6 เดือน กับนาทีทองของการเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิตอล?
เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้น กสทช. ชุดนี้ก็จะหมดวาระครบ 6 ปี ตามที่ได้รับการคัดสรรมา ตามเป้าหมายของ กสทช. ชุดนี้ ตั้งใจว่าภายใน 6 ปีวงการโทรทัศน์ของประเทศไทย จะมีช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินให้ครบ 48 ช่อง ประกอบด้วย ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่องทีวีชุมชน 12 ช่อง และช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง โดยมีคณะกรรมการ กสท. 5 คนทำหน้าที่กำกับดูแล
5 ปี เปิดช่องใหม่ได้ 26 ช่อง
ใน 5 ปีที่ผ่านมา กสท. 5 คนสามารถทำช่องทีวีสาธารณะได้แล้ว 4 ช่อง ช่องทีวีชุมชนยังทำไม่ได้ ส่วนช่องทีวีธุรกิจทำได้ครบ 24 ช่องตามเป้าหมาย แต่ตกม้าตายระหว่างเดินทาง 2 ช่อง จึงเหลือเพียง 22 ช่อง และช่วงเวลาที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะตกม้าตายระหว่างทางเพิ่มเติมอีกหลายช่อง กสท. จึงได้ใช้วิธีการพิเศษต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ จึงทำให้ยังคงเหลือช่องทีวีธุรกิจ 22 ช่องในทุกวันนี้ โดยสรุป จากเป้าหมายต้องทำให้ได้ 48 ช่อง กสท. สามารถทำได้ 26 ช่อง
5 ปี ดับฝันเคเบิลท้องถิ่นกับดาวเทียมได้ครบ
ตลอดเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา กระบวนการออกกฎและระเบียบต่างๆ ที่ กสท. พยายามออกมาเพื่อส่งเสริม และสนับสนุน ช่องทีวีดิจิตอล 26 ช่องให้คงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจข้างเคียงที่ กสท. มองว่าเป็นปัญหา และต้องปราบให้หมดสิ้นไป ได้แก่ ช่องทีวีผ่านดาวเทียมต้องตายไปกว่า 100 ช่อง ช่องข่าวท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น ต้องปิดตัวเองไปกว่า 200 ช่อง และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นต้องปิดตัวเองไปกว่า 100 ราย รวมทั้งโครงข่ายดาวเทียมหลายรายก็กำลังเข้าขั้นโคม่า นี่คือผลกระทบที่ กสท. ต้องทำและแลกมา เพื่อให้ได้มาซึ่งช่องทีวีดิจิตอล 26 ช่อง ที่เป็นนายทุนรายใหญ่ระดับชาติ ที่ กสท. มองว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ และเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวมมากกว่า การมีทีวีผ่านดาวเทียม และ การรักษาเคบิลท้องถิ่น ที่เป็นผู้ให้บริการรายเล็กระดับท้องถิ่น
เพิ่มคู่แข่งแย่งโฆษณาทันที 8 เท่า
จากเดิมกว่า 60 ปี ก่อนที่จะมีคณะกรรมการ กสท. จำนวน 5 คนเพื่อเข้ามาทำหน้าที่จัดระเบียบวงการโทรทัศน์ไทย จำนวนช่องทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกทางธุรกิจมีเพียง 3 ช่องคือ 3,7 และ MCOT กสท. มองว่าน้อยไป จึงสร้างเพิ่มขึ้นมา 8 เท่า เป็น 24 ช่อง (ตายไประหว่างทาง 2 ช่อง) จึงจะเหมาะสม แบ่งออกเป็น
1) ช่องรายการทีวีที่มีความคมชัดสูง (HD) จำนวน 7 ช่องประกอบด้วย ช่อง 3HD,7HD,MCOT HD,ONE HD,Thairath TV HD,AMARIN TV HD และ PPTV HD
