“หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” เขากำลังห้ามเราเปิดโปงความจริง
3 พฤษภาคม ของทุกปี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศให้เป็นเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้วที่ทุกประเทศซึ่งเป็นสมาชิกได้จัดกิจกรรมเพื่อให้สังคมตระหนักในบทบาทของ “สื่อสารมวลชน” ฐานะตัวแทนปากเสียงของประชาชนที่มีเสรีภาพ รวมถึงเพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลผู้มีอำนาจในประเทศ ที่ต้องเคารพการทำหน้าที่นั้น และสนับสนุนเสรีภาพแห่งการแสดงความคิด ความเห็น และการแสดงออกโดยสุจริต
ก่อนที่วัน “เสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ปี 2560 จะเวียนมาถึง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดย ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ จัดกิจกรรมสำคัญให้สื่อมวลชน-ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกองบรรณาธิการร่วมส่งสโลแกนประกวดเพื่อใช้ในงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยยึดเหตุการณ์ที่เครือข่ายรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเตรียมผลักดัน ร่างกฎหมายที่ใช้ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “กฎหมายคุมสื่อฯ”
การเปิดให้นักข่าว กองบรรณาธิการทุกแขนง ส่งสโลแกนเข้าประกวด เพื่อคัดเลือกให้เป็น “ธงนำ” ของงานเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในประเทศไทยนับเป็นครั้งแรก โดย ปราเมศ เหล็กเพชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ย้ำว่า นักข่าวคือพลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานขององค์กรวิชาชีพ และหลังจากที่ได้วิเคราะห์แล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ออกโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เขียนให้ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ต้องมีใบอนุญาต และใบอนุญาตดังกล่าวนี้สามารถถูกเพิกถอนได้โดยกลุ่มบุคคล ซึ่งมีตัวภาครัฐเข้าร่วม จึงเปิดทางให้มีการแทรกแซงและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน
สำหรับ การเปิดให้ สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในกองบรรณาธิการสื่อฯ เข้าร่วมส่งสโลแกนนั้น ได้รับความสนใจ จากสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค ที่ส่งผลงานรวม 64 ชิ้นเข้าให้คัดเลือก แต่ละสโลแกนนั้น สะท้อนถึงข้อห่วงใยอย่างยิ่งในสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน รอบด้าน
สโลแกนที่ชนะจากการตัดสินของคณะกรรมการฯ คือ “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นการผสม 2 สโลแกน จากนักข่าว 2 คน คือ สุธิดา ปล้องพุดซา นักข่าวจากช่อง 9 อสมท. ส่งสโลแกนว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดปิดกั้นเสรีภาพประชาชน” และ อรรถชยา โทนุศิษย์ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.เดลินิวส์ สโลแกนที่ส่งคือ “หยุดกฎหมายคุมสื่อ หยุดครอบงำประชาชน”
นายกสมาคมนักข่าวฯ อธิบายความว่า เพราะทั้ง 2 สโลแกนนั้นมีถ้อยคำที่ทรงพลัง และตรงกับสถานการณ์ทั้งคู่ แต่อย่างละครึ่ง ดังนั้นกรรมการจึงนำทั้ง 2 ผสานเพื่อเกิดเป็นพลังที่ทรงอนุภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด
สำหรับความในใจของ 2 ผู้ชนะเลิศ ต่อกิจกรรมครั้งนี้ เห็นตรงกันอย่างยิ่งว่า การกำกับมาตรฐานข้อมูลข่าวสาร หรือตรวจสอบจริยธรรมของนักข่าว เป็นเพียงข้ออ้างที่ภาครัฐต้องการควบคุมการนำเสนอข้อเท็จจริง มากกว่ามุ่งหวังที่จะสร้างคุณภาพของการสื่อสารข้อเท็จจริงสู่ประชาชน
