“อารันดร์ อาชาพิลาส” จาก BE แมกกาซีน-สู่ “หลอดไฟขวดน้ำเพื่อชุมชน”
แดดยามสายแถวๆชุมชนหัวโค้งยมราช เป็นที่รวมพลคนหนุ่มสาวไฟแรงกลุ่มเล็กๆที่กำลังทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชนจากไอเดียบรรเจิด “หลอดไฟขวดน้ำพลาสติก” นำโดย “อารันดร์ อาชาพิลาส”
หนุ่มอายุ 25 ปี ชอบอ่านการ์ตูนโดเรมอน จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์การเมือง หอบ 2 ใบปริญญาจากอังกฤษกลับไทย นำแรงบันดาลใจจากนิตยสารเมืองนอกที่มีคอนเซ็ปต์ธุรกิจเพื่อสังคมหรือ “โซเชียลเอนเทอร์ไพรส์” กลับมาทุบกระปุกสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเองภายใต้ชื่อ “BE แมกกาซีน”
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปรู้จัก “อารันดร์ อาชาพิลาส”เจ้าของผู้ก่อตั้งนิตยสาร BE-magazine กับแนวคิดและปฏิบัติการธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงกำไรสูงสุด แต่แบ่งปันให้สังคม-ชุมชน ณ เช้าวันแจ่มใสที่เขาชักชวนเพื่อนๆไปสำรวจชุมชนแออัดย่านคลองเตยและโค้งยมราชเพื่อเตรียมทำ “หลอดไฟจากขวดน้ำพลาสติก” ที่ทั้งประหยัดพลังงาน-ประหยัดสตางค์ เพื่อชาวบ้านยากจน และหวังว่าเมื่อผ่านพื้นที่ทดลองแล้ว จะสามารถนำไปใช้กับชุมชนทั่วประเทศได้
คำจำกัดความของ BE แมกกะซีน?
BEคือธุรกิจนิตยสารเพื่อสังคม ซึ่งไอเดียนี้ไม่ได้เป็นไอเดียที่ผมเริ่มต้นขึ้นมา คนเริ่มต้นอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เขาทำนิตยสารผลิตออกมาให้คนที่ไม่มีบ้านในลอนดอนสามารถรับนิตยสารนี้ไปขายได้ โดยคนขายจะมีส่วนต่างเป็นรายได้ คือช่วยคนให้คนมีงานทำ ผมก็เลยคิดว่าธุรกิจแบบนี้น่าจะมีที่เมืองไทยบ้าง พอดีมีทุนอยู่ก้อนหนึ่งก็เลยลองกลับมาทำ
BEตอบโจทย์ไอเดียนี้ได้อย่างไร?
BEผลิตนิตยาสาราแล้วให้คนที่ไม่มีบ้านอยู่ คนที่อยู่สลัม คนที่ลำบากต้องการอาชีพสามารถรับนิตยสารไปขายได้ โดยครั้งแรกที่เขาเข้ามา เขาจะได้รับการอบรม เรามียูนิฟอร์มให้และก็ได้หนังสือไปทดลองขาย 30 เล่มแรกฟรี เขาจะขายได้เล่มล่ะ 45 บาท วิธีนี้เขาได้ทุนเริ่มต้น 1,350 บาท หลังจากนั้นเล่มที่ 31 เขาก็ซื้อกับเราในราคา 25 บาท วิธีนี้เขาจะได้ส่วนต่าง 20 บาท ซึ่งมีทุนเริ่มต้นที่ 30 เล่มแรก ทำมาได้กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3
ดอกผลที่ได้จากการนำแนวทางนี้มาใช้คืออะไร?
ที่ผ่านมาดอกผลที่ได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนตกงาน คนจรจัดไร้ที่อยู่อาศัย เด็กข้างถนน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 500 คน โดยพวกเขาจะทราบวัตถุประสงค์ของหนังสือ มารับหนังสือไปขายผ่านสื่อต่างๆที่เรามีการโปรโมทในช่วงเริ่มต้น และเป็นการบอกกันปากต่อปาก มีเข้ามาออกไปบ้าง แต่ระบบทุกอย่างก็เข้าที่ กลไกทำงานสามารถเดินต่อได้
แนวคิดการเข้าไปทำงานกับชุมชนแออัดเป็นอย่างไร?
