ถอดบทเรียนสงกรานต์ พบธุรกิจเบียร์ครองแชมป์ทำผิดกฎหมายมากสุด 95 กรณี
วงเสวนาถอดบทเรียนสงกรานต์ พบธุรกิจเบียร์ครองแชมป์ทำผิดกฎหมายมากสุด95กรณี ชี้ยึดพื้นที่ถนนสาธารณะ-สถานบันเทิง ทำการตลาดไร้ธรรมาภิบาล กอบโกยบนความสูญเสีย เรียกร้องร่วมรับผิดชอบสถิติเจ็บตายสงกรานต์จากเหล้าเบียร์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ ในเวทีเสวนา“ถอดบทเรียนสงกรานต์เมา...ใครกอบโกย ใครสูญเสีย” จัดโดย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา(Alcohol Watch) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.)
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) กล่าวถึงการเฝ้าระวังและติดตามการทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างวันที่ 8-17เม.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ศูนย์การค้า สถานบันเทิงผับบาร์ ถนนย่านสถานบันเทิง อุทยานแห่งชาติ และจุดขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 42 จังหวัด พบว่า มีการกระทำความผิดมากถึง 95 กรณี ส่วนใหญ่ผิดตามพ.ร.บ.ความคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551มาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณาและมาตรา 30 ว่าด้วยการส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม เชิญชวนให้ดื่ม มีของรางวัลตอบแทน รองลงมาเป็นกรณีทำผิด ดื่มสุราในสถานที่ห้ามดื่ม เช่น ดื่มท้ายกระบะ ดื่มในวัด ในสวนสาธารณะ
นอกจากนี้ยังพบความผิดคือขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด การเร่ขาย ขณะเดียวกันยังพบลักษณะการจัดงานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ ที่ไม่ตรวจบัตรก่อนเข้างาน ลดราคาบัตร แจกเบียร์ก่อนเข้างาน
“ภาพรวมสงกรานต์ปีนี้สะท้อนชัดเจนว่า ธุรกิจเบียร์ยังยึดพื้นที่สาธารณะ สถานบันเทิง ถนนหน้าห้าง ทำการตลาด โดยแบรนด์ที่พบพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดมากที่สุด คือ เบียร์ช้าง40% รองลงมาลีโอ31%ยูเบียร์10%สิงห์ และแสงโสม ตามลำดับ สอดคล้องที่ก่อนหน้านี้ธุรกิจเบียร์ยักษ์ใหญ่ประกาศจัดคอนเสิร์ตเพื่อโกยยอดขายไม่ต่ำกว่าเจ้าละ 200 แห่ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อเทศกาลสงกรานต์เป็นวงกว้าง ก่อปัญหาทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุเจ็บตาย จึงขอเสนอแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลต้องประกาศมาตรการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัยให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และควรห้ามขายและดื่มสุราในกิจกรรม คอนเสิร์ตต่างๆ เพราะในกิจกรรมดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สนับสนุน มีการกินดื่มกันจนเมา ขับยานพาหนะออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ สุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เจ็บตาย ซึ่งรัฐบาลควรออกประกาศตั้งตอนนี้ แต่ให้มีผลบังคับใช้สงกรานต์ปีหน้า เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ปรับตัว”นายคำรณ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ เช่น การห้ามดื่มบนถนน ซึ่งไม่เคยบังคับใช้ได้เลยทุกสงกรานต์ ขณะเดียวกันทัศนคติของคนไทยที่มองว่า สงกรานต์เท่ากับความสนุก เป็นแรงส่งเสริมให้กระทำเช่น สาดน้ำผู้อื่น การเต้น การดื่ม กลยุทธ์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาใช้คือ music marketing ทุกรูปแบบ ผ่านการจัดคอนเสิร์ต รวมทั้งตามร้านเหล้าผับบาร์
ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าวถึงผลสำรวจปี 59 พบว่า สงกรานต์ทำให้เกิดการดื่มเพิ่ม 0.5-2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติ การเมาหลังการดื่มเพิ่มขึ้น1เท่า เมาแล้วขับเพิ่มขึ้น1-2เท่า ในเทศกาลสงกรานต์ ปัญหาอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 15 เท่าเมื่อเทียบกับเวลาปกติ ปัญหาการวิวาท เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า กลุ่มตัวอย่าง72.4% ระบุว่าดื่มมากที่สุด คือ การดื่มในเทศกาลสงกรานต์ 80% ยอมรับว่าเมาในวันสงกรานต์55.5%ยอมรับว่า เมาแล้วขับในวันสงกรานต์และ15.3% เกิดอุบัติเหตุในวันนี้ รวมทั้งมีภาระหนี้สินเพิ่มจากวันสงกรานต์ 5-10% จากค่าใช้จ่ายการดื่ม-อุบัติเหตุ-เจ็บป่วย-เดินทาง
“เมื่อเทียบกับทุกเทศกาลแล้ว การดื่มในวันสงกรานต์จะสูงกว่าทุกเทศกาล เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนดื่ม มีผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุ วิวาท เจ็บป่วยรักษาพยาบาล และเริ่มขาดมิติด้านวัฒนธรรมประเพณีไปเรื่อยๆในสายตาของคนไทย ส่งผลให้แสวงหาความบันเทิงในเทศกาลนี้ จนกลายเป็นช่องว่างให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเสนอความบันเทิงแทรกเป็นกลยุทธ์ในเทศกาลนี้ได้”ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการทำงานในระดับพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์สร้างสรรค์ปลอดภัยปลอดเหล้ามากว่า10 ปี จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกระแสกว่า150แห่ง แบ่งเป็น เกิดถนนตระกูลข้าว50แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำถนนต่างๆ100แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเจ้าภาพจัดงานคุมพื้นที่ทำให้สงกรานต์กว่า90%เป็นพื้นที่ปลอดเหล้าอย่างแท้จริง เช่น ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต สยาม เซ็ลทรัลเวิลด์ และถนนข้าวเหนียว ขอนแก่น ที่ทำลายสถิติคนร่วมงานมากที่สุดในประเทศ รวมถึงงานวันไหลที่อุทัยธานี และอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับความร่วมมือและเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน และนักท่องเที่ยว
"ที่น่าสนใจคือ สีลมจากเมื่อก่อนที่มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า902จุด แต่ปีนี้แทบไม่มีให้เห็น เปลี่ยนเป็นขายน้ำเปล่า หรือบริการเติมน้ำแทน และคนยังมากมายเช่นเดิม อีกทั้งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศมากขึ้น เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกทม.อย่างไรก็ตามภาพรวมสงกรานต์ที่ผ่านมาถือว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหายังเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สะท้อนจากผลโพล79.1% ที่ระบุว่าเหล้าเป็นตัวการทำลายความสุขช่วงสงกรานต์ ดังนั้นหากอยากให้สังคมปลอดภัยแค่ไหน ก็ต้องกำหนดพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำที่ปลอดเหล้ามากขึ้นเท่านั้น และฝากไปยังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง"