ดร. วรเวศม์ ชี้ภาระหนักอึ้ง วัยแรงงานอนาคตดูแลผู้สูงอายุ–เด็ก สัดส่วน 2:1:1
รมว.พม.ชี้ไทยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 คาดปี 2564 เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีถึง 13 ล้าน ยันเป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะที่นักประชากรศาสตร์ หวั่นวัยแรงงานรับภาระเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้น ทำให้ครอบครัวต้องประสบปัญหาภาระค่าครองชีพ
วันที่ 20 เมษายน 2560 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันจัดงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัย ก้าวไปด้วยกัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม จึงเป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยทำงาน โดยจะต้องมีการเตรียมในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างหลักประกันด้านรายได้ การออมในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพในวัยเกษียณหรือวัยสูงอายุ การสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย การเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและวางแผนชีวิตอย่างมีคุณค่า บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยมีครอบครัวเกื้อหนุน ชุมชนช่วยเหลือและสังคมรัฐเกื้อกูล
ด้าน ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย จากข้อมูลผู้สูงอายุล่าสุดในปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ15.8 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ประชากรในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 19 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ศ.ดร. วรเวศม์ กล่าวต่อว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องตระหนัก โดยเฉพาะประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยผู้สูงอายุจะลดลงเรื่อยๆโดยอีกไม่เกิน 15 ปี ประชากรไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบที่วัยแรงงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรวัยทำงาน 4.5 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็ก 1 คน (4:1:1) เป็นสัดส่วนประชากร 2 คนต่อการดูแล ผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็ก 1 คน (2:1:1) ทำให้ครอบครัวต้องประสบปัญหาภาระค่าครองชีพและภาวะหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 16.13 ยังคงเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน โดยผู้สูงอายุร้อยละ 38.3 ยังคงทำงาน แต่มีเพียงร้อยละ 18.5 เท่านั้นที่ต้องการทำงานด้วยความสมัครใจ แสดงว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงาน เพราะความจำเป็นในการหารายได้เพื่อใช้ดำรงชีวิต
ขณะที่แรงงานนอกระบบ ศ.ดร. วรเวศม์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่กว่า 24 ล้านคนไม่มีหลักประกันรายได้กรณีชราภาพ และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 35.7 ที่มีแหล่งรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้น ย่อมเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่างๆโดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ซึ่งภาครัฐต้องทำงานอย่างหนักในการหามาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคที่ประชากรวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัวในยุคสังคมสูงวัยที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวหรืออยู่ลำพัง นอกจากนี้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น แต่มีโอกาสสุขภาพแย่ลง และต้องได้รับการดูแลยาวนานขึ้นด้วย
ในขณะเดียวกัน นายจิรพันธ์ กัลลประวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่โครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในแง่ของประเทศไทยจะรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร ในขณะที่กำลังแรงงานลดลง ซึ่งสังคมสูงวัยไม่ใช่ปัญหา เมื่อคนไทยเข้าสู่อายุ 60 ปี แต่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ไม่มีการเตรียมพร้อม ที่ซ้ำร้ายคือไม่ได้มีการออม มีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับในชีวิตประจำวัน นั่นคือสิ่งที่เป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ถ้าผู้สูงอายุในประเทศไทยยังคงเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ทุกคนจะต้องหันมาพึ่งหน่วยงานรัฐให้ดูแลมากขึ้น ฉะนั้นจึงอยากให้มีการเตรียมการเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยในทุกด้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ เพื่อลดภาระต่อลูกหลานและมีชีวิตที่ดีในอนาคต
ทั้งนี้ นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติระบุไว้ว่า คนที่จะทำงานเพื่อผู้สูงอายุต้องเป็นคนที่รู้จักผู้สูงอายุเป็นอย่างดี ใช่ว่าจะเอาใครก็ได้มาดูแล เพราะฉะนั้นในความต้องการของผู้สูงอายุจริงก็คือ คนที่อายุ 60-70ปี ไม่ใช่คนที่สร้างภาระแต่เป็นพลังของประเทศ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่จะมาขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุของประเทศ เพราะคนเกิดน้อย ดังนั้น เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลจึงประกาศนโยบายโดยกระทรวงแรงงานว่า ให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุไปถึง60-70ปี เพราะทุกวันนี้ผู้สูงอายุยังต้องการทำงาน ซึ่งผู้สูงอายุจะเป็นคนที่ตัดสินใจและทำงานได้ดีกว่าคนอายุน้อย ที่สำคัญมีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ทั้งชีวิตมา ดังนั้นต้องใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุมาพัฒนาประเทศ