นักวิชาการตั้งคำถาม เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถมทะเล สร้างนวัตกรรมตรงไหน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตั้งคำถาม เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถมทะเล สร้างนวัตกรรมตรงไหน ด้านผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ แนะร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใช้ RIA เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบทั้งด้านบวก-ลบ ยันรธน.60บังคับใช้แล้ว รัฐต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย
วันที่ 26 เม.ย. 60 เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แถลงการณ์ เรื่อง การเรียกร้องให้รัฐบาลทำการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ณ มูลนิธิผู้บริโภค
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) โดยทั่วไป RIA เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ทั้งส่วนของต้นทุน และผลที่จะเกิดขึ้น จากกฎหมายนั้นๆด้วย คือเป็นการตรวจสอบผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ
“ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการวิจัย เรื่อง การวิเคราะห์ผลกระทบของการออกกฎหมาย หรือ RIA และได้เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการทำ RIA ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 77”
นางเพ็ญโฉม กล่าวถึงการอนุญาตให้ มีการเช่าที่ดิน 99 ปี นั้น เรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย หากต้องมีการทำเรื่องนี้ การนำ RIA เข้ามาใช้ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 บังคับใช้แล้ว ตามมาตรา 77 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
“ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป” นางเพ็ญโฉม กล่าว และว่า เพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐควรดึงร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ กลับมาให้ประชาชนได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษ หรือร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวพันกับหน่วยงานราชการไม่กี่กระทรวง แต่ไปเกี่ยวข้องกับประชาชน 70 กว่าล้านคน ฉะนั้นอยากจะเรียกร้องรัฐบาลว่า ถ้าเห็นว่าการร่างกฎหมายของท่านมีประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องของเศรษฐกิจ ท่านจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้เห็นว่า ตัวกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร ตามมาตรา 77 ที่ระบุไว้
ด้านนายกัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประชาชนภาคตะวันออก ไม่สามารถเข้าถึงร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้เลย นอกจากได้เห็นข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าจะมีพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แน่นอนจะต้องเริ่มจากการจัดการปัญหาที่มีอยู่เดิมของภาคตะวันออกก่อน ซึ่งตอนนี้มีปัญหาหลากหลายและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหามลพิษ คุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่แย่ลง หรือความเหลี่ยมล้ำของสังคม การเข้าถึงทรัพยากร แม้กระทั่งปัญหาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งประเทศหรือทั้งโลกด้วยคือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ภาคตะวันออกมีผลกระทบทางมลพิษหลักของประเทศไทย ซึ่งเห็นว่าต้องมีการเข้ามาจัดการเป็นอันดับแรก
นายกัญจน์ กล่าวต่อว่า ในการจัดการปัญหานั้นจะต้องไม่เพิ่มปัญหาใหม่หรือทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมสาหัสขึ้น ต้องคำนึงในมิติที่รอบด้านมากกว่าที่จะเน้นในด้านเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่เห็นร่วมกันคือ ต้องเสริมสร้างสภาวะที่เอื้อให้ชุมชนในภาคตะวันออก มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมไทยได้ ทั้งนี้มีพลเมืองมากมายที่ใส่ใจเรื่องพัฒนาภาคตะวันออก และจะเดินหน้าต่อเพื่อหาพันธมิตรที่มาร่วมกันสร้างภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษจริงๆและเกิดผลประโยชน์กับคนในพื้นที่อย่างจริงจัง สุดท้ายอนาคตของชาวตะวันออกจะเป็นอย่างไรนั้น เราชาวตะวันออกจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง
สุดท้าย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเงื่อนไขในการขอเช่าที่ดินของต่างชาติ แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่เช่าที่ดินไม่เกินกว่า 100 ไร่ และกรณีที่เช่าที่ดินเกินกว่า 100 ไร่ ถ้าเป็นเอกชนต่างชาติมาเช่าที่ดินกับรัฐจะเป็นเรื่องใหญ่อีกประเด็นหนึ่ง การที่รัฐบาลใช้สิทธิในแง่ของความเป็นรัฐ เช่น ใช้สิทธิในการเวนคืนที่ดิน สิทธิในการถมทะเล ใช้สิทธิเสร็จเรียบร้อย ก็นำสิทธินั้นมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เป็นนักลงทุน ซึ่งจริงๆแล้วไม่ควรทำ ถ้าเป็นนักลงทุนไทยก็ไม่ควรทำ ยิ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติก็ยิ่งมีคำถามเพิ่มขึ้นว่า ทำไมใช้อำนาจรัฐในการรอนสิทธิของประชาชนชาวไทย แล้วยกให้กับต่างชาติ ซึ่งคิดว่าไม่จำเป็น เป็นการนำสิทธิที่มีอยู่ในชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเขามีสิทธิโดยดั้งเดิมมาให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีสิทธิโดยดั้งเดิม รวมไปถึงการกำหนดเรื่องสัญญาเช่า เรื่องอัตราค่าเช่า ต้องให้สำนักงานฯ เป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง สิ่งนี้ก็ยิ่งทำให้เรามีความไม่สบายใจเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความเป็นต่างชาติที่เข้ามาเช่าที่ดิน
ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า การร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนั้น มีความเป็นห่วงในความคิดเรื่องของการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งคิดว่ารัฐบาลอาจไม่เข้าใจแนวทางในการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติในลักษณะเดียวกันกับที่มีการพูดถึงเรื่องประเทศไทย 4.0 เราถึงออกมาในแง่สัญญาเช่า 99 ปี จึงต้องออกมาในรูปแบบการถมทะเล
“จริงๆทั้งหมดนี้อยู่ในยุคประเทศไทย 3.0 รัฐบาลเองได้มีการพูดในหลายโอกาสว่า ทำมาแล้ว แต่มาถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่ากับดัก ซึ่งไปต่อไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับพยายามดำเนินการต่อ จากนั้นต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า เป็นเรื่องอะไรที่จะต้องมาพัฒนานวัตกรรมโดยต้องถมทะเล สามารถมีนวัตกรรมโดยไม่ต้องถมทะเลได้ไหม ทำไมรัฐบาลถึงต้องคิดเรื่องทะเลขึ้นมา ทั้งที่จะต้องทำในสิ่งที่เป็นนวัตกรรม”