อ่านเกมอเมริกาในวิกฤติเกาหลีเหนือ
ความตึงเครียดอีกระลอกในคาบสมุทรเกาหลี แม้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเป็นอีกหนึ่งชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์ในซีเรีย แต่ในมุมมองของนักวิชาการที่ศึกษายุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือแล้ว กลับเชื่อว่านี่คือเกมของอเมริกาที่ต้องการปิดล้อมจีน
"ผมคิดว่าเป็นแทคติกของอเมริกาที่ต้องการปิดล้อมจีน โดยใช้เกาหลีเหนือเป็นข้ออ้างมากกว่า คืออเมริกาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้จีนที่กำลังมุ่งมั่นในปัญหาทะเลจีนใต้ ต้องกังวลปัญหาคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มขึ้นไปด้วย"
เป็นเสียงจาก ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเมืองและยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือ
สาเหตุที่อเมริกาต้องลงทุนลงแรงขนาดนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนักกับกรณีของเกาหลีเหนือ ผศ.วันวิชิต บอกว่าเป็นเพราะอเมริกาทราบดีว่าการจัดการกับเกาหลีเหนือไม่ใช่เรื่องง่าย
"ตั้งแต่ คิม จองอึน ขึ้นสู่อำนาจ มีความพยายามกวาดล้างคนที่เคยทำงานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ (คิม จองอิล) รุ่นปู่ (คิม อิลซุง) เพราะความหวาดระแวง ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงของพรรคกรรมกรเกาหลี และนักการทูตจำนวนไม่น้อยพากันแปรพักตร์ หนีไปเกาหลีใต้บ้าง ไปพำนักตามสถานทูตต่างๆ ในยุโรปบ้าง และคนเหล่านี้ก็ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์และแสนยานุภาพทางทหารกับอเมริกาและประเทศในยุโรป ทำให้อเมริกามีข้อมูลมากพอที่จะทราบว่าไม่ง่ายเลยหากจะกำราบเกาหลีเหนือ" นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
เมื่อรู้ว่าจัดการกับรัฐบาลเปียงยางไม่ง่าย ด้วยเหตุนี้ ผศ.วันวิชิต จึงเชื่อว่าท่าทีของสหรัฐที่มีต่อเกาหลีเหนือเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ด้านหนึ่งก็เพื่อหาเหตุปิดล้อมจีนด้านคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งกองเรือจู่โจมเข้าประชิดแล้ว และอีกด้านก็หวังให้กระทบชิ่งไปยังปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนแสดงท่าทีเป็นผู้นำในการจัดการปัญหา
"ที่ผ่านมาอเมริกาแทบไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปมีบทบาทในปัญหาทะเลจีนใต้ แม้ต้องการเข้ามามีเอี่ยวอย่างมาก ครั้งนี้จึงสบโอกาสเอากรณีเกาหลีเหนือขึ้นมาเป็นชนวนในการฟื้นสภาพ ทั้งๆ ที่การทดลองแสนยานุภาพทางยุทโธปกรณ์ของเกาหลีเหนือในวันเฉลิมฉลองต่างๆ ก็ทำมาตลอดอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นการวางเกมของสหรัฐ"
"ขณะที่การเปิดฉากสงครามกับเกาหลีเหนือก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเกาหลีเหนือวางระบบประเทศและประชาชนให้พร้อมรับสงครามตลอดเวลา ที่สำคัญกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ก็อยู่ห่างจากเขตปลอดทหารแบ่งพรมแดนกับเกาหลีเหนือแค่ 25 ไมล์ หาก คิม จองอึน ตัดสินใจยิงขีปนาวุธขึ้นมา ย่อมป้องกันได้ยากมาก" นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาการเมืองและยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือ ระบุ
ผศ.วันวิชิต บอกด้วยว่า ระยะหลังบทบาททางการทหารของสหรัฐเริ่มถูกต่อต้านหนักขึ้นจากประชาชนในประเทศที่ตนเป็นพันธมิตร ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กระแสสังคมเรียกร้องให้ยกเลิกฐานทัพสหรัฐในประเทศของตน สหรัฐจึงใช้ประเด็นเกาหลีเหนือเพื่อรักษาดุลอำนาจของตนเอง ขณะทีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนก็มีมาค่อนข้างนาน
"เชื่อว่าในที่่สุดจีนจะปรามเกาหลีเหนือ และใช้วิถีทางทางการทูต เช่น ดึงรัสเซียมาพูดคุย เพื่อไม่ให้อเมริกามีบทบาทนำทั้งในปัญหาคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ความเคลื่อนไหวนี้เป็นยุทธศาสตร์คุมเชิงของสองมหาอำนาจ คือ จีนกับสหรัฐ เพราะจีนก็ทราบดีว่าเป้าหมายที่แท้จริงของอเมริกาคือต้องการปิดล้อมจีน" ผศ.วันวิชิต กล่าว
การขยับตัวของมหาอำนาจล้วนเป็นก้าวย่างแห่งผลประโยชน์ตน ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลกจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงมีโอกาสสูงที่จะใช้ปัญหานอกบ้านตัวเองในการเบี่ยงเบนความสนใจและสร้างคะแนนนิยม
------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง จากมหาวิทยาลัยรังสิต