ศูนย์ศิลปาชีพฯระหว่างประเทศ วิพากษ์โอท็อป เน้นแต่รูปลักษณ์ ไม่ถึงแก่นสินค้าชุมชน
ศูนย์ศิลปาชีพฯ ระหว่างประเทศ ปลุกมีดอรัญญิก อยุธยา เชื่อมหมู่บ้านมีดญี่ปุ่น นำร่องเครือข่ายหมู่บ้านหัตกรรมไทย แนะโอท็อปรัฐบาลต้องไม่เน้นแค่รูปลักษณ์ แต่มีเอกลัษณ์ชุมชน-ความต้องการตลาด
นายพงศ์วัฒนา เจริญมายุ ผู้จัดการสายงานสมาชิกและเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.)เปิดเผยกับ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราถึงการเปิดตัวโครงการพัฒนาหมู่บ้านศิลปหัตถกรรมไทย ว่า ศ.ศ.ป. เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนางานหัตถกรรมของไทยอย่างยั่งยืนว่าต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตตามใจผู้ประกอบการ แต่ต้องเข้าใจความต้องการของตลาดด้วย
ดังนั้นจึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต หมู่บ้าน ชุมชน องค์กรส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เครือข่ายภาคธุรกิจของไทยและประเทศพันธมิตร ให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหมู่บ้านศิลปวัฒนธรรมบนฐานความรู้พอเพียง สมดุลและยั่งยืน เพื่อสร้างอาชีพให้ชุมชนเข้มแข็ง
นายพงศ์วัฒนา กล่าวถึงหลักการคัดเลือกหมู่บ้านนำร่องโครงการฯ ว่าจะต้องมีเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากมือ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา เชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่น มีผู้สืบทอดที่สามารถรับช่วงต่อ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกับประเทศพันธมิตรและต่อยอดพัฒนาชิ้นงานเพื่อการส่งออกได้ ทั้งนี้ ศ.ศ.ป.จึงเลือกทำโครงการนำร่องแห่งแรกคือ “หมู่บ้านมีดอรัญญิก อยุธยา” โดยเชื่อมโยงกับ “หมู่บ้านมีดญี่ปุ่น”
“กำลังเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ประกอบ เครือข่ายชุมชนต่างๆ เพื่อหาจุดร่วมการพัฒนางานหัตถกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้านในท้องถิ่น” ผู้จัดการสายงานสมาชิกและเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมกล่าว
ด้านนายวันวิวัฒน์ เกศวา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าการพัฒนางานหัตถกรรมของโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบคิดการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้งบประมาณดำเนินงานไม่มากนัก เพราะเงินไม่ใช่คำตอบของคุณภาพ ทั้งนี้สามารถประเมินพัฒนาการได้ภายใน 6 เดือน เพื่อต่อยอดแนวคิดสู่งานศิลปหัตถกรรมอื่นในภาคต่างๆของประเทศ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดัน เช่น ศ.ศ.ป. มุ่งหวังพัฒนาผ้าบาติกของภาคใต้ โดยอาจเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการผลิตและการค้ากับอินโดนีเซีย มุ่งหวังให้ชุมชนแต่ละประเทศได้เรียนรู้กันและกันผ่านการอบรมให้ความรู้ และเสนอแนวทางการตลาดที่ดีแก่ผู้ประกอบการ
“มั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลา เป้าหมายนอกจากสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มสินค้าสู่สากล ยังคาดหวังให้ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นเจ้าภาพจัดงาน “เวิลด์เอ็กซ์โปร์ 2020 ด้วย”
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยังให้ความเห็นถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามโครงการโอท็อปของรัฐบาลว่า ต้องไม่มุ่งเน้นแค่รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ แต่ต้องศึกษาลงลึกถึงแก่นแท้วัฒนธรรมแต่ละชุมชนที่ผลิตสินค้า ศึกษาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคและการตลาดด้วย .