เทงบลงทะเลแลกเรือดำน้ำ...สวนทางแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ?
เรือดำน้ำจากจีนถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในเรื่องคุณภาพ ความคุ้มค่า และความเหมาะสมกับ “ยุทธบริเวณ” ที่จะใช้ปฏิบัติภารกิจ
เนื่องเพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ ขณะที่อ่าวไทยค่อนข้างตื้น และท่าจอดเรือ รวมถึงศูนย์ซ่อมเรือดำน้ำก็ถูกกำหนดให้สร้างที่ชายฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในอ่าวไทย
ที่ผ่านมาได้มีผู้ทรงคุณวุฒิออกมาตั้งคำถามถึงคุณภาพของเรือดำน้ำจีนว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องใช้ถึง 36,000 ล้านบาทหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำจากประเทศอื่นที่เสนอราคามาพร้อมกัน โดยจุดเด่นของเรือดำน้ำจีนที่รัฐบาลและกองทัพเรือหยิบขึ้นมาโฆษณาตลอดเวลา คือ ในงบประมาณจำนวนเดียวกัน ได้เรือดำน้ำมากถึง 3 ลำ ขณะที่ประเทศอื่นซื้อได้เพียง 2 ลำเท่านั้น
ประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงแรกที่กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ก็เสนอจัดหาจำนวน 2 ลำ มีประเทศที่เสนอแบบและราคาจำนวน 6 ประเทศรวมทั้งจีน ทุกประเทศได้เสนอเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำตามข้อกำหนดในโครงการ แต่ภายหลังจีนเสนอแถมให้อีก 1 ลำ ในทำนอง “ซื้อ 2 แถม 1” ทำให้กองทัพเรือไปเปลี่ยนเอกสารโครงการเป็นการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ส่งผลให้เรือดำน้ำจากจีนได้เปรียบประเทศอื่นทุกประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกตั้งคำถามว่า การลดแลกแจกแถมแบบ “ซื้อ 2 แถม 1” จะการันตีคุณภาพได้แค่ไหน
ส่วนคำถามเรื่องเรือดำน้ำจีนมีมากถึง 7 ข้อ ที่วิจารณ์กันมากที่สุดคือ ความเหมาะสมในการปฏิบัติภารกิจในอ่าวไทยซึ่งมีความลึกเฉลี่ยเพียง 25-40 เมตร แต่ระยะการดำปลอดภัยของเรือดำน้ำจีนอยู่ที่ความลึก 60 เมตรขึ้นไป นอกจากนั้นการใช้อาวุธโจมตี รวมไปถึงแบตเตอรี่ และคุณสมบัติอื่นๆ ก็ดูด้อยว่าเรือดำน้ำที่เสนอจากประเทศอื่นแทบทั้งสิ้น
นอกจากนั้น จากการตรวจสอบเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม(สศช.) แห่งชาติ ก็ระบุว่าภัยคุกคามทางทะเลของไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโจรสลัด ภัยธรรมชาติ แรงงานผิดกฎหมาย สินค้าผิดกฎหมาย การลักลอบจับสัตว์น้ำ และมลพิษทางทะเล ไม่มีระบุถึงภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ
ส่วนภัยคุกคามทางทะเลขนาดใหญ่ อยู่ที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำ จึงจำเป็นน้อยกว่าการมีเรือผิวน้ำคุณภาพดี หรือระบบเฝ้าตรวจทางอากาศที่เชื่อมกับทางทะเล เพื่อสกัดกั้นผู้อพยพ แรงงานต่างด้าว และสินค้าหนีภาษี
สอดคล้องกับเอกสารแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-2564 ซึ่งเจาะเฉพาะความมั่นคงทางทะเล ก็มีบทประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลของประเทศไทยในภาพรวม แยกวิเคราะห์เป็นจุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนโอกาส และสิ่งท้าทายเอาไว้ด้งนี้
จุดแข็ง คือ การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่มีความสำคัญของโลก และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งประเทศไทยมีความเป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ขัดกับประเทศมหาอำนาจ ดังเช่นในกรณีทะเลจีนใต้ ตลอดจนการมีกองทัพเรือที่มีศักยภาพในการปฏิบัติการนอกน่านน้ำทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค เช่น กรณีที่ไทยเข้าร่วมการรักษาความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือที่บริเวณอ่าวเอเดน ประเทศโซมาเลีย นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ และภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non - Traditional Threats) ที่เป็นมิติความมั่นคงที่สำคัญในโลกยุคปัจจุบันอีกด้วย
ส่วนในเรื่อง โอกาส การพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและจัดการกับภัยคุกคามต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การตั้งศูนย์วิจัยร่วมในกรอบอาเซียน การใช้กรอบอาเซียน - จีนเป็นเวทีหารือในเรื่องทะเลจีนใต้ และนอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และบุคลากรด้านกฎหมายทะเล เพื่อช่วยในการผลักดันผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเวทีระหว่างประเทศ
ในขณะที่ จุดอ่อน คือ การที่ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อทางทะเลเป็นบริเวณกว้างและอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางทะเลของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่จะประสบภัยคุกคามทางทะเล สำหรับในเรื่องความท้าทาย สิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรที่มีความรุนแรงมากขึ้น จากความเสื่อมถอยของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมทางทะเลจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาสังคม และ NGOs ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้รัฐบาล และภาคประชาสังคมต้องหันมาดูแลอย่างจริงจังและให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องของการป้องกันความรุนแรงและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ความท้าทายที่สำคัญประการสุดท้าย คือ การกำหนดเป้าหมายแห่งชาติ หรือ “แผนชาติทางทะเล” ที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งต้องส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การขับเคลื่อนการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินตรงกันมาตลอดว่าสงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาคไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้ามีก็เป็นสงครามจำกัดเขต เช่น ในทะเลจีน ส่วนปัญหากับเพื่อนบ้านจะเป็นแค่การกระทบกระทั่งบริเวณพรมแดน ความจำเป็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจึงมีค่อนข้างน้อย และน่าจะนำงบประมาณไปใช้ให้สอดคล้องกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจริงมากกว่า
--------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเอกสารการประชุมประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน http://www.nesdb.go.th/download/content/Yearend2016/Yearend2016G5.pdf