ฟังมุมมอง ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ให้ต่างชาติ “เช่ายาว 99 ปี” ขณะคนในชาติไม่มีที่ดินทำกิน
" ผมไม่คิดปฏิเสธนโยบายเช่าที่ดินระยะยาว รู้ว่าเสนอไปก็ค้านไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมเสนอ คือ ทำคู่ขนานได้ไหม กระจายการถือครองที่ดินเสียก่อน ทำเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ชัดเจน รวมถึงธนาคารที่ดิน จัดระบบที่ดินของไทยให้คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินทำกิน อาศัยก่อน แนวคิดนี้ต้องรับก่อน"
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูป และนักวิชาการด้านการจัดการที่ดิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) โดยรัฐบาลได้ให้สิทธิต่างชาติเช่าที่ดินถึง 99 ปีว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก หากย้อนกลับไปช่วงต้นรัฐบาล หรือรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามทำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา จนมารัฐบาลนี้พยายามต่อยอดนโยบายเก่าๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจเรื่องที่ดิน ซึ่งจริงๆ กฎหมายเดิมก็มีอยู่แล้ว การเช่าพื้นที่ตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดระยะเวลาการเช่าไว้เกินกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้ มีกำหนดไม่เกิน 50 ปี
ดร.เพิ่มศักดิ์ วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลนี้จะขยายการให้เช่านั้น และทำไมต้องเอาประเด็นที่ดินมาเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุน จากที่ฟังการให้สัมภาษณ์ของนักลงทุนทุกครั้ง จะมีการพูดว่า การไปลงทุนประเทศไหน มี 2 - 3 ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง 1.เรื่องคุณภาพของคน ทักษะด้านภาษา การศึกษา 2.นโยบายรัฐบาลโปร่งใส ไม่มีคอร์รัปชั่น 3.สาธารณูปโภค
"นโยบายเรื่องให้เช่าที่ดิน 99 ปี ดูแต่ละประเทศแล้วไม่ใช่จุดชี้ขาดให้ผู้ลงทุนมาลงทุนหรือไม่ลงทุน ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา แม้จะเปลี่ยนมาให้นักลงทุนเช่าที่ดิน 99 ปี แต่ผมคิดว่า ของไทยเราไปไกลกว่านั้นแล้ว มีทั้งเรื่องระบบนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ก็เปิดโอกาสให้ลงทุนโดยไม่มีเงื่อนไขจำกัดอยู่แล้ว"
ดร.เพิ่มศักดิ์ มองถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และรวมถึงมีเสียงคัดค้านเมื่อรัฐจะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าใช้ที่ดินไทยได้ยาว 99 ปี ทำให้เกิดประเด็นความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
"แทนที่รัฐบาลก่อนประกาศนโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือจะขยายการให้เช่าที่ดิน ก็ควรทำเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดินให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เช่นเดียวกับจีน เวียดนาม ซึ่งจีนก่อนทำนโยบายให้เช่าที่ดิน 99 ปี เขาทำนโยบายพื้นฐานด้านที่ดินไว้ก่อนแล้ว หรือแม้แต่ลาว ก็ทำนโยบายแบ่งดินแบ่งป่า หรือแม้แต่เวียดนามก็ทำนโยบายเรื่องที่ดินมาเกือบ 20 ปีที่แล้ว และทำทั่วประเทศ มีการกระจายการถือครองที่ดินไปยังเกษตรกรได้หมด มีที่ดินทำกิน แต่ละชุมชนมีที่สาธารณะประโยชน์ มีการทำโซนนิ่งที่อยู่อาศัย ที่เกษตรกรรม เป็นต้น"
เมื่อถามถึงการนำตัวเลขการให้เช่าที่ดินไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มองว่า เราต้องดูพื้นฐานด้วยว่า ก่อนที่ประเทศเหล่านั้นจะเดินมาถึงจุดให้เช่าที่ดินระยะยาว เขาเตรียมเรื่องอะไรให้กับประชาชนของเขาเอาไว้บ้าง
"หากเราไปถามกลุ่มชาติพันธุ์ของเวียดนาม เขาพอใจการจัดสรรที่ดิน เพราะเดิมเป็นการครอบครองโดยสิทธิชุมชน ไม่มีกฎหมายรองรับ พอมีนโยบายแบ่งดินแบ่งป่า เขามีสิทธิในการถือครองที่ดิน ดังนั้นเมื่อมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ชาวบ้านโอเค
