เปิดผลสำเร็จ 'นครพนม' ต้นแบบ ใช้แอปฯ คัดกรอง 'เด็กยากจน'
สสค.จับมือ ม.นเรศวร พัฒนาแอปพลิเคชั่น “ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” คัดกรอง นร.ยากจน นำร่อง 10 จว. ทั่วประเทศ ชู ‘นครพนม’ โมเดลต้นแบบแรก พบเพิ่มประสิทธิภาพ เตรียมขยายครอบคลุม 77 จังหวัด ปีการศึกษา 2560
วันที่ 20 เมษายน 2560 จังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) จัดประชุมความก้าวหน้า ระบบสารสนเทศคัดกรองเด็กยากจนเพื่อการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ เพื่อติดตามช่วยเหลือและพัฒนาเด็กด้อยโอกาสและยากจน จังหวัดนครพนม พร้อมนำข้อมูลมาบูรณาการต่อยอดไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ณ โรงแรมเดอะริเวอร์ จังหวัดนครพนม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ว่า ที่ผ่านมารัฐกำหนดระบบคัดกรองนักเรียนยากจนทั่วประเทศของ สพฐ.อาศัยเพียงเกณฑ์รายได้เท่านั้น หากครอบครัวใดมีรายได้ไม่เกิน 4 หมื่นบาท/ปี ถือว่ายากจน โดยใช้วิธีการสอบถามจากเอกสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้ข้อเท็จจริง อีกทั้งทำให้รัฐต้องดูแลนักเรียนยากจนสูงเกือบ 4 ล้านคน/ปี ภายใต้งบประมาณจำกัดเพียง 2.5 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ
บอร์ด สสค. นำโดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จึงคิดวิธีการทำอย่างไรให้มีระบบคัดกรองเด็กยากจนจริง ๆ ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ สสค.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ออกแบบเครื่องมือคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการคัดกรองเด็กยากจนเป็นรายบุคคล (Data Management Center :DMC) ชื่อแอปพลิเคชั่น ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน นำร่อง 10 จังหวัด ครอบคลุมโรงเรียน 5,000 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรัง และภูเก็ต ซึ่ง จ.นครพนม เป็นจังหวัดแรกที่ส่งข้อมูลครบถ้วนทุกเขตพื้นที่การศึกษา
เเอปพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน
ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวต่อว่า นอกจากการสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือคัดกรองเด็กยากจนฯ แล้ว สสค.ยังปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งผ่านแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นระบบ iOS หรือ Android เข้าสู่ระบบ พร้อมให้ผู้ใหญ่บ้านลงชื่อรับรองเพื่อยืนยันว่ามีฐานะยากจนจริง ซึ่งแบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1.เกณฑ์รายได้ กำหนดให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน
2.เกณฑ์สถานะครัวเรือน มีภาระพึ่งพิง ในครอบครัวมีผู้พิการหรือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี หรือคนว่างงานอายุ 15-65 ปี หรือเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ดูสภาพที่อยู่อาศัย เป็นบ้านเช่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือทำจากวัสดุพื้นบ้าน ไม้ไผ่ ใบจาก หรือไม่มีห้องสุขา ต้องไม่มีรถยนต์ส่วนตัว รถกระบะ รถเกี่ยวข้าว หรือรถอื่น ๆ ประเภทเดียวกัน และเป็นเกษตรกรมีที่ดินทำกิน รวมเช่า ไม่เกิน 1 ไร่ หรือไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สพฐ. ในพื้นที่จังหวัดนครพนม มีนักเรียนทั้งหมด 73,186 คน เดิมนั้นมีนักเรียนยากจนตามที่โรงเรียนรายงานตามระบบคัดกรองเดิม 52,049 คน (ร้อยละ 71.12) นั่นหมายถึงว่า นักเรียนเกินครึ่งมีฐานะยากจน ซึ่งรัฐไม่มีงบประมาณช่วยเหลือเพียงพอแน่นอน แต่เมื่อใช้ระบบคัดกรองแบบใหม่ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ พบว่า ได้จำนวนเด็กยากจนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายจริง และลดลงมากกว่าครึ่ง ปัจจุบันมีนักเรียนที่มีคะแนนความยากจนมากกว่า 0.5 เพียง 24,188 คน (ร้อยละ 33.05) ซึ่งรัฐสามารถจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือครอบครัวได้
“แอปพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในปีการศึกษา 2560 ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของนักเรียนยากจนทุกคนจะรวมอยู่ในนี้เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ทางการศึกษาภาคบังคับ” ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าว และว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะได้ไม่เป็นวาทกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีนี้จะเอานักเรียนเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เติบโตมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของประเทศ .