแต่เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยปลดระวางประจำการไป เมื่อ พ.ศ.2494
นอกจากนี้จะพบว่า การจัดหาอาวุธอื่นๆ มีราคาสูงกว่าเรือดำน้ำโจมตี ขับเคลื่อนพลังงานดีเซล – ไฟฟ้า กลับพบกระแสการต่อต้านน้อยกว่า ปัจจัยเกี่ยวข้องส่วนหนึ่งมาจากความรู้หรือความเชื่อผิดๆด้วย เช่น ประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงการเกิดสงครามใต้น้ำ อาวุธที่มีในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบและป้องกันการเกิดสงครามใต้น้ำในน่านน้ำไทยได้ หรือเรือดำน้ำใช้งบประมาณจำนวนมาก ควรนำเงินมาใช้พัฒนาทางด้านอื่นก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความคุ้มค่าของโครงการจัดหาเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือ ประกอบด้วย ผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงของชาติทางทะเลหลัก และความมั่นคงของชาติจะให้เกิดความเจริญมั่นคงของชาติในด้านอื่นๆ ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ และสังคมในองค์รวม
ผลประโยชน์ทางด้านสังคม – ความมั่นคงของชาติ: การมีอธิปไตยปราศจากการรุกรานของชาติอื่น เป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาติหนึ่ง ๆ ดำรงอยู่ได้ และสามารถพัฒนาความเจริญของชาติด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ประวัติศาสตร์ได้สะท้อนให้เห็นว่า ชาติที่เคยสูญเสียอธิปไตยหรือมีบทเรียนจากการถูกคุกคามจากศตรู มักจะให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอันดับต้น ๆ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยถูกคุกคามและจำต้องเสียดินแดนจำนวนมากให้กับชาติมหาอำนาจ น่านน้ำไทยถูกกองเรือฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังเหนือกว่าปิดอ่าว บีบบังคับให้มอบดินแดนให้ตน ทำให้ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือให้มีความเจริญทัดเทียมตะวันตก ทั้งในการพัฒนาศักยภาพกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเจ้านายพระองค์แรกของไทยที่เข้ารับการศึกษาวิชาการทหารเรือตามแบบตะวันตก คือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงวางรากฐานความเจริญให้กับกองทัพเรือไทย รวมไปถึงการจัดหาเรือดำน้ำประจำการเพื่อป้องกันการรุกรานของต่างชาติ เนื่องจากเรือดำน้ำมีศักยภาพในการลอบโจมตีกองเรือผิวน้ำที่มีกำลังรบสูงกว่า
ชาติที่เคยสูญเสียอธิปไตยหรือมีบทเรียนจากการถูกคุกคามจากศตรูในอดีต เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งชาติช้าที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก สิงคโปร์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ในสมัยอาณานิคมมีสภาพเป็นหมู่เกาะของจักรวรรดิ ถูกตั้งให้เป็นสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกใน พ.ศ.2362 และกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ใน พ.ศ.2367 เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์ถูกขับออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียและก่อตั้งเป็นประเทศใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2508 ตั้งแต่นั้นมาสิงคโปร์พัฒนาอย่างรวดเร็วภายใต้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีอย่างจำกัด กรณีประเทศเวียดนาม ถูกฝรั่งเศสที่ควบคุมปกครองประเทศ ทำลายโครงสร้างทางสังคมเดิม โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองท้องถิ่นกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้าน ทำให้เวียดนามอ่อนแอและเกิดสงครามภายในชาติ การแทรกแซงจากต่างชาติตามมาอีกเป็นเวลานานหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส หรือ กรณีประเทศอินโดนีเซีย การเข้าควบคุมเกาะชวาเพื่อครอบครองพืชเครื่องเทศของดัชน์ และผูกขาดการขายสินค้า ทำให้คนพื้นเมืองยากจนลง จนเกิดการลักลอบขายสินค้าและเป็นโจรสลัด ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เหตุใดชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ที่เคยประสบปัญหาการสูญเสียเอกราชของชาติ หรือความมั่นคงของชาติถูกทำลาย จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านความมั่นคง นำการพัฒนาประเทศทางด้านอื่นๆ รวมไปถึงการจัดหาเรือดำน้ำประจำการเพื่อคุ้มครองอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์ทางทะเล
การจัดหาเรือดำน้ำของไทยในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ.2478 – 2481) ประสบความสำเร็จ อาจวิเคราะห์ได้ว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม และได้รับบทเรียนจากการรุกรานของฝรั่งเศสในอดีต ความมั่นคงของชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ทำให้เกิดฉันทามติของคนในชาติ (แม้จะมีผู้สร้างข่าวลือทางลบภายหลังว่าขณะนำเรือดำน้ำกลับมาประเทศไทย เครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ ต้องลอยลำเหนือน้ำตลอดเวลาก็ตาม)
ความสำคัญของเรือดำน้ำต่อความมั่นคงของชาติ แบ่งออกได้ 2 ด้าน คือ การปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเล (จากสงครามหรือการรุกรานจากชาติอื่น) และการป้องกันภัยการก่อการร้าย
จุดอ่อนทางด้านความมั่นคงของไทย ด้านฝั่งอ่าวไทย กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (2558) วิเคราะห์ว่าอ่าวไทยมีลักษณะกึ่งปิด (Semi Enclosed Sea) มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งเข้ามา ห้อมล้อมด้วยน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่างๆ 2 ชั้น คือ อ่าวไทยชั้นนอก ประกอบด้วยประเทศจีน อินโดนีเซีย และทางด้านตะวันตกประกอบด้วยประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งทุกประเทศมีการพัฒนากำลังกองเรือดำน้ำตลอดเวลา ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ที่ยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการ
อ่าวไทยชั้นใน ถูกห้อมล้อมด้วยน่านน้ำประเทศกัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย มีลักษณะถูกปิดอ่าวได้ง่าย และเป็นเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศได้ ในอดีตศตรูได้อาศัยจุดอ่อนนี้ ในการรุกรานประเทศไทย เช่น ฝรั่งเศสนำกองเรือมาปิดอ่าวไทย 2 ครั้ง ใน พ.ศ.2436 (กรณี ร.ศ.112) แต่เมื่อมีไทยมีเรือดำน้ำประจำการ ฝรั่งเศส อังกฤษ จึงไม่ใช้ปิดอ่าวอีกต่อไป แต่จะใช้ปฏิบัติการเรือดำน้ำและเรือรบโจมตีเรือสินค้าของไทย ญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานทัพเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรฝั่งอ่าวไทย คือ ฐานทัพเรือเรียม ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนน่านน้ำที่โอบล้อมประเทศไทยอยู่ การที่ประเทศเพื่อนบ้าน อ่าวไทยชั้นในของไทย มีเรือดำน้ำประจำการในปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยที่ควรนำมาวิเคราะห์ในด้านความมั่นคงของประเทศไทยด้วย
นักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 52 (ม.ป.ป.: 19 - 36) วิเคราะห์ศักยภาพการรบของประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณี Worst Case (การเกิดข้อพิพาท – สงคราม) ในส่วนของเรือดำน้ำไว้ว่า ประเทศมาเลเซียในปัจจุบันมีการพัฒนาประเทศหลายด้าน รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพทางด้านการทหารสู่ความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มจำนวนเรือดำน้ำประจำการ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีความกังวลและเริ่มพัฒนากองทัพในลักษณะแข่งขันมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เรือดำน้ำมาเลเซียมีศักยภาพในการขัดขวางเส้นทางเดินเรือของไทยสู่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมถึงสามารถแทรกซึมทางทะเลและลิดรอนกำลังทางเรือของไทย ประเทศเวียดนามมีเรือดำน้ำที่อาจขัดขวางเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่จะเข้าสู่อ่าวไทย และการเดินทางของไทยออกสู่ทะเลจีนใต้
ในปัจจุบัน การคานดุลอำนาจ (Arm Racing) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรือดำน้ำมีบทบาทสูงขึ้น แต่ประเทศไทย ซึ่งมีอาณาเขตทางทะเลมกกว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของอาณาเขตประเทศ มีเพียงเครื่องบินรบและเรือผิวน้ำ ในการป้องกันอธิปไตยของชาติ และการลาดตระเวนคุ้มกันผลประโยชน์ทางทะเล ทั้งที่มีบทเรียนจากการสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าพื้นที่ใต้น้ำของไทยถูกรุกรานจากสงครามใต้น้ำ จากเรือดำน้ำหลายครั้ง พลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช ระบุว่าว่าเครื่องบินรบไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเรือดำน้ำในการทำสงครามใต้น้ำ หรือสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ จากสถิติการจมเรือ โดยที่เครื่องบินรบไม่ได้มีบทบาทตรวจสอบและสะกัดกั้นมากเท่าที่ควร ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี ระบบระบายอากาศภายในเรือ Snort System หรือระบบขับเคลื่อน Air Independent Propulsion (AIP) ทำให้เรือดำน้ำสามารถดำใต้น้ำเป็นระยะเวลานาน ไม่ต้องลอยลำขึ้นเหนือน้ำเพื่อชาร์ตแบตตารี่เหมือนเรือดำน้ำรุ่นสงครามโลก การตรวจหาเรือดำน้ำและต่อต้านปฏิบัติการเรือดำน้ำจะซับซ้อนละเอียดอ่อนมากขึ้น
จุดอ่อนทางด้านความมั่นคงของไทย ฝั่งอ่าวไทย แม้จะไม่มีลักษณะเป็นอ่าวที่ถูกปิด หรือขัดขวางทางเข้าออกได้ง่ายเหมือนอ่าวไทย กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (2558) ระบุว่า น่านน้ำไทยฝั่งอันดามัน มีการลักลอบค้าอาวุธและนำอาวุธทำลายล้างสูงเข้ามาในประเทศ ทางเรือประมง จากประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง อาวุธบางส่วนถูกนำมาใช้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง น.อ.ภุชงค์ ประดิษฐธีระ (2555: 44) ระบุว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการก่อการร้าย อันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 12 ของโลก ซึ่งค่อนข้างสูง แม้ว่าการก่อการร้ายในประเทศไทย มักเป็นปฏิบัติการบนบก แต่เส้นทางเดินเรือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ศักยภาพในการก่อการร้ายเพิ่มสูงขึ้น
ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของชาติ: เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่าการจัดหาเรือดำน้ำไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการโฆษณาชวนเชื่อผิดๆที่ว่าการจัดซื้ออาวุธจะเป็นตัวบั่นทอนให้เศรษฐกิจของชาติตกต่ำลง ประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ – ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับในการมีเรือดำน้ำประจำการ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเรือดำน้ำเป็นยานที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติงานทางด้านความมั่นคงโดยเฉพาะ และมีชั้นความลับในการทำงาน ไม่ใช่ยานที่ทำหน้าที่ขนส่งโดยทั่วไป เหมือนเรือสินค้า เครื่องบิน หรือยานอื่นๆ ซึ่งทำให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เป็นที่ประจักษ์และจับต้องได้ (ยกตัวอย่างเรือกลไฟ ซึ่งนำมาใช้แทนเรือใบ ทำให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น) การปฏิบัติงานของเรือดำน้ำ จึงเหมือนการปิดทองหลังพระ ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคงขึ้น แต่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้เหมือนสิ่งอื่น
ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการจัดหาเรือดำน้ำประจำการของไทย ในมุมมองของผู้เขียนแบ่งได้ 2 ประเด็น คือ 1. เรือดำน้ำมีบทบาทสำคัญในการการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ และ 2. เรือดำน้ำมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือทางทะเลสำคัญของชาติ
