ธนาคารพัฒนาเอเชียเร่งไทยยกเครื่องการศึกษาขนานใหญ่ ช่วยดัน ศก.โตได้ถึง60%
นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ชี้การศึกษาไทยลงทุนสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่คุณภาพต่ำ ถ้าต้องการดันเศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 60% ต้องเพิ่มคุณภาพการศึกษาขนานใหญ่ สอบPISA ให้ได้ระดับ 400-600
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จัดแถลงข่าว “รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2560” โดยทางด้าน ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย เผยว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% ในปี 2559 โดยเร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 2.9% ในปี 2558 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคเกษตร ในขณะที่ภาคอื่นๆ ชะลอตัวหรือยังอยู่ในระดับเดียวกับปี 2558
สำหรับปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ในปีถัดไป เนื่องจากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก การบริโภคภายในประเทศขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ราคาข้าวในตลาดโลกที่ค่อยๆ ปรับขึ้นจะเป็นอีกกลไกที่ช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ดร.ลัษมณ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ประเทศรายได้ปานกลางพุ่งขึ้นมีรายได้ระดับสูงนั้น เรื่องของทุนที่หมายถึง เครื่องจักร เงินทุน โรงงาน และเรื่องของแรงงาน หมายถึงปริมาณแรงงานโดยเฉพาะ ประสิทธิภาพของแรงงาน (Human Capital) และตัวสุดท้าย เรื่อง ผลผลิต (productivity) เป็นประสิทธิภาพ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม
ในส่วนของประเทศไทย ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF )มองว่าความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในองค์ประกอบที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งนี่คือภาพโดยไม่อิง(with out) นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ดร.ลัษมณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศรายได้ปานกลางพุ่งไปข้างหน้า จะต้องเป็นเรื่องความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มสูง( sophisticated )ในเรื่องความหลากหลาย ประเทศไทยนำหน้าประเทศอื่นมาก แต่เรื่องมูลค่าเพิ่มสูงใช้เทคโนโลยีสูง ยังไม่ติดอันดับใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา
“ที่ผ่านมาแม้ว่าการจดสิทธิบัตรของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเทียบกับประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับเรา เข้าใจว่าทางรัฐบาลพยายามที่จะปรับปรุงเรื่องนี้อยู่แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างต้องมาจาก Human Capital นั่นคือ ประสิทธิภาพของคน” เศรษฐกรอาวุโสกล่าว และว่า สิ่งที่เราเห็นจากงานวิจัย ประเทศที่รายได้ระดับสูงเฉลี่ยประชากร จะเรียนหนังสือในโรงเรียนอยู่ที่ 9.7 ปี ต่อคน ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างเรา โดยเฉลี่ยจะเรียนหนังสือในโรงเรียนประมาณ 6 ปี ถ้าเป็นประเทศไทย 6 ปี ก็ประมาณ ประถมศึกษาเท่านั้นเอง
ดร.ลัษมณ กล่าวถึงเรื่องประสิทธิภาพของคนในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราลงทุนในส่วนนี้ค่อนข้างสูง มีการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น การลงทุนไปเยอะ ออกดอกออกผลอะไรบ้าง โดยปกติการวิจัยจะเอาคะแนน ประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) มาเป็นตัวชี้ถึงคุณภาพของการศึกษา สองวิชาที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมคือ วิทยศาสตร์ คณิตศาสตร์ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นของคนที่สอบได้คะแนนน้อยในสองวิชานี้เยอะมาก ขณะที่ประเทศพัฒนาเเล้ว เปอร์เซ็นของคนที่สอบได้คะแนนน้อยอยู่ที่ประมาณ 20% เท่านั้นเอง
"คุณภาพของระบบการศึกษาของไทยยังอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา และหากดูตามการสำรวจไทยอยู่ในระดับเดียวกับบังคลาเทศ ปากีสถาน " ดร.ลัษมณ กล่าว และว่า นโยบายหรือกฎหมายของเราตั้งใจจะให้ทุกคนจบม.6 แต่ความจริงอยู่ที่แค่ม.ต้น มิหน่ำซ้ำไม่จบด้วย สมมติเราเพิ่มปีที่นักเรียนเรียนเท่ากับประเทศที่พัฒนาเเล้ว จะสามารถเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวได้ถึง 20%ในช่วงระหว่างปี 2015-2045 และหากเราทำให้นักเรียนมีคุณภาพมากๆ เราสามารถทำให้คะแนน PISA ขึ้นไปในระดับ 400 และ 600 เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความรวมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) หากทำได้ จะช่วยให้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้น 60% ในช่วง 2015-2045
ดร.ลัษมณ กล่าวด้วยว่า คุณภาพของการศึกษาสำคัญมากโดยเฉพาะในวิชาหลักๆ นอกจากพูดถึงการศึกษา แล้ว เรายังต้องดูเรื่องของ Knowledge economy หรือเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นตัวนำ หากดูว่าคุณภาพของสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศ อยู่ในระดับที่ดี คำถามคือ ในเมื่อสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไทยอยู่ในระดับดีค่อนข้างสูง แต่ทำไมนวัตกรรม เทคโนโลยีที่จะเข้าไปสู่ภาคธุรกิจถึงไม่ค่อยมี โจทย์คือทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงงานวิจัย ในออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้ได้
“เราจะเป็นประเทศรายได้ระดับสูงอย่างไรในอนาคต ก็ต้องเน้นย้ำเหมือนเดิมว่า เรื่องนวัตกรรม ความรู้และคุณภาพของทรัพยากรบุคคล สิ่งเหล่านี้จะเดินไม่ออกก้าวไม่ไป หากนโยบายไม่ดี และองค์กรภาครัฐไม่มีคุณภาพ” ดร.ลัษมณ กล่าว.