กลับกันกับบ้านเรายังไม่ได้ทำนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ไทยติด 10 อันดับแรกของโลก ดังนั้นการขยายการเช่าที่ดินให้กับนักลงทุน จึงทำให้คนรู้สึกว่า ไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำเข้ามาอีก ให้สิทธิชาวต่างชาติเช่าที่ดิน ขณะที่ชาวบ้านของเรายังถูกไล่ล่า ทวงคืนผืนป่า ถูกเวณคืนที่ดินทำทางด่วน ทำมอเตอร์เวย์ ไล่รื้อทำให้คลองปราศจากชุมชน ทั้งๆที่คนพวกนี้เข้ามาเป็นแรงงานพัฒนาต่างๆ ให้กับเมือง ประชาชนจึงเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม"
ส่วนประเด็นเรื่องชาตินิยม นักวิชาการด้านการจัดการที่ดิน เห็นว่า ที่ผ่านมานโยบายสำหรับกระตุ้นการลงทุนแทบไม่มีขีดจำกัดเลย ทั้งเรื่องภาษี ขอยกเว้นภาษียังได้ รวมถึงการเช่าที่ดิน รัฐบาลทุกยุคแทบจะไม่เคยขัดขวางหรือไม่ให้เลย "ผมจึงมองว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องชาตินิยม แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมของประชาชน เรื่องการสูญเสียที่ดินให้กับต่างชาตินั้น เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
"คิดดูว่า พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษมีการเช่าที่ดินสัก 2 พันไร่ ทำอสังหาริมทรัพย์ ทำบ้าน คอนโดมิเนียม ผมคิดว่า แบบนี้ผู้ประกอบการไทยก็ไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพราะสายป่านเขายาวกว่า กำหนดราคาอาจต่ำกว่าผู้ประกอบการไทยได้ และเขาสามารถนำเงินมาซื้อที่ดินสะสมภายใต้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้" ดร.เพิ่มศักดิ์ ยกตัวอย่าง
ดร.เพิ่มศักดิ์ ชี้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านเดือนมิถุนายน คิดว่า เป็นการเสี่ยง โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทย วันนี้ความสามารถในการแข่งขันของเราต่ำกว่า ขณะเดียวกันเราก็มีผู้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้ไม่กี่ราย ยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็กจะพัง
"ก่อนออกร่างพ.ร.บ.EEC ให้สิทธิต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเต็มกำลังนั้นจะต้องดูแลคนในชาติเข้าถึงโอกาสก่อน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนเมืองเราต้องออกกฎหมายให้เขาเข้าถึงที่ดินก่อน"
เมื่อถามถึงเรื่องการถือครองที่ดินตกอยู่ในมือต่างชาติ ดร.เพิ่มศักดิ์ ให้ข้อมูลทิ้งท้าย เป็นมานานแล้ว เพราะตั้งแต่สมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเข้าถือหุ้นเกินครึ่งเกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ฉะนั้นที่ดินที่หลุดมือ เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มากน้อยเท่าไหร่ นี่คือข้อเท็จจริงที่ดินหลุดมือไปอยู่กับต่างชาติแล้ว หลุดไปแล้ว ฉะนั้นไม่แปลกใจที่ดินถนนบางสายจึงเป็นของสิงคโปร์ ฮ่องกง สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น
"การถือครองที่ดินไม่ได้เปลี่ยนมือจากเจ้าของที่ดินไปเป็นของต่างชาติ แต่หลุดไปอยู่ในมือของสถาบันการเงิน โดยเชิงระบบเราสูญเสียที่ดิน ส่วนใหญ่ที่ถือก็นอมินี ผมไม่คิดปฏิเสธนโยบายเช่าที่ดินระยะยาว รู้ว่าเสนอไปก็ค้านไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมเสนอ คือ ทำคู่ขนานได้ไหม กระจายการถือครองที่ดินเสียก่อน ทำเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (use zoning) ให้ชัดเจน รวมถึงธนาคารที่ดิน จัดระบบที่ดินของไทยให้คนไทยทุกคนต้องมีที่ดินทำกิน อาศัยก่อน แนวคิดนี้ต้องรับก่อน"
ก่อนจะย้ำทิ้งท้าย "คนไทยไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัยจะเรียกว่าคนไทยได้อย่างไร ซึ่งเวียดนาม ลาว มีหมดแล้ว ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน กัมพูชาก็ทำแล้ว พอจัดแล้วรัฐบาลเอาไปให้เช่า แต่อย่างน้อยเขาก็ทำแล้ว แต่ไทยนอกจากไม่ทำเรื่องที่ดินแล้ว คนไทยทำกินในที่ดินของรัฐซึ่งเป็นข้อพิพาทกันมีจำนวนล้านกว่าครอบครัว ทั้งในที่ราชพัสดุ และที่เขตป่า บ้านเรายังสีเทาอยู่เลย เรื่องที่ดินยังคาอยู่ แต่มาทำนโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ผมเห็นว่า เมื่อปัญหาที่ดินของคนไทยหมดไป ค่อยมาทำเรื่องกลไกลตลาดก็ไปว่ากันไป"