1. เรือดำน้ำกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล: สภาความมั่นคงแห่งชาติ (2558) วิเคราะห์ว่า เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก มีอาณาเขตติดต่อมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก และช่องแคบมะละกา เส้นทางเดินเรือสำคัญในปัจจุบัน ประเทศไทยจึงตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน 2 แง่มุม คือ เป็นแหล่งของทรัพยากร ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของภูมิภาค
พื้นที่ทางทะเลของไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของทรัพยากรทางทะเล มีเนื้อที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ รวมเนื้อที่ 323,488.32 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ในอ่าวไทย 202,676.20 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในทะเลอันดามัน 120,812.12 ตารางกิโลเมตร ความยาวของชายฝั่งทะเลไทยจากอ่าวไทยถึงอันดามัน รวม 2,614 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด เกาะจำนวน 936 เกาะ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2556: 16 และ Editions Didlier Miller, 2015: 69) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือทั้งสิ้น
สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2558) ระบุว่ามูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย มีมากถึง 7.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (2558) ประเมินผลประโยชน์ทางทะเลของไทยสูงกว่า คือไม่ต่ำกว่า 17.9 ล้านล้านบาทต่อปี ใน พ.ศ.2555 และ 24 ล้านล้านบาทต่อปี ใน พ.ศ.2557 ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ ประกอบด้วยมูลค่าจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งทรัพยากรที่มีชีวิต เช่น สัตว์ – พืชน้ำ และทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต
1. ทรัพยากรที่มีชีวิต การประมง นำรายได้ที่มหาศาลมาสู่ประเทศไทยต่อปี และเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกองประมงไทยเคยติดอันดับ 8 ของโลก (สภาความมั่นคงแห่งชาติ, 2558)
2. ทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต มีเช่น ปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 แหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมากที่สุดอ่าวไทย ประมาณร้อยละ 76 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน (บนบกพบจำนวนน้อย) โดยก๊าซธรรมชาติถูกค้นพบในอ่าวไทยครั้งแรกโดยบริษัทยูโนแคล เมื่อ พ.ศ.2516 ที่แหล่งเอราวัณ ปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล ไพลิน บงกช อาทิตย์ จักรวาล และฟูนาน ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เหล่านี้ช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยถูกลง ส่งผลให้การผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม หรือการประกอบธุรกิจต่างๆของไทยมีต้นทุนที่ถูกลงด้วย หากอ่าวไทยถูกกองกำลังต่างชาติคุกคาม แหล่งปิโตรเลียมถูกยึดครอง จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของชาติอย่างมาก
2.2 แหล่งน้ำมันดิบ แม้ว่าน้ำมันดิบที่มีการค้นพบในประเทศไทยบนบกมีปริมาณมากกว่าในทะเล การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งในทะเลใช้ในประเทศมีปริมาณสูงเพิ่มขึ้น จากสถิติ พ.ศ.2556 แหล่งน้ำมันดิบในทะเลมีปริมาณการผลิตสูงกว่าแหล่งบนบกประมาณสามเท่า โดยแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น แหล่งยะลา สงขลา สุราษฎร์ บัวหลวง เบญจมาศ ทานตะวัน จัสมิน บานเย็น ปลาหมึก และกะพง อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ 3. สถิติการผลิตปิโตรเลียมของไทย พ.ศ.2556 แหล่งในทะเล ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 91,230 บาร์เรล ต่อวัน ต่อวัน และผลิตน้ำมันดิบได้ 111,200 บาร์เรล ต่อวัน ในขณะที่แหล่งบนบก ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 380 บาร์เรล ต่อวัน และผลิตน้ำมันดิบได้ 37,800 บาร์เรล ต่อวัน แสดงให้เห็นว่าปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในทะเลสูงกว่าบนบก 20, 200, และ 3 เท่า ตามลำดับ (กรมธุรกิจพลังงาน, 2556 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน, 2559 และ Editions Didlier Miller, 2015: 48, 67)
ภาพประกอบ 8 : ภาพแสดงระบบปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ที่มา: สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล, 2559
บทบาทของเรือดำน้ำในการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล : เนื่องจากแต่ละประเทศมีต้นทุนทรัพยากรในประเทศที่ต่างกัน ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (2554: 28) วิเคราะห์ว่าประเทศมหาอำนาจที่ได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี (เช่นมีกำลังรบที่ทันสมัย และเทคโนโลยีการผลิต) จะพยายามแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์ทางทะเล ทำให้เกิดการพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองพื้นที่ทางทะเล กรณีของเรือดำน้ำในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 3 ประเด็น คือ
1. กรณีพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในปัจจุบันกรณีพิพาทสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ นาวาเอกดุลวัฒน์ เชาวน์ดี (2558) ระบุว่าทะเลจีนใต้มีสภาพเป็นทะเลกึ่งปิด ที่ล้อมรอบด้วย 8 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บูรไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) ผลประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่ มีเช่น สัตว์น้ำ เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำในปริมาณสูงถึงร้อยละ 10 ของสัตว์น้ำที่จับได้รวมทั่วโลก ปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ (แม้ว่าปริมาณปิโตรเลียมยังเป็นการคาดคะเน ไม่ชัดเจน) พื้นที่พิพาทมี 2 จุดหลัก คือ
