ประธาน กสม.แจง ANNI ทุกเม็ด ย้ำผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิ์ไม่ได้มีคนเดียว
หลังจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ ANNI ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ "กสม.ไทย" อันสืบเนื่องจากกรณีการไขก๊อกลาออกของกรรมการบางคนซึ่งอ้างเหตุผลเรื่องระบบการทำงาน และในแถลงการณ์มีหลายประเด็นที่พาดพิงถึงบทบาทและการทำงานของประธาน กสม.ด้วยนั้น
ล่าสุด นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรียงประเด็น
1.กระบวนการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการ กสม. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้ชัดเจนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และต้องกำหนดให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
2.เรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและประธาน กสม. หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตนั้น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้พิจารณาแล้ว ในมาตรา 44 บัญญัติว่า กรรมการและประธานกรรมการสิทธิฯไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา
ทั้งสองเรื่องนี้ (ข้อ 1 กับข้อ 2) เกิดขึ้นโดยความมุ่งมั่นและร่วมมือร่วมใจของกรรมการและประธาน กสม.
3.เรื่องความเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 9 วรรคแรก ให้กรรมการสิทธิฯต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 215 วรรคสอง ยังได้บัญญัติไว้ว่า การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึง กสม. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ
4.เรื่องการลงคะแนนเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในการประชุม กสม. เกิดจากการมี กสม.ท่านหนึ่งให้ข่าวว่าเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับเสียงข้างมาก ประธาน กสม.จึงมีคำแถลงเมื่อ 9 เม.ย.60 ว่าส่วนใหญ่ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ มีน้อยครั้งที่ไม่เอกฉันท์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกองค์กร การที่เสียงข้างน้อยขอให้ระบุมติที่ประชุมในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของ กสม.ให้ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุม ย่อมสามารถทำได้และไม่ถือว่าเป็นการไม่ยอมรับมติเสียงข้างมาก
5.เรื่อง กสม.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหรือเคยมีประสบการณ์ตรงต่อสายงานด้านสิทธิมนุษยชนมีเพียงคนเดียวนั้น ขอชี้แจงว่า บุคคลที่คณะกรรมการสรรหาฯ สรรหามาเป็น กสม.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มี 7 คน แต่ละคนต่างมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น นางเตือนใจ ดีเทศน์ มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง นายชาติชาย สุทธิกลม มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ฉะนั้น กสม.จึงไม่่ได้มีผู้เชี่ยวชาญหรือเคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับงานด้านสิทธิมนุษยชนเพียงคนเดียวตามที่แถลงการณ์ของ ANNI กล่าวอ้าง
นายวัส ยังตั้งข้ัอสังเกตในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นองค์กรรูปแบบใด พึงระมัดระวังการกระทำที่อาจนำไปสู่การลดทอนคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น รวมทั้งควรมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในชุมชน สังคม และประชาคมระหว่างประเทศให้ยั่งยืนสืบไปด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : เครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิฯ กังวลปัญหา กสม.ไทย
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเฟซบุ๊คของ นายวัส ติงสมิตร