สุธิดา สะท้อนมุมมองว่า เมื่อมีอาญาสิทธิที่ให้องค์กรใดลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพได้ ผ่านการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ นั่นเท่ากับสร้างความหวาดกลัวการทำหน้าที่ตรวจสอบ นำเสนอข้อเท็จจริงของนักข่าว ต่อสาธารณะ และความกลัวนั่นเองจะนำมาซึ่งขาดความอิสระต่อการนำเสนอข้อมูล
“กลไกที่ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อคุมมาตรฐานการนำเสนอข่าว ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐร่วมด้วย อย่างน้อย 2 คนนั้น อาจส่งผลต่องานตรวจสอบบุคคลของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ ขณะเดียวกันประเด็นที่ผู้ทำกฎหมายต้องการสร้างมาตรฐานวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมจริง ไม่ควรใช้กฎหมายใดมาควบคุม แต่ควรให้สิทธิองค์กรสื่อ หรือผู้ประกอบการสื่อสารมวลชน ทำความเข้าใจและ สร้างจิตสำนึกร่วมกัน”
ขณะที่ อรรถชยา เห็นไปในทางเดียวกันว่า สื่อมวลชน อาจถูกขวางการทำหน้าที่ เพราะเงื่อนไขที่ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” ที่เพิกถอนได้ นั่นเท่ากับว่า อิสระของการทำข่าว โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลจะลดน้อยลง เพราะเมื่อนำเสนอสิ่งที่ไม่ตรงใจผู้มีอำนาจ อาจถูกถอดถอนจากหน้าที่สื่อข่าวได้
“สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต่างจากอาชีพอื่น เพราะต้องทำงานตรวจสอบ เปิดโปง ขุดคุ้ยการทุจริต ประพฤติมิชอบของผู้มีอำนาจและรัฐ ดังนั้นเมื่อมีเงื่อนไขตามร่างกฎหมายใหม่เข้ามา จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของการนำเสนอข่าวสารอย่างรุนแรงและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญใหม่ที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้”
ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.เดลินิวส์ ขยายแนวคิดของตัวเองด้วยว่า สื่อมวลชน ไม่ใช่สื่อของรัฐ หรือ สื่อของรัฐบาล หรือ สื่อของพรรคการเมือง เพราะตามความหมาย คำว่า สื่อมวลชน คือ ผู้ที่ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงสู่ประชาชน แม้จะไม่มีร่างกฎหมายคุมสื่อฯ แต่การทำหน้าที่ต้องถูกตรวจเข้มทั้งจากกองบรรณาธิการในสำนักงาน และถูกตรวจสอบจากประชาชนผ่านสิทธิของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายละเมิด หรือ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งสื่อมวลชนตระหนักเป็นอย่างดี และทำหน้าที่ด้วยความระวัง ดังนั้นข้อสังเกตหนึ่งที่อาจพิจารณาได้จากความต้องการให้มีกฎหมายคุมสื่อ คือ กลัวการถูกเปิดโปงจากสื่อใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสื่อได้ทำหน้าที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล จนเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลในหลายคดี
นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังมีสโลแกนของตัวแทนสื่อมวลชนที่ผ่านเข้ารอบอีก 10 ชิ้น อย่าง สมัชชา หุ่นสาระ อดีตนักข่าวสายการเมือง-ทำเนียบรัฐบาล ปัจจุบันสังกัดฐานเศรษฐกิจ ที่ใช้มุมมองถ่ายทอดเป็นสโลแกนว่า “กฎ (หมาย) คุมสื่อ...กดเสรีภาพ”, มรุต มะหะหมัด นักข่าวสายรัฐสภา นสพ.ไทยรัฐ เขียนสโลแกนว่า “ตีทะเบียน..สื่อมวลชน เท่ากับ ปล่อยคอร์รัปชั่น – ทำลายชาติ”, อนุชา ทองเติม นักข่าวสายการเมือง นสพ.มติชนส่งสโลแกน ว่า “เสรีภาพ ผลประโยชน์ชาติ ปราศจากการครอบงำ” โดยให้เหตุผลว่า หากมีการออกกฎหมายคุมสื่อจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบการทุจริต นั่นเท่ากับการปล่อยให้การคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาแห่งรากฐานของโครงสร้างพัฒนาประเทศ ขยายตัวและในที่สุดประเทศจะล่มสลาย