1. หมู่เกาะสแปรตลีย์ และแนวหมู่เกาะ โขดหินและปะการังด้านตะวันออกของทะเล ชาติที่อ้างสิทธิครอบครอง คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ 2. หมู่เกาะพาราเซล ทางด้านตะวันตกของทะเล ชาติที่อ้างสิทธิครอบครอง คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และเวียดนาม พบว่านอกจากประเทศคู่ขัดแย้งจะส่งเรือรบผิวน้ำ เช่น เรือตรวจการณ์ออกลาดตระเวน คุกคาม จับกุม หรือแม้กระทั่งยิงเรือประมงของชาติคู่ขัดแย้งที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่อ้างสิทธิ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปฏิบัติการณ์ของเรือตรวจการณ์ของจีนแผ่นดินใหญ่ กรณียิงเรือประมง เกิดเมื่อ พ.ศ.2556 เกิดจากเรือตรวจการณ์ยามฝั่งของฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างว่าเรือประมงไต้หวันพยายามพุ่งเข้าชนเรือตรวจการณ์ก่อน) มีการส่งเรือดำน้ำออกปฏิบัติการร่วมกับเรือผิวน้ำในพื้นที่พิพาท ที่ตรวจจับได้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2552 เรือพิฆาต USS John S McCain รายงานว่าเรือดำน้ำจีนแล่นชนโซนาร์ลากท้ายของเรือพิฆาตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
นาวาโท Aaron Beng แห่งกองทัพเรือสิงคโปร์ (2014) วิเคราะห์การพัฒนากำลังรบของชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไว้เช่น ประเทศอินโดนีเซีย เป็นชาติที่ประจำการเรือดำน้ำนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน โดยเริ่มพัฒนากำลังรบใต้น้ำตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 (ไม่นับประเทศไทยเนื่องจากปัจจุบันไม่มีเรือดำน้ำประจำการ – ผู้เขียน) อินโดนีเซียจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำประจำการประมาณ 10 ลำ เพื่อให้เพียงพอต่อการลาดตระเวนในน่านน้ำของตนเอง และใช้เป็นเรือฝึกหัดสำหรับนักเรือดำน้ำ Aaron Beng ระบุว่าประเทศอินโดนีเซีย มีอาณาเขตทางทะเล (maritime territory) ที่กว้างไกล และการมีลงทุนสูง ในการป้องปรามภัยคุกคามทางทะเล การพัฒนากองเรือผิวน้ำให้มีขนาดที่เหมาะสม สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลได้ทั่วถึง ลักษณะเด่นของเรือดำน้ำในการพรางตัวจะทำให้การป้องปรามที่ประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศมาเลเซีย ภารกิจหลักของกองทัพเรือมาเลเซีย คือ การป้องกันผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (maritime interests) ทั้งในยามสงบและเมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับชาติอื่น ซึ่งในปัจจุบัน มีอยู่ 2 พื้นที่ คือ 1. กรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ กับสาธารณรัฐประชาชนจีน บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มาเลเซียได้ส่งเรือรบลาดตระเวนบริเวณชายฝั่ง Ardasier แนวปะการัง Mariveles และแนวปะการัง Swallow 2. กรณีพิพาทหมู่เกาะกระและเกาะโลซิน กับประเทศไทย การพัฒนากำลังรบทางเรือของประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย การจัดหาเรือดำน้ำชั้น Scorpene Class จากฝรั่งเศสเข้าประจำการ จำนวน 2 ลำ ซึ่งสามารถสนับสนุนกองเรือผิวน้ำเดิม ซึ่งประกอบด้วย เรือฟริเกต คอร์เวจ และเรือลาดตระเวนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อน นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก กล่าวว่า “ขีดความสามารถที่สูงและทันสมัยของกองทัพเรือมาเลเซีย จะไม่เพียงช่วยป้องกันประเทศทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำ แต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวมาเลเซียว่าอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจะได้รับการคุ้มครอง
นอกจากนี้ ในส่วนของมหาอำนาจ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน การสร้างเรือดำน้ำจำนวนมาก (ซึ่งจีนเป็นชาติที่ผลิตเรือดำน้ำเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศน้อย คล้ายคลึงกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่ผลิตเรือดำน้ำส่งออกเลย แต่เพื่อนำเข้าประจำการในกองทัพเรือ ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเรือดำน้ำประจำการจำนวนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และผลิตเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีเหนือ) การแข่งขันสร้างกองเรือดำน้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนข้างต้นเป็นผลมาจากความพยายามที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของชาติที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ (Zachary Keck, 2013)
2. ในปัจจุบันชาติมหาอำนาจนิยมสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่มีความทนทะเล สามารถลาดตระเวนในมหาสมุทรได้เป็นระยะทางไกล เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตนเองที่มีอยู่ทั่วโลก
แต่การปฏิบัติการเป็นไปในทางลับ (แม้จะมีส่วนคล้ายคลึงกับการสร้างกองเรือรบผิวน้ำของขนาดใหญ่ของชาติมหาอำนาจ ในยุคอาณานิคม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในดินแดนโพ้นทะเลก็ตาม) แม้ว่าตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Convention on the Territorial Sea and Contiguous Zone) ปี 1958 (พ.ศ.2501) เมื่อเรือแล่นเข้าเขตน่านน้ำของประเทศอื่น จะต้องได้รับการอนุญาตก่อน หากเป็นเขตที่สามารถแล่นผ่านโดยสุจริต (innocent passage) จะต้องแสดงธง ตามอนุสัญญานี้ มาตราที่ 14 ข้อที่ 6 เรือดำน้ำเมื่อแล่นเข้าเขตดังกล่าวจะต้องลอยลำขึ้นเหนือน้ำและแสดงธงเช่นกัน (พลเรือเอกสุริยะ พรสุริยะ, สัมภาษณ์: 20 ธันวาคม 2559 และ United Nations, 2005) แต่จะพบเรือดำน้ำชาติต่างๆออกปฏิบัติการในทางลับเข้าไปในน่านน้ำประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศคู่ขัดแย้ง จนมีการประท้วงเกิดขึ้นเสมอ
