3 บริษัทรับช่วงงานแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี ลุยก่อสร้างด้านนอก 4 อาคาร
โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หรือที่รู้จักกันในชื่อ "มัสยิด 300 ปี" ยังคงเดินหน้างานก่อสร้างต่อไป แม้จะมีการเปิดโปงว่าบริษัทที่รับงานด้วยการจัดจ้างวิธีพิเศษ งบประมาณถึง 149 ล้านบาทนั้น เป็นบริษัทที่ล้มละลายแล้ว
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ บริเวณมัสยิด 300 ปีใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พบว่าบริเวณทางเข้ามัสยิด 300 ปี ยังคงมีงานก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง ได้แก่ อาคารบริหารจัดการ ใช้งบประมาณ 30,663,081 บาท, ศูนย์อาหาร ใช้งบประมาณ 11,057,665 บาท, ห้องประชุมและศูนย์เรียนรู้ ใช้งบประมาณ 54,731,897 บาท และบ้านพัก 5 หลัง 2 ห้องนอน ใช้งบประมาณ 7,857,493 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า งบประมาณในการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้และอาคารประกอบทั้งหมด เมื่อรวมกันแล้วอยู่ที่ 104,310,136 บาท ยังไม่เต็มวงเงินงบประมาณ 149 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ายังไม่รวมงบประมาณในส่วนที่มีแผนปรับปรุงมัสยิด 300 ปีด้วย
แหล่งข่าวจากชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ให้ข้อมูลว่า การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนที่เป็นศูนย์เรียนรู้และอาคารประกอบ ซึ่งอยู่ด้านนอกมัสยิด 300 ปี กับส่วนที่เกี่ยวข้องกับมัสยิด 300 ปี โดยในส่วนหลัง ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เพราะชมรมอิหม่ามฯและชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดจ้างผู้ประกอบการเข้าดำเนินโครงการโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากชุมชน และเรียกร้องให้ยุติโครงการไปเสีย ปัจจุบันผู้รับเหมาจึงทำงานได้เฉพาะการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้และอาคารประกอบซึ่งอยู่ด้านนอกเท่านั้น
สำหรับการก่อสร้างบริเวณพื้นที่ชั้นในรอบๆ มัสยิด ซึ่งทางผู้รับเหมายังเข้าพื้นที่ไม่ได้นั้น ประกอบด้วย อาคารศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบมัสยิด
ก่อนหน้านี้ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่า "กิจการร่วมค้า" ที่รับงานโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะนั้น ประกอบด้วยบริษัทจำกัด 1 แห่ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด 1 แห่ง ในส่วนของบริษัทจำกัดถูกฟ้องล้มละลาย และถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ขณะที่ "กิจการร่วมค้า" ที่มีการแจ้งที่อยู่ในเว็บไซต์ ก็ปรากฏว่าตั้งอยู่ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีสภาพเหมือนบ้านร้าง ไม่มีสภาพเป็นกิจการที่ยังประกอบการอยู่ ทั้งๆ ที่เพิ่งรับงานก่อสร้างมูลค่าถึง 149 ล้านบาทจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว แต่ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
อย่างไรก็ดี การก่อสร้างศูนย์เรียนรู้และอาคารประกอบยังคงเดินหน้าอยู่ ทั้งที่หลังจากมีข่าวเรื่องบริษัทผู้รับงานถูกฟ้องล้มละลายและศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าต้องขึ้นบัญชีดำบริษัทเหล่านี้ ห้ามรับงานของส่วนราชการ
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าผู้รับเหมาที่กำลังทำงานก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ตะโละมาเนาะและอาคารประกอบอยู่นั้น เป็นบริษัทรับเหมาในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวน 3 บริษัท ซึ่งมีข่าวว่าทางกิจการร่วมค้าที่รับงานในคราวแรกด้วยการจัดจ้างวิธีพิเศษ ขายงานต่อให้บริษัททั้ง 3 แห่งนี้โดยที่ ศอ.บต.ก็ทราบเรื่องเป็นอย่างดี
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษนั้น ผู้รับจ้างสามารถขายงานต่อได้หรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขของการจัดจ้างวิธีพิเศษ เป็นการยกเว้นข้อกำหนดบางประการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงต้องเป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือหรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น โดยหลักการแล้วจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับจ้างได้
