เยียวยาด้วยเจตนาดี...ความในใจ พ.ต.อ.ทวี แห่ง ศอ.บต.
กลายเป็นข่าวรายวันไปแล้ว สำหรับปัญหาความไม่พอใจของผู้คนและข้าราชการกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าด้วยตัวเลขเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แม้ช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศนโยบายนี้จะสร้างกระแสให้ดูดีมีความหวัง แต่ทำไปทำมาเริ่มถูกผู้สูญเสียกดดัน เพราะตัวเลข 7.5 ล้านเป็นเหตุ
ขณะที่หลักเกณฑ์การเยียวยาก็ยังมึนๆ งงๆ และข่าวสารที่กระเส็นกระสายออกมาก็เปลี่ยนแปลงไปมาแทบทุกวัน...
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หนึ่งในกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ ชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน เปิดใจกับ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ถึงปัญหาการเยียวยาที่พบ ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ไฟใต้เกือบ 5 พันราย บาดเจ็บอีก 8 พันกว่าราย รวมแล้วเป็นหมื่นราย แต่กลับมีข้อมูลของผู้ได้รับการเยียวยาจากรัฐแค่ 1.9 พันคนเท่านั้น จึงทำให้เกิดคำถามว่าข้อมูลที่เหลือหายไปไหน หรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจริงๆ เลย
สำหรับการเยียวยาตามกรอบที่กำหนดไว้ จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา 2.กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาไปบ้างแล้ว 3.กลุ่มข้าราชการ ทั้งครู ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และ 4.กรณีเฉพาะที่ส่งผลด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมทั้งเวทีนานาชาติอย่างโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม)
ทั้งนี้ กลุ่มที่เรียกว่า "กรณีเฉพาะ" ซึ่งวางหลักเกณฑ์เอาไว้ว่าจะได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 (เรียกรวมๆ ว่าเหตุการณ์กรือเซะ) ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะถูกมองว่าเป็นการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ในวันดังกล่าวเกิดความรุนแรงขึ้น 11 จุด แต่ก็มีรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุชี้ชัดว่า มีอยู่ 2 แห่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการเกินกว่าเหตุ คือ ที่มัสยิดกรือเซะ (มีผู้เสียชีวิต 32 ราย) และที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา (มีผู้เสียชีวิต 19 ราย) สองจุดนี้ต้องนำมาแยกแยะ หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อนก็จะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 5 รายจากเหตุการณ์เดียวกัน ก็สมควรได้รับในอัตราเดียวกันด้วย
2.เหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ
3.เหตุการณ์ไอร์ปาแย หรือการกราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นกรณีที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยได้ ซึ่งอาจรวมกรณี ครูจูหลิง ปงกันมูล ที่ถูกกรุ้มรุมทำร้ายที่บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วย
4.บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย มีการเสนอตัวเลขมาจากภาคประชาสังคม 34 ราย แต่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบางคนอาจกลับบ้านแล้ว จึงให้ไปตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้งว่าจริงๆ สูญหายไปกี่คน
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่ถูกจับกุมโดยหมาย ฉฉ. (อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ประมาณ 5 พันคน แต่สุดท้ายได้รับการปล่อยตัว หรือศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิด กลุ่มนี้ก็จะเข้าไปดูแลด้านจิตใจ อาจจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้คดีให้บ้าง ซึ่งต้องพิจารณาตัวเลขอีกที เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด
"ครั้งนี้ยืนยันว่าเราทำด้วยเจตนาดี และจะเข้าไปดูจริงจังเป็นครั้งแรกทุกๆ กรณี ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาชีพ การศึกษา และเรื่องจิตวิญญาณ แต่ยอมรับว่าตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบมีเยอะมาก จึงเกรงว่าจะไม่รอบคอบ ขณะนี้กำลังทำเวิร์คชอปแยกเป็นกลุ่มๆ โดยมีตัวแทนกลุ่มอาชีพนั้นๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย รวมทั้งข้าราชการ เมื่อพิจารณาเรียบร้อยก็จะส่งเข้ากรรมการชุดใหญ่ และเสนอ ครม.(คณะรัฐมนตรี) ต่อไป" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เมื่อ ครม.อนุมัติหลักการแล้ว ก็จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ บางกลุ่มอาจไม่ได้ต้องการเป็นตัวเงิน เช่น อยากให้ซ่อมบ้าน ก็จะเร่งซ่อมให้ หรือเดือดร้อนเรื่องอาชีพ ก็จะบรรจุเป็นพนักงานราชการให้ เป็นต้น ส่วนข้าราชการ ทหาร ตำรวจที่ได้รับการเจ็บหรือพิการ ซึ่งก็มีอีกไม่น้อย ก็จะเข้าไปเยี่ยมเยียนดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้ไปโรงพยาบาลเอง
"ก่อนหน้าจะเริ่มทำเรื่องเยียวยา เคยขอให้ผู้นำศาสนานัดกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบมาพูดคุยกัน ปรากฏว่ามากันหลายร้อยคน เป็นครั้งแรกที่เขามารวมตัวกันเยอะขนาดนั้น ผมได้เห็นได้คุยแล้วก็สะท้อนใจ บางคนยังไม่หายจากการบาดเจ็บ บางคนก็พิการ แต่ชาวบ้านในพื้นที่น่ารักมาก เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรจากรัฐเลย พอถามเขาว่าเดือดร้อนอะไรบ้าง บางคนก็บอกว่าอยากได้หม้อหุงข้าว บางคนก็บอกว่าอยากได้คอมพิวเตอร์ให้ลูกสักเครื่องก็พอ"
"นี่คือความจริงที่ผมได้สัมผัส รัฐทอดทิ้งพวกเขานานมาก แทบไม่เคยดูแล เหลียวแลพวกเขาเลย ด้วยเหตุนี้ในระเบียบและประกาศ กพต. (คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เรื่องการเยียวยา จึงเขียนไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องไปดูแล เยี่ยมเยียน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลตำรวจอีกจำนวนมาก ก็ต้องไปเยี่ยมเยียนดูแล"
"ครั้งนี้จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ไม่ปล่อยให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราจะดูแลทุกชีวิตที่ได้รับผลกระทบ ทั้งครอบครัวผู้สูญเสียที่ได้รับความลำบาก ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต การศึกษา และอาชีพ นี่คือหลักการของเรา"
นับเป็นหลักการที่ท้าทายอย่างยิ่งในบริบทปัญหาไฟใต้ บทบาทขององค์กร ศอ.บต. และรัฐบาล!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง โดย อับดุลเลาะ หวังหนิ