3. เรือดำน้ำประเภทที่ไม่ติดตั้งอาวุธ ได้ถูกนำมาใช้ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทะเล และทำงานวิจัยทางสมุทรศาสตร์ เช่น เรือดำน้ำวิจัย (research submarine) หรือเรือดำน้ำสำหรับปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (scientific submarine)
2. เรือดำน้ำมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือทางทะเลสำคัญของชาติ : สภาความมั่นคงแห่งชาติ (2558) ระบุว่ากิจกรรมที่ทำให้ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยเกิดมูลค่ามากที่สุดคือการขนส่งทางทะเล ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้ามูลค่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นหากการขนส่งทางทะเลของไทยถูกขัดขวาง จะเกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจของชาติอย่างมาก กรณีศึกษาในการใช้เรือดำน้ำในการคุ้มครองเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เด่นชัด คือ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีอาณาเขตทางทะเลครอบคลุมเส้นทางเดินเรือสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล คือ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องแคบลอมบ็อก นักวิชาการทางด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการจัดหาเรือดำน้ำประจำการของชาติเหล่านี้ เพื่อคุ้มครองเส้นทางเดินเรือ คานดุลอำนาจระหว่างกัน และสร้างความมั่นใจให้กับเรือเดินสมุทรที่ผ่านช่องแคบดังกล่าว โดยมีปัจจัยเสริมมาจากชาติซึ่งต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือนี้ในการค้าขายขนส่งสินค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย Zachary Keck (2013) วิเคราะห์ว่าทำให้เกิดการแข่งขันสร้างกองเรือดำน้ำของประเทศเหล่านี้เช่นกัน รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะช่องแคบมะละกา ซึ่งมีเรือสินค้าใช้เส้นทางผ่านประมาณห้าหมื่นลำต่อปี บรรทุกสินค้าร้อยละ40 ของสินค้าทางเรือทั่วโลก และมีสินค้าสำคัญคือน้ำมันปิโตรเลียม ข้อมูล พ.ศ.2536 จากหน่วยงาน Energy Information Agency ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ระบุว่าปริมาณน้ำมันปิโตรเลียมร้อยละ 20 ของโลก ถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้ทุกวัน ประเทศในเอเชียที่ต้องพึ่งพาช่องแคบมะละกา ในการขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมสูง คือ ญี่ปุ่น และจีน ที่นำเข้าน้ำมันร้อยละ 90 และ 80 ของประเทศผ่านเส้นทางเดินเรือนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงผ่านเส้นทางเดินเรือทะเล จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จีนพยายามแผ่ขยายอำนาจในทะเล และมักใช้เรือดำน้ำออกปฏิบัติการนำควบคู่กับเรือผิวน้ำ เสมอเมื่อเกิดความอ่อนไหว กรณีพิพาทน่านน้ำในภูมิภาค รวมไปถึงความพยายามพัฒนาศักยภาพเรือดำน้ำของประเทศเพื่อนบ้านของไทยข้างต้น
กรณีศึกษาของการจัดหาเรือดำน้ำประจำการเพื่อคุ้มครองเส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สำคัญของชาติ คือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง นาวาโท Aaron Beng (2014) วิเคราะห์ว่า มีลักษณะทางภูมิศาสตร์แตกต่างจากชาติอื่นๆในอาเซียนตรงที่มีพื้นที่ดินน้อย รายได้หลักของชาติมาจากทำการค้า ธุรกิจกับต่างชาติ จึงต้องพึ่งพาการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก สิงคโปร์กำลังเข้าสู่ยุคทองของประเทศในศตวรรษที่ 21 จึงต้องพัฒนากำลังรบทางเรือเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือ (sea line of communication) และการค้า เช่น เรือฟริเกตชั้น Formidable Class จำนวนหกลำ ซึ่งติดตั้งอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันทางอากาศ ผิวน้ำ และทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ เครื่องบิน Seahawk S70B ซึ่งสามารถปฏิบัติการร่วมกับเรือดำน้ำในการต่อต้านเรือผิวน้ำและ เรือดำน้ำ ในส่วนของเรือดำน้ำ กองทัพเรือสิงคโปร์เริ่มมีการจัดหาเรือดำน้ำในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ตามแนวคิดการปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้มีความทันสมัย กองทัพเรือสิงคโปร์มีเรือดำน้ำประจำการประกอบด้วย เรือดำน้ำมือสองชั้น Sjoorman Class และ ชั้น Vastergotland ของประเทศสวีเดน และมีโครงการสั่งซื้อ เรือดำน้ำ Type 218SG พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพเรือดำน้ำมือสองทั้งสองรุ่นนี้ เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา ซึ่งมีกรณีพิพาทกับชาติอื่นในปัจจุบัน
ในส่วนของประเทศไทย นักวิชาการทางเศรษฐกิจไทยหลายท่าน ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าการขนส่งทางทะเล เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ม.ป.ป.) ซึ่งระบุว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (GDP) ของประเทศไทย ประกอบด้วย 7 ส่วนหลัก คือ การส่งออกสินค้า การนำเข้าสินค้า การบริโภคภายในประเทศ การใช้งบประมาณของรัฐบาล การลงทุนภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการเกษตรในประเทศ
การนำเข้าและการส่งออกสินค้า มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมากที่สุด ซึ่งเส้นทางหลักในการนำเข้าและส่งออกสินค้า คือ เส้นทางเดินเรือทะเล จากข้อมูลสถิติ พ.ศ.2553 GDP รวมของประเทศ 9.39 ล้านล้านบาท การนำเข้าและการส่งออกสินค้า คิดเป็นร้อยละ 61.34 และ 58.79 ตามลำดับ มีผลต่อเศรษฐกิจรวมของไทยร้อยละ 120 ของ GDP ใน พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้า มูลค่ารวม 255 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกากลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยประเภทของสินค้าส่งออกที่มีปริมาณสูงสุด 4 อันดับแรก คือ ประกอบด้วย ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเล ข้าวและยางพารา ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยนำเข้าสินค้า ใน พ.ศ. 2557 มูลค่า 96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากประเทศญี่ปุ่น จีน กลุ่มสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศอาเซียน สินค้านำเข้าที่มีปริมาณมากที่สุด 6 อันดับแรก คือ สินค้าสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค-บริโภค อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรกล น้ำมันดิบ และแร่โลหะ (Editions Didlier Millet, 2015: 132) ซึ่งการขนส่งสินค้าเหล่านี้ใช้เส้นทางเดินเรือเป็นหลัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนส่งทางบก และสามารถขนส่งได้ในปริมาณมาก
ดร.ธนิต โสรัตน์ วิเคราะห์ว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย ผูกติดกับเส้นทางการขนส่งทางทะเล จากข้อมูลของ WTO สินค้าอุตสาหกรรมของไทย ที่ส่งออกเป็นมูลค่าสูงที่สุด 6 อันดับแรก คือ อุปกรณ์อีเลคทรอนิค – สำนักงาน ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจร-ชิ้นส่วนอีเลคทรอนิค เหล็ก อุปกรณ์คมนาคม และสิ่งทอ – เครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นมูลค่ารวม 1,848,037.6 ล้านบาท
จากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเมื่อเปิดเสรีอาเซียน การสร้างความมั่นคงปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือในทะเล จึงต้องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรือดำน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งซึ่งชาติที่มีผลประโยชน์ทางทะเลสูง และพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลักนำมาใช้เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและสร้างความมั่นคงทางทะเล
กรณีศึกษาเกี่ยวกับสงครามทางเรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และบทบาทของเรือดำน้ำ: ผู้เขียนขอนำกรณีการปิดอ่าวประเทศเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมานำเสนอ เนื่องจากเยอรมันและในมีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน ประเทศเยอรมันมีท่าเรือสำคัญ เช่น Kiel ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวโค้งเข้ามา ถูกปิดอ่าว (blockade) ได้ง่าย อังกฤษนำกองเรือรบมาปิดอ่าวเยอรมัน ไม่ให้เรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสารเข้าออกได้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับเยอรมันอย่างรุนแรง ซึ่งเยอรมันประณามการกระทำของอังกฤษว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวเยอรมันอดตาย (strave to death) อย่างไรก็ตามเยอรมันมีกองเรือรบผิวน้ำขนาดเล็กกว่าอังกฤษ ยากที่จะเอาชนะได้โดยง่ายหากเข้าปะทะกัน จึงเป็นสาเหตุให้เยอรมันเริ่มผลิตเรือดำน้ำจำนวนมากเพื่อทำลายกองเรือปิดอ่าว และโจมตีเรือของฝ่ายฝ่ายสัมพันธมิตรที่ขนส่งเสบียงสินค้าให้กับอังกฤษ (Glenn W. Moon & John H. MacGowan, 1957: 571 – 572)
ภาพประกอบ 9 : แผนที่แสดงการปิดอ่าวเยอรมัน ของกองเรืออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มา : Epic History TV, 2016.
ภาพประกอบ 10 : แผนที่แสดงการทำสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัด (unrestricted submarine warfare) ของเยอรมัน เพื่อขัดขวางการขนส่งเสบียงของฝ่ายสัมพันธมิตรให้กับประเทศอังกฤษ
ที่มา : Epic History TV, 2016.
ในปัจจุบันหากเกิดสงคราม ประสิทธิภาพในการโจมตีของเรือดำน้ำจะสูงขึ้นกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง เนื่องจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้เรือดำน้ำสามารถดำใต้น้ำได้เป็นเวลานาน ตรวจจับได้ยากขึ้น และอาวุธมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งระยะการยิงและอานุภาพในการทำลาย
บทบาทหน้าที่ของเรือดำน้ำ
แบ่งออกได้เป็น เชิงรุก (Offensive) และเชิงรับ (offensive)
1. ในทางด้านเชิงรุก เช่น การเสริมสร้างสมุททานุภาพ สุรชาติ บำรุงสุข วิเคราะห์ว่าเรือดำน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งของชาติมหาอำนาจ ประเด็นที่เด่นชัด คือ ในยามสงบ มีการเสริมสร้างกำลังรบทางด้านสงครามใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อคานดุลย์อำนาจกัน โดยเฉพาะในทะเล แปซิฟิค รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง สหรัฐอเมริกา และจีนแผ่นดินใหญ่ หรือในการสงคราม พลเรือเอกสุริยะ พรสุริยะ (สัมภาษณ์: 15 กรกฎาคม 2559 และ 21 ตุลาคม 2559) ระบุว่าเรือดำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ ที่มีไว้เพื่อป้องปรามและถ่วงดุลย์กำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และจากคุณสมบัติพิเศษของเรือดำน้ำที่สามารถปฏิบัติหลากหลายภารกิจ ในหลากหลายพื้นที่ แม้กระทั่งพื้นที่ซึ่งมีการป้องกันแน่นหนา
ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา เรือดำน้ำได้ถูกพัฒนาจากจุดประสงค์เดิมแรกเริ่ม ที่เป็นอาวุธทางเลือกของชาติที่ด้อยกว่าในการลอบทำลายกองเรือรบศตรูที่มีขนาดใหญ่กว่า ที่มาปิดอ่าว เป็นอาวุธหลักการการปฏิบัติการ โดยเฉพาะในน่านน้ำของศตรูที่มีการตรวจตราทางอากาศและผิวน้ำแน่นหนา รวมถึงสนับสนุนการรบของกองเรือ ในยุคสงครามเย็น เรือดำน้ำถูกพัฒนาให้เป็นอาวุธที่อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดในการแพ้ ชนะสงคราม ได้ เมื่อมีการพัฒนาขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิเคลียร์ระยะไกล (Ballistic Missile submarine) ติดตั้งในเรือดำน้ำ เพื่อคานดุลย์อำนาจระหว่างขั้วเหนือและขั้วใต้ อาจกล่าวได้ว่า อันตรายกว่า ขีปนาวุธภาคพื้นดิน เพราะค้นหาได้ยาก (อาวุธซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดในการชนะสงคราม เช่น การพัฒนาเรือรบเหล็กติดตั้งปืนใหญ่ มาใช้แทนเรือรบไม้แบบเรือใบ และยุทธนาวีที่เป็นจุดเปลี่ยนจากยุคเรือรบแบบเรือใบเป็น การใช้รถถังโจมตีกองทหารม้าคอเซ็ก การใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีฮิโรชิม่า นางาซากิ ทำให้เพื่อยุคิสงครามโลกครั้งที่สองภาคพื้นแปซิฟิค