2) ช่องรายการที่มีความคมชัดมาตรฐาน (SD) จำนวน 15 ช่องประกอบด้วย ช่อง 3 Family , MCOT Family , TNN24 , new)tv , Spring News , Bright TV , VOICE TV , Nation TV , workpoint tv , True4U , GMM Channel , NOW , 8 , 3SD และ MONO
ตาชั่ง กสท. เอียงข้างเดียว
ในจำนวน 22 ช่องที่เหลือดังกล่าว กสท. ก็หวังว่าจะมีการกระจายความเป็นเจ้าของที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน จะได้เกิดประโยชน์กับประชาชนในอนาคต แต่การทำช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนคือ การทำเพื่อหากำไรในทางธุรกิจของภาคเอกชนเท่านั้น โดยการหารายได้จากค่าโฆษณาจาก Agency ที่มีวงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท/ปี โดย 22 ช่องดังกล่าวจะต้องไปแย่งเม็ดเงินโฆษณามาจาก 3 กลุ่มเดิมคือ กลุ่มช่องทีวีในระบบแอนะล็อกเดิม 3 ช่อง กลุ่มช่องทีวีผ่านดาวเทียมกว่า 200 ช่อง และกลุ่มช่องเคเบิลทีวีกว่า 500 ช่อง
ซึ่งผลการต่อสู้ในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา น่าจะพูดได้ว่า ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่อง สามารถแย่งเม็ดเงินโฆษณามาได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก กสท.ในการ "ทำทุกวิถีทางที่คิดได้อย่างเต็มที่" เพื่อช่วยเหลือช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่องให้สามารถแย่งเม็ดเงินโฆษณามาให้ได้ เช่น ออกกฎ Must Carry เพื่อให้สามารถเผยแพร่ได้ในทุกโครงข่าย ออกกฎแย่งตำแหน่งช่องในทุกโครงข่ายเพื่อให้ง่ายในการจดจำ และได้ตำแหน่ง 36 ช่องแรกประชาชนจะได้ดูได้สะดวก เหมือนกันในทุกโครงข่าย ส่วนช่องดาวเทียม ช่องเคเบิลท้องถิ่น เดิมเคยอยู่ในตำแหน่ง 36 ช่องแรก จะย้ายไปอยู่ที่ไหน จะอยู่อย่างไร จะมีคนดูหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของ กสท. เพราะ "สัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม" และแผนดังกล่าว กสท. ก็สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ทุกประการ
ใครเจ๊งถอยไป
แม้จะได้รับการช่วยเหลือจาก กสท. ในทุกวิธีที่คิดได้แล้ว แต่ช่องทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ก็ยังขาดทุน ได้รับบาดเจ็บ มากบ้าง น้อยบ้าง ในวันนี้กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ จึงต้องเกิดการ ปรับตัว รวมตัวเป็นกลุ่มๆ ใครเงินหมดถอยไป ใครมีเงินมากเข้ามา โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ? ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มช่อง 3 ประกอบด้วย ช่อง 3HD + 3SD + 3 Family
กลุ่มที่ 2 กลุ่มช่อง MCOT ประกอบด้วย ช่อง MCOT HD + MCOT Family
กลุ่มที่ 3 กลุ่มหมอประเสริฐ ประกอบด้วย ช่อง PPTV HD + ONE HD + GMM Channel
กลุ่มที่ 4 กลุ่มคุณเจริญ ประกอบด้วย ช่อง AMARIN TV HD + ?
กลุ่มที่ 5 กลุ่ม True ประกอบด้วย ช่อง TNN24+True4U
กลุ่มที่ 6 กลุ่ม Spring ประกอบด้วย ช่อง Spring News + Nation TV
กลุ่มที่ 7 กลุ่มรายเดี่ยว 6 รายคือ 7HD , Thairath TV HD , workpoint tv ,VOICE TV , 8 , MONO
กลุ่มที่ 8 กลุ่มที่รอเวลามี 3 ช่องประกอบด้วย ช่อง NOW , new TV , Bright TV
กลุ่มที่ 9 กลุ่มใหม่ที่รอ ?