ชมรมอิหม่ามฯเรียกร้องยุติโครงการ
นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา รองประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ตอนนี้ทางชมรมฯได้ขอยุติโครงการแล้ว เพราะ ศอ.บต.ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
"ศอ.บต.เคยบอกว่าจะให้เราดำเนินการเอง แต่เขาไม่ให้ เราก็หยวนๆ วินๆ คือการขอเป็นคณะกรรมการร่วม แต่การเป็นคณะกรรมการร่วมแทบไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจอะไรเลย เราก็เลยถอนตัว พอถอนออกมาเราก็ยึดมั่นตามเจตนารมณ์เดิม คือขอเรียกร้องคำมั่นสัญญาตามที่ ศอ.บต.เคยให้ไว้" นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าว
รองประธานชมรมอิหม่ามฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อทางชมรมฯขอยุติโครงการแล้ว เหตุใดโครงการยังเดินต่อ ทั้งๆ ที่เจ้าของคือชมรมอิหม่ามในพื้นที่ แต่ก็ยังมีการขยับงานก่อสร้างทุกวัน
"ทางชมรมอิหม่ามฯ ทำรายงานถึงโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) มาตลอดในเรื่องนี้ เพราะจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีมาจากการที่ทูตโอไอซีเดินทางเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เข้าไปเยี่ยมชมมัสยิด 300 ปี จนมีการผลักดันโครงการนี้ขึ้นมา แต่การรายงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็เป็นการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการ เป็นรายงานเชิงบวกตลอด อยากให้โอไอซีเห็นว่าประเทศไทยดูแลคนมุสลิมสามจังหวัด สำหรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าทางโอไอซีถามมา เราก็ต้องตอบตรงๆ แต่ถ้ายังไม่ถาม เราก็ยังไม่ตอบอะไร ก็ขอดุอาว่าให้โครงการยุติไป จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย" นายมูฮำมัดซุลฮัน กล่าว
ด้านชาวบ้านที่อาศัยบริเวณมัสยิดตะโละมาเนาะ กล่าวว่า เข้าใจชมรมอิหม่ามฯที่ทำแบบนี้ ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ศอ.บต.ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน อะไรๆ จึงเปลี่ยนไปหมด อยากให้ ศอ.บต.ประกาศยุติโครงการ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ประสานมือไม่ร่วมงาน ศอ.บต.
ความขัดแย้งระหว่างชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ กับ ศอ.บต.มีที่มาที่ไปค่อนข้างซับซ้อน แต่ประเด็นหลักมาจากการที่ ศอ.บต.ดึงงานปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีไปดำเนินการเอง โดยจ้างผู้รับเหมาเอง ไม่ผ่านความเห็นชอบของชมรมอิหม่ามฯ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมฯ และคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทางออกที่น่าพอใจสำหรับชมรมอิหม่ามฯ
วันที่ 10 เม.ย.60 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายแวสะมะแอ แลแตบาตู ประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ และ นายรัมลี ตะโล๊ะดิง อิหม่ามประจำมัสยิดตะโละมาเนาะ ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
นายซาฟีอี กล่าวว่า การที่ ศอ.บต.มีคำสั่งแต่งตั้งตนให้เป็นกรรมการ 2 คณะ ประกอบด้วย 1.คำสั่ง ศอ.บต.ที่ 811/2559 ลงวันที่ 17 ส.ค.2559 ตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ และ 2.คำสั่ง ศอ.บต.ที่ 255/2560 ลงวันที่ 6 มี.ค.2560 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ นั้น ตนไม่เคยรับรู้คำสั่งทั้งสองนี้เลย และขอไม่รับเป็นกรรมการ
นายแวสะมะแอ แลแตบาตู ประธานชมรมอิหม่ามฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วอยากให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เพราะเริ่มแรกนั้นพยายามขอจากทางรัฐบาลให้ลงมาดำเนินการ โดยทาง ศอ.บต.เองก็มาประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ว่าจะให้ทางชมรมอิหม่ามฯเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง จึงเตรียมการไว้ทุกอย่างจนพร้อมหมดแล้ว แต่จู่ๆ ทาง ศอ.บต.ก็มาบอกว่าโครงการนี้ทาง ศอ.บต.จำเป็นต้องดำเนินการเอง เพราะชมรมอิหม่ามฯ ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่สามารถรับงบประมาณของรัฐไปบริหารจัดการได้ ซึ่งทางชมรมอิหม่ามฯเองก็พร้อมที่จะให้ ศอ.บต.ดำเนินการได้ แต่ที่รู้สึกแปลกใจมากที่สุดคือ ทำไมจู่ๆ ทาง ศอ.บต.ได้ไปทำสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ศาลมีคำสั่งให้ละลายไปแล้วมาดำเนินโครงการ
