#SlowDown 2560 ทำไมต้องขับรถให้ช้าลง
องค์การสหประชาชาติ ชูแคมเปญ Save Lives #SlowDown จัดการความเร็ว ขับรถให้ช้าลง ลดอุบัติเหตุทางถนน ภาคประชาสังคมจี้รัฐตั้งสถาบันความปลอดภัยทางถนน บังคับใช้ กม.จริงจัง มีประสิทธิภาพ กำหนดความเร็วตามการใช้งานของถนนแต่ละสาย สร้างพลัง จิตสำนึก เพื่อความปลอดภัย
นับเป็นปีที่ 4 แล้ว ที่องค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนโลก โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2560 ภายใต้แคมเปญจัดการความเร็ว Save Lives #SlowDown ซึ่งได้เชิญชวนให้ภาคีสมาชิกร่วมกับจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างพลังและจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นจริง
ด้วยที่ผ่านมา การขับรถเร็วถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเป็นปัจจัยทำให้เสียชีวิต ยิ่งขับเร็ว หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ระยะทางที่จะจอดรถได้ยิ่งยาว ซึ่งความเร็ว 100 กม./ชม. ต้องใช้ระยะทางถึง 112 เมตร รถจึงจอดสนิท และเมื่อเกิดอุบัติเหตุในระยะทางเช่นนี้ แรงกระแทกย่อมเท่ากับการตกตึกสูง 19 ชั้น!
ประกอบกับผลการศึกษา พบว่า กว่าร้อยละ 20 ของผู้ใหญ่ที่เดินบนถนนเสี่ยงเสียชีวิตกับรถที่ขับขี่ด้วยความเร็ว 60 กม./ชม.เพราะฉะนั้น จะลดความเสี่ยงได้ต้องขับต่ำกว่า 30 กม./ชม.เท่านั้น
แต่สำหรับประเทศไทยกฎหมายกลับกำหนดให้ขับในเขตเมืองได้ถึง 80 กม./ชม.
เมื่อย้อนดูสถิติอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง ปี 2544-2558 พบว่า 2 ใน 3 ของอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนทางหลวงของไทยสันนิษฐานเกิดจากการขับด้วยความเร็วสูง เกือบ ร้อยละ 80
ที่น่าตกใจ มีการตรวจจับความเร็วในปีล่าสุด 2558 สูงกว่า 8 แสนราย จากเดิม ปี 2551 ที่มีเพียง 1.5 แสนราย เท่านั้น แต่จำนวนจับกุมที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ส่งผลให้อุบัติเหตุจากความเร็วลดลง
สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ขับรถด้วยความเร็วเพราะกำลังเร่งรีบและถนนโล่ง และการจับกุมช่วยให้ผู้ขับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ช่วงเวลาหนึ่ง
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) จึงเสนอแนะให้จำกัดความเร็วในเขตเมือง เพราะเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ซึ่งตามมาตรฐานสากลควรขับรถความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. ที่สำคัญ ต้องติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติในทุกพื้นที่ และเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันหลายประเทศขับเคลื่อนการจำกัดความเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งมีหลักฐานยืนยันทางวิชาการชัดเจนว่า ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่สำหรับประเทศไทยผู้ขับส่วนใหญ่ยังขับรถบนทางหลวงด้วยความเร็ว 80 -120 กม./ชม. ฉะนั้นควรทำอย่างไรให้ผู้ขับลดความเร็วให้ได้
แม้คนไทยยังห่างจากมาตรฐานสากลอยู่มาก แต่จำเป็นต้องขับเคลื่อนจัดการความเร็วอย่างจริงจัง พร้อมกับตั้งคำถามว่า มีคนไทยกี่คนที่รู้ว่า ควรขับรถช้าด้วยความเร็วเท่าไหร่
"เชื่อว่าหลายคนรู้เพียงว่า เขตเมืองความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. นอกเขตเมืองไม่เกิน 90 กม./ชม. ทั้งที่ความจริงถนนแต่ละสายมีลักษณะแตกต่างกัน ความเร็วจึงควรถูกกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสม และแจ้งให้ทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายจริงจังด้วย
ทั้งนี้ ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลการกระทำผิดไปยังส่วนกลาง แต่ที่ผ่านมาเกิดการกระทำผิดซ้ำ โดนจับกุมกี่ครั้ง จับกุม 10 ครั้ง โทษปรับ 500 บาท เท่าเดิม ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปรับเพิ่มโทษเป็นขั้นบันได มาตรการเหล่านี้ต้องทำเป็นอันดับแรก จึงจะดำเนินยุทธศาสตร์จัดการความเร็วสำเร็จ” ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สรุปทิ้งท้าย
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุเเห่งประเทศไทย
ด้านนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนมาตรการจัดการความเร็ว โดยเห็นด้วยให้บังคับกฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ที่สำคัญ รัฐต้องจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยทางถนนขึ้นมากำกับดูแล
“สิ่งที่เป็นปัญหาของไทยเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน คือ ขาดองค์กรหลักที่มีความเข้มแข็ง สมน้ำสมเนื้อ ต่อการแก้ไขปัญหา เท่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เพราะหลายองค์กรมีขนาดเล็ก แตกต่างจากเวียดนาม มาเลเซีย และสหรัฐฯ ที่มีองค์ขึ้นมากำกับดูแลเฉพาะ”
นพ.วิทยา ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันตำรวจแต่ละจังหวัดมีอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วกี่ตัว ฉะนั้นพิสูจน์แล้วว่า เครื่องมือมีไม่เพียงพอที่จะเอื้อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละวันมีผู้ขับรถกระทำผิดหลายสิบล้านคน ดังนั้น ในเมื่อปริมาณผู้กระทำผิดมีจำนวนมาก เครื่องมือจัดการผู้กระทำผิดต้องเพียงพอด้วย
รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต้องเข้าถึงผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตอันดับต้นของไทย สูงร้อยละ 72.8 แต่น่าเสียดายที่มาตรา 44 เข้าไม่ถึงการบังคับใช้นี้
เป็นอีกบทพิสูจน์ของไทยในการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เป็นศูนย์ ในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อจะได้ปลดแอกจากประเทศที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอันดับ 2 ของโลก ฉะนั้นคนไทยต้องช่วยกัน จัดการความเร็ว ขับรถ.....ให้ช้าลง
อ่านประกอบ:ภาคีเครือข่ายฯ ติง ศปถ.แก้อุบัติเหตุจราจรแค่เสือกระดาษ แนะตั้งองค์กรกำกับดูแล