กรีก: อะไรที่น่าสนใจหรือตื่นเต้น
กรีก คล้ายจีน-อินเดีย-อิหร่าน เป็นชาติโบราณ คนไทยเรารู้จักกรีกมาช้านานแล้ว ในสมัยพระนารายณ์ก็มีชาวกรีกคนหนึ่ง ชื่อฟอลคอน เข้ามารับราชการจนเป็นถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ คนเรียนปรัชญาคงคุ้นกับชื่อโสเครติส พลาโต อริสโตเติล พวกที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ก็คงรู้จักอาร์คิมิดีส ปิธากอรัส ฮิปโปเครติส รู้จักตัวอักษรกรีก เช่น อัลฟา เบต้า โอเมก้า พวกชอบดูหนังใหญ่คงจำพระนางคลีโอพัตราได้ พวกชอบประวัติศาสตร์คงจำพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ ทั้งหมดนี้มาจากกรีกยุคคลาสสิกคือ 2500 ปี บวกลบสองร้อยปี
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org บทความเรื่อง กรีก: อะไรที่น่าสนใจหรือตื่นเต้น เป็นเนื้อหาจาก Fb page เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas
ผมกับคณะ "ยุวอาวุโส" คือเพื่อนพ้องวัยใกล้หกสิบหรือเลยหกสิบ จำนวนหนึ่ง ไปเปิดหูเปิดตาและทัศนศึกษาที่กรีก ในช่วงสงกรานต์ ประเทศนี้ อยู่ถัดอิตาลีไปทางตะวันออก หันหน้าลงทะเลเมดิเตอเรเนียน เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทร "บอลข่าน" หรือจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ยุโรปใต้" คงจำกันได้ว่ากรีกเกือบล้มละลายไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน วันนี้ ประเทศนี้ก็ยังมีธุรกิจที่ซบเซาหยุดนิ่ง การว่างงานค่อนข้างสูง ค่าแรงค่าจ้างต่ำคงที่ คนจำนวนมากอพยพไปทำงานนอกประเทศ ในภาวการณ์เช่นนี้ การท่องเที่ยวคงเป็นอย่างเดียวที่ประชาชนพอพึ่งได้ เมื่อผมไปกรีกครั้งแรก สิบห้าปีมาแล้ว เห็นแต่นักท่องเที่ยวฝรั่งจากอเมริกาและยุโรป แต่ไปเที่ยวนี้ โลก "เปลี่ยน" ไป หานักท่องเที่ยวผิวขาวผมสีทองไม่ค่อยเห็น เห็นแต่ที่มาจากอาเซียน เกาหลี จีน อยู่เต็มตา
กรีกมีทั้งภูเขาทั้งทะเล ภูเขามีราว 4 ใน 5 ของแผ่นดิน ส่วนน้ำทะเลล้อมรอบสามทิศ เหลือทางเหนือที่ติดแผ่นดินตอนใต้ของทวีป ประเทศกรีกเป็นคาบสมุทรเป็นส่วนใหญ่ ชายฝั่งยาวเหยียด น้ำทะเลเบียดแทรกเข้าสู่แผ่นดิน ดินแดนมีรอยเว้าแหว่งจากทะเลที่หยักยื่นเข้ามา มีเกาะมากมายเป็นร้อยเป็นพัน ที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะครีต ใหญ่เป็นอันดับสามในทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่คณะเราไม่ได้ไปเกาะนี้เราไปเกาะมิโคนอส และ ซานตอรินี นั่งเรือใหญ่ไป สวยมากๆ ทั้งสองเกาะ รอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีน้ำเงิน แผ่นดินซานโตรินีเป็นหินจากภูเขาไฟระเบิด มีหาดสีแดงและหาดสีดำด้วย เกาะมิโคนอสนั้น บ้านเรือนปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย บ้านทาสีขาวโพลนเกือบทั้งเกาะ แต่ประตูหน้าต่างจงใจใช้สีสดเด่นเช่นแดง ส้ม น้ำเงิน เขียว เหลือง ทั้งสองเกาะแดดจัด ถ่ายรูปใครอะไร อย่างไร ก็สวย แต่ก็ไม่ร้อน บางช่วงและยามค่ำ กลับเย็นยะเยียบด้วยซ้ำ ด้วยลมจากตอนเหนือซึ่งนำเอาความหนาวเย็นมาให้เกือบตลอด คนกรีกนั้นนิสัยดี น่ารัก โอบอ้อม ช่วยเหลือ กันเอง คล้ายคนไทยมาก