2. ด้านการป้องกันประเทศ (เชิงรับ) ในส่วนของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการส่วนใหญ่วิเคราะห์เป็นไปในเชิงป้องกัน (defensive) มากกว่าการแข่งขันทางด้านอาวุธ พลเรือเอกสุริยะ พรสุริยะ (สัมภาษณ์: 15 กรกฎาคม 2559 และ 21 ตุลาคม 2559) วิเคราะห์แม้ว่าในปัจจุบันเรือดำน้ำจะไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติการโดยตรงเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลชัดเจนเหมือนเรือผิวน้ำ ขีดความสามารถที่หลากหลายของเรือดำน้ำ ทำให้กองทัพเรือสามารถใช้สนับสนุนในภารกิจด้านความมั่นคงทางทะเลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการหาข่าวและเฝ้าตรวจความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงทางทะเลโดยที่ไม่จำเป็นต้องเผยตัวให้เป้าหมายรู้ตัว
เนื่องจากในปัจจุบันกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการจริง และว่างเว้นการมีเรือดำน้ำนานถึง ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 หากมีสงครามใต้น้ำเกิดขึ้น กรมยุทธศึกษาทหารเรือได้ประเมินว่า “กองทัพเรือได้มีโอกาสฝึกปราบเรือดำน้ำจริงน้อยมาก เพราะต้องอาศัยเรือดำน้ำต่างชาติพันธมิตร ฉะนั้น การฝึกส่วนใหญ่จะดำเนินการในลักษณะฝึกปราบเรือดำน้ำสมมุติ (SIMULATE) ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการฝึกซ้อมของนักฟุตบอลที่ไม่มีลูกฟุตบอลไว้ซ้อมเตะ ดังนั้น ขีดความสามารถของเรือปราบเรือดำน้ำของ กองทัพเรือย่อมจะไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดเท่าที่ควรจะเป็นได้”
- นักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 52 และคณะ (มปป: 19 - 22) วิเคราะห์ว่าในการเปิดเสรีอาเซียน การรวมตัวของชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลได้ลงตัว เช่น แหล่งขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซีย ไทยมีกรณี พิพาททางทะเล กับกัมพูชา ซึ่งไม่มีเรือดำน้ำ ภัยที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีอาเซียน คือ ภัยการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งใช้เส้นทางเรือระหว่างประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการก่อการร้าย แม้จะไม่เคยมีปฏิบัติการโจมตีฐานทัพเรือของไทยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่มีการประเมินว่า ฐานทัพเรือในภาคใต้ ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย และใช้มาตราการเฝ้าระวัง ประดาน้ำ และการรบนอกรูปแบบ ช่น เรือประมงติดอาวุธลาดดตระเวน
อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีพิพาทอาณาเขตทางทะเล หรือสงครามที่ไม่คาดหมาย (unexpected war) ขึ้น ชาติที่มีเรือดำน้ำย่อมได้เปรียบ เนื่องจากสามารถทำการสงครามใต้น้ำ (undersea warfare) ได้มีประสิทธิภาพกว่า
- พลเอกประพัฒน์ จันทวิรัช ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดกำลังรบของกองทัพเรือไทยในอนาคต ว่า “ปัญหาที่ว่ากองทัพเรือควรมีเรือชนิดใด ขนาดใด จำนวนเท่าใด ควรมีหน่วยงานสำหรับสนับสนุนใหญ่โตเพียงใด และควรมีอาวุธที่ทันสมัยสักเพียงใดนั้น เป็นปัญหาที่สามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ...อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยก็จะมีแท่นเจาะและสูบก๊าซจากใต้ทะเลแล้วส่งตามท่อใต้ทะเลขึ้นมาใช้บนบก กองทัพเรือก็จะต้องมี “ปัญหา” เพิ่มขึ้น เพราะจะต้องรับภาระคุ้มครองแท่นเจาะและสูบก๊าซ ตลอดจนท่อส่งก๊าซเหล่านี้ด้วย อันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ง่ายมากนัก แม้ประเทศใหญ่ๆเช่นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่สามารถแก้ได้โดยสมบูรณ์ และยังวิจัยหามาตรการที่ดีที่สุดอยู่จนทุกวันนี้ (ประพัฒน์ จันทวิรัช, พล.ร.อ., 2546: 125)
บทสรุป: อาจกล่าวได้ว่าความคิดในการมีเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือไทย เริ่มขึ้นพร้อมการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ (Naval Modernization) แสดงถึงความสำคัญและศักยภาพของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือเล็งเห็น
หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ในยุคเมจิ เริ่มพัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมตะวันตก (ด้วยเหตุผลเดียวกับไทยรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อพัฒนาตนเอง ให้รอดพ้นจากการการรุกรานของชาติล่าอาณานิคม) ญี่ปุ่นเริ่มแผนการจัดหาเรือดำน้ำตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ขณะที่ กองทัพเรือไทยเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำประจำการต่อรัฐบาล ครั้งแรกใน พ.ศ. 2553 ญี่ปุ่นมีเรือดำน้ำลำแรกประจำการเมื่อ พ.ศ. 2448 จากนั้นสามารถต่อเรือดำน้ำได้เองภายในประเทศครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2453 ประเทศไทยมีเรือดำน้ำประจำการครั้งแรก ใน พ.ศ.2481 แต่หลังจากเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ปลดประจำการ ประเทศไทยใช้เวลาเตรียมการยาวนานกว่า 80 ปี