เรารู้ว่าชุมชนแออัดมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เราก็มาดูว่ามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างหรือภูมิปัญญาอะไรที่สามารถใช้งานได้และจะนำมาพัฒนาท้องถิ่นชุมชนได้ก็เลยเลือกการทำหลอดไฟจากขวดน้ำ โดยการทำงานร่วมกันกับกลุ่มสถาปนิกชุมชนที่เขามีเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลาการที่รู้เรื่องนี้ดีซึ่งแนวคิดนี้มาจากอเมริกา เขามีนักประดิษฐ์อยู่และทำเรื่องนี้ เราก็เอาข้อมูลมาใช้ในจุดที่เราทำได้โดยความร่วมมือกับเครือข่ายอย่างที่บอก ผมมีข้อมูลมีทุนทรัพย์ เพราะฉะนั้นผมก็พร้อมที่จะพัฒนา คิดว่าน่าจะช่วยชาวบ้านในเรื่องพลังงานได้ในระดับหนึ่ง
แสงสว่างจากหลอดไฟขวดน้ำช่วยชุมชนได้อย่างไร?
“โครงการตรงนี้ถือว่าเป็นการนำร่อง เราเลือกชุมชนบ้านกล้วยคลองเตย ชุมชนหัวโค้งยมราช ลักษณะความเป็นอยู่ของชุมชนแออัด โครงสร้างบ้านจะเหมือนกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเปิดไฟช่วงกลางวัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้านำขวดน้ำมาใช้แทนหลอดไฟ มันก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้มหาศาล เมืองไทยเป็นเมืองเขตร้อนมีแสงอาทิตย์เยอะ เพราะฉะนั้นเราควรจะให้อะไรกับมันบ้าง คือทุกวันนี้ผมพูดได้เลยว่า เรามีเทคโนโลยีมากพอที่จะสามารถแก้ปัญหาหลายๆอย่างได้ ถ้าหากมีคนจับมันขึ้นมาใช้จริงๆ นอกจากนี้การทำตรงนี้ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะด้วย
“วิธีการทำง่ายมากครับ นำขวดน้ำเปล่าขวดหนึ่งล้างให้สะอาด ใส่น้ำ 90 เปอร์เซ็นต์ ใส่คลอรีน 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกันการเกิดตระไคร้น้ำในขวด ปิดฝาทากาว ทาซิลิโคนข้างบน เจาะหลังคา เอาขวดวางลงในช่องที่เจาะ ปิดทากาวก็เสร็จเรียบร้อย เราก็จะได้แสงสว่างที่ได้จากการส่องเข้ามาของแสงอาทิตย์ ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มได้ประมาณปลายเดือนก.พ.”
นอกจากสถาปนิกชุมชนมีองค์กรอื่นเข้าร่วมหรือไม่?
ไม่มี เราทำกันในเครือข่ายที่เคยร่วมงานกันมาหลายครั้ง การที่จะเปลี่ยนหรือสร้างสิ่งดีงาม ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรร้อยแปดหรือหน่วยงานมากมายเข้ามาร่วม เราสามารถสร้างพื้นที่เป็นพื้นที่ทดลองได้ ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอด เพราะโครงสร้างบ้านในเมืองไทยมีลักษณะบ้านที่มุงด้วยสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ ถ้าขยายออกไปสู่ชุมชนที่อื่นๆจะสามารถลดการใช้พลังงานได้เยอะ
อะไรคือจุดเชื่อมระหว่างBEกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น?
ความสอดคล้องอย่างหนึ่งคือเรามีวิธีการที่จะอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สื่อสิ่งพิมพ์คือการออกแบบข้อมูลว่าจะนำเสนออย่างไร ตรงนี้มันไปด้วยกันกับการพัฒนาได้ เพราะเราสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาชุมชน ทั้งนี้คงต้องพูดถึงกระแสธุรกิจเพื่อสังคมหรือโซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์มันเป็นกระแสโลก ยังไงก็ต้องมาเมืองไทย อย่างตอนที่คุณเห็นCSR แต่อันนี้มันจะไม่ได้เป็นCSR เพราะโซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์คุณทำธุรกิจเพื่อพัฒนาจริงๆไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์องค์กร
“โซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์คือธุรกิจที่สร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ 2 ประการ คือ หนึ่งบรรเทาปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งต่างจาก CSR ตรงที่เราต้องการพัฒนาจริงๆไม่ใช่แค่การสร้างภาพ การที่เราลงไป คำถามคือเราแก้ปัญหาได้จริงๆหรือเปล่า ไม่ใช่แค่การลงไประดมชาวบ้านมาปลูกต้นไม้เสร็จแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้ก็จบ ซึ่งมันไม่ใช่”
ทำอย่างไรองค์กรภาคประชาชนจะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งทุนภายนอก?