ต้นทุนการทำช่องทีวีดิจิตอลบางช่องกำลังจะต่ำกว่าช่องดาวเทียมบางช่อง
การเปลี่ยนแปลงใน 9 กลุ่มนี้ยังไม่จบ ทุกอย่างยังสามารถเปลี่ยนไปได้อีก เพราะในวันนี้ กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 22 ช่อง ได้รับการลดต้นทุนจาก คสช. และ กสท. ไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านการจ่ายค่าใบอนุญาต ที่ถูกยืดออกไป 6 ปี ค่าเช่าดาวเทียมไทยคม ได้รับการสนับสนุนจากคำสั่ง คสช. ภายใต้การแนะนำของใครก็ไม่รู้ ทำให้สามารถเอาเงินหลวงมาจ่ายเป็นค่าเช่าดาวทียมไทยคมได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจโทรทัศน์ หากำไรเข้าบริษัทเอกชนฟรี 3 ปี (นี่คงเป็นสุดยอดเคล็ดวิชาที่ "กิมย้ง" ก็คิดไม่ได้) แต่ กสท.ชุดนี้คิดได้ ทำได้ และทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนใครจะเป็นคน ถูกหลอก ถูกต้ม ถูกตุ๋น จนเปื่อย หรือเปล่า ก็ต้องไปคิดกันเอาเอง เพราะอาจมีบางคนไปแอบร้องเพลง "ถึงเขาหลอกก็เต็มใจให้หลอก" นี่ถ้ารวมถึงช่องทีวีดิจิตอลบางรายนำไปคิดต่อโดยการ "เบี้ยว" ไม่ยอมจ่ายค่า MUX ในการเผยแพร่ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินด้วย ก็เท่ากับว่า ช่องทีวีดิจิตอลดังกล่าว จะสามารถประกอบกิจการโทรทัศน์ต่อไปได้ โดยสามารถเผยแพร่ได้ในทุกช่องทาง โดยมีต้นทุนที่ต่ำมาก ซึ่งอาจจะต่ำกว่าการทำช่องทีวีผ่านดาวเทียมบางช่อง ที่ กสท. ไม่ต้องการเสียอีก
ช่องทีวีดิจิตอลน่าซื้อไว้
ดังนั้นในวันนี้ ช่องทีวีดิจิตอลจึงเป็นที่น่าสนใจของนายทุนที่มีเงินหนา ซึ่งประเทศไทยยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่มีช่องโทรทัศน์เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงเพื่อคุ้มครองธุรกิจของตนเองในอนาคต ระหว่างนี้น่าจะมีการซุ่มเจรจากันอีกหลายราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หากเจรจาจบเมื่อไร คงจะได้เห็นว่ามีใครเปิดไพ่ใบนี้ ออกมาอีกบ้าง
Win..Win..Win Project
ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว ที่จะเข้ามาช้อนซื้อกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลทางธุรกิจ ที่เป็นของดี ราคาถูก ที่ กสท. มองว่า คนไทยทุกคนจำเป็นจะต้องดู โดยไม่ต้องไปสนใจว่า จะเป็นการครอบงำสื่อหรือไม่ เพราะการเลี่ยงข้อกฎหมายแบบไทยๆ เพียงเล็กน้อย และอย่าพูดถึงใครบางกลุ่มโดยไม่จำเป็น อย่าโฆษณาบางอย่างที่ท่านไม่ชอบ อยู่เงียบๆสักพัก ก็สามารถทำให้ กสท. มองข้ามเรื่องอื่นๆไปได้แบบ บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วง Promotion ที่ "ใครใคร่ค้า... ค้า" "ใครใคร่ขาย...ขาย" ใครมีเงิน ให้เร่เข้ามา เลือกซื้อได้เลย โอกาสแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะคนขายก็อยากขาย คนซื้อก็อยากซื้อ คนกำกับดูแลก็อยากช่วย เพื่อไม่ให้ช่องทีวีดิจิตอล 22 ช่องต้องปิดเพิ่มเติม เดี๋ยวจะทำให้ใครบางคนต้องเสียหน้าอีกครั้ง เหมือนที่ เจ้ติ๋ม ได้ทำไปแล้ว
กสท. ทำให้ ดาวเทียมกับเคเบิล หมดน้ำยาแล้ว
เม็ดเงินโฆษณาทางโทรทัศน์ของ Agency จำนวนประมาณ 60,000 ล้านบาท/ปี เป็นที่หมายปองของช่องโทรทัศน์ต่างๆ จากเดิมตามกฎหมายกำหนดให้ช่องรายการโทรทัศน์จะสามารถหาโฆษณาได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มรวมกันกว่า 800 ช่องคือ กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 22 ช่อง (ลูกรักของ กสท.) สามารถมีโฆษณาได้เฉลี่ย 12 นาที/ชั่วโมง (ไม่รวมโฆษณาแฝงในรายการ) กลุ่มช่องทีวีผ่านดาวเทียมกว่า 200 ช่อง และกลุ่มช่องเคเบิลทีวีกว่า 500 ช่อง สามารถมีโฆษณาได้เฉลี่ย 5 นาที/ชั่วโมง วันนี้ กติกาต่างๆที่ กสท. ออกมา ได้ช่วยกำจัด กลุ่มช่องทีวีผ่านดาวเทียม และกลุ่มช่องเคเบิลทีวี ไม่ให้มาแย่งเม็ดเงินโฆษณาจากกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เหลือพอสร้างความรำคาญได้ไม่เกิน 10 ช่อง
กสท. มีลูก 22 คนแบ่งกันกินไม่พอ
