นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เปิดโฉมหน้าคอร์รัปชันไทย 30 ปี 110 เรื่องอื้อฉาว สูญกว่า 9 แสนล้าน
นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เผยสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยไม่ได้ดีขึ้น แต่ไม่แย่ลง ขณะที่ผลสำรวจพบคนไทยยังไม่เชื่อมั่นกลไกปราบโกง แนะรัฐเร่งเปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูล เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ ด้านโฉมหน้าคอร์รัปชันไทย พบ 5 หน่วยงานล่อแหลมทุจริตเยอะ ยันทุจริตจัดซื้อจัดจ้างยังนำโด่ง
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2560 ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) (ACT) จัดเสวนา “ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์”
นายณัชพล ประดิษฐเพชรา นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Corruption Situation Index:CSI) ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นคนส่วนใหญ่เชื่อว่ารุนแรงน้อยลง แต่สถานการณ์ยังไม่ดีมาก ขณะที่ทัศนคติและจิตสำนึกของคนในสังคมต่อการทุริตคอร์รัปชั่น พบว่า ความอดทนต่อกากรทุจริตเหลือเพียง 2.27 / 10 ต่ำที่สุดตั้งแต่สำรวจมา ขณะที่อีก 95% ไม่เห็นด้วยว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง จาก 62% ในปี 2553 และอีก 85% ยินดีมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นจาก 78% ในปี 2553 ด้านความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นพบว่า องค์กรอิสระ สมาคมภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ภาคประชาชนได้คะแนนปานกลาง 5-6 เต็ม 10
นายณัชพล กล่าวอีกว่า หากดูในดัชนีคอร์รัปชั่นในสายตาของต่างประเทศ อย่างดัชนีที่ทำโดย องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ปี 2559 มีการเพิ่มดัชนีที่เกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย วัดระดับคอร์รัปชั่นในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง เสรีภาพ การเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและความเห็นฟ้องกันของทุกฝ่าย ซึ่งไทยมีอันดับตกลงมาอยู่ที่อันดับ 101 โดยมีคะแนนลดลงที่ 35 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ 38 คะแนน
ขณะที่ดัชนีความเจริญรุ่งเรือง(LPI)ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเลอกาทูม ( Legatum Institue) นายณัชพล กล่าวว่า เป็นการวัดความเจริญที่มากกว่าแค่ GDP โดยเน้นไปที่ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา โอกาสในการประกอบการ รวมไปถึงการปกครอง ซึ่งในปี 2556-2559 ไทยมีคะแนนด้านการปกครองซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมด้านการเมืองและระดับความเป็นประชาธิปไตยลดลงอย่างมากโดยในปี 2559 ได้คะแนนเพียง 41.4 คะแนนจากเต็ม 100 ลดลงจากปี 2556 ได้คะแนน 48.91 คะแนน
ด้าน ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (GCI) ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) โดยหากดูในเสาเหลักที่มีการวัด จะพบว่า ดัชนี GCI มีอัตราที่ดีขึ้น แต่เสาหลักที่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นทางการเมือง ความลำเอียงในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และความสิ้นเปลืองของการใช้จ่ายในภาครัฐในปี 2559-2560 ที่มีคะแนนลดลงจากปี 2556-2557 เหลืออยู่เพียง 2.48 จาก 2.66
นายณัชพล กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลข้างต้นพอสรุปได้ว่า ในสายตาของต่างประเทศมองว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยยังไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะตัดเรื่องประชาธิปไตยออกไป ขณะที่สายตาของคนไทยมองว่า ความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นน้อยลงแต่ยังไม่ดีมาก มีการตื่นตัวต่อสถานการณ์คอร์รัปชั่นมากขึ้น แต่ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นกลไกต่อต้านการคอร์รัปชั่นต่างๆ มากนัก โดยจุดอ่อนสำคัญคือกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก ขณะที่รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบภาครัฐ เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจในการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า
นายณัชพล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐต้องรีบทำคือเร่งให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่ให้รัฐมนตรีหรืออธิบดีใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ทั้งยังต้องเร่งปรับระเบียบสำนักนายกฯเรื่องมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมืองให้มีบทลงโทษชัดเจน และปรับปรุงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจากการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นการตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการ เพิ่มความโปร่งใสของการทำงานของรัฐบาลเช่น การตรวจสอบให้หน่วยงานราขการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารราชการอย่างเคร่งครัด
ด้านนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงรายงาน “โฉมหน้าคอร์รัปชันไทย” โดยใช้ฐานข้อมูลการทุจริตจาก ป.ป.ช. หนังสือเมนูคอร์รัปชั่น และจากสำนักข่าวอิศรา สำนักข่าวไทยพับริก้า เป็นต้น สามารถรวบรวมคดีได้ทั้งหมด 110 คดี ตั้งแต่ปี 2530-ปัจจุบัน เพื่อให้เห็นตัวอย่างการทุจริต โดยลักษณะการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างพบมากเกือบทุกยุค รองลงมาทุจริตการบริหารราชการ เช่น การออกกฎหมายโดยมิชอบ การเลี่ยงภาษี การขึ้นเงินเดือนตัวเอง จนมาปี 2550-2557 มีการทุจริตเรื่องของการใช้งบประมาณ เช่น ภัยพิบัติ การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร
นายธิปไตร กล่าวถึงการทุจริตรายกระทรวง งานวิจัยพบว่า มี 5 หน่วยงานพึงระวังเพราะล่อแหลมต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ กระทรวงการคลัง ,กระทรวงคมนาคม,กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมักมีรัฐวิสาหกิจเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการที่มีมูลค่าสูง ขณะที่หลายคดีอื้อฉาว งานวิจัย พบว่า ใช้เวลามากกว่า 10 ปี หลายคดีก็ยังไม่จบจนถึงวันนี้
ทั้งนี้ นายธิปไตร กล่าวด้วยว่า สำหรับการตีคดีทุจริตให้ออกมาเป็นเงินนั้นยากมาก ในต่างประเทศก็ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างตรงไปตรงมา แต่จากงานวิจัยชิ้นนี้ 110 คดีแม้จะไม่สามารถประเมินได้หมด แต่มีประมาณ 71 เรื่องที่เราสามารถเก็บได้ว่า มีงบประมาณเท่าไหร่ โดยสรุป 110 เรื่องอื้อฉาว วงเงินงบประมาณที่ประเทศเสียไป 9.7 แสนล้านบาท และคดีที่มีมูลค่าเสียหายสูงสุด คือ โครงการจำนำข้าว รองลงมาคือโครงการไทยเข้มแข็ง