ธุรกิจเพื่อสังคมจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องเริ่มที่จะทำการค้าขาย เราไม่ต้องรอเงินบริจาคหรือให้คนอื่นมาช่วย พ่อแม่เรายังช่วยเราไม่ได้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มที่จะทำธุรกิจคือค้าขาย อย่างเช่น ขายกระดาษทิชชู่ก็ได้ ถ้าคุณสามารถให้บริษัทใหญ่ๆหรือบริษัทน้ำมันจะใช้กระดาษทิชชู่ของคุณในทุกปั๊ม คุณอยู่ได้ไหม คุณอยู่ได้ หรือยกตัวอย่างปตท.ที่ลงทุนกับสหกรณ์ชาวบ้านทำสบู่แล้วเขารับซื้อ กำไรของชุมชนก็สามารถหล่อเลี้ยงผู้คน นำมาพัฒนาชุมชนได้ คือไม่คิดแค่แบมือของบพัฒนาอย่างเดียว แต่เราต้องคิดที่จะทำงานเพื่อให้เกิดดอกผลด้วย น่าจะเป็นคำตอบที่ดี
มองมิติการพัฒนาชุมชนไทยในปัจจุบันอย่างไร?
จริงๆแล้วหากคุณจะพัฒนา อย่ามองว่าคุณอยู่เหนือคนอื่น คุณอย่าหยิ่ง การพัฒนาด้านอื่นๆสามารถที่จะร่วมมือกันพัฒนาได้ เพราะพื้นฐานคนไทยเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือกัน ก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่นต้องคิดเสียก่อนว่าช่วยได้จริงหรือเปล่า อย่างเช่นการให้เงินขอทาน บางคนให้แล้วบอกไม่คิดมาก แต่ถ้าเราหยุดคิดและตั้งคำถามว่า เราให้แล้วจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า เพราะการบริจาคโดยการให้เปล่าบางครั้งมันไม่ได้ช่วยอะไร ตรงกันข้ามมันอาจเป็นการทำลายเขาก็ได้
สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตสำหรับชุมชนไทย?
ผมเป็นคนไม่ตั้งความหวังอะไรสูงเลยนะ ค่อยๆเป็นค่อยๆไปดีกว่า เมืองไทยจุดแข็งที่สุดคือต้นทุนการพัฒนาเราต่ำ ค่าครองชีพเราต่ำเมื่อเทียบกระประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นเงินที่ใช้ในการพัฒนา มันไม่ได้สูง แต่ทางกลับกันเรามีปัญหาเรื่องการใช้เงิน เพราะโครงสร้างต่างๆ ทั้งการใช้งบประมาณ การตรวจสอบ เรายังไม่ได้ทำออกมาได้เพอร์เฟ็ค 100 เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจว่าหลายคนพยายามที่จะทำอยู่ แต่พอทำไม่ได้ งานงบประมาณก็ใช้ผิดที่ผิดทาง ผิดจังหวะ เราไม่ได้ใช้เงินกับการศึกษาเท่าที่ควร แต่เราใช้เงินกับการสร้างสถานที่ วัตถุหรือสร้างอะไรที่มันใหญ่โต ซึ่งมันไม่จำเป็น อีกทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคมเราสูงเหลือเกิน
อะไรคือความสุขที่ได้จากการทำงานตรงนี้?
ผมมีความสุขกับการทำงาน ผมเป็นคนเสพติดกับการแก้ปัญหานะเวลาแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้มันเป็นความสะใจเล็กๆน้อยๆ (หัวเราะ) ผมไม่ได้เป็นคนดีอะไรมากมายที่ผมทำเพราะรู้สึกสนุกกับมัน เรามีเทคโนโลยีมากมาย ถ้าลองทำดูมันจะเป็นยังไง มันจะเกิดอะไรขึ้น การทำธุรกิจก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของผมเหมือนกัน
มองสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันอย่างไร?
มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เมืองไทยกำลังเติบโต การจะให้คนไทยทั้งประเทศคิดเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้มันเป็นภาวะที่เราต้องเจอ ผมเลยไม่ได้มองว่าการคิดต่างจะเป็นความผิดอะไร บางครั้งเราไปชี้นิ้วว่าใครคนใดคนหนึ่งมันก็ไม่ถูกเสมอไป ปัญหามันเป็นผลพวงมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น อย่าโทษใครแต่มาดูว่าวันนี้จะทำยังไงน่าจะดีกว่า เมืองไทยมีจุดแข็งคือความสามารถในการอยู่ร่วม ยุคสมัยโลกแบ่งขั้วเสรีนิยม คอมมิวนิสต์เราก็รอดมาได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ทำไมเรื่องแค่นี้เราจะผ่านมันไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราจะผ่านมันไปได้นะ (หัวเราะ) แต่ต้องให้เวลา เพราะเวลาจะไปแก้ปัญหาของมันเอง
อยากบอกอะไรบ้างกับชุมชนไทย?
(นิ่งคิด)อย่ากลัวที่จะผิด ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ทุกคนทำมาผิดก่อนถูก แต่เราลืมตรงนี้ไป การแก้ปัญหา การพัฒนาในชุมชน มันไม่ได้ถูกต้องเลยแต่มันอาจจะต้องผิดพลาดก่อน ครั้งแรกที่เราทำเราต้องเตรียมแผน คิดเสมอว่าความผิดพลาดจะเกิดขึ้นแน่นอน ในความเป็นจริงความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ความน่ากลัวคือตอนที่เรารู้สึกว่าเราถูกแต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันผิด
...............................
ก่อนจบการสนทนา หนุ่มน้อยนักธุรกิจเพื่อสังคมไฟแรง กระซิบบอก“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ด้วยรอยยิ้มว่ามุมมองและวิธีคิดดีๆหลายอย่างของเขา มิได้มาจากการอ่านตำราปรัชญาชั้นสูง แต่ได้จากการอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดเรื่อง“โดเรมอน”
“โดเรมอนจะสอนเสมอว่าความอ่อนโยนไม่ใช่ความอ่อนแอ ทุกครั้งเมื่อเกิดความก้าวร้าวหรือปัญหาโนบิตะจะรวบรวมเพื่อนได้ทุกครั้งเสมอ เพราะเขาอ่อนโยน เขาแคร์กับสิ่งรอบข้าง เพื่อนๆก็จะเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงทุกครั้งไป” .
..................................
ล้อมกรอบ
ในฐานะภาคีเครือข่ายของBE แมกกาซีนที่รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบคัดเลือกชุมชนในการเข้ามาทำโครงการหลอดไฟจากขวดน้ำ “กษมา แย้มตรี” สถาปนิกในกลุ่มโอเพ่นสเปซกล่าวถึงการทำงานของกลุ่มว่าฯ การทำงานตรงนี้เหมือนเป็นการตอบโจทย์สมัยเรียนในมหาวิทยาลัย พร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่าการออกแบบที่ทำกันอยู่เป็นยังไง ไม่สามารบอกได้ว่ารูปแบบที่มีการออกแบบมันเวิร์กหรือไม่ จบแล้วจะไปทำอะไร พอดีช่วงนั้นสนใจในเรื่องวัสดุรีไซเคิลก็เลยทดลองทำ งานในแนวทางของกลุ่มฯทำมาแล้วประมาณ 7 ปีร่วมทำงานกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนโดยเฉพาะ
“เป้าหมายจากโครงการที่ทำร่วมกับBE แมกกาซีนในเรื่องหลอดไฟขวดน้ำเป็นการเริ่มต้นของทีมงานBE ทางกลุ่มเข้ามาร่วมด้วยการคัดเลือกชุมชนที่มีจุดแข็งเป็นโครงการนำร่อง เรารู้สึกว่าอยากนำคนที่อยู่อาศัยมาออกแบบ สามารถกำหนดการอยู่อาศัยตัวเองได้ โดยนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปช่วย เพราะการที่มีที่อยู่อาศัยที่เราเลือกเอง ได้น่าจะเป็นความสุขในชีวิต การทำงานกับชุมชน การมีระบบที่ดีจะเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในอนาคต” สถาปนิกสาวผู้ทุ่มเทการทำงานเพื่อชุมชน กล่าว.