กฤษฎีกาฟันธงสวน ส.ฟุตบอล!กก. กีฬาอาชีพวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ 3 ทีมไทยลีกถูกยุบ-จัดอันดับใหม่ได้
กฤษฎีกาฟันธงสวนทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยัน 3 ทีมดัง ‘ขอนแก่น-อาร์มี่-ชัยนาท’ ยื่นเรื่องทุกข์นายทะเบียนคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ปมถูกยุบทีม-จัดอันดับไทยลีกปี’59 ใหม่ ให้เปิดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อพิจารณาลงมติสามารถทำได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเผยแพร่คำวินิจฉัยกรณีการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งเรื่องให้ตีความว่า กรณีสโมสรฟุตบอล ขอนแก่น ยูไนเต็ด ร้องทุกข์ต่อนายทะเบียนคณะกรรมการกีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เป็นผู้พิจารณา กรณีถูกถูกระงับสมาชิกภาพ และสโมสรฟุตบอล อาร์มี่ ยูไนเต็ด กับสโมสรฟุตบอล ชัยนาท ฮอร์นบิล ร้องทุกข์ขอให้จัดอันดับการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพประจำปี 2559 ใหม่ โดยคณะกรรมการร้องทุกข์ได้วินิจฉัยเสร็จแล้ว และขอความร่วมมือสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้น
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ขออุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว ระบุว่า คำร้องทุกข์ของสโมสรฟุตบอลทั้ง 3 ทีมที่ร้องต่อนายทะเบียน ขัดต่อมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ที่ให้นำมาตรา 34 มาใช้บังคับกรณีสโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพใดไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำของสโมสรอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพอื่นด้วยโดยอนุโลม โดยมีบทเชื่อมโยงว่า นักกีฬาอาชีพหรือบุคลากรกีฬาอาชีพผู้ใดเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำของสโมสรกีฬาอาชีพ หรือสมาคมกีฬาอาชีพ ซึ่งต้นสังกัดหรืออยู่ นอกจากนี้การขอความร่วมมือให้จัดประชุมใหญ่พิเศษ ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของสมาคม ตามธรรมนูญสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA STATUTES) ข้อ 14.1 ที่ว่าจะต้องเป็นอิสระ
การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า กรณีมาตรา 25 ที่ให้นำมาตรา 35 มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับกรณีสโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพอื่นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องจากการกระทำของสโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพอื่น คำว่า ‘สโมสรอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพอื่น’ มีความหมายเพียงใด และหมายความรวมกรณีของการกระทำของสโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพในชนิดกีฬาเดียวกันด้วยหรือไม่ รวมถึงการที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ได้ขอความร่วมมือสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดประชุมใหญ่พิเศษภายในกำหนดเวลา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือของการกีฬาแห่งประเทศไทยดังกล่าว โดยมีผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก เห็นว่า คณะกรรมการกีฬาอาชีพได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ ออกประกาศคณะกรรมการกีฬาอาชีพ เรื่อง กำหนดชนิดหรือประเภทกีฬาที่เป็นกีฬาอาชีพจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งกำหนดชนิดกีฬาอาชีพสิบสามชนิด และกีฬาฟุตบอลก็เป็นกีฬาชนิดหนึ่งตามประกาศดังกล่าว และเมื่อพิจารณาตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ เห็นว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสโมสรกีฬาอาชีพ และสมาคมกีฬาอาชีพทุกชนิดกีฬา โดยมาตรการหนึ่งในการคุ้มครอง คือ ให้สโมสรกีฬาอาชีพและสมาคมกีฬาอาชีพที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีสิทธิ์ร้องทุกข์ต่อนายทะเบียน ตามมาตรา 25 ซึ่งให้นำมาตรา 34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ดังนั้นคำว่าสโมสรกีฬาอาชีพและสมาคมกีฬาอาชีพอื่น ตามมาตรา 25 มิได้หมายความเฉพาะต้องเป็นสมาคมกีฬาอาชีพต่างชนิดกันเท่านั้นที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ต่อนายทะเบียนได้ แต่หมายถึงสโมสรกีฬาอาชีพและสมาคมกีฬาอาชีพทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นชนิดกีฬาเดียวกันหรือต่างชนิดกันก็มีสิทธิในการร้องทุกข์ต่อนายทะเบียนได้ด้วย
ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 25 ประกอบมาตรา 34 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งคณะกรรมการกีฬาอาชีพแต่งตั้ง มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของสโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพอื่น ในกรณีนี้เมื่อสโมสรฟุตบอล ขอนแก่นฯ อาร์มี่ฯ และชัยนาทฯ ใช้สิทธิ์ร้องทุกข์ต่อนายทะเบียน เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และนายทะเบียนได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ เพื่อไกล่เกลี่ย หรือพิจารณา หรือมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเยียวยาความเสียหายตามมาตรา 34 วรรคสอง ประกอบกับข้อ 15 แห่งระเบียบคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และวิธีพิจารณาเกี่ยวกับการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ พ.ศ.2558
ดังนั้นการที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์มีมติขอความร่วมมือให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดประชุมใหญ่พิเศษภายในกำหนดเวลาตามข้อบังคับลักษณะการปกครองของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อ้างว่า ขัดต่อธรรมนูญสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติว่า การดำเนินงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องเป็นอิสระ และปราศจากการแทรกแซงของบุคคลหรือองค์กรภายนอกนั้น เห็นว่า การดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นการแทรกแซงโดยบุคคลหรือองค์กรภายนอกแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ มีคำวินิจฉัยข้อร้องเรียนของ 3 สโมสรฟุตบอลดังกล่าว ดังนี้
1.สโมสรฟุตบอล ขอนแก่นฯ กรณีถูกเพิกถอนสิทธิสมาชิกภาพ โดยมีสิทธิ์ยื่นหนังสืออุทธรณ์การระงับสิทธิต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯรับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว และเสนอสภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พิจารณาอุทธรณ์ตามระเบียบภายในเดือน ธ.ค. 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้สโมสรได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และผลกระทบจากการถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นสมาชิกภาพ ประกอบกับการแข่งขันฤดูกาล 2560 ที่มีการกำหนดเปิดฤดูกาลในเดือน ก.พ. 2560 จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนเรื่องการพิจารณาทีมเข้าร่วมการแข่งขัน หากมีความชัดเจนแล้ว ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการได้ทันตามที่กำหนด เมื่อสภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯได้พิจารณาแล้ว ขอให้แจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ทราบตามที่มีมติ
2.สโมสรฟุตบอล อาร์มี่ฯ และชัยนาทฯ กรณีขอให้จัดอันดับผลการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพปี 2559 ใหม่ โดยการยุติการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และข้อบังคับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ส่วนกรณีการจัดอันดับผลการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ มิได้ถูกระบุอยู่ในข้อบังคับและระเบียบการแข่งขัน ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก พ.ศ. 2559 และไม่ปรากฏว่าเป็นอำนาจของผู้ใด ทำให้ส่งผลกระทบต่อสโมสรในด้านต่าง ๆ และเสนอให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เยียวยาความเสียหายของทั้ง 2 สโมสรตามที่เห็นสมควร หรือพิจารณาตามที่สโมสรเสนอ นอกจากนี้ให้จัดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อรับฟังรายละเอียดและพิจารณาข้อเสนอของ 2 สโมสร และให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่พิเศษภายในเดือน ธ.ค. 2559 และขอให้แจ้งผลให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ทราบ และในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ขอให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยึดถือข้อบังคับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม : http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2560&lawPath=c2_0449_2560