ขณะที่ สื่อสายภูมิภาค ร่วมส่ง “สโลแกน” เข้าประชันกันอย่างไม่ยอมแพ้ และใช้ประสบการณ์กลั่นเป็นคำ เชื่อมเป็นประโยค สะท้อนภาพความเป็นจริง เช่น ตัวแทนสายเหนือ วริษฐา ภักดี นักข่าว นสพ.ลานนาโพสต์ ส่งสโลแกน “ต้านกฎหมายคุมสื่อ ยืนหยัดเสรีภาพบนความรับผิดชอบ”, สื่อภาคใต้ ศุภกรณ์ แสงสว่าง นักข่าวนสพ.พิทักษ์ไทย จากระยอง ส่งสโลแกน “สื่อคือโรงเรียนของสังคม อย่าปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ”
ขณะที่ตัวแทนคนข่าวภูมิภาค อย่าง ณรงค์ ภัยกำจัด บรรณาธิการ นสพ.และเว็บไซต์ข่าวสันติภาพ จ.พิษณุโลก ยังถอดรหัสในสโลแกนที่ส่งว่า “สื่อเสรี อิสรภาพบนความถูกต้องเที่ยงธรรม” หมายถึง สื่อเสรี ไม่ควรถูกกฎหมาย หรือหน่วยงานรัฐมาควบคุม หากมีอิสระ เท่ากับหลักประกันของข้อมูลที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม หากมีการควบคุม เชื่อว่าจะกระทบต่อการทำหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน ดังนั้นแนวทางที่จะกำกับสื่อมวลชนที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับ คือ ให้ “องค์กรสื่อมวลชน” กำกับดูแล ตรวจสอบกันเอง
นอกจากนั้นยังมีสโลแกนของตัวแทนนักข่าวโทรทัศน์-ช่างภาพ-นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ผ่านรอบคัดเลือก อาทิ สโลแกน “เลิกกฎหมายคุมสื่อฯ เปิดทางเสรีภาพประชาชน” ของ ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ-สายการสื่อสาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส , นฤพล อาจหาญ นักข่าวรุ่นใหม่ ของช่อง8 สายสังคม-ทั่วไป ถ่ายทอดมุมมอง เป็นสโลแกนว่า “ควบคุมสื่อ มัดมือประชาชน” , ธนพล บางยี่ขัน นักข่าวสายการเมือง นสพ.โพสต์ทูเดย์ ส่งสโลแกน “ขึ้น..ทะเบียนสื่อ ลด...เสรีภาพประชาชน", รวมถึงช่างภาพมือรางวัล ภัทรชัย ปรีชาพานิช สังกัดโพสต์ทูเดย์ เจ้าของสโลแกน “หยุด กม.คุมสื่อ หยุดย้อนยุคคุมความคิด”
ทั้งหมดคือการสะท้อนภาพที่ทำให้เห็นว่า “สื่อมวลชน” คือ “ประชาชน” เมื่อสื่อมวลชนถูกกระทำจากฝ่ายรัฐ ประชาชนย่อมได้รับผลกระทบที่ไม่ต่างกัน
ในมุมของนักกฎหมายอย่าง ชำนาญ จันทร์เรือง คอลัมนิสต์นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ที่ส่งสโลแกน “รัฐควบคุมสื่อ คือ ควบคุมเสรีภาพประชาชน” เข้าประกวด สะท้อนมุมมองสำคัญว่าความพยายามควบคุมสื่อ เท่ากับ ความพยายามคุมความคิดของประชาชน ซึ่งฝ่ายรัฐทั้งมาจากเลือกตั้ง หรือ มาโดยอำนาจพิเศษ พยายามทำมาตลอด สิ่งที่สะท้อนจากความพยายามทำเรื่องนี้ คือ การสร้างจุดเสี่ยงให้กับตัวเอง ที่สังคมไม่อาจทนได้ต่อการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
ชำนาญ บอกว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีใบอนุญาตโดยอ้างเพื่อควบคุมมาตรฐานการทำงานนั้น ถือเป็นมายาคติ แต่ใช้จริงไม่ได้ เพราะการตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อข่าวนั้น คนอ่านจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า สื่อไหนมีคุณภาพ สื่อไหนไม่ดี ดังนั้นอย่าคิดว่าหากมีกฎหมายแรงแล้ว จะป้องกันให้คนไม่ทำได้ ดูอย่างกฎหมายยาเสพติด ต่อให้เขียนแรงแค่ไหน ปัญหายาเสพติดไม่ได้ลดลง
ขณะที่สโลแกนของ วิจักร์พันธุ์ หาญลำยวง ผู้สื่อข่าวสายการเมือง นสพ.ไทยโพสต์ ที่ว่า “เสรีภาพ ไร้พันธนาการ หยุดใช้ อธิปไตย ในดุลยพินิจ” สะท้อนให้เห็นมุมมองต่อความเสี่ยงที่ไร้หลักประกันความถูกต้อง ชอบธรรม กรณีให้อำนาจกลุ่มบุคคล ในนาม “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ชี้คุณ ชี้โทษ และใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษทัณฑ์ ที่มีขั้นสูงสุดคือ เพิกถอนความเป็นสื่อมวลชน
“สื่อฯ ไม่กลัวการปฏิรูป แต่การปฏิรูปที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงบริบทความจริง ซึ่งร่างกฎหมายคุมสื่อฯ ของกมธ. สื่อมวลชน ในสปท. คือการผ่องถ่าย ยกอำนาจไปให้คณะบุคคล ทั้งที่ไม่ใช่คนที่คลุกคลีกับวงการสื่อมวลชน และไม่ได้เข้าใจในความเป็นไปของวงการ ถ้าจะพูดถึงการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนมันก็มีกฎหมายอื่นๆ บังคับใช้อยู่ และปัจจุบันสื่อมวลชนนั้นถูกฟ้องร้องจากกฎหมายเหล่านั้นจำนวนมาก” วิจักพันธุ์ สะท้อนมุมมองด้วยประสบการณ์ในวงการหลายสิบปี
สอดคล้องกับมุมมองคนรุ่นใหม่ อย่าง ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้สื่อข่าวข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ที่มองในมุมข้อกฎหมายหลายฉบับต่อการกำกับการทำงานของสื่อมวลชน ทำให้การทำงานในยุคปัจจุบันตั้งอยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อข้อมูล-ข่าวสารก่อนนำเสนอต่อสาธารณะ และหลายครั้งกฎหมายเชิงกำกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ ยังถูกใช้มากเกินความจำเป็น ทั้งที่เป็นการเปิดโปงข้อเท็จจริง
ขณะที่สโลแกน ซึ่ง ธีรนัย ส่งเข้าพิจารณา คือ “ขอให้สื่อสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นสื่อที่อยู่ในระเบียบวินัย และรักความเชื่อง” ถูกถอดมาจากมุมมองต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจปัจจุบัน ต้องคอยควบคุม และจัดระเบียบสื่อมวลชน คล้ายกับการควบคุมเด็ก ให้อยู่ในระเบียบวินัย โดยมุมคิดของสโลแกน คือ ล้อมาจากคำขวัญวันเด็ก ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เมื่อปี 2504”
“สิ่งที่อ้างว่าต้องการสร้างมาตรฐานให้กับสื่อฯ แต่เนื้อหาคือยอมเสียเสรีภาพ ขณะที่เจตนาของรัฐที่ต้องการความรับผิดชอบของสื่อฯ แต่สิ่งที่ซ่อนคือ สร้างความกลัวต่อการรายงานข่าว หากทำไม่เข้าหู หรือ รัฐไม่ชอบ มีสิทธิถูกถอนใบอนุญาต นั่นไม่ใช่การทำเพื่อยกมาตรฐาน แต่คือการควบคุม” ธีรนัย สะท้อน
พร้อมบอกเล่าในมุมมองของนักข่าวที่ต้องคลุกคลีกับข่าวสารในต่างประเทศด้วยว่า “ยอมรับว่าต่างประเทศที่ถูกเรียกว่าประเทศประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกา มีความพยายามควบคุมการนำเสนอข่าวสาร ด้วยการยื่นเรื่องฟ้องร้อง แต่บุคคลที่มีอำนาจตัดสินว่า สื่อนำเสนอข่าวสารเป็นอย่างนั้น คือศาลฎีกาสหรัฐฯ และจากบันทึกของคำตัดสินนั้น คือ การเข้าข้างการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เขาสนับสนุนเสรีภาพ มากกว่าความพยายามควบคุม"
อย่างไรก็ดีนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองคนในวงการสื่อสารมวลชนต่อ ร่างกฎหมายคุมสื่อมวลชนในยุค 4.0 ที่คนวงการสื่อร่วมกันต่อต้านกฎหมายการละเมิดสิทธิการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงของประชาชนที่องคาพยพของรัฐบาลพยายามผลักดันอยู่