ที่น่าทึ่งคือหลายคนมากในกรีกที่เราเจอ รวมทั้งไกด์สาวสามสี่คนของเรารู้จักเมืองไทยดี เคยมา มาหลายครั้ง มาเล่นน้ำทะเล มาดูภูเขา มาเยี่ยมเมืองสำคัญๆทุกภาคของเรามาแล้ว และชอบคนไทย อาหารไทย ช้อปปิ้งไทย และ พายุฝน ฟ้าคะนอง แบบไทย ๆ ทั้งตั้งใจจะกลับมาอีกแน่ๆ สรุปว่าเมืองไทยนั้น ช่างสนุก ดี และออกจะย่อมเยา สำหรับพวกเขา
ตรงนี้น่าคิด กรีกนั้น อย่าลืม เป็นมหาอำนาจทางการท่องเที่ยวของโลก เขาเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมยุโรป-ฝรั่ง มีเกาะ มีทะเล มีธรรมชาติ มีอากาศเป็นเลิศ แต่กลับชอบมาเที่ยวเมืองไทยกันทีละหลายอาทิตย์หลายเดือน ฉะนั้น พึงทราบกันครับว่า เมืองไทยเรานั้นเป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญของชาวกรีกไปเสียอีก คนไทยไปเที่ยวกรีกน้อยกว่าที่คนกรีกมาเที่ยวไทยแน่นอน เทียบกันไม่ได้เลย
ทริปนี้เราไปดูโบราณสถานอายุเป็นพันปีที่เอเธนส์ เดลฟี เมธีโอรา และเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทีเดียว กรีกลงทุน หรือ เพิ่มทุนทางวัฒนธรรมไม่หยุดยั้ง โบราณสถานทั่วประเทศได้รับการฟื้นฟูซ่อมแซมปรุงแต่ง ขนานใหญ่ ยังมีอะไรใต้ดินที่จะขุดขึ้นมาได้เรื่อยๆ มีพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นไม่หยุด แสดงของที่ขุดแต่งขึ้นมาใหม่มากมาย ในฐานะ"ต้นแบบ" ของตะวันตก ประเทศนี้ยังมีประวัติศาสตร์ โบราณคดี อารยธรรม สถานที่ และเรื่องราว อีกมากมายที่จะเปลี่ยนมาเป็น "มูลค่า"โดยไม่เสีย "คุณค่า" นับวันเศรษฐกิจของกรีกจะออกเป็นเชิง "สร้างสรรค์" มากขึ้น รายได้ของกรีกที่ได้จากการท่องเที่ยวนั้น สูงกว่ารายได้จากเกษตรกรรมแน่ แต่ที่แน่ยิ่งกว่านั้น รายได้จากการท่องเที่ยวของกรีกนั้น ตอนนี้ สูงกว่ารายได้จากอุตสาหกรรมเสียด้วย น่าคิดมากนะครับ บทเรียนของกรีกนี้ น่าจะใช้ได้สำหรับไทยในอนาคต ยิ่งทีเราน่าจะยิ่งอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว งานบันเทิงรื่นเริง และการบริการเชิงวิชาชีพ ให้มากขึ้น เป็นลำดับ
น่าสนใจที่ว่าในปัจจุบันนี้ ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ากรีกไปเสียแล้ว คือมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของโลก ในปี 2016 จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารโลก ส่วนกรีกมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 46 ไทยมีประชากร 67 ล้านคน ส่วนกรีกนั้นมีเพียง 11 ล้าน น่าคิดนะครับ ยักษ์ใหญ่ในอดีตนี้ เมื่อครั้งยุคใกล้กับพุทธกาล เคยขับไล่กองทัพอันมหึมาที่เปอร์เซียให้พ่ายกลับไป ต่อมา ในสมัยอเล็กซานเดอร์เป็นจักรพรรดิ ก็เคยยึดอียิปต์และครองเปอร์เซีย ยึดดินแดนที่ปัจจุบันเป็นเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน และปากีสถานได้ กรีกนั้น ขอย้ำครับ เป็น "ครู" ของโรมันและพวกตะวันตก ในทางศาสนา ปรัชญา วรรณกรรม และศิลปวิทยาการ