แม้รายได้ 60,000 ล้านบาท/ปี จะตกไปที่กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่องเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็ยังไม่พอนำมาแบ่งกันเพราะมีบางช่อง ยังสร้างปัญหาให้ กสท. กล่าวคือ มีบางช่องทำดีเกินไป เพราะได้ Rating สูงกว่าช่องอื่น ทำให้ได้เม็ดเงินโฆษณาแบ่งไปมากกว่าช่องอื่นๆ ช่องที่ได้เม็ดเงินโฆษณาน้อย จึงต้องร้องไห้กระจองอแง เพื่อให้ กสท. หาทางช่วยเหลือเพิ่มเติม
ลูก 22 คนได้เงินโฆษณาจริงๆ 10 คน
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงยังอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะ ปัญหาของช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจจนถึงวันนี้ ทุกช่องได้ปล่อยฝีมือออกมาเต็มที่ เพื่อแย่ง Rating แล้ว ทำให้การจัดสรรรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาในแต่ละช่องในวันนี้ และในอนาคต น่าจะเปลี่ยนแปลงไปอีกไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำค่า Rating ใน 10 ช่องแรก อาจจะสลับตำแหน่งกันไปมาบ้าง ตามแต่ช่วงเวลาของรายการที่ได้รับความนิยม แต่ช่องรายการในกลุ่มอื่นจะเข้ามาแทรกคงยาก
6 คนไปหากินเอง
ส่วนช่องทีวีดิจิตอลอีก 12 ช่องที่เหลือใน 6 ช่องแรกเป็นช่องที่มีเป้าหมายชัดเจน ถึงอย่างไรก็ไม่ขายช่องให้ใคร ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน มี Rating หรือ ไม่มี Rating ก็จะต้องทำต่อไป เพราะช่องดังกล่าวจะมีภาระกิจหลักในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เพื่อดูแลธุรกิจอื่นๆ ของนายทุนที่เป็นเจ้าของช่อง ส่วนการหารายได้เป็นเพียงภาระกิจรองเท่านั้น
6 คนสุดท้ายต้องหาทางช่วยต่อ
ส่วนอีก 6 ช่องที่เหลือต้องถือว่าเป็นกลุ่ม Over Supply ที่ กสท. ต้องหาทางแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีทางออกที่พอจะคิดได้ในเวลานี้แบ่งออกเป็น 4 วิธีคือ
1) กลุ่มทุนเก่า เข้ามาซื้อช่องเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ช่องรายการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมการอะไรบางอย่างในอนาคต
2) กลุ่มทุนใหม่ ที่มีภาระกิจเฉพาะ จะเข้ามาซื้อกิจการช่องทีวีดิจิตอล เพื่อเตรียมเปิดช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนในทุกช่องทางในระดับประเทศ ในอนาคต
3) กลุ่มช่องดาวเทียมที่มีคุณภาพ ที่พร้อมยกฐานะขึ้นมาเป็นช่องทีวีดิจิตอล เข้ามาซื้อกิจการ เพื่อมาแย่ง Rating ในเวทีที่มีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน
4) กลุ่มช่องขายสินค้าทางโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง เป็นกลุ่มที่กำลังโต และได้ทดสอบยอดขายสินค้าผ่านช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจมาแล้วว่า สามารถทำได้ กลุ่มนี้มีกำลังเงินมากพอที่จะเข้ามาซื้อช่องทีวีดิจิตอล เพื่อลดการ Over Supply ได้ โดย กสท. แก้ไขกติกาเพียงเล็กน้อย เชื่อว่า กสท. น่าจะสามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่า ทำไมช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ จึงควรจะกลายเป็นช่องขายสินค้าทางโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง ที่จำเป็นต้อง Must Carry ให้ประชาชนทุกคนต้องรับชมอย่างทั่วถึงในทุกช่องทาง
คงต้องติดตามดูว่า กสท. จะเปิดประตูบานใด หรือเปิดประตูทุกบาน เพื่อให้กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลที่ Over Supply เกิดการปรับตัวอีกครั้ง จนเข้าสู่ภาวะสมดุล เพื่อผลประโยชน์ของ ? ก่อนที่จะหมดวาระในอีก 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเหลือ กสท. เพียง 3 คนเท่านั้น หากจับมือกันเพียง 2 คน ก็สามารถแก้ไขกติกา เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตวงการโทรทัศน์ของประเทศไทยให้ ขึ้นเขา ลงห้วย หรือขึ้นสวรรค์ ได้แล้ว โอกาสพิเศษ ดีๆ แบบนี้ อีก 10 ชาติก็หาไม่ได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก pantip.com