สาเหตุหนึ่งที่การจัดหาเรือดำน้ำของไทยในอดีตล่าช้า เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการวางด้านยุทธศาสตร์ชาติ ทางด้านการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการป้องกันภัยความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะสงครามใต้น้ำ (Undersea Warfare) ตลอดจนขาดฉันทามติระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ทางทะเล ในขณะที่หลายชาติที่ผลประโยชน์ชาติทางทะเลของชาติสูง และมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางทะเล (เช่น ถูกปิดอ่าวได้ง่าย มีผลประโยชน์จากการเดินเรือในช่องแคบ) ให้ความสำคัญต่อการจัดเรือดำน้ำประจำการและการพัฒนาศักยภาพกำลังพล – อาวุธทั้งในการทำสงครามเรือดำน้ำและการต่อต้านเรือดำน้ำ
เหตุผลหนึ่งที่มักถูกนำมาใช้อ้างทุกครั้งในอดีตที่มีการจัดหาอาวุธของกองทัพ รวมไปถึงเรือดำน้ำ คือ ประเทศไม่ได้อยู่ภาวะสงคราม หรือไม่ได้กำลังเป็นคู่สงครามกับใคร ดังนั้นการมีเรือดำน้ำประจำการจึงสิ่งฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น ซึ่งเป็นความคิดแบบประมาท เนื่องจากชาติเพื่อนบ้านของไทยล้วนแต่มีเรือดำน้ำประจำการ การที่ประเทศไทยขาดศักยภาพในการทำสงครามใต้น้ำ จึงเป็นจุดอ่อนทั้งในการป้องกันปรามหรือตอบโต้ หากการเกิดรุกรานทางทะเล จากชาติที่มีความพร้อมสูงกว่า นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า สงครามครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด หรือไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เกิดจากเหตุการณ์ “น้ำผึ้งหยดเดียว” - การลอบสังหารมกุฎราชกุมารออสเตรียน – ฮังการี ในทางกลับกัน หากสงครามเกิดจากการวางแผนการล่วงหน้าไว้ก่อนของชาติผู้รุกราน ชาติที่เป็นเหยื่อหรือเป้าหมายการโจมตี อาจไม่สามารถรู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือได้รับ เช่น การรุกรานของกองทัพนาซีเยอรมันต่อชาติยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้วิธีการรบแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)โจมตียึดครองชาติต่างๆโดยไม่ให้ทันตั้งตัว วิธีที่ดีที่สุดคือการพัฒนาศักยภาพกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทัดเทียมชาติอื่นๆ และเตรียมพร้อมรบอยู่เสมอ
นอกจากนี้ คนไทยโดยทั่วไปยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามใต้น้ำ และบทบาทความสำคัญของเรือดำน้ำในการปกป้องอธิปไตยของชาติ (ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่าด้วยความเสรีของสื่อ ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องเรือดำน้ำสามารถออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรือดำน้ำอย่างแพร่หลาย สร้างความสับสนเข้าใจผิด กับคนในวงกว้างที่ยังไม่มีความเข้าใจในเรือดำน้ำดีพอ แต่เสียงของผู้มีประสบการณ์ตรงที่ทำงานทางด้านสงครามใต้น้ำ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำในน่านน้ำไทยกลับอ่อนกว่า)
เป็นที่ทราบกันดีว่าการต่อเรือดำน้ำใช้เทคโนโลยีสูงกว่าเรือผิวน้ำ และในเริ่มต้น มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องสูงกว่า เช่น การสร้างอู่เรือดำน้ำ เพราะไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการมานานประมาณ 65 ปี แต่การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการทหารเรือของชาติในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยมีกำลังรบที่พร้อมทุกมิติ ทั้งทางบก ทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ เพื่อป้องกันจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่างๆของชาติ เช่น อ่าวไทย ซึ่งมีลักษณะที่ง่ายต่อการถูกปิดอ่าว เป็นต้น
ในปัจจุบัน เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กองทัพเรือไทยพัฒนากำลังรบใต้น้ำอีกครั้ง ทั้งในด้านกำลังพลและอาวุธ ด้วยการจัดตั้งกองเรือดำน้ำและการฝึกฝนกำลังพล และจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ ในการตัดสินใจเลือกเรือดำประจำการของทุกชาติ ล้วนคำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มทุน เปรียบจากราคา ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและอายุการใช้งาน และเป็นที่เข้าใจกันว่า ราคาเรือดำน้ำที่แพงอาจไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง มาค่าจากเทคโนโลยี หากไม่ต้องการซื้อของแพงตลอดไป จะต้องมีการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ผลิต และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้เอง ซึ่งศักยภาพนี้ไม่สามารถกระทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และการลงทุนใช้เงินมาก แต่เป็นสิ่งที่กองทัพเรือต่างๆที่ความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ เป็นทางทะเลสูง ยุทธศาสตร์ทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย หรือเวียดนาม ล้วนวางแผนการในระยะยาว และกระทำ
บทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซียใช้เวลาเตรียมการในการจัดหาเรือดำน้ำและสร้างอู่ต่อเรือต่างๆ นานประมาณ 10 ปี ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 5 ปี จากการซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากสหรัฐอเมริกา จึงสามารถผลิตเรือดำน้ำลำแรกในประเทศโดยใช้วิศวกรจากบริษัทแม่ควบคุมงาน แต่จากนั้นอีกพียง 20 ปี สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง และผงาดขึ้นเป็นชาติชั้นนำในการต่อเรือดำน้ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเวียดนามในปัจจุบันประจำการเรือดำน้ำดีเซล – ไฟฟ้า ชั้น Kilo ของรัสเซีย และมีแผนการต่อเรือดำน้ำเองในประเทศ โดยได้รับเทคโนโลยีและวิศวกรสนับสนุนจากประเทศรัสเซียและญี่ปุ่น บทเรียนจากชาติเพื่อนบ้านเหล่านี้ เป็นแนวทางตัวอย่างที่ดี และเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้วทั้งในด้านกำลังพลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการต่อเรือผิวน้ำ – ยานยนต์ ที่ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าเทคโนโลยีการต่อเรือดำน้ำยังเป็นของใหม่สำหรับไทยในเวลานี้ก็ตาม
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรือดำน้ำจาก www.priceza.com