อนึ่ง ภาษากรีกนั้น อย่าลืม เป็นภาษากลางของชาวโรมันจริงๆ ใช้กันแพร่หลายยิ่งกว่าภาษาลาตินเสียอีก เหตุนี้จึงใช้เขียนคัมภีร์ New Testament ของศาสนาคริสต์ เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว และดินแดนกรีกทุกวันนี้เคยเป็นส่วนประกอบหลักของจักรวรดิ์ไบเซนเทียมหรือโรมันตะวันออก เมื่อ 500-1,500 ปีที่แล้ว และ คนพูดภาษากรีกนั้นรวมไปถึงคนส่วนใหญ่ในกรุงคอนแสตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบุล) อันเป็นเมืองหลวงของโรมันตะวันออก มาแล้ว อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ กรีก มีขนาดเศรษฐกิจ และขนาดประชากรเล็กกว่าไทยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราอย่าดีใจกันจนเกินไป เพราะหากนับรายได้ต่อหัวแล้ว ชาวกรีกมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าชาวไทยไม่น้อย สูงเป็นอันดับที่ 36 ของโลก ในขณะที่รายได้ต่อหัวของเราจัดเป็นอันดับที่ 84 ของโลก ในปี 2015 จากการจัดอันดับของธนาคารโลก
สุดท้าย การไปเที่ยวที่ไหนในต่างแดน สำหรับผม จะเป็นการเรียนรู้จริงจังในประวัติศาสตร์ของที่นั่นด้วย อย่างรวดเร็วและเพลิดเพลินครับ ด้วยได้มีโอกาสดู ฟัง พูดคุย ซักถาม อ่าน หามาอ่านอีก และทบทวนอะไรที่สำคัญหลายเรื่อง เกี่ยวกับกรีกนั้น จะไม่ย้อนกลับไปจนไกลลิบเกินไปใน อดีต แต่จะหยิบเอาเรื่องเดียวมาเล่าสู่กันฟัง
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองไม่นานโลกก็เกิดมี "สงครามเย็น" ขึ้นมาแทน เริ่มแต่ช่วงปี 2489-90 นั่นเอง สหรัฐกับโซเวียตขีดเส้นแบ่งโลกแบ่งเขตอิทธิพลกัน ไทยกับกรีก มีชะตากรรมร่วมกัน คือเป็นแนวหน้าของฝ่ายสหรัฐหรือโลกเสรีกันทั้งคู่ ประชิดกรีกคือ อัลเบเนีย ยูโกสลาเวีย บุลกาเรีย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในค่ายโซเวียตเป็นฝ่ายสังคมนิยมหมด ส่วนไทยเรานั้น ก็เผชิญหน้าติดกับเขมรลาวและเวียดนามซึ่งอยู่ในค่ายโซเวียตและยังอยู่ใกล้มากกับจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรใหญ่สุดของโซเวียตในค่ายสังคมนิยมด้วย
คนไทยน้อยคนจะทราบหรือระลึกได้ว่ากรีกคือสนามรบ"ร้อนๆ" แห่งแรกของ "สงครามเย็น" นั่นเอง รบกันในยุโรป ระหว่าง"รัฐบาล" ที่อังกฤษ-อเมริกาหนุนอยู่ กับ "คอมมิวนิสต์" ที่มีกองทัพของตนเองด้วยความสนับสนุนอย่างแข็งขันจาก อัลเบเนีย ยูโกสลาเวีย และ บุลกาเรีย สงครามกลางเมืองนี้คร่าชีวิตคนกรีกไปราว 150,000 คน และใช้เวลารบกันนาน 3 ปี ระหว่างปี 2489-2492 สงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2492 จากนั้นอีกหนึ่งปีจึงเกิด "สงครามเกาหลี" อันดาลเดือด ระหว่างเกาหลีใต้กับอเมริกา สู้รบกับเกาหลีเหนือและจีนอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่วนไทยเรานั้นเอง หลังสงครามโลกก็ถูกสหรัฐและค่ายเสรีนิยมลากดึงเข้าสู่สงครามเกาหลี (2493-2496) และสงครามเวียดนาม (2508-2518) บ้าง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือต้องเผชิญกับพรรคและกองทัพคอมมิวนิสต์ไทยในสงครามกลางเมืองที่เริ่มแต่ปี 2508 และสิ้นสุดลงในช่วงปี 2525-2528 ความสูญเสียรวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินของเรานั้นถือว่าน้อย ทั้งสองฝ่ายสูญเสียรวมไม่กี่หมื่น เป็นสงครามที่ฝ่ายรัฐบาลหันมาใช้การเมืองนำการทหารได้สำเร็จในที่สุด เทียบกับกรีก ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ และยังมีการโยกย้ายผู้คนออกจากพื้นที่สู้รบด้วยร่วมล้านคน