"ได้รับหนังสื่อจาก ศอ.บต.เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2560 แต่หนังสือกลับลงนามตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2560 เรื่องคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ จากนั้นก็นัดประชุมทันทีในวันที่ 10 เม.ย หรือวันรุ่งขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอบาเจาะ ผมรู้สึกงงกับคำสั่งนี้ เพราะผมได้ขอถอนตัวจากโครงการไปตั้งนานแล้ว สิ่งที่น่าผิดหวังคือในหนังสือคำสั่ง ได้อ้างถึงวันแถลงข่าวโครงการฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2559 ซึ่งในวันนั้นผมเข้าร่วมประชุมด้วย และได้แถลงให้ทุกคนทราบแล้วว่าผมขอคัดค้านโครงการนี้" นายแวสะมะแอ ระบุ
นายรัมลี ตะโละดิง อิหม่ามประจำมัสยิดตะโละมาเนาะ กล่าวทำนองเดียวกันว่า เพิ่งได้รับหนังสือเชิญประชุม พร้อมคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ในเวลาประมาณ 19.00 น.ของวันที่ 9 เม.ย. และเรียกประชุมทันทีในวันรุ่งขึ้น แต่หนังสือกลับลงนามตั้งแต่ 30 มี.ค. ทำให้รู้สึกแปลกใจ เพราะผมไม่เคยรับทราบมาก่อน และทาง ศอ.บต.ไม่เคยประสานเรื่องนี้
"ยืนยันว่าจะขอไม่เป็นกรรมการชุดนี้ และภายหลังจากที่ได้รับหนังสือคำสั่งจาก ศอ.บต. ผมได้ประชุมร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ประธานชมรมอิหม่ามฯ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด มีมติเป็นเสียงเดียวกันว่า พร้อมทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงจุดยืนต่อเลขาธิการ ศอ.บต.ว่าจะไม่ร่วมเป็นคณะกรรมการการมีส่วนร่วมฯ และจะเปิดแถลงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้สื่อมวลชนทราบ ซึ่งก็คือการแถลงในวันนี้"
ศอ.บต.เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์
วันเดียวกันนั้น นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
สาระสำคัญของการประชุม เป็นการหารือรายละเอียดการดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ ในด้านการก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ อาคารบริการสาธารณะ, ห้องประชุมและศูนย์เรียนรู้, ศูนย์อาหาร, บ้านพัก 5 หลัง, ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบมัสยิด ทั้งนี้ในส่วนของตัวมัสยิดจะรักษาไว้คงเดิม จะไม่มีการต่อเติมหรือปรับปรุง เพื่ออนุรักษ์มัสยิดแบบดั้งเดิมไว้
นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ ซึ่งมาจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการให้เป็นที่พอใจของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ภายหลังการประชุม ได้มีการติดตั้งป้ายชี้แจงรายละเอียดโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะฯ ที่บริเวณไซต์งานก่อสร้าง (ตามภาพประกอบด้านล่าง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 เม.ย. ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง ได้แก่ อาคารบริการสาธารณะ, ห้องประชุมและศูนย์เรียนรู้, ศูนย์อาหาร และบ้านพัก 5 หลัง สวนอาคารอีก 2 หลัง คือ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด และการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบมัสยิด ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 4 ป้ายของ ศอ.บต.ชี้แจงรายละเอียดโครงการก่อสร้าง และงบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ
2 ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยชมรมอิหม่ามฯ อ.บาเจาะ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
3 รองเลขาธิการ ศอ.บต.ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ
อ่านประกอบ :
บริษัทรับงานปรับปรุงมัสยิด300ปีอยู่ปทุมฯ ที่ตั้งคล้ายบ้านร้าง แถมถูกฟ้องล้มละลาย
ภาณุ รับ บริษัทปรับปรุงมัสยิด 300 ปีล้มละลาย หารืออัยการตรวจสัญญา
เปิดเกณฑ์ "จ้างวิธีพิเศษ" เทียบมัสยิด 300 ปีหลังนายกฯสั่งฟันบริษัทล้มละลายรับงาน
ชมรมอิหม่ามบาเจาะจี้นายกฯยุติโครงการมัสยิด 300 ปี